วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554

จากขุนรองถึงฮิตเลอร์

                 ด้วยความง่วงและเพลียเกินกว่าจะอ่านหนังสือรู้เรื่อง เมื่อวาน (๒๘ กันยายน) ก็เลยวางหนังสือทั้งที่อยากอ่านใจจะขาด เพราะเพิ่งซื้อมา คือ กรุงแตก พระเจ้าตากฯ ของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ดังนั้น เพื่อไม่ให้เวลาล่วงเลยไปอย่างน่าเสียดายก่อนที่บอลจะมา ก็เลยหาคลิปรายการขุนรองปลัดชูที่มีคนมานั่งล้อมวงคุยกันมาดู ดูไปก็คิดตามไป บางทีก็กลัวๆบางฉาก เพราะเลือดสาดพอควร แถมยังต้องมาจ้องหน้าขุนรองตอนพะงาบๆเลือดเต็มหน้าในทะเลอีกต่างหาก ดูแล้วก็สยองมิใช่น้อย


                แต่สิ่งหนึ่งที่นึกๆดูจากความเลือดสาด และคับแค้นใจของคนชาติไทยที่ถูกพม่าหยามเหยียดก็คือ เหตุใดเรื่องในประวัติศาสตร์ที่ปวดร้าวเช่นนี้จึงยังคงนำมาสร้างเป็นสื่อที่เผยแพร่ได้เช่นนี้ ผิดกับเรื่องที่ผ่านมาในหน้าข่าวไม่กี่วันนี้ คือ เด็กนักเรียนแต่งตัวเป็นนาซี จนกงสุลหลายประเทศต้องวิ่งวุ่น

                นี่อาจเป็นผลจากความแตกต่างทางความทรงจำ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนหรือแม้แต่ทุกประเทศจะมีประสบการณ์แบบเดียวกัน และแน่นอนว่าย่อมนำไปสู่ความรู้สึกต่อสิ่งหนึ่งๆ เหตุการณ์หนึ่งๆ แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เมื่อรวมกับวัฒนธรรมแบบไทยๆที่ไม่ได้ใส่ใจเอาความอะไรมากมาย จึงออกมาแบบที่เห็น

                ชาวยิวเพิ่งผ่านประสบการณ์น่าหวาดกลัวอย่างสูงสุดมาได้ประมาณ -๒ ชั่วคนเท่านั้น จากการถูกจองเวรฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยเยอรมนีที่อยู่ภายใต้การนำของพรรคนาซี และมีผู้นำที่ชื่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ แน่นอน นอกจากชาวยิวจะปวดร้าวกับเรื่องเช่นนี้ ชาวเยอรมันซึ่งต้องถูกตราหน้าว่าเป็นต้นเหตุหรือผู้กระทำการอันโหดร้ายนั้นก็ไม่ต้องการให้เรื่องนี้ถูกปลุกขึ้นมาอีกเช่นกัน ขณะที่ประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะในองค์การระหว่างประเทศ ก็ไม่อยากให้เรื่องพวกนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาเช่นกัน เพราะช่วงเวลามหาสงครามไม่ใช่เรื่องที่น่าจดจำเอาเสียเลย อย่างมากเรื่องของนาซีก็ถูกนำมาทำในรูปแบบสารคดีนำเสนอความเป็นจริงเพื่อเตือนสติและเตือนใจผู้คนทั้งหลายถึงความโหดร้ายเท่านั้น  ส่วนเรื่องบันเทิงเริงใจกับเรื่องพวกนี้คงไม่อาจรับได้สักเท่าไรและคงไม่มีใครคิดจะทำ

                ส่วนสยามถูกพม่าบุกถล่มเมือง ทำลายล้างกรุงศรีอยุธยา เมืองราชธานีเมื่อ ๒๔๐ กว่าปีก่อน เผาวัดเผาวัง ฆ่าฟันคนสยามมากมาย บ้านเมืองล่มสลายลงโดยสิ้นเชิง แต่เรื่องราวสงครามเมียนมาร์-สยามยุทธ์ก็ยังถูกนำมาผลิตซ้ำในรูปแบบต่างๆ ทั้งเพื่อลัทธิชาตินิยม หรือเพื่อศึกษา หรือเพื่อเตือนใจก็แล้วแต่ รวมทั้งเพื่อความบันเทิง โดยไม่มีการต่อต้าน เช่น ภาพยนตร์หรือละครทวิภพ หรือแม้แต่ขุนรองปลัดชูนี้ที่สะท้อนความโหดร้ายของพม่าต่อฝ่ายสยามอย่างสูงในคราวศึกอลองพญา นอกจากนี้ เรื่องความยิ่งใหญ่สงครามเมียนมาร์-สยามยุทธ์ของฝ่ายสยามจะยิ่งเป็นที่นิยมอย่างมากของคนไทย โดยเฉพาะภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งก็สะท้อนความโหดร้ายของสงครามได้ไม่แพ้กัน

                จะเห็นได้ว่า แม้แต่การสงครามกับพม่าหลายต่อหลายครั้ง ไปจนถึงสงครามที่สร้างความป่นปี้ให้กับอดีตเมืองหลวงของชาติตนเอง ชาวสยามก็มิได้กังวลแต่อย่างใดกับการผลิตซ้ำเหตุการณ์เหล่านี้ มิหนำซ้ำยังดูจะพอใจที่ได้ยลสื่อที่ผลิตมาเหล่านี้ ดังนั้น มิพักต้องพูดถึงเหตุการณ์ที่ไม่ไกลตัวมากอย่างการข่มเหงจีนของญี่ปุ่น หรือการกดขี่เชลยศึกมาสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแควก็ยังไม่ได้สะเทือนความรู้สึกคนไทยมากมายอะไร ดังนั้น เรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ไปเกิดอยู่ที่ยุโรปนู่น คงไม่ต้องบอกก็คงรู้ว่าคนไทยจะรู้สึกอะไรหรือไม่

                การสงครามที่ถูกระบุว่าไม่มีความชอบธรรมมี ๒ แบบ คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กับการก่อการร้าย ซึ่งก็ไม่มีผลอะไรต่อคนไทยอีกเช่นกัน เพราะแทบไม่มีคนไทยคนไหนรู้ว่ามันไม่ชอบธรรม ชายแดนใต้ก็มีการวางระเบิดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่รัฐบาลไทยก็ดูปกติสุขดี จนคนไทยไม่รู้สึกอะไรไปด้วย ยิ่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเพราะไกลตัวเสียเหลือเกิน นอกจากนี้ การกำหนดความไม่ชอบธรรมก็เป็นเรื่องมาตรฐานของฝรั่งอีกเช่นเคย (แม้มันจะควรเป็นเช่นนั้นก็ตาม)

                ดังนั้น การจะมาเรียกร้องให้ไทยจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์สากลให้ดีกว่านี้ก็คงไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้นมา เพราะมันเป็นเรื่องของประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคนแต่ละชาติซึ่งมีผลต่อความรู้สึกต่อสิ่งที่พบเจอนั้นๆ ต่อให้รับรู้เรื่องราวเสียมากมาย ก็ไม่อาจกระตุ้นความรู้สึกเกี่ยวข้องอะไรกับคนไทยแม้จะมีสถานะความเป็นมนุษย์ร่วมโลกกันก็ตาม แต่มันไม่ได้ประสบกับตัวเอง

นอกจากนี้ ฮิตเลอร์ยังไม่ใช่จอมเผด็จการที่น่าประหวั่นพรั่นพรึง เพราะฮิตเอลร์ในสังคมไทยมีสถานะที่ดูให้ความบันเทิง เช่น ปรากฏการตัดต่อคลิปภาพฮิตเลอร์กับเสียงอื่นที่ให้ความบันเทิง หรือใส่ซับไทยที่ดูตลกโปกฮา ส่วนวงดนตรีเด็กแนวอย่างเสลอ (Slur) ก็เอาชื่อฮิตเลอร์ไปทำเป็นเพลง หรือบางที ฮิตเลอร์ก็ดูจะเป็นฮีโร่ตัวหนึ่งเสียด้วยซ้ำที่ดูเท่ห์ มีอำนาจ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับแนวคิดอำนาจนิยมที่แฝงอยู่ในความคิดคนไทยก็ได้

แต่สรุปแล้ว นั่นคือความเป็นจริงที่ฝรั่งไม่เข้าใจ เช่นเดียวกับที่ฝรั่งก็ไม่เข้าใจว่าทำไมผ้าลายพระพุทธเจ้าถึงเอาไปทำบีกีนี่ไม่ได้ในสายตาคนไทยพุทธบางคน นั่นคือความรู้สึกต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่ไม่มีวันเหมือนกันได้ทั้งโลกทั้งในวันนี้และ "anytime" และนี่คือสิ่งหนึ่งที่คิดได้ระหว่างดูขุนรองปลัดชูเมื่อคืนวาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น