วันที่ ๑๕
กันยายน เป็นวันคล้ายวันเกิดอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร
ในเว็บไซต์ Facebook โดยเฉพาะของสมาชิกที่มีความเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยศิลปากรจะมีคำแสดงความอาลัยหา
สดุดียกย่อง ฯลฯ
รูปวาดเหมือน อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ภาพจาก http://www.snr.ac.th/wita/Music/Corrado_day.htm |
สิ่งที่น่าคิด คือ อะไรเป็นเหตุให้เขาเหล่านั้นบางคน (ย้ำว่าบางคน) แสดงออกในลักษณะนี้ เหตุเพราะคุณงามความดีของชายชื่อ ศิลป์ พีระศรี นั้นได้เข้าไปอยู่ในความรับรู้ของคนเหล่านั้นมากน้อยเพียงใด บางคนไม่เคยรับรู้อะไรนอกไปจาก ศิลป์ พีระศรี คือ บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย หรือเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร หากแต่ผลงานคืออะไรไม่ทราบ หรือมีคุณอย่างไรบอกไม่ถูก
นั่นคือการใช้อารมณ์ความรู้สึกแบบโหนกระแส
ต้องทำตามคนอื่นให้ได้ แม้จะไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร มันไม่ต่างอะไรไปจากการมองสิ่งสวยงามในที่ที่มองไม่เห็นแต่บอกว่าสวย
และอีกอย่างที่น่าเปรียบเทียบ คือ บทสวดมนต์
สิ่งที่เหมือนกันเสียเหลือเกิน
คือ จะมีสักกี่คนที่เข้าใจบทสวดมนต์ที่เป็นภาษามคธ (บาลี) แต่ชาวพุทธส่วนใหญ่ก็ท่องจำและพร่ำสวดภาวนาอย่างไร้จุดหมาย
การพร่ำสวดมนต์โดยไม่รู้ความหมายของบทสวดก็ไม่ต่างอะไรกับการยกย่องบุคคลโดยไม่รู้ถึงคุณของเขาหรือเธอ
ใครจะปฏิเสธได้ว่าการถือศาสนาในปัจจุบันเกิดจากประเพณีนิยมเป็นใหญ่
คือ เขาถือกันมา พ่อแม่ปู่ย่าตายายถือกันมา ก็ถือบ้างจะเป็นไร
แต่ไม่ได้ทราบถึงความดีงามแห่งศาสนานั้นๆ เขาเหล่านั้นถือศาสนาโดยไม่รู้ว่าศาสนานั้นมีคุณอย่างไร
(ที่มากกว่าทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี ขณะที่บางศาสนาที่มีการศึกษาศาสนาอย่างดีและมีระบบการศึกษาศาสนากลับถูกรัฐต่อต้านในฐานรบกวนความมั่นคง
มาถึงจุดนี้
ขอชมเชยโทรทัศน์ช่องไทยพีบีเอส เนื่องด้วยมีการนำเสนอคุณความดีของชายชื่อ ศิลป์
พีระศรี ให้เป็นที่ประจักษ์ เป็นหนทางให้คนที่ไม่รู้และอยากรู้ได้รู้
ซึ่งจะนำไปสู่การสดุดียกย่องอย่างมีเหตุ
หรือผู้เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยศิลปากรที่เข้าถึงเรื่องพวกนี้ได้ยาก ดังนั้น
การนำเสนอของโทรทัศน์ช่องนี้จึงเปรียบเสมือนแสงสว่างที่ทำให้ผู้อยากเห็นหรือไม่เคยเห็นสิ่งสวยงามที่ความมืดบดบังได้เห็นสิ่งสวยงามนั้นสักที
แต่บางครั้ง ถ้าสิ่งที่ซ่อนในความมืดมัวนั้นเป็นสิ่งไม่งามเสียบ้างก็ดี
เพราะการชื่นชมควรอยู่บนฐานของความเป็นมนุษย์
ส่วนเรื่องบทสวดมนต์
ขอเสนอดังนี้ว่า ระบบการศึกษาควรหันไปหาภาษาที่ภาษาไทยได้รับอิทธิพลให้มากกว่านี้
ไม่ใช่สักแต่ อิงลิช ไชนิส เจแปนนิส โคเรียน ทำไมไม่ แขมร์ ลาว มคธ (บาลี) สันสกฤต
บ้าง เพราะรากภาษาไทยมิใช่มาจากกอไผ่ (ถึงมีก็คงน้อย)
แต่มาจากภาษาใกล้ตัวเหล่านี้ทั้งสิ้น การด่ากราดเด็กว่าเขียนผิดเขียนถูก
มันก็เหมือนการด่าไอ้แดงที่ไปวิ่งแข่งกับนักวิ่งทีมชาติ เพราะมันไม่มีพื้นฐานแล้วมันจะทำได้ดีได้อย่างไร
ศัพท์ภาษาไทยที่สละสลวยต่างก็มาจากภาษาสันสกฤตและมคธเป็นส่วนใหญ่ แต่การเรียนการสอนไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควรเลย
ดังนั้น หากหวังให้เด็กไทยใช้ภาษาไทยได้ดี การเรียนรากของภาษาจึงเป็นสิ่งสำคัญ
เหมือนการเรียนภาษาละตินเพื่อรู้รากภาษาอังกฤษอย่างลึกซึ้ง และที่สำคัญ
บทสวดมนต์ก็จะได้เข้าไปอยู่ในใจคนถือศาสนาอย่างรู้ความหมายเสียที
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น