วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

พระมหากษัตริย์ไทยกับการตัดและตั้งศักราช

หลายคนโดยเฉพาะนักศึกษาประวัติศาสตร์และผู้สนใจประวัติศาสตร์คงเคยได้ยินเรื่องเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ที่เกี่ยวข้องกับศักราชมาบ้าง เช่น ตัด ลบ ตั้ง (ศักราช) คำอธิบายอย่างง่ายๆสำหรับคำเหล่านี้อาจกล่าวโดยเชื่อมโยงกันได้ คือ "ตัด" และ "ลบ" ศักราชนั้น มีความหมายเดียวกัน คือ หยุดใช้ศักราชที่ใช้อยู่ หรือแก้ไขศักราชที่ใช้อยู่ให้ต่างๆไปจากเดิม แต่ส่วนใหญ่ (ซึ่งมีในประวัติศาสตร์ไม่กี่ครั้ง) จะหยุดใช้ศักราชเดิมแล้ว "ตั้ง" ศักราชใหม่ขึ้นมา การตัดศักราชนั้นเกิดจาก ๒ สาเหตุใหญ่ คือ ๑. กษัตริย์ในบางประเทศ โดยเฉพาะอินเดียและจีน ทรงตัดศักราชเก่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรัชศกก่อนหน้า คือ ศักราชประจำรัชกาลก่อน เช่น เมื่อจักรพรรดิหย่งเล่อขึ้นครองราชย์ ก็จะตัดศักราชของจักรพรรดิพระองค์ก่อน แล้วเริ่มใช้ศักราชเป็น ปีที่ ๑ แห่งรัชศกหย่งเล่อ เป็นต้น ซึ่งศักราชที่ตั้งใหม่ในปีเริ่มครองราชย์ของกษัตริย์พระองค์นั้นๆ หากศักราชของพระองค์ถูกใช้อย่างแพร่หลายก็จะถูกใช้สืบๆกันมา เช่น จุลศักราช มหาศักราช เป็นต้น ๒. ความเชื่อทางพุทธศาสนา โดยเฉพาะความเชื่อเรื่อง "ปัญจอันตราธาน" ที่ความเสื่อมจะมาเยือนมากขึ้นเรื่อยๆทุก ๑,๐๐๐ ปี ดังนั้น เมื่อศักราชเข้าใกล้จำนวนเต็มพัน เช่น ๑,๐๐๐ ๒,๐๐๐ ... ๕,๐๐๐ ใกล้เข้ามา กษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ก็จะแก้ปัญหาด้วยการตัดศักราช คือ เลิกใช้ศักราชนั้นเสียแล้วอาจนำศักราชอื่นมาใช้แทน แต่มักไม่ตั้งศักราชใหม่ในกรณีนี้ หรือบางครั้งอาจแก้ไขบางส่วนเกี่ยวกับระบบปฏิทิน (ดูในส่วน วิเคราะห์กรณีสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง)  


ในประวัติศาสตร์ไทย กรณีของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (ครองราชย์ พ..๒๑๗๒-๒๑๙๙) มีการระบุไว้ในพระราชพงศาวดารอย่างชัดเจน และยังมีวรรณกรรมสรรเสริญพระองค์เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย[๑] ข้อความในพระราชพงศาวดารที่กล่าวถึงสมเด็จพระเจ้าปราสาททองตัดศักราช เช่น ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุว่า


“ลุศักราช ๑๐๐๐ ปีขาล สัมฤทธิศก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสปรึกษาแก่เสนาพฤฒามาตย์ราชปุโรหิตทั้งหลายว่า บัดนี้จุลศักราชถ้วน ๑๐๐๐ ปี กาลกลียุค จะบังเกิดไปภายหน้าทั่วประเทศธานีใหญ่น้อยเป็นอันมาก เราคิดว่า จะเสี่ยงบารมีลบศักราช บัดนี้ ขาลสัมฤทธิศก จะเอากุนเป็นสัมฤทธิศก ให้กรุงประเทศธานีนิคม ชนบททั้งปวงเป็นสุขไพศาลสมบูรณ์ดุจทวาบรยุค”[๒]

จะเห็นได้ว่า กรณีสมเด็จพระเจ้าปราสาททองตัดศักราชนั้น น่าจะเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาเรื่อง "ปัญจอันตราธาน" เพราะทรงตัดศักราชในปีที่จุลศักราชครบถ้วนพัน 


นอกจากนี้ ยังมีเรื่องในพระราชพงศาวดารที่แสดงว่าพระองค์น่าจะตั้งศักราชใหม่จริง คือ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้ทรงแจ้งให้พระเจ้ากรุงอังวะทราบและใช้ศักราชที่ตั้งใหม่ด้วย แต่ในจุลศักราช ๑๐๐๒ พม่าได้ส่งทูตมาแจ้งว่าไม่ยินดีใช้ ให้ทางกรุงศรีอยุธยาใช้ไปฝ่ายเดียว จนสมเด็จพระเจ้าปราสาททองไม่พอพระทัย[๓]

อีกกรณีหนึ่งที่ว่ากันว่าพระมหากษัตริย์ไทยได้ทรงตัดศักราช คือ พระมหาธรรมราชาที่ ๑ หรือพระยาลือไท แห่งแคว้นสุโขทัย (ครองราชย์ประมาณ พ..๑๘๙๐-๑๙๑๑) ที่มาของความเชื่อว่าพระองค์ตัดศักราชมีหลายทาง

ที่มาแรก มีตำนานเรื่องหนึ่งในหนังสือ “พงศาวดารเหนือ” เล่าถึงพระร่วงอรุณราชกุมารได้เรียกชุมนุมท้าวพระยามหากษัตริย์ของแคว้นต่างๆเพื่อตั้งศักราชใหม่ ที่มาที่สอง คัมภีร์ “ไตรภูมิพระร่วง” หรือ “ไตรภูมิกถา” มีข้อความในปัจฉิมวากษ์ระบุศักราช ๒๓ ซึ่งเป็นไปได้ว่ามีการตั้งศักราชใหม่ ดังนี้


“แต่นี้ใส่ไตรภูมิกถาเมื่อใดไส้ ปีรกาสักราชได้ ๒๓ ได้ในเดือน ๑๐ เพ็ง วันพฤหัสบดีมฤคเลียรนักษัตร พระญาลิทัยผู้เป็นหลานปู่ พระญาลิทัยผู้เสวยราชในเมืองศรีสัชชนาลัยแลสุกโขทัย ผู้เป็นหลานแก่พระญารามราชอันเป็นสุริยพงษ เพื่อได้กินเมืองศรีสัชชนาลัยอยู่ได้หกเข้า[๔]

ที่มาที่สาม คือ หนังสือ “นางนพมาศ” หรือ “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” เนื้อหานั้น นางนพมาศซึ่งเป็นสนมของพระร่วงเจ้าได้เล่าประวัติของตนเอง (อัตชีวประวัติ) ตั้งแต่ก่อนพระร่วงจะตั้งศักราชเล็กน้อยและไปจบในปีที่ ๑๘ ของศักราชที่ตั้งใหม่[๕]

และที่มาสุดท้าย คือ เนื้อความใน “จารึกหลักที่ ๔ วัดป่ามะม่วง ภาษาเขมร” โดยเฉพาะด้านที่ ๒ ซึ่งอรรถาธิบายความรู้ความสามารถของพระยาลือไทเกี่ยวกับการคำนวณปฏิทินไว้ว่าพระองค์ทรง


“พระปรีชาโอฬาริก ฝ่ายวันสิ้นเดือน ๔ ที่ควรมา..หลังศักราชมีอธิกมาส พระองค์ก็ทรงแก้ไขให้สะดวก ทรงตรวจสอบแล้วอาจรู้ปีที่เป็นปรกติมาสและอธิกมาส วันวารนักษัตรโดยสังเขปและโดยปฏิทินสำเร็จรูป สมเด็จบพิตรอาจถอน อาจลบ อาจเพิ่ม”[๖]




บทวิเคราะห์: สมเด็จพระเจ้าปราสาททองตัดศักราชเก่าตั้งใหม่จริงหรือ?


          ในกรณีของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ได้ศึกษาโดยอาศัยจารึกวัดไชยวัฒนารามและหลักฐานดัทช์ร่วมสมัย สำหรับเอกสารดัทช์ คือ บันทึกของเจ้าหน้าที่ของบริษัทเนเธอร์แลนด์อีสต์อินเดีย (VOC) ได้บันทึกเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๓ เมษายน ค..๑๖๓๙ ว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงฉลองการลบศักราชในวันขึ้นปีใหม่ไทยเป็นเวลาสามวัน และฉลองในวันกลางเดือนเมษายนอีก ๓ วัน ซึ่งจากข้อมูลนี้ทำให้ ดร.ประเสริฐ สอบได้ว่าวันขึ้นปีใหม่ไทยตรงกับ “เดือน ๕ ขึ้นค่ำหนึ่ง”[๗] และจากข้อมูลนี้จึงสามารถนำไปสู่การคำนวณวันตัดศักราชใน ค..๑๖๓๘ ได้ โดยการหาวันขึ้นปีใหม่ของปีดังกล่าว ซึ่งได้ว่าเป็น “วันจันทร์ที่ ๑๕ มีนาคม” ซึ่งยังเป็นจุลศักราช ๙๙๙ อยู่ ก่อนจะถึงวันเถลิงศกจุลศักราช ๑๐๐๐ ในวันเสาร์ที่ ๑๐ เมษายน ๒๖ วัน[๘]


จารึกแผ่นทองแดงวัดไชยวัฒนาราม
ภาพจาก http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/th/img_large.php?f=/317_1.jpg
  
           ส่วนจารึกแผ่นทองแดงวัดไชยวัฒนารามระบุเวลาไว้ตอนท้ายว่า “ศุภมัสดุ พุทธศักราช ๒๑๙๒ มหาศักราช (๑)๕๓๒ วันพุธ เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ (ปี)จอ โทศก แรกสถาปนา”[๙] ทำให้ทราบว่ามีการแก้ไขปีนักษัตรตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร “บัดนี้ ขาลสัมฤทธิศก จะเอากุนเป็นสัมฤทธิศก” คือ แก้ให้ปีนักษัตรย้อนหลังไป ๓ ปีจาก ขาล เป็น กุน (กุน ชวด ฉลู ขาล) จริง โดยเวลาที่ระบุในจารึกวัดไชยวัฒนารามนั้นควรเป็นปีนักษัตรฉลู แต่กลับระบุว่าเป็นปีจอ (จอ กุน ชวด ฉลู) ย้อนหลังไป ๓ ปีนักษัตรเช่นกัน ดังนั้น ดร.ประเสริฐ จึงสรุปว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททองไม่ได้ตัดหรือลบจุลศักราช แต่ได้เปลี่ยนปีนักษัตรถอยหลังไป ๓ ปีนักษัตร[๑๐] ส่วน ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร เสริมว่า พระองค์ได้ทรงหันไปใช้ระบบศักราชแบบเขมร คือ มหาศักราช[๑๑] (ดังปรากฏในจารึกวัดไชยวัฒนาราม) ซึ่งมีความเป็นไปได้ เพราะน่าสังเกตว่าในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้ทรงนำสิ่งต่างๆที่เป็นรูปแบบเขมรกลับมาใช้อีกครั้ง เช่น การสร้างพระปรางค์ การสร้างปราสาทนครหลวง การสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่อง เป็นต้น


ปราสาทนครหลวง
ภาพโดยคุณ บุณฑริกา จาก http://www.klongdigital.com/webboard3/33030.html 


พระพุทธรูปทรงเครื่อง วัดหน้าพระเมรุ
ภาพจาก http://www.thaiwhic.go.th/heritage_culture2.aspx 

            ส่วนข้อมูลเรื่องการส่งทูตให้พม่าใช้ศักราชที่ตั้งใหม่แต่พม่าปฏิเสธนั้น ดร.วินัย ได้อธิบายว่า เป็นเรื่องเข้าใจผิดของผู้แต่งพระราชพงศาวดารใช้สมัยหลัง เพราะความจริงแล้วเหตุการณ์นี้เกี่ยวข้องกับ “กบฏเจ้าท่าทราย” ซึ่งกลุ่มที่สนับสนุนเจ้าอาทิตย์ก่อการกบฏเข้ายึดพระราชวังหลวงได้ ๑ คืน ก่อนถูกปราบได้ โดยผู้ก่อการบางคนได้หนีไปยังราชสำนักพม่า พม่าจึงต้องส่งทูตมาชี้แจงว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลัง[๑๒] แต่เนื่องจากเหตุการณ์การส่งทูตมาชี้แจงนี้เกิดขึ้นใกล้จุลศักราช ๑๐๐๐ และพระราชพงศาวดารที่บันทึกไว้คงบันทึกแบบย่อๆ จึงเกิดการเสริมความเข้ากับเรื่องตัดศักราชตามจินตนาการในภายหลัง

            โดยสรุปแล้ว การตัดศักราชของสมเด็จพระเจ้าปราสาทคงเกิดขึ้นจริง แต่เป็นในลักษณะยกเลิกศักราชเก่า คือ จุลศักราชที่กำลังจะครบ ๑๐๐๐ ปี ซึ่งเป็นเรื่องไม่เป็นมงคลตามความเชื่อทางศาสนา ไปใช้มหาศักราชซึ่งเป็นศักราชที่รับมาจากเขมรแทน นอกจากนี้ ยังถอยปีนักษัตรไป ๓ ปีนักษัตร ตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร แต่ไม่ได้ทรงตั้งศักราชใหม่แต่อย่างใด ซึ่งเป็นกรณีที่แปลกมาก และน่าศึกษาถึงเหตุผลเบื้องหลังมากขึ้นกว่านี้



บทวิเคราะห์: พระยาลือไทตัดศักราชเก่าตั้งใหม่จริงหรือ?[๑๓]

            ส่วนกรณีพระยาลือไทนั้น ตามการวิเคราะห์ของ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร ที่มาทั้งสี่ที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั้นเป็นเรื่องฟั่นเฝือเชื่อไม่ได้เสีย ๓ เรื่อง แต่ได้รับการเสริมความน่าเชื่อถือจากเนื้อความในจารึกที่เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ โดยจะกล่าวไปทีละเรื่อง ดังนี้

เรื่องแรก ตำนานพระร่วงตัดศักราชใน พงศาวดารเหนือ นั้นมีเค้าโครงเดียวกับเรื่องที่พบในเอกสารล้านนาทั่วไป คือ เรื่องพระเจ้าอนิรุทธมหาราช (กษัตริย์พุกาม ครองราชย์ ค..๑๐๔๔-๑๐๗๗) เรียกชุมนุมเจ้าผู้ปกครองประเทศต่างๆเพื่อตั้งศักราชใหม่ (จุลศักราช) ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะจุลศักราชเริ่มต้นก่อนเวลาตั้งอาณาจักรพุกาม แต่น่าจะเป็นการสร้างเรื่องขึ้นมาเพื่อแสดงความเกี่ยวข้องของจุลศักราชกับอาณาจักรพุกาม ซึ่งอาจเป็นเพราะล้านนาได้รับเอาการใช้จุลศักราชมาจากพุกามก็เป็นได้

            ส่วน "ศักราช ๒๓" ที่ปรากฏในไตรภูมิพระร่วงนั้น ก็ไม่ใช่ศักราชที่พระยาลือไทตั้งขึ้นใหม่ เพราะไตรภูมิพระร่วงนั้นเป็นพระราชนิพนธ์ของพระยาลือไทขณะยังครองเมืองศรีสัชนาลัยอยู่ (ประมาณ พ..๑๘๘๓-๑๘๙๐) ขณะที่เรื่อง นางนพมาศ ก็เป็นเรื่องที่เพิ่งแต่งเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๓ นี้เอง และแม้แต่จารึกวัดป่ามะม่วงที่พรรณนาพระอัจฉริยภาพของพระยาลือไทด้านการคำนวณปฏิทินมากมาย แต่ก็ไม่มีเนื้อความใดกล่าวว่าพระองค์ได้ทรงตัดศักราชเลย

            ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า พระยาลือไทไม่ได้ทรงตัดหรือลบศักราชแต่อย่างใด รวมทั้งไม่ได้ทรงตั้งศักราชใหม่ด้วย หากแต่เป็นที่ยอมรับว่า พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถในการคำนวณปฏิทินได้อย่างถูกต้องแม่นยำ



พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์เดียวที่ทรงตั้งศักราชใหม่

            จากที่ได้กล่าวไป จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องของพระมหากษัตริย์ไทยสมัยโบราณทั้งสิ้น และคนในปัจจุบันคงนึกภาพการตัดและตั้งศักราชเฉพาะแต่เรื่องในอดีตที่ย้อนไปไกลเช่นนี้เท่านั้น หากแต่พระมหากษัตริย์ที่ทรงตัดและตั้งศักราชเพียงพระองค์เดียวกลับเป็นพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีนี้เอง คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

            ศักราชที่พระองค์ตั้งใหม่นั้น คือ “รัตนโกสินทร์ศก” เขียนย่อว่า “ร, ศก” โดยก่อนหน้านี้ ไทยใช้จุลศักราชมาแทบตลอดสมัยอยุธยาตอนปลายและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ การตั้งรัตนโกสินทร์ศกนี้ เป็นไปเพื่อทั้งปฏิรูประบบปฏิทินของไทยซึ่งต้องติดต่อกับโลกภายนอกมากขึ้น และรำลึกถึงการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์และตั้งราชวงศ์จักรี ใน พ..๒๓๒๕[๑๔]


พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผู้ทรงตั้ง "รัตนโกสินทร์ศก" และ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่ได้ยกเลิกศักราชดังกล่าว แล้วประกาศให้ใช้ "พุทธศักราช" แทน
ภาพจาก http://rb-old.blogspot.com/2011/01/2.html  

ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกและพระองค์เดียวที่ได้ตัดศักราชเก่า (จุลศักราช) แล้วตั้งศักราชใหม่ (รัตนโกสินทร์ศก) อย่างแท้จริง โดยการออกประกาศที่ชื่อว่า “ประกาศให้ใช้วันอย่างใหม่” เมื่อจุลศักราช ๑๒๕๐ ปีชวดสัมฤทธิศก วันพฤหัสบดี แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๔ ตรงกับ ๒๘ มีนาคม พ..๒๔๓๒[๑๕] ก่อนที่ในรัชกาลต่อมาจะมีการปฏิรูประบบปฏิทินไทยอีกครั้ง รวมทั้งการยกเลิกรัตนโกสินทร์ศกที่เพิ่งตั้งนี้ด้วย แล้วหันไปใช้พุทธศักราชเป็นศักราชประจำชาติแทน ซึ่งยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน



[๑] วินัย พงศ์ศรีเพียร, วันวาร กาลเวลา แลนานาศักราช, พิมพ์ครั้งที่ ๒, (กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์), ๒๕๕๒, ๙๑.
[๒] ดูข้อความละเอียดใน กรมศิลปากร, พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๒, (กรุงเทพฯ: คลังวิทยา), ๒๕๑๖, ๑๖-๑๘ อ้างใน วินัย พงศ์ศรีเพียร, เพิ่งอ้าง, ๙๑.
[๓] วินัย พงศ์ศรีเพียร, เพิ่งอ้าง, ๙๑-๙๒.
[๔] วินัย พงศ์ศรีเพียร, “ไตรภูมิพระร่วงกับจารึกสุโขทัยและสังคมไทย,” ใน ไผ่นอกกอ, (กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์), ๒๕๕๒, ๓๒.
[๕] วินัย พงศ์ศรีเพียร, วันวาร กาลเวลา แลนานาศักราช, ๙๐.
[๖] “จารึกหลักที่ ๔ วัดป่ามะม่วง ภาษาเขมร” ใน จารึกสมัยสุโขทัย, (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร), ๒๕๒๖, ๒๓๔ อ้างใน วินัย พงศ์ศรีเพียร, เพิ่งอ้าง, ๙๐.
[๗] ประเสริฐ ณ นคร, “พระเจ้าปราสาททองทรงลบศักราช,” ใน ประวัติศาสตร์เบ็ดเตล็ด, (กรุงเทพฯ: มติชน), ๒๕๔๙, ๑๙๔.
[๘] เรื่องเดิม, ๑๙๕.
[๙] ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, [ออนไลน์], จารึกแผ่นทองแดงวัดไชยวัฒนาราม ด้านที่ ๑, เข้าถึงเมื่อ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๔ จาก http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/th/main.php?p=cGFydA==&id=317&id_part=1. จารึกหลักนี้พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกและครั้งเดียวใน วารสารศิลปากร ปีที่ ๓๕ ฉบับที่ ๖ พ..๒๕๓๕ ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ที่อ้างนี้
[๑๐] ประเสริฐ ณ นคร, เพิ่งอ้าง, ๑๙๕.
[๑๑] วินัย พงศ์ศรีเพียร, วันวาร กาลเวลา แลนานาศักราช, ๙๓.
[๑๒] เรื่องเดิม, ๙๒.
[๑๓] สรุปความจาก เรื่องเดิม, ๘๙-๙๑.
[๑๔] เรื่องเดิม, ๙๔.
[๑๕] เรื่องเดิม, ๙๔.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น