วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ว่าด้วยศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน จันทบุรี


ระหว่างที่กำลังพยายามตามรอยหลวงบุรุษประชาภิรมย์ (กี้ บุณยัษฐิติ) ในนิราศจันทบุรี-กรุงเทพฯ โดยเฉพาะสถานที่ต่างๆตามลำน้ำจันทบุรีก่อนที่จะถึงบริเวณปากน้ำ (ซึ่งตอนนี้พบว่าชื่อบ้านนามเมืองและสถานที่ต่างๆหายไปจากความรับรู้ของคนปัจจุบันแล้วจำนวนหนึ่ง) เลยต้องสอบค้นจากหนังสือ “จดหมายเหตุความทรงจำสมัยฝรั่งเศสยึดจันทบุรีฯ” ของหลวงสาครคชเขต (ประทวน สาคริกานนท์) ซึ่งพอจะมีรูปภาพเก่าๆอยู่บ้าง โดยเฉพาะภาพลำน้ำจันทบุรีบริเวณตัวเมือง


ขณะที่ดูภาพเพลินๆก็มาพบภาพที่บรรยายไว้ว่า “ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินภายในเมืองเก่า” (เอกสารประกอบการเขียนหมายเลข ๑) หน้า๔๐๐) ซึ่งแน่นอนว่าภาพนี้ไม่ใช่ภาพศาลพระเจ้าตากฯที่ทำหลังเป็นพระมาลากลมยอดแหลมซึ่งผู้คนชอบไปกราบไหว้กันในปัจจุบัน แต่ในภาพขาวดำที่เลือนไปบ้างแล้วนั้นยังเห็นได้ว่าเป็นอาคารทรงจัตุรมุข ดังนั้น ด้วยความไม่คุ้นหูคุ้นตาเอาเสียเลยจึงสงสัยว่าศาลนี้อยู่ที่ใด แล้วเมืองเก่าที่ว่าคือเมืองใดกัน

ภาพศาลที่อธิบายใต้ภาพว่า "ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินภายในเมืองเก่า"


ว่าแล้วก็อ่านเนื้อความด้านข้าง ชื่อเรื่อง “การสร้างศาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี” เพื่อความกระจ่าง ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นประโยชน์ทั้งในแง่ประวัติการสร้างศาล รวมทั้งได้ศึกษาความคิดของบุคคลเมื่อกาลก่อนราวครึ่งศตวรรษล่วงแล้ว  เพราะเรื่องนี้ถูกรวมพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ..๒๔๙๕ ผู้เขียนจึงขอคัดมาลงไว้ (คัดจาก หนังสือประกอบการเขียนหมายเลข ๑) หน้า ๔๐๑-๔๐๓) ดังนี้


การสร้างศาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

เนื่องแต่ผลแห่งคุณงามความดีของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ได้พรรณนามานี้เอง จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ชนชาวไทยโดยทั่วไปพากันระลึกถึงบุญคุณของพระองค์ที่ได้มีมาแต่หนหลัง ดังนั้น เฉพาะในจังหวัดจันทบุรีขึงได้ปรากฏว่าได้มีศาลของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีสร้างไว้เป็นที่สักการบูชาอยู่ถึง ๒ ศาลด้วยกัน คือ ศาลหนึ่งตั้งอยู่ใต้ต้นข่อยหน้าค่ายทหารเดี๋ยวนี้อยู่เคียงคู่กันกับศาลเทพรักษ์ (ศาลเจ้าหลักเมือง) ศาลหนึ่ง ศาลนี้ผู้เขียนสันนิษฐานว่า จะได้มีการสร้างขึ้นไว้ในสมัยเมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตีเมืองจันทบุรีได้แล้วในครั้งนั้น แต่ศาลพระเจ้ากรุงธนบุรีนี้ได้ก่อสร้างด้วยไม้จึงต้องมีการชำรุดปรัก[๑] หักพังและต้องมีการซ่อมแซมเปลี่ยนแปลงกันมาหลายๆครั้ง สภาพความเป็นอยู่ของศาลเดิมจึงไม่มีซากที่เหลืออยู่พอที่จะตรวจดูได้ และต่อมาเมื่อระหว่างปี พ..๒๔๗๗ คณะนายทหารม้ากองพันที่ ๔ จันทบุรี ซึ่งย้ายมาจากสระบุรีมาประจำอยู่ที่จังหวัดจันทบุรีนี้แล้วก็ได้มีการสร้างศาล ซึ่งมีความหมายบ่งชัดว่าเป็นศาลเจ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และศาลเจ้าหลักเมืองลงไว้ในบริเวณอันเดียวกันขึ้นไว้อีกด้วย แต่ก็ทำขึ้นด้วยไม้และเป็นศาลขนาดเล็กๆเท่านั้น

ศาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนอกจากที่จะปรากฏได้มีอยู่ ณ สถานที่นี้แต่กาลก่อนแล้ว ความได้ปรากฏว่าเมื่อระหว่างสมัยที่หม่อมเจ้าสฤษดิเดช ชยางกูล เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลจันทบุรี ท่านได้ทรงจัดการสร้างศาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีขึ้นไว้อีกศาลหนึ่ง โดยได้มีการสร้างทำขึ้นในระหว่างปี พ..๒๔๖๓ คือศาลที่ตั้งอยู่หน้าค่ายทหารกองพันนาวิกโยธินบัดนี้ ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับศาลที่กล่าวแล้ว ศาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่หม่อมเจ้าสฤษดิเดช เป็นผู้อำนวยการสร้างขึ้นใหม่ในภายหลังนี้ ผู้สร้างได้ขอแบบแปลนมาจากกรมศิลปากรเป็นชนิดแบบไทย มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรมุข มีบันไดด้านหน้าและข้างรวมสามด้าน มีประตู ๓ ช่องหล่อด้วยคอนกรีต หลังคาประดับด้วยกระเบื้องสี ประตูประดับด้วยแก้วสี ภายในก่อเป็นแท่นติดกับศาลและสร้างพระรูปหล่อสีทองขึ้นประดิษฐานไว้บนแท่นนั้นด้วยองค์หนึ่ง แต่ไม่ใช่เป็นพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยรูปพระไทยเทวาธิราช[๒] ผู้เขียนได้เคยทูลถามหม่อมเจ้าสฤษดิเดชถึงพระรูปองค์นี้ว่ามีความหมายเพียงใด ก็ได้รับคำชี้แจงจากท่านว่า ท่านมีความหมายจำนง[๓] ให้รูปพระทัยเทวาธิราชนี้เป็นเทพเจ้าประจำพระองค์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ความประสงค์ของท่านในข้อนี้ท่านยังได้ให้ช่างจารึกอักษรไว้ที่ใต้แท่นบูชาว่า “เทวรูปสนองพระองค์พระเจ้ากรุงธนบุรี” ไว้ด้วย ฉะนั้น นามศาลที่หม่อมเจ้าสฤษดิเดชได้ทรงสร้างไว้ในครั้งนั้นจนต่อมาถึงสมัยนี้จึงได้ว่าชื่อว่า ศาลพระเจ้าตาก มาจนทุกวันนี้

การสร้างศาลหลังนี้ปรากฏว่าผู้สร้างได้สละทรัพย์ใช้จ่ายสิ้นเป็นจำนวนประมาณ ๓,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินของท่านเอง นับว่าศาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีหลังนี้การก่อสร้างทำประณีต[๔] เรียบร้อยงดงามดี เพราะการสร้างทำก็ได้ทำกันอย่างถาวร ซึ่งจะได้ทนทานไปได้อีกนานปี

เมื่อกล่าวถึงศาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่จันทบุรีแล้วก็ทำให้ผู้เขียนระลึกว่า ในพระนครกรุงเทพฯ ยังไม่ปรากฏว่าได้มีการสร้างศาล หรือพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไว้ในที่แห่งใดให้เป็นหลักฐานถาวร คงได้ความแต่ว่าที่โรงเรียนนายเรือภายในบริเวณพระราชวังเดิม จังหวัดธนบุรี ได้มีศาลของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก่อแห่งหนึ่ง แต่ผู้เขียนยังไม่มีโอกาสได้เห็น จะมีรูปลักษณะเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบตลอด แต่ในกาลปัจจุบันนี้ปรากฏว่า ทางฝั่งพระนครได้มีพระบรมรูปสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าขึ้นที่เชิงสะพานขึ้นแล้วแห่งหนึ่ง ถ้าหากว่ารัฐบาลจะได้ดำริการสร้างทำพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไว้ทางฟากฝั่งธนบุรีในที่แห่งหนึ่งแห่งใดที่สมควรขึ้นสักแห่งหนึ่ง เพื่อให้เป็นคู่กันกับพระบรมรูปสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าที่สร้างไว้แล้ว ก็จะเป็นประโยชน์ให้ความรู้เห็นของบุคคลในภายหลังๆนี้เป็นอันมาก ทั้งจะทำให้เป็นที่เชิดชูพระเกียรติยศเกียรติคุณ และเป็นอนุสรณ์คำนึงถึงคุณความดีของพระองค์ท่านที่ได้ทรงกระทำไว้ให้แก่ประเทศชาติไทยเราสืบไปชั่วกาลนาน ทั้งนี้เพราะจังหวัดธนบุรีในสมัยหนึ่งเคยเป็นราชธานี ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เป็นผู้ทรงสถาปนาไว้ จึงสมควรให้พระบาทภิธัยแลพระฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านได้ปรากฏสถิต[๕] เสถียรสืบไป ตามที่กล่าวมาก็ด้วยความหวังดี จึงขอบันทึกไว้ให้เป็นที่สังเกตในที่นี้ด้วย



_______________


เนื้อความทั้งหมดนี้ตอบโจทย์ของผมได้ทั้งหมด คือ ๑) เมื่อเทียบลักษณะที่หลวงสาครคชเขตระบุไว้กับศาลทรงจัตุรมุข (ต่อไปจะเรียก ศาลหลังเก่า) ในรูปนั้น ก็พอจะสรุปได้ว่าเป็นศาลที่หม่อมเจ้าสฤษดิเดชสร้างขึ้นในระหว่าง พ..๒๔๖๓ ซึ่งคงหมายความว่าได้เริ่มสร้างและสร้างเสร็จในปีนั้นเอง ส่วนวันเวลาอาจต้องไปสอบค้นภาคสนามที่ตัวศาลนี้ว่ามีฤกษ์หรือจารึกระบุไว้หรือไม่ ๒) เมืองเก่า จากคำบรรยายใต้รูปว่า “ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินภายในเมืองเก่า” ก็คือ เมืองจันทบุรีเก่าที่มีแนวคันดินและแนวคูเมืองอยู่ภายในค่ายทหารนั้นเอง และ ๓) ดังนั้น ศาลทรงจัตุรมุขที่ปรากฏในรูปย่อมต้องอยู่หน้าค่ายทหาร ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ค่ายตากสิน นั้นเอง

แต่ด้วยความไม่คุ้นตากับศาลหลังเก่า (ตามรูปในหนังสือ) เอาเสียเลย จึงต้องพยายามค้นดูในอินเตอร์เน็ต แต่ก่อนจะค้นก็ตั้งข้อสันนิษฐานเบื้องต้นไว้เป็น ๑) ศาลนี้อาจถูกรื้อไปแล้ว แล้วสร้างเป็นศาลที่มีหลังคาเป็นรูปหมวกหรือพระมาลากลมยอดแหลม (ต่อไปจะเรียกศาลหลังใหม่) และ ดังนั้น ๒) พระไทยเทวาธิราช ที่สร้างเป็นรูปแทนสมเด็จพระเจ้าตากสินนั้นก็ควรถูกย้ายมาประดิษฐาน ณ ศาลหลังใหม่นั้นด้วย

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินหลังใหม่
                  ภาพจาก เอกสารประกอบการเขียนหมายเลข ๓)
ภายในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินหลังใหม่
               ภาพจาก เอกสารประกอบการเขียนหมายเลข ๓)
ข้อสันนิษฐานนั้นตั้งอยู่บนความไม่คุ้นตากับศาลทรงจัตุรมุข จึงคิดไปว่าคงถูกรื้อทิ้งเสียแล้ว เริ่มแรกจึงลองหาภาพภายในศาลหลังใหม่ดูว่ามีพระรูปที่ควรจะเป็นพระไทยเทวาธิราชบ้างหรือไม่ (ตามข้อสันนิษฐาน ๒) ปรากฏว่าภายในมีเพียงพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสิน กับรูปปั้นหรือรูปหล่อทหารของพระองค์ และสัตว์อีกบางชนิดที่ชาวบ้านคงนำมาถวายตามความเชื่อ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นไปได้ ๒ ทาง คือ ๑) ศาลหลังเก่าไม่ได้ถูกรื้อ กับ ๒) พระไทยเทวาธิราชถูกเคลื่อนย้ายไปที่อื่น

   ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินหลังเก่าอยู่ข้างๆหลังใหม่
                    ภาพจาก เอกสารประกอบการเขียนหมายเลข ๒)
ดังนั้น การค้นหาจึงเปลี่ยนเป็นการหาศาลทรงจัตุรมุขแทน ก็พบประวัติคล้ายที่ปรากฏในบทความของหลวงสาครคชเขต แต่พระไทยเทวาธิราชได้กลายเป็นเทพพระจำพระองค์ของพระเจ้าตากสินไปเสียแล้วนอกจากนี้ ยังไม่ได้บอกว่าศาลหลังเก่าไปไหนอีกต่างหาก การที่ไม่ได้บอกก็อาจตีความได้ว่าไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงกับศาลนี้กระมัง และแล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะปรากฏว่าพบรูปศาลทรงจัตุรมุขอยู่ข้างๆศาลที่มีหลังคารูปหมวกนั้นเอง จึงเป็นอันว่า ศาลหลังเก่าก็ยังอยู่ดีเคียงข้างศาลหลังใหม่นั้นเอง แต่คนจันทบุรีอย่างผู้เขียนกลับไม่คุ้นกับศาลนี้เลย อาจเป็นเพราะแต่เกิดมาก็เจอศาลหลังใหม่ (สร้าง พ..๒๕๓๔) ก็ตั้งตระหง่านอยู่บดบังรัศมีของศาลหลังเก่าไปเสียแล้ว ก็เป็นอันว่าหายข้องใจกับรูปเจ้าปัญหานี้ (หรือเราเองที่มีปัญหา) และก็ออกจะดีใจที่ศาลหลังเก่ายังอยู่ ซึ่งก็หมายความว่า จันทบุรีมีศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน ๒ แห่ง อยู่ติดๆกัน!!! หวังว่าไม่นานนี้คงได้ไปสำรวจตรวจดูสถานที่จริง


เอกสารประกอบการเขียน

๑) หลวงสาครคชเขต (ประทวน สาคริกานนท์). จดหมายเหตุความทรงจำสมัยฝรั่งเศสยึดจันทบุรี ตั้งแต่ พ..๒๔๓๖ ถึง พ..๒๔๔๗. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: ศรีปัญญา, ๒๕๕๒.
๒) http://www.tiewchan.com/สถานที่ท่องเที่ยวในเขตเทศบาลเมืองจันทบุรี/ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช.html
๓) http://www.abhakara.com/webboard/index.php?topic=1857.0



[๑] ฉบับพิมพ์ครั้งนี้แก้จาก สลัก
[๒] ฉบับพิมพ์ครั้งนี้แก้จาก พระทัยเทวาธิราช
[๓] ฉบับพิมพ์ครั้งนี้แก้จาก จำนงค์
[๔] ฉบับพิมพ์ครังนี้แก้จาก ปราณีต
[๕] ฉบับพิมพ์ครั้งนี้แก้จาก สถิตย์

วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554

พระเกษม: original กับ traditional, สถาบันสงฆ์ไทย, และมันจะจบอย่างไร?

            เรื่องใหญ่และเป็นที่จับตามองของสังคมในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานอกจากเรื่องน้ำท่วมแล้ว กรณีคลิปพระเกษม อาจิณฺณสีโล แห่งที่พักสงฆ์ (คือ ไม่ใช่ที่อันขึ้นทะเบียนให้เป็นที่จำพรรษาของพระอย่างถูกต้องตามกฎสงฆ์ได้เหมือนวัดและสำนักสงฆ์?) สามแยก ตามรายงานระบุว่าพระรูปนี้เคยเป็นข่าวมาแล้วจากการห้ามมิให้กราบไหว้พระพุทธรูป แต่ครั้งนี้แม้เรื่องความคิดของพระเกษมจะยังคงเหมือนเดิม แต่ได้มีเรื่องคลิปที่ราวกับแสร้งแกล้ง (จงใจ) กระทำการบางอย่างเพิ่มมา คือ กระทืบทุบโต๊ะเก้าอี้ พูดตะโกน ฯลฯ ต่อหน้าศิษยานุศิษย์ที่กระทำกิจราวไม่มีเหตุอันใดเกิดขึ้น




อากัปกิริยาหนึ่งในคลิปที่เป็นข่าว
ภาพจาก http://techalife.com/blog/พระรึเปล่า-ไม่ได้อยากดัง-พระเกษม-อาจิณฺณสีโล-วัดสามแยก

อีกหนึ่งแอ็กชั่น: เก้าอี้จงสยบแทบเท้า


สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับกรณีนี้ คือ สังคมไทยได้เกิดเสียงแตก มิได้เห็นตรงกันไปเสียหมด เพราะสิ่งที่พระเกษมป่าวประกาศดังๆให้ประชาชนได้ยินนั้นไม่ได้เลื่อนลอยซะทีเดียว เพราะยึดตามคัมภีร์ศาสนา (พระไตรปิฎก) ดังนั้น ผู้ที่มิได้นับถือศาสนาอย่างที่ไม่รู้ว่าฉันนับถือไปตั้งแต่เมื่อไร (คือ ไม่ใช่พ่อแม่พี่น้องปู่ยาตาทวดฉันถือมาอย่างนี้ฉันก็ถือด้วย) ก็พอจะเงี่ยหูฟังและรับฟังได้อยู่บ้างมากน้อยต่างกันไป ขณะที่กลุ่มตรงข้ามซึ่งเป็นกระแสหลักในสังคมก็มองต่างไป คือ การกระทำเช่นนี้เป็นเรื่องผิด (ที่เป็นแบบผิดในตัวเอง หรือวัตถุวิสัย objective) เพราะพระที่อื่นไม่ได้กระทำกันแบบนี้ และเรื่องของพระที่อื่นก็เป็นเรื่องถูก (แบบวัตถุวิสัยเช่นกัน) เช่น รับเงิน สร้างวัตถุ ปลุกเสก ฯลฯ

ท่ามกลางเสียงจากสังคมที่แตกเป็นหลายเสี่ยง (แต่ส่วนใหญ่ก็ยังน่าจะยืนอยู่ตรงข้ามพระเกษม) ผู้เขียนจับความคิดของพระเกษมได้อย่างหนึ่ง คือ พระเกษมดูเหมือนจะต้องการกลับสู่ความดั้งเดิม (origin) ของพุทธศาสนาในสมัยพระศาสดาโคตมยังทรงพระชนม์ โดยท่านถือว่าพระไตรปิฎก คือ ความดั้งเดิมของศาสนาที่จับต้องได้ ซึ่งความดั้งเดิมได้แย้งอยู่กับประเพณี (traditional) ของสังคมไทยอยู่มากทีเดียว

พระพุทธรูปแบบคันธาระ
กำหนดอายุราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑-๒
ภาพจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Gandhara
แน่นอนว่า พระไตรปิฎกไม่มีพระพุทธรูปให้กราบไหว้ เพราะพุทธศาสนาเป็นแนวคิด “อเทวนิยม” คือ ไม่นิยมบูชาเทพเทวดารูปเคารพ และพระพุทธรูปแผลงมาจากรูปเคารพของกรีก โดยในสมัยกษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งมาซิโดเนีย ซึ่งได้ยาตราทัพมาจนถึงอนุทวีปอินเดีย เมื่อก่อนคริสตกาลประมาณ ๓๐๐ ปี และได้มีผู้ปกครองชาวกรีกปกครองบริเวณแถบตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียต่อมาในนามแคว้นแบคเตรีย ผู้นำชาวกรีกน่าจะได้ยอมรับนับถือพุทธศาสนา เช่น พระเจ้ามิลินทร์หรือเมนานเดอร์ (Menander) ซึ่งปรากฏการถามตอบของพระองค์ข้อปัญหาในพระพุทธศาสนากับพระนาคเสน และกลายมาเป็น มิลินทปัญหา และได้มีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นพระพุทธรูปที่หน้าฝรั่งมาก เรียกรูปแบบตามอย่างประวัติศาสตร์ศิลป์ว่าแบบ "คันธาระ" (Gandhara) นี่คือที่มาของพระพุทธรูป หรือรูปเคารพแบบพุทธศาสนา การมุ่งสู่ความดั้งเดิมของพระเกษมย่อมไม่รับเอาสิ่งเหล่านี้มาไว้ในสารบบด้วย เพราะไม่ใช่เนื้อแท้ของศาสนา ซึ่งก็ดูจะจริง แต่สังคมที่กราบไหว้พระพุทธรูปมาช้านานก็คงคิดตามแกทันได้ยาก

ขณะที่บางเรื่องซึ่งเป็นเรื่องขึ้นมา เพราะเกี่ยวข้องกับการเมืองเห็นๆ เพราะพระเกษมตีความตามพระคำสอนเรื่องใดไม่ทราบว่าผู้หญิงด้อยกว่าผู้ชาย และเลยไปถึงประณามผู้หญิงที่ก้าวขึ้นเป็น “ผู้นำ” ซึ่งก็เผอิญว่าผู้นำประเทศไทยตอนนี้ดันเป็นผู้หญิง เรื่องนี้ ท่านสุลักษณ์ ศิวลักษณ์ ปราชญ์พุทธศาสนาให้ความเห็นว่า พุทธศาสนาให้ความเท่าเทียมแก่สตรี เช่น ให้มีการบวชภิกษุณี และเห็นว่าหญิงและชายต่างบรรลุได้เท่าๆกัน ส่วนเรื่องที่พระเกษมยกมาคงเป็นเรื่องที่สอดแทรกมาในสมัยหลัง และให้ความเห็นว่าสังคมเมื่อสองพันกว่าปีก่อนย่อมเปลี่ยนไปจากปัจจุบันมากแล้ว เช่น เรื่องสิทธิสตรี ดังนั้น ด้วยกาลที่ต่าง ก็ควรต้องปรับเสียบ้าง



ภิกษุประกอบกิจในอุโบสถวัดพระแก้ว กรุงเทพฯ
ภาพจาก http://www.tinyzone.tv/TravelDetail.aspx?ctpostid=703
ส่วนเรื่องอื่นๆเช่น ความเรียบง่าย ก็น่าชื่นชมพระเกษมที่พูดเรื่องนี้ เพราะสังคมไทยดูฟุ้งเฟ้อกับเรื่องประเพณีและ “พิธีกรรม” ซึ่งดูเป็นเรื่องปรุงแต่งอย่างที่สุด และผิดกับหลักศาสนาอย่างชัดเจน แต่ก็ด้วยกาลที่เปลี่ยนอีกเช่นกัน มันก็อยู่กับคนที่จะตีความว่าจะยึด “ประเพณีนิยม” ต่อ หรือเลือกหันมาตีความแนวเก่า (หรือใหม่?) เพราะชุดความรู้ในปัจจุบันถูดป้ายด้วยสี “ทุนนิยม-เสรีนิยม-อุตสาหกรรมนิยม” ซึ่งดูแย้งกับการกลับสู่ความดั้งเดิมอยู่มากทีเดียว

ผู้เขียนเคยคิดเอาเองว่า กรณีพระเกษมอาจนำไปสู่การปฏิวัติทางความคิดของคนไทยเกี่ยวกับศาสนาอย่างที่เคยเกิดกับคริสต์ศาสนามาแล้ว แต่ดูไปดูมากลายเป็นพระเกษมโดนรุมกระทืบโดยสังคมเสียมากกว่าพระเกษมจะไปช่วยปลุกปัญญาผู้คนให้ตื่น

แม้แกจะดู “ยึดติด” อยู่ในทีกับความคิดของแก ที่เห็นว่าต้องทางฉันถึงจะถูก และดูจะตีความผิดกาลไปมาก ทั้งที่คำสอนเรื่องอนิจจังก็มีอยู่ว่าสิ่งต่างๆย่อมเปลี่ยนแปลง ไม่เว้นแม้แต่คำสอนก็ต้องปรับให้เข้ากับรูปการณ์ แต่ข้อควรชื่นชมของแกก็คือ อย่างน้อยแกก็สนใจศึกษาพระคัมภีร์ของศาสนาอย่างจริงจัง (หรือเปล่า? ผู้เขียนก็พิสูจน์ไม่ได้ แต่ก็ยกประโยชน์ให้จำเลยไปก่อน) ผิดกับคนที่ถือศาสนาตามๆกันมา เช่น พิธีกรฝีปากกล้า (หมา?) ชื่อ ม.. พูดดังๆผ่านจอทีวีว่า ให้คิดดูเถิดว่าควรจะเชื่อพระเกษมหรือไม่ เพราะบรรพบุรุษเรา (?) ก็กราบไหว้มา

เอาเป็นว่า ตอนนี้ควรติดตามกรณีนี้อย่างใกล้ชิด เพราะคำสั่ง “เผด็จการ” จากสถาบันสงฆ์ไทยได้ออกมาแล้ว และพระเกษมน่าจะถูกจับสึกอย่างไม่ยินยอมพร้อมใจ น่าคิดด้วยว่า ผู้ที่ตัดสินคือ คณะสงฆ์ นั้น ถูกพระเกษมวิจารณ์ไว้ด้วย ดังนั้น คงไม่ต่างจากกรณีทักษิณถูก คตส. ซึ่งยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามตนเองตัดสินความผิด ยิ่งกรณีพระเกษมเป็นเพียงกรณีเล็กน้อยมากยังถูกจับสึก นี่อาจเผยธาตุแท้อันชั่วร้ายของคณะสงฆ์ไทย อำนาจนิยมในคณะสงฆ์ไทย และอาจพ่วงด้วยเรื่องสองมาตรฐานไปด้วย แน่นอนว่าเรื่องทั้งหมดจะไม่จบตรงที่พระเกษมต้องสึกหรือไม่สึก เพราะการสึกหรือไม่สึกไม่ใช่คำตอบของเรื่องที่ตรงประเด็นเลย และมีเรื่องค้างคาอีกเยอะ และผู้เขียนก็เชื่ออีกว่าวิญญาณนักสู้ของพระเกษมจะผุดขึ้นมา 




ปัญหาที่ต้องตอบเลยกลายเป็น "แล้วเรื่องนี้มันจะจบอย่างไร?"