วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

พระเจ้าแสนแซว่ (แสนแส้)

พระเจ้าแสนแซว่หรือแส้เป็นชื่อแบบภาษาถิ่นเหนือ โดยแซว่ แปลว่า สลักหรือกลอนที่ใช้ยึดหรือเชื่อมวัสดุหลายๆชิ้นเข้าด้วยกัน[1] ส่วนคำว่า แสน นั้นเป็นการบอกขนาด ปริมาณหรือยศแบบถิ่นเหนือในเชิงเปรียบเทียบ เช่น การเรียกพระพุทธรูปว่าพระเจ้าล้านตื้อ ก็แสดงว่าพระพุทธรูปองค์นี้ใหญ่โตมากดังจำนวนหนึ่งล้าน หรือชื่ออาณาจักรล้านนาเอง ก็แสดงว่าเป็นอาณาจักรใหญ่เช่นกัน ขณะที่เอกสารจีนเรียกกษัตริย์เชียงใหม่ว่าเจ้าท้าวล้านนา[2] แสดงว่าเป็นกษัตริย์แห่งแคว้นใหญ่ระดับล้านนา ซึ่งเมื่อเทียบกับแต่ละพันนาของแคว้นสิบสองปัน(พัน)นาแล้วต้องถือว่ายิ่งใหญ่กว่ามาก ส่วนเจ้าเมืองในอาณาจักรล้านนาก็มียศลดหลั่นกันลงไป เช่น แสน หมื่น พัน เป็นต้น ส่วนเจ้าเมืองกำแพงเพชรในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ปรากฏพระนาม พระยาแสนสอยดาว ดังนั้น พระเจ้าแสนแซว่ อาจแปลได้ว่า เป็นพระพุทธรูปที่มีการใช้สลักหรือตัวยึดส่วนต่างๆเข้าด้วยกันจำนวนมาก ซึ่งคงไม่ใช่แสนตัวเป็นแน่ เพียงแต่อุปมาว่ามากดังมีเป็นแสนเท่านั้น

พระเจ้าแสนแซว่ วัดพระเจดีย์ซาวหลัง ลำปาง ภาพจาก http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13041

พระเจ้าแสนแซว่มีหลายขนาดตั้งแต่ใหญ่มากไปจนถึงขนาดเล็ก รวมทั้งสร้างจากวัสดุต่างๆกันไป สามารถพบได้ตามวัดต่างๆในเขตภาคเหนือหรืออาณาจักรล้านนาเดิม ส่วนใหญ่พบครบสมบูรณ์ทั้งองค์ เช่น พระเจ้าแสนแซว่ วัดศรีบุญเรือง เชียงใหม่ วัดพระเจดีย์ซาวหลัง ลำปาง แต่บางกรณีพบแต่เพียงบางส่วน เช่น เศียรพระเจ้าแสนแซว่ด้านหน้าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย ลำพูน และเมื่อพิจารณาจากเศียรที่พบเพียงส่วนเดียวซึ่งมีขนาดใหญ่มาก ก็สันนิษฐานได้ว่าหากพบชิ้นส่วนอื่นๆมาประกอบได้ครบองค์คงเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่มาก โดยเศียรพระเจ้าแสนแซว่ที่พิพิธภัณฑฯ เชียงใหม่ สูงถึง 1.70 เมตร หากสมบูรณ์เต็มองค์ในลักษณะพระนั่งน่าจะสูงประมาณกว่า 6 เมตร[3] และจากกรณีการพบเศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่เพียงส่วนเดียวดังได้กล่าวไป ได้นำไปสู่ข้อเสนอบางอย่างเกี่ยวกับจุดกำเนิด และพัฒนาการของพระเจ้าแสนแซว่ ดังนี้
รูปซ้าย เศียรพระเจ้าแสนแซว่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ภาพจาก http://www.changpuak.org/museum-chiangmai/national-museum-page.html
รูปขวา พระศิลาขาว วัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม ภาพจาก http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=bite25&month=24-09-2009&group=24&gblog=6

อย่างที่ทราบกันว่าวัฒนธรรมแบบทวารวดีได้ขยายตัวขึ้นมาถึงหริภุญไชย ซึ่งถือเป็นรัฐที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นต้นแบบวัฒนธรรมให้แก่อาณาจักรล้านนา และหนึ่งในศิลปะทวารวดีที่มีชื่อเสียง คือ พระพุทธรูปศิลา เช่น พระศิลาขาว วัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม พระศิลาเขียว วัดหน้าพระเมรุ อยุธยา ซึ่งล้วนแล้วแต่มีขนาดใหญ่ และที่สำคัญคือ ปมพระเกศาของพระศิลามีลักษณะเป็นตุ่มนูนเช่นเดียวกับเศียรพระเจ้าแสนแซว่ ดังนั้น พระเจ้าแสนแซว่ที่พบเพียงเศียรด้านหน้านั้นอาจเป็นพระพุทธรูปในศิลปะสมัยหริภุญไชยที่รับวัฒนธรรมแบบทวารวดีก็เป็นได้ โดยมีการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ขึ้น รวมทั้งรับเอาลักษณะบางประการของพระพุทธรูปมาด้วย อย่างไรก็ดี วัสดุที่ใช้ก็ไม่เหมือนกัน คือ พระเจ้าแสนแซว่สร้างจากสำริด นอกจากนี้ยังสร้างให้ส่วนต่างๆประกอบกันแทนที่จะสร้างทีเดียวทั้งองค์ ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ช่วยให้การหล่อพระพุทธรูปองค์ใหญ่ง่ายขึ้น รวมทั้งเคลื่อนย้ายได้ง่ายด้วย

เมื่อช่างหริภุญไชยได้คิดค้นการสร้างพระพุทธรูปแบบประกอบชิ้นส่วนต่างๆด้วยสลักหรือหมุดขึ้น อาณาจักรล้านนาที่ได้รับอิทธิพลศิลปะจากหริภุญไชยก็ได้รับเอากลวิธีหล่อพระแบบแสนแซว่มาด้วย ทำให้มีการพบพระเจ้าแสนแซว่ในศิลปะแบบล้านนาที่มีขนาดเล็กลงมา จนกระทั่งกลายเป็นอัตลักษณ์ของศิลปะแบบล้านนาที่มีการสร้างพระพุทธรูปแบบถอดแยกออกได้ และประกอบเข้าใหม่ได้โดยมีแซว่เป็นต้วยึด และบางองค์มีการบรรจุสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้ภายในด้วย เช่น ผอบพระสารีริกธาตุ จนเกิดประเพณีประจำปีที่จะมีการถอดองค์พระเจ้าแสนแซว่เพื่อนำผอบพระบรมสารีริกธาตุออกให้ประชาชนสรงน้ำ

สรุปแล้ว พระเจ้าแสนแซว่คือพระพุทธรูปที่หล่อแบบแยกชิ้นส่วนโดยมีแซว่หรือตัวยึดที่เป็นสลัก กลอน หรือหมุด คอยทำให้ส่วนต่างๆประกอบเข้าด้วยกันได้ โดยจากการพบเศียรพระเจ้าแสนแซว่ขนาดใหญ่ ทำให้นำไปสู่ข้อเสนอที่ว่าพระเจ้าแสนแซว่แรกเริ่มเดิมทีคงสร้างขึ้นโดยช่างหริภุญไชย ซึ่งได้รับอิทธิพลของศิลปะแบบหริภุญไชยที่มีการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ เช่น พระศิลาขาวและเขียว โดยสังเกตได้จากลักษณะปมพระเกศาที่มีลักษณะนูนเป็นตุ่มขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน โดยช่างหริภุญไชยได้คิดค้นวิธีการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ให้สะดวกขึ้นโดยการหล่อให้แยกชิ้นส่วนได้ ต่อมาเมื่อล้านนาได้รับอิทธิพลศิลปะจากแคว้นหริภุญไชย ก็ได้รับเอารูปแบบการหล่อพระแบบแสนแซว่มาด้วย จนเกิดพระเจ้าแสนแซว่ในศิลปะแบบล้านนาขึ้นทั่วไปในภาคเหนือปัจจุบัน

หมายเหตุ: ข้อเสนอในบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ซึ่งยังคงต้องการการพิสูจน์ทางวิชาการ ไม่อาจใช้อ้างอิงหรือยืนยันความถูกต้องได้ หากแต่สามารถนำไปต่อยอดให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นในภายหน้าได้จักเป็นที่น่ายินดียิ่ง



[1] ศักดิ์ชัย สายสิงห์, “เศียรพระแสนแซว่: พระพุทธรูปที่ถูกตรึงพระโอษฐ์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่,” ใน พุทธปฏิมา: งานช่างพลังแห่งศรัทธา, (กรุงเทพฯ: มติชน), 2554, 71.
[2] ดู วินัย พงศ์ศรีเพียร, ปาไป่สีฟู่-ปาไป่ต้าเตี้ยน: เชียงใหม่ในเอกสารประวัติศาสตร์จีนโบราณ, (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการสืบค้นประวัติศาสตร์ไทยในเอกสารภาษาจีน สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี), 2539.
[3] ศักดิ์ชัย สายสิงห์, อ้างแล้ว, 69.