วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ว่าด้วย “ทงอี”


            หลังจากห่างหายจากการติดหนังเกาหลีกู้ชาติไปนานมากๆ สุดท้ายก็มาติดเรื่อง “ทงอี” จนได้ พล็อตเรื่องน่าสนใจมาก ขณะที่การแสดงแต่ละฉากสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกได้ถึงเอามากๆ นอกจากจะได้รับอรรถรสความบันเทิงดังกล่าวแล้ว ด้วยความที่เรียนประวัติศาสตร์ก็ได้คิดและตั้งคำถามหรือประเด็นไปพร้อมๆกัน

            ๑) ว่าด้วยการนับศักราช จริงๆเรื่องนี้คิดไว้ตั้งแต่ดูตอนก่อนๆ และมาสะกิดเตือนใจในวันนี้ตอนที่มีพระราชโองการ โดยบอกปีเป็นภาษาเกาหลีสองพยางค์ ปีเช่นนี้ก็เหมือนปีแบบไทที่เรียก หนไท หรือจะเรียกแบบแม่มื้อลูกมื้อก็ตามแต่ โดยปีแบบนี้จะวนเป็นรอบๆ ละ ๖๐ ปี คือ แต่ละปีในรอบ ๖๐ ปีนี้จะมีชื่อเฉพาะ และเมื่อครบรอบ ๖๐ ปี ก็จะกลับมาเริ่มปีที่ ๑ ใหม่ วนเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ปัจจุบันเชื่อว่าชนเผ่าไทได้รับการนับปีแบบนี้มาจากจีน เพราะจีนมีการนับปีแบบนี้เช่นกัน แต่ปรากฏการใช้มานานนับพันปีแล้ว ดังนั้น ต้นตำรับการนับปีแบบนี้ก็คงเป็นจีนนี้เอง ซึ่งเกาหลีก็คงรับไปจากจีน

ในอินเดียก็มีการนับปีเป็นรอบ ๖๐ ปีเช่นกัน เรียก “พฤหัสบดีจักร” ปีที่พระพุทธเจ้าโคตมปรินิพพานเข้าใจว่าคงจำหรือจดไว้เป็นชื่อปีแบบนี้ด้วย แต่ด้วยความเสื่อมถอยของพระพุทธศาสนาในอินเดียคงทำให้เกิดการขาดช่วง จนทำให้เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่ง ผู้คนได้ลืมไปแล้วว่าชื่อปีที่จดหรือจำไว้นั้นอยู่ในรอบพฤหัสบดีจักรใดกันแน่ พระพุทธศาสนาที่เริ่มนับตั้งแต่พระพุทธเจ้าปรินิพพานจึงเคลื่อนไป ๑ รอบ และน่าจะเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชหรือก่อนนั้นแล้ว

            เมื่อลังการับเอาพระพุทธศาสนาไปจากอินเดีย พระเถระผู้ทรงภูมิได้เขียนคัมภีร์ขึ้นชื่อ “คัมภีร์มหาวงศ์” คัมภีร์นี้ก็ระบุปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานผิดไป ๑ รอบ คือ ๖๐ ปี เมื่ออาณาจักรพม่า มอญ ล้านนา เขมร ลาว ซึ่งรับพระพุทธศาสนาจากลังกา (ไม่ว่าโดยตรงหรืออ้อม) ทำให้พุทธศักราชในประเทศเหล่านี้ช้ากว่าความเป็นจริงไป ๖๐ ปีด้วยตราบจนปัจจุบัน

            ๒) ผู้เขียนในฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์เกิดข้อสงสัยถึงที่มาของเรื่องราวที่นำมาสร้างเป็นละครอิงประวัติศาสตร์ ผู้เขียนไปทราบถึงเรื่องประวัติศาสตร์นิพนธ์ของเกาหลีเลย หวังว่าในเร็ววันจะมีผู้ศึกษาเรื่องนี้ขึ้นมาบ้าง (คนไทย) ในเวลานี้จึงได้แต่เดาว่าคงมีพระราชพงศาวดารเขียนไว้กระมัง แต่ไม่รู้ว่ามีการชำระและฟั่นเฝือแบบไทย หรือมีระบบการบันทึกที่น่าเชื่อถือเหมือนจีน อย่างไรก็ดี เรื่องราวที่นำมาสร้างเป็นละครนี้คงมีการดัดแปลงแต่งเติมไปมาก เพื่อให้เกิดผลดีต่อศิลปะการแสดง

            ๓) จากที่ดูละครเรื่องนี้มาสักพัก (ใหญ่ๆ) ก็อดนึกไม่ได้ว่ามีการชำระแต่งเติมในประวัติศาสตร์นิพนธ์เกาหลีจริงๆ หมวกอีกใบของผู้เขียนคือ นักเรียนรัฐศาสตร์ซึ่งจำเป็นต้องคำนึงถึงประเด็นผู้หญิงกับการเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งการเรียนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาสะท้อนว่าผู้หญิงในราชสำนักตะวันออกมีบทบาททางการเมืองในระดับสูง ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม แสดงออกหรืออยู่เบื้องหลัง จนผู้เขียนไม่อาจเชื่อว่า “ทงอี” หรือ “พระสนมซุกบิน” จะไม่ประสีประสาการเมืองเลย มิหนำซ้ำ ยังอดมองไม่ได้ด้วยว่า นางนี้เองที่อยู่เบื้องหลังการชำระตกแต่งประวัติศาสตร์นิพนธ์ เป็นต้นว่าพระราชพงศาวดาร บางทีนางนี้เองที่ได้วางแผนการทั้งหมดเพื่อกำจัด “พระสนมฮีบิน” ให้พ้นทาง แล้วสนับสนุน “องค์ชายยอนอิง” ให้ขึ้นสู่ราชบัลลังก์ ขณะที่องค์ชายรัชทายาทต้องทรงโดดเดี่ยว จากนั้น เมื่ออำนาจอยู่ในมือ “พระสนมซุกบิน” ที่ได้กลายเป็นพระพันปีและ “องค์ชายยอนอิง” ก็ได้จัดการแก้ไขเรื่องทั้งหมดที่ได้บันทึกไว้

            หากเรื่องเป็นเช่นนี้ ฉากที่ ซุกบิน เข้าไปหา ฮีบิน ที่กลายสภาพเป็นนักโทษรอวันประหารก็ต้องเป็นการไปสมน้ำหน้ามากกว่าคุยกันเพื่อสะท้อนจิตใจของทั้งสองฝ่ายอย่างในละคร และฉากที่ ซุกบิน เข้าไปเฝ้าพระสวามีก็ควรเป็นการเฝ้าเพื่อเร่งให้การประหารมีขึ้นในทันที นื่คือผู้หญิงที่มีบทบาทการเมืองอย่างน่าทึ่งมากๆ

            “แต่ทั้งหมดนี้คือนิยายเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนสร้างขึ้นอย่างไร้ซึ่งหลักฐาน อย่าคิดตามและคิดมาก” 
           
            ๔) ด้วยความเป็นมนุษย์ที่มองมนุษย์ วันนี้รู้สึกสะเทือนใจอย่างถึงที่สุดกับฉากที่พระราชาทอดพระเนตรพระสนมฮีบินกำลังกลั้นใจดื่นยาพิษและค่อยๆตายลงอย่างช้าๆ ในขุนช้างขุนแผนมีสำนวน “วัวเคยค้า ม้าเคยขี่” คือ คนมันคุ้นเคยรักใคร่กันมา แต่เหตุใดพระราชาจึงใจแข็งสังประหารชีวิตได้เช่นนั้น เพราะซุกบิน? เพราะหน้าที่? เพราะความถูกต้อง? ฯลฯ เพราะอะไรกัน ทำไมพระราชาจึงทำเช่นนั้นได้ลงคอ แน่นอนว่าพระราชาต้องรักษาขื่อแปของบ้านเมืองและราชสำนัก แต่อำนาจสิทธิ์ขาดอยู่ที่พระองค์เอง เยื่อใยและความผูกพันหายไปเสียแล้วหรือไร น่าสังเวชใจเสียจริง ไหนจะองค์รัชทายาทที่ต้องโดดเดี่ยว และมีปัญหาจิตใจเพิ่มมากจากปัญหาสุขภาพ ผู้เขียนจินตนาการตัวเองเป็นพระราชาและพระสนมซุกบินเท่าไร ก็ไม่เห็นทางให้คำพิพากษาออกมาเช่นนี้ โดยเฉพาะพระสนมซุกบิน ภาพนางเอกได้หายไปแล้วในวันนี้ นางไม่คิดช่วยรั้งชีวิตพระสนมฮีบินไว้ นางไร้ปฏิกิริยาในทางที่ดีกับคำขอชีวิตพระสนมฮีบินขององค์รัชทายาท นางเฉยเมยกับคำขอสุดท้ายของพระสนมฮีบิน ตกลงซุกบินเป็นคนอย่างไร แต่ถึงอย่างไรก็ไม่มีปาฏิหาริย์สำหรับฮีบิน

วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ว่าด้วยศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน จันทบุรี


ระหว่างที่กำลังพยายามตามรอยหลวงบุรุษประชาภิรมย์ (กี้ บุณยัษฐิติ) ในนิราศจันทบุรี-กรุงเทพฯ โดยเฉพาะสถานที่ต่างๆตามลำน้ำจันทบุรีก่อนที่จะถึงบริเวณปากน้ำ (ซึ่งตอนนี้พบว่าชื่อบ้านนามเมืองและสถานที่ต่างๆหายไปจากความรับรู้ของคนปัจจุบันแล้วจำนวนหนึ่ง) เลยต้องสอบค้นจากหนังสือ “จดหมายเหตุความทรงจำสมัยฝรั่งเศสยึดจันทบุรีฯ” ของหลวงสาครคชเขต (ประทวน สาคริกานนท์) ซึ่งพอจะมีรูปภาพเก่าๆอยู่บ้าง โดยเฉพาะภาพลำน้ำจันทบุรีบริเวณตัวเมือง


ขณะที่ดูภาพเพลินๆก็มาพบภาพที่บรรยายไว้ว่า “ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินภายในเมืองเก่า” (เอกสารประกอบการเขียนหมายเลข ๑) หน้า๔๐๐) ซึ่งแน่นอนว่าภาพนี้ไม่ใช่ภาพศาลพระเจ้าตากฯที่ทำหลังเป็นพระมาลากลมยอดแหลมซึ่งผู้คนชอบไปกราบไหว้กันในปัจจุบัน แต่ในภาพขาวดำที่เลือนไปบ้างแล้วนั้นยังเห็นได้ว่าเป็นอาคารทรงจัตุรมุข ดังนั้น ด้วยความไม่คุ้นหูคุ้นตาเอาเสียเลยจึงสงสัยว่าศาลนี้อยู่ที่ใด แล้วเมืองเก่าที่ว่าคือเมืองใดกัน

ภาพศาลที่อธิบายใต้ภาพว่า "ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินภายในเมืองเก่า"


ว่าแล้วก็อ่านเนื้อความด้านข้าง ชื่อเรื่อง “การสร้างศาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี” เพื่อความกระจ่าง ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นประโยชน์ทั้งในแง่ประวัติการสร้างศาล รวมทั้งได้ศึกษาความคิดของบุคคลเมื่อกาลก่อนราวครึ่งศตวรรษล่วงแล้ว  เพราะเรื่องนี้ถูกรวมพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ..๒๔๙๕ ผู้เขียนจึงขอคัดมาลงไว้ (คัดจาก หนังสือประกอบการเขียนหมายเลข ๑) หน้า ๔๐๑-๔๐๓) ดังนี้


การสร้างศาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

เนื่องแต่ผลแห่งคุณงามความดีของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ได้พรรณนามานี้เอง จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ชนชาวไทยโดยทั่วไปพากันระลึกถึงบุญคุณของพระองค์ที่ได้มีมาแต่หนหลัง ดังนั้น เฉพาะในจังหวัดจันทบุรีขึงได้ปรากฏว่าได้มีศาลของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีสร้างไว้เป็นที่สักการบูชาอยู่ถึง ๒ ศาลด้วยกัน คือ ศาลหนึ่งตั้งอยู่ใต้ต้นข่อยหน้าค่ายทหารเดี๋ยวนี้อยู่เคียงคู่กันกับศาลเทพรักษ์ (ศาลเจ้าหลักเมือง) ศาลหนึ่ง ศาลนี้ผู้เขียนสันนิษฐานว่า จะได้มีการสร้างขึ้นไว้ในสมัยเมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตีเมืองจันทบุรีได้แล้วในครั้งนั้น แต่ศาลพระเจ้ากรุงธนบุรีนี้ได้ก่อสร้างด้วยไม้จึงต้องมีการชำรุดปรัก[๑] หักพังและต้องมีการซ่อมแซมเปลี่ยนแปลงกันมาหลายๆครั้ง สภาพความเป็นอยู่ของศาลเดิมจึงไม่มีซากที่เหลืออยู่พอที่จะตรวจดูได้ และต่อมาเมื่อระหว่างปี พ..๒๔๗๗ คณะนายทหารม้ากองพันที่ ๔ จันทบุรี ซึ่งย้ายมาจากสระบุรีมาประจำอยู่ที่จังหวัดจันทบุรีนี้แล้วก็ได้มีการสร้างศาล ซึ่งมีความหมายบ่งชัดว่าเป็นศาลเจ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และศาลเจ้าหลักเมืองลงไว้ในบริเวณอันเดียวกันขึ้นไว้อีกด้วย แต่ก็ทำขึ้นด้วยไม้และเป็นศาลขนาดเล็กๆเท่านั้น

ศาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนอกจากที่จะปรากฏได้มีอยู่ ณ สถานที่นี้แต่กาลก่อนแล้ว ความได้ปรากฏว่าเมื่อระหว่างสมัยที่หม่อมเจ้าสฤษดิเดช ชยางกูล เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลจันทบุรี ท่านได้ทรงจัดการสร้างศาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีขึ้นไว้อีกศาลหนึ่ง โดยได้มีการสร้างทำขึ้นในระหว่างปี พ..๒๔๖๓ คือศาลที่ตั้งอยู่หน้าค่ายทหารกองพันนาวิกโยธินบัดนี้ ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับศาลที่กล่าวแล้ว ศาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่หม่อมเจ้าสฤษดิเดช เป็นผู้อำนวยการสร้างขึ้นใหม่ในภายหลังนี้ ผู้สร้างได้ขอแบบแปลนมาจากกรมศิลปากรเป็นชนิดแบบไทย มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรมุข มีบันไดด้านหน้าและข้างรวมสามด้าน มีประตู ๓ ช่องหล่อด้วยคอนกรีต หลังคาประดับด้วยกระเบื้องสี ประตูประดับด้วยแก้วสี ภายในก่อเป็นแท่นติดกับศาลและสร้างพระรูปหล่อสีทองขึ้นประดิษฐานไว้บนแท่นนั้นด้วยองค์หนึ่ง แต่ไม่ใช่เป็นพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยรูปพระไทยเทวาธิราช[๒] ผู้เขียนได้เคยทูลถามหม่อมเจ้าสฤษดิเดชถึงพระรูปองค์นี้ว่ามีความหมายเพียงใด ก็ได้รับคำชี้แจงจากท่านว่า ท่านมีความหมายจำนง[๓] ให้รูปพระทัยเทวาธิราชนี้เป็นเทพเจ้าประจำพระองค์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ความประสงค์ของท่านในข้อนี้ท่านยังได้ให้ช่างจารึกอักษรไว้ที่ใต้แท่นบูชาว่า “เทวรูปสนองพระองค์พระเจ้ากรุงธนบุรี” ไว้ด้วย ฉะนั้น นามศาลที่หม่อมเจ้าสฤษดิเดชได้ทรงสร้างไว้ในครั้งนั้นจนต่อมาถึงสมัยนี้จึงได้ว่าชื่อว่า ศาลพระเจ้าตาก มาจนทุกวันนี้

การสร้างศาลหลังนี้ปรากฏว่าผู้สร้างได้สละทรัพย์ใช้จ่ายสิ้นเป็นจำนวนประมาณ ๓,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินของท่านเอง นับว่าศาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีหลังนี้การก่อสร้างทำประณีต[๔] เรียบร้อยงดงามดี เพราะการสร้างทำก็ได้ทำกันอย่างถาวร ซึ่งจะได้ทนทานไปได้อีกนานปี

เมื่อกล่าวถึงศาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่จันทบุรีแล้วก็ทำให้ผู้เขียนระลึกว่า ในพระนครกรุงเทพฯ ยังไม่ปรากฏว่าได้มีการสร้างศาล หรือพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไว้ในที่แห่งใดให้เป็นหลักฐานถาวร คงได้ความแต่ว่าที่โรงเรียนนายเรือภายในบริเวณพระราชวังเดิม จังหวัดธนบุรี ได้มีศาลของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก่อแห่งหนึ่ง แต่ผู้เขียนยังไม่มีโอกาสได้เห็น จะมีรูปลักษณะเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบตลอด แต่ในกาลปัจจุบันนี้ปรากฏว่า ทางฝั่งพระนครได้มีพระบรมรูปสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าขึ้นที่เชิงสะพานขึ้นแล้วแห่งหนึ่ง ถ้าหากว่ารัฐบาลจะได้ดำริการสร้างทำพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไว้ทางฟากฝั่งธนบุรีในที่แห่งหนึ่งแห่งใดที่สมควรขึ้นสักแห่งหนึ่ง เพื่อให้เป็นคู่กันกับพระบรมรูปสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าที่สร้างไว้แล้ว ก็จะเป็นประโยชน์ให้ความรู้เห็นของบุคคลในภายหลังๆนี้เป็นอันมาก ทั้งจะทำให้เป็นที่เชิดชูพระเกียรติยศเกียรติคุณ และเป็นอนุสรณ์คำนึงถึงคุณความดีของพระองค์ท่านที่ได้ทรงกระทำไว้ให้แก่ประเทศชาติไทยเราสืบไปชั่วกาลนาน ทั้งนี้เพราะจังหวัดธนบุรีในสมัยหนึ่งเคยเป็นราชธานี ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เป็นผู้ทรงสถาปนาไว้ จึงสมควรให้พระบาทภิธัยแลพระฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านได้ปรากฏสถิต[๕] เสถียรสืบไป ตามที่กล่าวมาก็ด้วยความหวังดี จึงขอบันทึกไว้ให้เป็นที่สังเกตในที่นี้ด้วย



_______________


เนื้อความทั้งหมดนี้ตอบโจทย์ของผมได้ทั้งหมด คือ ๑) เมื่อเทียบลักษณะที่หลวงสาครคชเขตระบุไว้กับศาลทรงจัตุรมุข (ต่อไปจะเรียก ศาลหลังเก่า) ในรูปนั้น ก็พอจะสรุปได้ว่าเป็นศาลที่หม่อมเจ้าสฤษดิเดชสร้างขึ้นในระหว่าง พ..๒๔๖๓ ซึ่งคงหมายความว่าได้เริ่มสร้างและสร้างเสร็จในปีนั้นเอง ส่วนวันเวลาอาจต้องไปสอบค้นภาคสนามที่ตัวศาลนี้ว่ามีฤกษ์หรือจารึกระบุไว้หรือไม่ ๒) เมืองเก่า จากคำบรรยายใต้รูปว่า “ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินภายในเมืองเก่า” ก็คือ เมืองจันทบุรีเก่าที่มีแนวคันดินและแนวคูเมืองอยู่ภายในค่ายทหารนั้นเอง และ ๓) ดังนั้น ศาลทรงจัตุรมุขที่ปรากฏในรูปย่อมต้องอยู่หน้าค่ายทหาร ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ค่ายตากสิน นั้นเอง

แต่ด้วยความไม่คุ้นตากับศาลหลังเก่า (ตามรูปในหนังสือ) เอาเสียเลย จึงต้องพยายามค้นดูในอินเตอร์เน็ต แต่ก่อนจะค้นก็ตั้งข้อสันนิษฐานเบื้องต้นไว้เป็น ๑) ศาลนี้อาจถูกรื้อไปแล้ว แล้วสร้างเป็นศาลที่มีหลังคาเป็นรูปหมวกหรือพระมาลากลมยอดแหลม (ต่อไปจะเรียกศาลหลังใหม่) และ ดังนั้น ๒) พระไทยเทวาธิราช ที่สร้างเป็นรูปแทนสมเด็จพระเจ้าตากสินนั้นก็ควรถูกย้ายมาประดิษฐาน ณ ศาลหลังใหม่นั้นด้วย

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินหลังใหม่
                  ภาพจาก เอกสารประกอบการเขียนหมายเลข ๓)
ภายในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินหลังใหม่
               ภาพจาก เอกสารประกอบการเขียนหมายเลข ๓)
ข้อสันนิษฐานนั้นตั้งอยู่บนความไม่คุ้นตากับศาลทรงจัตุรมุข จึงคิดไปว่าคงถูกรื้อทิ้งเสียแล้ว เริ่มแรกจึงลองหาภาพภายในศาลหลังใหม่ดูว่ามีพระรูปที่ควรจะเป็นพระไทยเทวาธิราชบ้างหรือไม่ (ตามข้อสันนิษฐาน ๒) ปรากฏว่าภายในมีเพียงพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสิน กับรูปปั้นหรือรูปหล่อทหารของพระองค์ และสัตว์อีกบางชนิดที่ชาวบ้านคงนำมาถวายตามความเชื่อ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นไปได้ ๒ ทาง คือ ๑) ศาลหลังเก่าไม่ได้ถูกรื้อ กับ ๒) พระไทยเทวาธิราชถูกเคลื่อนย้ายไปที่อื่น

   ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินหลังเก่าอยู่ข้างๆหลังใหม่
                    ภาพจาก เอกสารประกอบการเขียนหมายเลข ๒)
ดังนั้น การค้นหาจึงเปลี่ยนเป็นการหาศาลทรงจัตุรมุขแทน ก็พบประวัติคล้ายที่ปรากฏในบทความของหลวงสาครคชเขต แต่พระไทยเทวาธิราชได้กลายเป็นเทพพระจำพระองค์ของพระเจ้าตากสินไปเสียแล้วนอกจากนี้ ยังไม่ได้บอกว่าศาลหลังเก่าไปไหนอีกต่างหาก การที่ไม่ได้บอกก็อาจตีความได้ว่าไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงกับศาลนี้กระมัง และแล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะปรากฏว่าพบรูปศาลทรงจัตุรมุขอยู่ข้างๆศาลที่มีหลังคารูปหมวกนั้นเอง จึงเป็นอันว่า ศาลหลังเก่าก็ยังอยู่ดีเคียงข้างศาลหลังใหม่นั้นเอง แต่คนจันทบุรีอย่างผู้เขียนกลับไม่คุ้นกับศาลนี้เลย อาจเป็นเพราะแต่เกิดมาก็เจอศาลหลังใหม่ (สร้าง พ..๒๕๓๔) ก็ตั้งตระหง่านอยู่บดบังรัศมีของศาลหลังเก่าไปเสียแล้ว ก็เป็นอันว่าหายข้องใจกับรูปเจ้าปัญหานี้ (หรือเราเองที่มีปัญหา) และก็ออกจะดีใจที่ศาลหลังเก่ายังอยู่ ซึ่งก็หมายความว่า จันทบุรีมีศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน ๒ แห่ง อยู่ติดๆกัน!!! หวังว่าไม่นานนี้คงได้ไปสำรวจตรวจดูสถานที่จริง


เอกสารประกอบการเขียน

๑) หลวงสาครคชเขต (ประทวน สาคริกานนท์). จดหมายเหตุความทรงจำสมัยฝรั่งเศสยึดจันทบุรี ตั้งแต่ พ..๒๔๓๖ ถึง พ..๒๔๔๗. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: ศรีปัญญา, ๒๕๕๒.
๒) http://www.tiewchan.com/สถานที่ท่องเที่ยวในเขตเทศบาลเมืองจันทบุรี/ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช.html
๓) http://www.abhakara.com/webboard/index.php?topic=1857.0



[๑] ฉบับพิมพ์ครั้งนี้แก้จาก สลัก
[๒] ฉบับพิมพ์ครั้งนี้แก้จาก พระทัยเทวาธิราช
[๓] ฉบับพิมพ์ครั้งนี้แก้จาก จำนงค์
[๔] ฉบับพิมพ์ครังนี้แก้จาก ปราณีต
[๕] ฉบับพิมพ์ครั้งนี้แก้จาก สถิตย์

วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554

พระเกษม: original กับ traditional, สถาบันสงฆ์ไทย, และมันจะจบอย่างไร?

            เรื่องใหญ่และเป็นที่จับตามองของสังคมในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานอกจากเรื่องน้ำท่วมแล้ว กรณีคลิปพระเกษม อาจิณฺณสีโล แห่งที่พักสงฆ์ (คือ ไม่ใช่ที่อันขึ้นทะเบียนให้เป็นที่จำพรรษาของพระอย่างถูกต้องตามกฎสงฆ์ได้เหมือนวัดและสำนักสงฆ์?) สามแยก ตามรายงานระบุว่าพระรูปนี้เคยเป็นข่าวมาแล้วจากการห้ามมิให้กราบไหว้พระพุทธรูป แต่ครั้งนี้แม้เรื่องความคิดของพระเกษมจะยังคงเหมือนเดิม แต่ได้มีเรื่องคลิปที่ราวกับแสร้งแกล้ง (จงใจ) กระทำการบางอย่างเพิ่มมา คือ กระทืบทุบโต๊ะเก้าอี้ พูดตะโกน ฯลฯ ต่อหน้าศิษยานุศิษย์ที่กระทำกิจราวไม่มีเหตุอันใดเกิดขึ้น




อากัปกิริยาหนึ่งในคลิปที่เป็นข่าว
ภาพจาก http://techalife.com/blog/พระรึเปล่า-ไม่ได้อยากดัง-พระเกษม-อาจิณฺณสีโล-วัดสามแยก

อีกหนึ่งแอ็กชั่น: เก้าอี้จงสยบแทบเท้า


สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับกรณีนี้ คือ สังคมไทยได้เกิดเสียงแตก มิได้เห็นตรงกันไปเสียหมด เพราะสิ่งที่พระเกษมป่าวประกาศดังๆให้ประชาชนได้ยินนั้นไม่ได้เลื่อนลอยซะทีเดียว เพราะยึดตามคัมภีร์ศาสนา (พระไตรปิฎก) ดังนั้น ผู้ที่มิได้นับถือศาสนาอย่างที่ไม่รู้ว่าฉันนับถือไปตั้งแต่เมื่อไร (คือ ไม่ใช่พ่อแม่พี่น้องปู่ยาตาทวดฉันถือมาอย่างนี้ฉันก็ถือด้วย) ก็พอจะเงี่ยหูฟังและรับฟังได้อยู่บ้างมากน้อยต่างกันไป ขณะที่กลุ่มตรงข้ามซึ่งเป็นกระแสหลักในสังคมก็มองต่างไป คือ การกระทำเช่นนี้เป็นเรื่องผิด (ที่เป็นแบบผิดในตัวเอง หรือวัตถุวิสัย objective) เพราะพระที่อื่นไม่ได้กระทำกันแบบนี้ และเรื่องของพระที่อื่นก็เป็นเรื่องถูก (แบบวัตถุวิสัยเช่นกัน) เช่น รับเงิน สร้างวัตถุ ปลุกเสก ฯลฯ

ท่ามกลางเสียงจากสังคมที่แตกเป็นหลายเสี่ยง (แต่ส่วนใหญ่ก็ยังน่าจะยืนอยู่ตรงข้ามพระเกษม) ผู้เขียนจับความคิดของพระเกษมได้อย่างหนึ่ง คือ พระเกษมดูเหมือนจะต้องการกลับสู่ความดั้งเดิม (origin) ของพุทธศาสนาในสมัยพระศาสดาโคตมยังทรงพระชนม์ โดยท่านถือว่าพระไตรปิฎก คือ ความดั้งเดิมของศาสนาที่จับต้องได้ ซึ่งความดั้งเดิมได้แย้งอยู่กับประเพณี (traditional) ของสังคมไทยอยู่มากทีเดียว

พระพุทธรูปแบบคันธาระ
กำหนดอายุราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑-๒
ภาพจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Gandhara
แน่นอนว่า พระไตรปิฎกไม่มีพระพุทธรูปให้กราบไหว้ เพราะพุทธศาสนาเป็นแนวคิด “อเทวนิยม” คือ ไม่นิยมบูชาเทพเทวดารูปเคารพ และพระพุทธรูปแผลงมาจากรูปเคารพของกรีก โดยในสมัยกษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งมาซิโดเนีย ซึ่งได้ยาตราทัพมาจนถึงอนุทวีปอินเดีย เมื่อก่อนคริสตกาลประมาณ ๓๐๐ ปี และได้มีผู้ปกครองชาวกรีกปกครองบริเวณแถบตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียต่อมาในนามแคว้นแบคเตรีย ผู้นำชาวกรีกน่าจะได้ยอมรับนับถือพุทธศาสนา เช่น พระเจ้ามิลินทร์หรือเมนานเดอร์ (Menander) ซึ่งปรากฏการถามตอบของพระองค์ข้อปัญหาในพระพุทธศาสนากับพระนาคเสน และกลายมาเป็น มิลินทปัญหา และได้มีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นพระพุทธรูปที่หน้าฝรั่งมาก เรียกรูปแบบตามอย่างประวัติศาสตร์ศิลป์ว่าแบบ "คันธาระ" (Gandhara) นี่คือที่มาของพระพุทธรูป หรือรูปเคารพแบบพุทธศาสนา การมุ่งสู่ความดั้งเดิมของพระเกษมย่อมไม่รับเอาสิ่งเหล่านี้มาไว้ในสารบบด้วย เพราะไม่ใช่เนื้อแท้ของศาสนา ซึ่งก็ดูจะจริง แต่สังคมที่กราบไหว้พระพุทธรูปมาช้านานก็คงคิดตามแกทันได้ยาก

ขณะที่บางเรื่องซึ่งเป็นเรื่องขึ้นมา เพราะเกี่ยวข้องกับการเมืองเห็นๆ เพราะพระเกษมตีความตามพระคำสอนเรื่องใดไม่ทราบว่าผู้หญิงด้อยกว่าผู้ชาย และเลยไปถึงประณามผู้หญิงที่ก้าวขึ้นเป็น “ผู้นำ” ซึ่งก็เผอิญว่าผู้นำประเทศไทยตอนนี้ดันเป็นผู้หญิง เรื่องนี้ ท่านสุลักษณ์ ศิวลักษณ์ ปราชญ์พุทธศาสนาให้ความเห็นว่า พุทธศาสนาให้ความเท่าเทียมแก่สตรี เช่น ให้มีการบวชภิกษุณี และเห็นว่าหญิงและชายต่างบรรลุได้เท่าๆกัน ส่วนเรื่องที่พระเกษมยกมาคงเป็นเรื่องที่สอดแทรกมาในสมัยหลัง และให้ความเห็นว่าสังคมเมื่อสองพันกว่าปีก่อนย่อมเปลี่ยนไปจากปัจจุบันมากแล้ว เช่น เรื่องสิทธิสตรี ดังนั้น ด้วยกาลที่ต่าง ก็ควรต้องปรับเสียบ้าง



ภิกษุประกอบกิจในอุโบสถวัดพระแก้ว กรุงเทพฯ
ภาพจาก http://www.tinyzone.tv/TravelDetail.aspx?ctpostid=703
ส่วนเรื่องอื่นๆเช่น ความเรียบง่าย ก็น่าชื่นชมพระเกษมที่พูดเรื่องนี้ เพราะสังคมไทยดูฟุ้งเฟ้อกับเรื่องประเพณีและ “พิธีกรรม” ซึ่งดูเป็นเรื่องปรุงแต่งอย่างที่สุด และผิดกับหลักศาสนาอย่างชัดเจน แต่ก็ด้วยกาลที่เปลี่ยนอีกเช่นกัน มันก็อยู่กับคนที่จะตีความว่าจะยึด “ประเพณีนิยม” ต่อ หรือเลือกหันมาตีความแนวเก่า (หรือใหม่?) เพราะชุดความรู้ในปัจจุบันถูดป้ายด้วยสี “ทุนนิยม-เสรีนิยม-อุตสาหกรรมนิยม” ซึ่งดูแย้งกับการกลับสู่ความดั้งเดิมอยู่มากทีเดียว

ผู้เขียนเคยคิดเอาเองว่า กรณีพระเกษมอาจนำไปสู่การปฏิวัติทางความคิดของคนไทยเกี่ยวกับศาสนาอย่างที่เคยเกิดกับคริสต์ศาสนามาแล้ว แต่ดูไปดูมากลายเป็นพระเกษมโดนรุมกระทืบโดยสังคมเสียมากกว่าพระเกษมจะไปช่วยปลุกปัญญาผู้คนให้ตื่น

แม้แกจะดู “ยึดติด” อยู่ในทีกับความคิดของแก ที่เห็นว่าต้องทางฉันถึงจะถูก และดูจะตีความผิดกาลไปมาก ทั้งที่คำสอนเรื่องอนิจจังก็มีอยู่ว่าสิ่งต่างๆย่อมเปลี่ยนแปลง ไม่เว้นแม้แต่คำสอนก็ต้องปรับให้เข้ากับรูปการณ์ แต่ข้อควรชื่นชมของแกก็คือ อย่างน้อยแกก็สนใจศึกษาพระคัมภีร์ของศาสนาอย่างจริงจัง (หรือเปล่า? ผู้เขียนก็พิสูจน์ไม่ได้ แต่ก็ยกประโยชน์ให้จำเลยไปก่อน) ผิดกับคนที่ถือศาสนาตามๆกันมา เช่น พิธีกรฝีปากกล้า (หมา?) ชื่อ ม.. พูดดังๆผ่านจอทีวีว่า ให้คิดดูเถิดว่าควรจะเชื่อพระเกษมหรือไม่ เพราะบรรพบุรุษเรา (?) ก็กราบไหว้มา

เอาเป็นว่า ตอนนี้ควรติดตามกรณีนี้อย่างใกล้ชิด เพราะคำสั่ง “เผด็จการ” จากสถาบันสงฆ์ไทยได้ออกมาแล้ว และพระเกษมน่าจะถูกจับสึกอย่างไม่ยินยอมพร้อมใจ น่าคิดด้วยว่า ผู้ที่ตัดสินคือ คณะสงฆ์ นั้น ถูกพระเกษมวิจารณ์ไว้ด้วย ดังนั้น คงไม่ต่างจากกรณีทักษิณถูก คตส. ซึ่งยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามตนเองตัดสินความผิด ยิ่งกรณีพระเกษมเป็นเพียงกรณีเล็กน้อยมากยังถูกจับสึก นี่อาจเผยธาตุแท้อันชั่วร้ายของคณะสงฆ์ไทย อำนาจนิยมในคณะสงฆ์ไทย และอาจพ่วงด้วยเรื่องสองมาตรฐานไปด้วย แน่นอนว่าเรื่องทั้งหมดจะไม่จบตรงที่พระเกษมต้องสึกหรือไม่สึก เพราะการสึกหรือไม่สึกไม่ใช่คำตอบของเรื่องที่ตรงประเด็นเลย และมีเรื่องค้างคาอีกเยอะ และผู้เขียนก็เชื่ออีกว่าวิญญาณนักสู้ของพระเกษมจะผุดขึ้นมา 




ปัญหาที่ต้องตอบเลยกลายเป็น "แล้วเรื่องนี้มันจะจบอย่างไร?"

วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554

จากขุนรองถึงฮิตเลอร์

                 ด้วยความง่วงและเพลียเกินกว่าจะอ่านหนังสือรู้เรื่อง เมื่อวาน (๒๘ กันยายน) ก็เลยวางหนังสือทั้งที่อยากอ่านใจจะขาด เพราะเพิ่งซื้อมา คือ กรุงแตก พระเจ้าตากฯ ของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ดังนั้น เพื่อไม่ให้เวลาล่วงเลยไปอย่างน่าเสียดายก่อนที่บอลจะมา ก็เลยหาคลิปรายการขุนรองปลัดชูที่มีคนมานั่งล้อมวงคุยกันมาดู ดูไปก็คิดตามไป บางทีก็กลัวๆบางฉาก เพราะเลือดสาดพอควร แถมยังต้องมาจ้องหน้าขุนรองตอนพะงาบๆเลือดเต็มหน้าในทะเลอีกต่างหาก ดูแล้วก็สยองมิใช่น้อย


                แต่สิ่งหนึ่งที่นึกๆดูจากความเลือดสาด และคับแค้นใจของคนชาติไทยที่ถูกพม่าหยามเหยียดก็คือ เหตุใดเรื่องในประวัติศาสตร์ที่ปวดร้าวเช่นนี้จึงยังคงนำมาสร้างเป็นสื่อที่เผยแพร่ได้เช่นนี้ ผิดกับเรื่องที่ผ่านมาในหน้าข่าวไม่กี่วันนี้ คือ เด็กนักเรียนแต่งตัวเป็นนาซี จนกงสุลหลายประเทศต้องวิ่งวุ่น

                นี่อาจเป็นผลจากความแตกต่างทางความทรงจำ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนหรือแม้แต่ทุกประเทศจะมีประสบการณ์แบบเดียวกัน และแน่นอนว่าย่อมนำไปสู่ความรู้สึกต่อสิ่งหนึ่งๆ เหตุการณ์หนึ่งๆ แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เมื่อรวมกับวัฒนธรรมแบบไทยๆที่ไม่ได้ใส่ใจเอาความอะไรมากมาย จึงออกมาแบบที่เห็น

                ชาวยิวเพิ่งผ่านประสบการณ์น่าหวาดกลัวอย่างสูงสุดมาได้ประมาณ -๒ ชั่วคนเท่านั้น จากการถูกจองเวรฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยเยอรมนีที่อยู่ภายใต้การนำของพรรคนาซี และมีผู้นำที่ชื่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ แน่นอน นอกจากชาวยิวจะปวดร้าวกับเรื่องเช่นนี้ ชาวเยอรมันซึ่งต้องถูกตราหน้าว่าเป็นต้นเหตุหรือผู้กระทำการอันโหดร้ายนั้นก็ไม่ต้องการให้เรื่องนี้ถูกปลุกขึ้นมาอีกเช่นกัน ขณะที่ประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะในองค์การระหว่างประเทศ ก็ไม่อยากให้เรื่องพวกนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาเช่นกัน เพราะช่วงเวลามหาสงครามไม่ใช่เรื่องที่น่าจดจำเอาเสียเลย อย่างมากเรื่องของนาซีก็ถูกนำมาทำในรูปแบบสารคดีนำเสนอความเป็นจริงเพื่อเตือนสติและเตือนใจผู้คนทั้งหลายถึงความโหดร้ายเท่านั้น  ส่วนเรื่องบันเทิงเริงใจกับเรื่องพวกนี้คงไม่อาจรับได้สักเท่าไรและคงไม่มีใครคิดจะทำ

                ส่วนสยามถูกพม่าบุกถล่มเมือง ทำลายล้างกรุงศรีอยุธยา เมืองราชธานีเมื่อ ๒๔๐ กว่าปีก่อน เผาวัดเผาวัง ฆ่าฟันคนสยามมากมาย บ้านเมืองล่มสลายลงโดยสิ้นเชิง แต่เรื่องราวสงครามเมียนมาร์-สยามยุทธ์ก็ยังถูกนำมาผลิตซ้ำในรูปแบบต่างๆ ทั้งเพื่อลัทธิชาตินิยม หรือเพื่อศึกษา หรือเพื่อเตือนใจก็แล้วแต่ รวมทั้งเพื่อความบันเทิง โดยไม่มีการต่อต้าน เช่น ภาพยนตร์หรือละครทวิภพ หรือแม้แต่ขุนรองปลัดชูนี้ที่สะท้อนความโหดร้ายของพม่าต่อฝ่ายสยามอย่างสูงในคราวศึกอลองพญา นอกจากนี้ เรื่องความยิ่งใหญ่สงครามเมียนมาร์-สยามยุทธ์ของฝ่ายสยามจะยิ่งเป็นที่นิยมอย่างมากของคนไทย โดยเฉพาะภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งก็สะท้อนความโหดร้ายของสงครามได้ไม่แพ้กัน

                จะเห็นได้ว่า แม้แต่การสงครามกับพม่าหลายต่อหลายครั้ง ไปจนถึงสงครามที่สร้างความป่นปี้ให้กับอดีตเมืองหลวงของชาติตนเอง ชาวสยามก็มิได้กังวลแต่อย่างใดกับการผลิตซ้ำเหตุการณ์เหล่านี้ มิหนำซ้ำยังดูจะพอใจที่ได้ยลสื่อที่ผลิตมาเหล่านี้ ดังนั้น มิพักต้องพูดถึงเหตุการณ์ที่ไม่ไกลตัวมากอย่างการข่มเหงจีนของญี่ปุ่น หรือการกดขี่เชลยศึกมาสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแควก็ยังไม่ได้สะเทือนความรู้สึกคนไทยมากมายอะไร ดังนั้น เรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ไปเกิดอยู่ที่ยุโรปนู่น คงไม่ต้องบอกก็คงรู้ว่าคนไทยจะรู้สึกอะไรหรือไม่

                การสงครามที่ถูกระบุว่าไม่มีความชอบธรรมมี ๒ แบบ คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กับการก่อการร้าย ซึ่งก็ไม่มีผลอะไรต่อคนไทยอีกเช่นกัน เพราะแทบไม่มีคนไทยคนไหนรู้ว่ามันไม่ชอบธรรม ชายแดนใต้ก็มีการวางระเบิดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่รัฐบาลไทยก็ดูปกติสุขดี จนคนไทยไม่รู้สึกอะไรไปด้วย ยิ่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเพราะไกลตัวเสียเหลือเกิน นอกจากนี้ การกำหนดความไม่ชอบธรรมก็เป็นเรื่องมาตรฐานของฝรั่งอีกเช่นเคย (แม้มันจะควรเป็นเช่นนั้นก็ตาม)

                ดังนั้น การจะมาเรียกร้องให้ไทยจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์สากลให้ดีกว่านี้ก็คงไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้นมา เพราะมันเป็นเรื่องของประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคนแต่ละชาติซึ่งมีผลต่อความรู้สึกต่อสิ่งที่พบเจอนั้นๆ ต่อให้รับรู้เรื่องราวเสียมากมาย ก็ไม่อาจกระตุ้นความรู้สึกเกี่ยวข้องอะไรกับคนไทยแม้จะมีสถานะความเป็นมนุษย์ร่วมโลกกันก็ตาม แต่มันไม่ได้ประสบกับตัวเอง

นอกจากนี้ ฮิตเลอร์ยังไม่ใช่จอมเผด็จการที่น่าประหวั่นพรั่นพรึง เพราะฮิตเอลร์ในสังคมไทยมีสถานะที่ดูให้ความบันเทิง เช่น ปรากฏการตัดต่อคลิปภาพฮิตเลอร์กับเสียงอื่นที่ให้ความบันเทิง หรือใส่ซับไทยที่ดูตลกโปกฮา ส่วนวงดนตรีเด็กแนวอย่างเสลอ (Slur) ก็เอาชื่อฮิตเลอร์ไปทำเป็นเพลง หรือบางที ฮิตเลอร์ก็ดูจะเป็นฮีโร่ตัวหนึ่งเสียด้วยซ้ำที่ดูเท่ห์ มีอำนาจ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับแนวคิดอำนาจนิยมที่แฝงอยู่ในความคิดคนไทยก็ได้

แต่สรุปแล้ว นั่นคือความเป็นจริงที่ฝรั่งไม่เข้าใจ เช่นเดียวกับที่ฝรั่งก็ไม่เข้าใจว่าทำไมผ้าลายพระพุทธเจ้าถึงเอาไปทำบีกีนี่ไม่ได้ในสายตาคนไทยพุทธบางคน นั่นคือความรู้สึกต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่ไม่มีวันเหมือนกันได้ทั้งโลกทั้งในวันนี้และ "anytime" และนี่คือสิ่งหนึ่งที่คิดได้ระหว่างดูขุนรองปลัดชูเมื่อคืนวาน

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

บทคัดย่อบางบทความเกี่ยวกับภูฏาน (แปล)

ภูฏาน (Bhutan) เป็นประเทศที่หลายคนหลงใหลใฝ่ฝันจะไปเยือนสักครั้ง ด้วยภูมิประเทศที่ทอดตัวตามแนวเทือกเขาหิมาลัย มีวัฒนธรรมเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร ขณะที่หลายคนยังตรึงตากับภาพเจ้าชายหนุ่ม จิกมี เคซาร์ นัมเกล วังชุก ซึ่งวันนี้ได้ก้าวขึ้นสวมบทประมุขตัวจริงของประเทศไปแล้ว 


ภาพจาก http://dxing.at-communication.com/en/a5_bhutan/ 
วัดบนผาสูงเช่นนี้ปรากฏอยู่ทั่วไปในภูฏาน
สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ส่งต่อตำแหน่งแก่เจ้าชายจิกมี เคซาร์ นัมเกล วังชุก
ภาพจาก http://www.boston.com/bigpicture/2008/11/bhutan_crowns_a_new_king.html

อย่างไรก็ดี ภูฏานในรอบครึ่งทศวรรษที่ผ่านมากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่สิ่งใหม่ๆหลายอย่าง โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองหลังการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในปี 2008

บรรยากาศการติดป้ายก่อนการเลือกตั้งสาธิต (mock election) ปี 2007 ก่อนเลือกจริงๆในปี 2008
ภาพจาก http://www.theage.com.au/news/world/poll-may-make-bhutan-grossly-nationally-unhappy/2007/04/27/1177459979137.html 

การพัฒนาย่อมนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ภูฏานพยายามเปลี่ยนอย่างยั่งยืนและเป็นตัวของตัวเอง อันเนื่องมาจากตัวอย่างการพัฒนาของหลายๆประเทศที่ดูไม่น่าเดินตามสักเท่าไร ซึ่งเห็นได้ชัดจากแนวคิด GNH: Gross National Happiness หรือความสุขมวลรวมประชาชาติ ที่ถูกนำมาใช้แทน GDP หรือ GNP อย่างไรก็ดี ยังคงเป็นคำถามตามมาเสมอว่า ประเทศเล็กๆแห่งหุบเขาหิมาลัยจะสามารถก้าวไปยังจุดที่ตนต้องการได้หรือไม่ในกระแสโลกที่เชี่ยวกราก ซึ่งคำตอบคงไม่เกิดขึ้นในวันสองวัน หรือปีสองปีนี้เป็นแน่


การศึกษาเกี่ยวกับภูฏานในปัจจุบันมีมากขึ้น ทั้งโดยนักวิชาการในและต่างประเทศ แม้จะยังคงมีการคัดกรอง (censor) ภายในประเทศอยู่ก็ตาม ผู้เขียนได้แปลบทคัดย่อบางบทความที่น่าสนใจมาลงไว้ ความจริงอยากอ่านบทความเต็มๆ แต่ด้วยข้อจำกัดในการเข้าถึงจึงทำได้เพียงอ่านและแปลบทคัดย่อ ซึ่งน่าจะช่วยเปิดมุมมองใหม่ต่อประเทศนี้ได้บ้าง



เนปาลและภูฏานในปี 2009: งานหนักในการเปลี่ยนผ่าน
มาเฮนทรา ลาโวติ (Mahendra Lawoti)

บทคัดย่อ

การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในเนปาลและภูฏาน เดินหน้าสู่ความท้าทายมากมายในปี 2009 ทั้งการรวมตัวของกองกำลังลัทธิเหมา (Maoist combatants) การแบ่งขั้วของเหล่าพรรคการเมือง การเรียกร้อง (assertion) ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เพิ่มขึ้น และกองกำลังติดอาวุธที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ได้ทำให้การร่างรัฐธรรมนูญและการมุ่งสู่ความมีเสถยีรภาพทางการเมืองล่าช้าออกไป ส่วนในภูฏาน การเรียกร้องสิทธิ์ทางสังคมต่อการจำกัดสิทธิ์และการเลือกปฏิบัติก็ได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน

Lawoti, Mahendra, ‘Nepal and Bhutan in 2009: Transition Travails?’, Asian Survey 50, 1 (2010), 164-72.



ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ภูฏาน: ภายใต้ม่านเงาของมิตรภาพอินเดีย-ภูฏาน
พรานาฟ คูมาร์ (Kumar, Pranav) 


ภูฏานอยู่ระหว่างสองมหาอำนาจเอเชียอย่างอินเดียและจีน ซึ่งภูฏานต้องจัดการรับมือให้ดี
ภาพจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Bhutan_%E2%80%93_People's_Republic_of_China_relations
บทคัดย่อ

ในอดีต ปฏิสัมพันธ์ระหว่างภูฏานและจีนนั้นกระทำผ่านทิเบต แต่การเข้ายึดครองทิเบตของจีนและการลุกฮือในทิเบตทำให้ความหวั่นกลัวแทรกซึมเข้าสู่ภูฏาน อันเป็นเหตุให้ต้องปิดพรมแดนทางเหนือในปี 1960 อย่างไรก็ดี ภูฏานได้ปรับมาใช้นโยบายที่เปิดมากขึ้นในทศวรรษ 1970 และค่อยๆเพิ่มการติดต่อระหว่างเพื่อนบ้านทั้งสอง (ภูฏานและจีน - ผู้แปล) การพูดคุยเรื่องพรมแดนซึ่งเริ่มต้นขึ้นในปี 1984 มีผลให้เกิดข้อตกลง (agreement) ในปี 1998  เพื่อคงไว้ซึ่งสันติภาพและความสงบสุขตามแนวชายแดน ขณะที่จีนและภูฏานไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตหรือการค้าตามกฎหมาย (legal trade) แต่ความสนใจของจีนต่อภูมิภาคเอเชียใต้รวมทั้งภูฏานก็ได้เติบโตขึ้น ดังนั้น ภูฏานจึงเผชิญกับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก (dilemma) ในการไม่ทำให้กระทบความสนใจและความรู้สึก (sentiments) ของเพื่อนดั้งเดิมอย่างอินเดีย ขณะที่ในเวลาเดียวกันก็ต้องตอบสนองต่อการติดต่อและการแก้ปัญหาชายแดนอย่างสันติและเร่งด่วนกับจีน ในความสัมพันธ์ระหว่างจีนและภูฏาน (Sino-Bhutanese relationship) ปัจจัยจากอินเดียยังคงเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุด พลวัต (dynamics) ของความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอินเดียและความสนใจและการดำเนินการทางยุทธศาสตร์ของอินเดียและจีนในบริเวณเทือกเขาหิมาลัยจะเป็นส่วนสำคัญมากต่อการร่างนโยบายต่างๆของภูฏานต่อจีน

Kumar Pranav, ‘Sino-Bhutanese Relations: Under the Shadow of India–Bhutan Friendship’, China Report 46, 3 (2010), 243-52.





ระบบคุณค่าทางพุทธศาสนา เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม: การวิเคราะห์แบบพหุระดับของความพยายามพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูฏาน
เจเรมี เอส. บรู๊คส์ (Brooks, Jeremy S.)


บทคัดย่อ


แนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์มักปฏิเสธผลกระทบต่างๆของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจต่อวัฒนธรรมดั้งเดิม ขณะที่นักวิจัยบางคนชี้ว่าการพัฒนาช่วยให้ระบบคุณค่าต่อสิ่งแวดล้อม (environmental values) ดีขึ้น แต่ (นักวิจัย) คนอื่นๆยังคงยืนยันว่ามันคุกคามความเชื่อดั้งเดิมและบรรทัดฐาน (norms) ซึ่งโอบอุ้มความนับถือต่อสิ่งแวดล้อม ในบทความนี้ ผม (ผู้เขียนบทความ) พบว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจ ศาสนา และบรรทัดฐานในชุมชนเชื่อมโยงกับคุณค่าทางสิ่งแวดล้อมอย่างไรใน 13 หมู่บ้าน ใน 3 ชุมชน ในภูฏาน การใช้การวิเคราะห์ทางสถิติการถดถอยโลจิสติกแบบพหุระดับ (multilevel logistic regression) วิเคราะห์ 4 ปัญหาเกี่ยวกับระบบคุณค่าต่อสิ่งแวดล้อม และพบว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจมากกว่าที่จะเป็นปัจจัยทางศาสนาที่เป็นตัวชี้นำที่เหนือกว่า (หรือมีผลมากกว่า ผู้แปล) ต่อคุณค่าทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนแนวคิด “การอนุรักษ์และการพัฒนา” และมากไปกว่านั้น  บรรทัดฐานของชุมชนดั้งเดิมได้แสดงให้เห็นความสัมพันธ์เล็กน้อยกับระบบคุณค่าต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี บรรทัดฐานต่อสิ่งแวดล้อมในระดับชาติซึ่งเป็นผลจากความพยายามของรัฐบาลและบางส่วนวางอยู่บนพื้นฐานของหลักพุทธศาสนาอาจกำลังถูกทำให้ปรากฏออกมา แม้ว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจจะสำคัญอย่างชัดเจน แต่แนวคิดการพัฒนาของภูฏานชี้ให้เห็นฉันทามติในแนวดิ่ง (top-down commitment) ต่อสิ่งแวดล้อมที่แสดงออกด้วย (couched in) คำสอนทางศาสนาอาจช่วยสนับสนุนระบบคุณค่าต่อสิ่งแวดล้อมด้วย


Brooks, Jeremy S., ‘Buddhism, Economics, and Environmental Values: A Multilevel Analysis of Sustainable Development Efforts in Bhutan’, Society & Natural Resources: An International Journal 24, 7 (2010), 637-55.

วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

ศิลป์ พีระศรี บทสวดมนต์ แลการให้ความสำคัญกับรากภาษาไทย


                วันที่ ๑๕ กันยายน เป็นวันคล้ายวันเกิดอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ในเว็บไซต์ Facebook โดยเฉพาะของสมาชิกที่มีความเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยศิลปากรจะมีคำแสดงความอาลัยหา สดุดียกย่อง ฯลฯ

รูปวาดเหมือน อาจารย์ศิลป์ พีระศรี
ภาพจาก http://www.snr.ac.th/wita/Music/Corrado_day.htm 

                สิ่งที่น่าคิด คือ อะไรเป็นเหตุให้เขาเหล่านั้นบางคน (ย้ำว่าบางคน) แสดงออกในลักษณะนี้ เหตุเพราะคุณงามความดีของชายชื่อ ศิลป์ พีระศรี นั้นได้เข้าไปอยู่ในความรับรู้ของคนเหล่านั้นมากน้อยเพียงใด บางคนไม่เคยรับรู้อะไรนอกไปจาก ศิลป์ พีระศรี คือ บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย หรือเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร หากแต่ผลงานคืออะไรไม่ทราบ หรือมีคุณอย่างไรบอกไม่ถูก


                นั่นคือการใช้อารมณ์ความรู้สึกแบบโหนกระแส ต้องทำตามคนอื่นให้ได้ แม้จะไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร มันไม่ต่างอะไรไปจากการมองสิ่งสวยงามในที่ที่มองไม่เห็นแต่บอกว่าสวย และอีกอย่างที่น่าเปรียบเทียบ คือ บทสวดมนต์

                สิ่งที่เหมือนกันเสียเหลือเกิน คือ จะมีสักกี่คนที่เข้าใจบทสวดมนต์ที่เป็นภาษามคธ (บาลี) แต่ชาวพุทธส่วนใหญ่ก็ท่องจำและพร่ำสวดภาวนาอย่างไร้จุดหมาย การพร่ำสวดมนต์โดยไม่รู้ความหมายของบทสวดก็ไม่ต่างอะไรกับการยกย่องบุคคลโดยไม่รู้ถึงคุณของเขาหรือเธอ

                ใครจะปฏิเสธได้ว่าการถือศาสนาในปัจจุบันเกิดจากประเพณีนิยมเป็นใหญ่ คือ เขาถือกันมา พ่อแม่ปู่ย่าตายายถือกันมา ก็ถือบ้างจะเป็นไร แต่ไม่ได้ทราบถึงความดีงามแห่งศาสนานั้นๆ เขาเหล่านั้นถือศาสนาโดยไม่รู้ว่าศาสนานั้นมีคุณอย่างไร (ที่มากกว่าทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี ขณะที่บางศาสนาที่มีการศึกษาศาสนาอย่างดีและมีระบบการศึกษาศาสนากลับถูกรัฐต่อต้านในฐานรบกวนความมั่นคง

                มาถึงจุดนี้ ขอชมเชยโทรทัศน์ช่องไทยพีบีเอส เนื่องด้วยมีการนำเสนอคุณความดีของชายชื่อ ศิลป์ พีระศรี ให้เป็นที่ประจักษ์ เป็นหนทางให้คนที่ไม่รู้และอยากรู้ได้รู้ ซึ่งจะนำไปสู่การสดุดียกย่องอย่างมีเหตุ หรือผู้เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยศิลปากรที่เข้าถึงเรื่องพวกนี้ได้ยาก ดังนั้น การนำเสนอของโทรทัศน์ช่องนี้จึงเปรียบเสมือนแสงสว่างที่ทำให้ผู้อยากเห็นหรือไม่เคยเห็นสิ่งสวยงามที่ความมืดบดบังได้เห็นสิ่งสวยงามนั้นสักที แต่บางครั้ง ถ้าสิ่งที่ซ่อนในความมืดมัวนั้นเป็นสิ่งไม่งามเสียบ้างก็ดี เพราะการชื่นชมควรอยู่บนฐานของความเป็นมนุษย์

                ส่วนเรื่องบทสวดมนต์ ขอเสนอดังนี้ว่า ระบบการศึกษาควรหันไปหาภาษาที่ภาษาไทยได้รับอิทธิพลให้มากกว่านี้ ไม่ใช่สักแต่ อิงลิช ไชนิส เจแปนนิส โคเรียน ทำไมไม่ แขมร์ ลาว มคธ (บาลี) สันสกฤต บ้าง เพราะรากภาษาไทยมิใช่มาจากกอไผ่ (ถึงมีก็คงน้อย) แต่มาจากภาษาใกล้ตัวเหล่านี้ทั้งสิ้น การด่ากราดเด็กว่าเขียนผิดเขียนถูก มันก็เหมือนการด่าไอ้แดงที่ไปวิ่งแข่งกับนักวิ่งทีมชาติ เพราะมันไม่มีพื้นฐานแล้วมันจะทำได้ดีได้อย่างไร ศัพท์ภาษาไทยที่สละสลวยต่างก็มาจากภาษาสันสกฤตและมคธเป็นส่วนใหญ่ แต่การเรียนการสอนไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควรเลย ดังนั้น หากหวังให้เด็กไทยใช้ภาษาไทยได้ดี การเรียนรากของภาษาจึงเป็นสิ่งสำคัญ เหมือนการเรียนภาษาละตินเพื่อรู้รากภาษาอังกฤษอย่างลึกซึ้ง และที่สำคัญ บทสวดมนต์ก็จะได้เข้าไปอยู่ในใจคนถือศาสนาอย่างรู้ความหมายเสียที

วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

พระมหากษัตริย์ไทยกับการตัดและตั้งศักราช

หลายคนโดยเฉพาะนักศึกษาประวัติศาสตร์และผู้สนใจประวัติศาสตร์คงเคยได้ยินเรื่องเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ที่เกี่ยวข้องกับศักราชมาบ้าง เช่น ตัด ลบ ตั้ง (ศักราช) คำอธิบายอย่างง่ายๆสำหรับคำเหล่านี้อาจกล่าวโดยเชื่อมโยงกันได้ คือ "ตัด" และ "ลบ" ศักราชนั้น มีความหมายเดียวกัน คือ หยุดใช้ศักราชที่ใช้อยู่ หรือแก้ไขศักราชที่ใช้อยู่ให้ต่างๆไปจากเดิม แต่ส่วนใหญ่ (ซึ่งมีในประวัติศาสตร์ไม่กี่ครั้ง) จะหยุดใช้ศักราชเดิมแล้ว "ตั้ง" ศักราชใหม่ขึ้นมา การตัดศักราชนั้นเกิดจาก ๒ สาเหตุใหญ่ คือ ๑. กษัตริย์ในบางประเทศ โดยเฉพาะอินเดียและจีน ทรงตัดศักราชเก่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรัชศกก่อนหน้า คือ ศักราชประจำรัชกาลก่อน เช่น เมื่อจักรพรรดิหย่งเล่อขึ้นครองราชย์ ก็จะตัดศักราชของจักรพรรดิพระองค์ก่อน แล้วเริ่มใช้ศักราชเป็น ปีที่ ๑ แห่งรัชศกหย่งเล่อ เป็นต้น ซึ่งศักราชที่ตั้งใหม่ในปีเริ่มครองราชย์ของกษัตริย์พระองค์นั้นๆ หากศักราชของพระองค์ถูกใช้อย่างแพร่หลายก็จะถูกใช้สืบๆกันมา เช่น จุลศักราช มหาศักราช เป็นต้น ๒. ความเชื่อทางพุทธศาสนา โดยเฉพาะความเชื่อเรื่อง "ปัญจอันตราธาน" ที่ความเสื่อมจะมาเยือนมากขึ้นเรื่อยๆทุก ๑,๐๐๐ ปี ดังนั้น เมื่อศักราชเข้าใกล้จำนวนเต็มพัน เช่น ๑,๐๐๐ ๒,๐๐๐ ... ๕,๐๐๐ ใกล้เข้ามา กษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ก็จะแก้ปัญหาด้วยการตัดศักราช คือ เลิกใช้ศักราชนั้นเสียแล้วอาจนำศักราชอื่นมาใช้แทน แต่มักไม่ตั้งศักราชใหม่ในกรณีนี้ หรือบางครั้งอาจแก้ไขบางส่วนเกี่ยวกับระบบปฏิทิน (ดูในส่วน วิเคราะห์กรณีสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง)  


ในประวัติศาสตร์ไทย กรณีของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (ครองราชย์ พ..๒๑๗๒-๒๑๙๙) มีการระบุไว้ในพระราชพงศาวดารอย่างชัดเจน และยังมีวรรณกรรมสรรเสริญพระองค์เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย[๑] ข้อความในพระราชพงศาวดารที่กล่าวถึงสมเด็จพระเจ้าปราสาททองตัดศักราช เช่น ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุว่า


“ลุศักราช ๑๐๐๐ ปีขาล สัมฤทธิศก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสปรึกษาแก่เสนาพฤฒามาตย์ราชปุโรหิตทั้งหลายว่า บัดนี้จุลศักราชถ้วน ๑๐๐๐ ปี กาลกลียุค จะบังเกิดไปภายหน้าทั่วประเทศธานีใหญ่น้อยเป็นอันมาก เราคิดว่า จะเสี่ยงบารมีลบศักราช บัดนี้ ขาลสัมฤทธิศก จะเอากุนเป็นสัมฤทธิศก ให้กรุงประเทศธานีนิคม ชนบททั้งปวงเป็นสุขไพศาลสมบูรณ์ดุจทวาบรยุค”[๒]

จะเห็นได้ว่า กรณีสมเด็จพระเจ้าปราสาททองตัดศักราชนั้น น่าจะเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาเรื่อง "ปัญจอันตราธาน" เพราะทรงตัดศักราชในปีที่จุลศักราชครบถ้วนพัน 


นอกจากนี้ ยังมีเรื่องในพระราชพงศาวดารที่แสดงว่าพระองค์น่าจะตั้งศักราชใหม่จริง คือ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้ทรงแจ้งให้พระเจ้ากรุงอังวะทราบและใช้ศักราชที่ตั้งใหม่ด้วย แต่ในจุลศักราช ๑๐๐๒ พม่าได้ส่งทูตมาแจ้งว่าไม่ยินดีใช้ ให้ทางกรุงศรีอยุธยาใช้ไปฝ่ายเดียว จนสมเด็จพระเจ้าปราสาททองไม่พอพระทัย[๓]

อีกกรณีหนึ่งที่ว่ากันว่าพระมหากษัตริย์ไทยได้ทรงตัดศักราช คือ พระมหาธรรมราชาที่ ๑ หรือพระยาลือไท แห่งแคว้นสุโขทัย (ครองราชย์ประมาณ พ..๑๘๙๐-๑๙๑๑) ที่มาของความเชื่อว่าพระองค์ตัดศักราชมีหลายทาง

ที่มาแรก มีตำนานเรื่องหนึ่งในหนังสือ “พงศาวดารเหนือ” เล่าถึงพระร่วงอรุณราชกุมารได้เรียกชุมนุมท้าวพระยามหากษัตริย์ของแคว้นต่างๆเพื่อตั้งศักราชใหม่ ที่มาที่สอง คัมภีร์ “ไตรภูมิพระร่วง” หรือ “ไตรภูมิกถา” มีข้อความในปัจฉิมวากษ์ระบุศักราช ๒๓ ซึ่งเป็นไปได้ว่ามีการตั้งศักราชใหม่ ดังนี้


“แต่นี้ใส่ไตรภูมิกถาเมื่อใดไส้ ปีรกาสักราชได้ ๒๓ ได้ในเดือน ๑๐ เพ็ง วันพฤหัสบดีมฤคเลียรนักษัตร พระญาลิทัยผู้เป็นหลานปู่ พระญาลิทัยผู้เสวยราชในเมืองศรีสัชชนาลัยแลสุกโขทัย ผู้เป็นหลานแก่พระญารามราชอันเป็นสุริยพงษ เพื่อได้กินเมืองศรีสัชชนาลัยอยู่ได้หกเข้า[๔]

ที่มาที่สาม คือ หนังสือ “นางนพมาศ” หรือ “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” เนื้อหานั้น นางนพมาศซึ่งเป็นสนมของพระร่วงเจ้าได้เล่าประวัติของตนเอง (อัตชีวประวัติ) ตั้งแต่ก่อนพระร่วงจะตั้งศักราชเล็กน้อยและไปจบในปีที่ ๑๘ ของศักราชที่ตั้งใหม่[๕]

และที่มาสุดท้าย คือ เนื้อความใน “จารึกหลักที่ ๔ วัดป่ามะม่วง ภาษาเขมร” โดยเฉพาะด้านที่ ๒ ซึ่งอรรถาธิบายความรู้ความสามารถของพระยาลือไทเกี่ยวกับการคำนวณปฏิทินไว้ว่าพระองค์ทรง


“พระปรีชาโอฬาริก ฝ่ายวันสิ้นเดือน ๔ ที่ควรมา..หลังศักราชมีอธิกมาส พระองค์ก็ทรงแก้ไขให้สะดวก ทรงตรวจสอบแล้วอาจรู้ปีที่เป็นปรกติมาสและอธิกมาส วันวารนักษัตรโดยสังเขปและโดยปฏิทินสำเร็จรูป สมเด็จบพิตรอาจถอน อาจลบ อาจเพิ่ม”[๖]




บทวิเคราะห์: สมเด็จพระเจ้าปราสาททองตัดศักราชเก่าตั้งใหม่จริงหรือ?


          ในกรณีของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ได้ศึกษาโดยอาศัยจารึกวัดไชยวัฒนารามและหลักฐานดัทช์ร่วมสมัย สำหรับเอกสารดัทช์ คือ บันทึกของเจ้าหน้าที่ของบริษัทเนเธอร์แลนด์อีสต์อินเดีย (VOC) ได้บันทึกเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๓ เมษายน ค..๑๖๓๙ ว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงฉลองการลบศักราชในวันขึ้นปีใหม่ไทยเป็นเวลาสามวัน และฉลองในวันกลางเดือนเมษายนอีก ๓ วัน ซึ่งจากข้อมูลนี้ทำให้ ดร.ประเสริฐ สอบได้ว่าวันขึ้นปีใหม่ไทยตรงกับ “เดือน ๕ ขึ้นค่ำหนึ่ง”[๗] และจากข้อมูลนี้จึงสามารถนำไปสู่การคำนวณวันตัดศักราชใน ค..๑๖๓๘ ได้ โดยการหาวันขึ้นปีใหม่ของปีดังกล่าว ซึ่งได้ว่าเป็น “วันจันทร์ที่ ๑๕ มีนาคม” ซึ่งยังเป็นจุลศักราช ๙๙๙ อยู่ ก่อนจะถึงวันเถลิงศกจุลศักราช ๑๐๐๐ ในวันเสาร์ที่ ๑๐ เมษายน ๒๖ วัน[๘]


จารึกแผ่นทองแดงวัดไชยวัฒนาราม
ภาพจาก http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/th/img_large.php?f=/317_1.jpg
  
           ส่วนจารึกแผ่นทองแดงวัดไชยวัฒนารามระบุเวลาไว้ตอนท้ายว่า “ศุภมัสดุ พุทธศักราช ๒๑๙๒ มหาศักราช (๑)๕๓๒ วันพุธ เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ (ปี)จอ โทศก แรกสถาปนา”[๙] ทำให้ทราบว่ามีการแก้ไขปีนักษัตรตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร “บัดนี้ ขาลสัมฤทธิศก จะเอากุนเป็นสัมฤทธิศก” คือ แก้ให้ปีนักษัตรย้อนหลังไป ๓ ปีจาก ขาล เป็น กุน (กุน ชวด ฉลู ขาล) จริง โดยเวลาที่ระบุในจารึกวัดไชยวัฒนารามนั้นควรเป็นปีนักษัตรฉลู แต่กลับระบุว่าเป็นปีจอ (จอ กุน ชวด ฉลู) ย้อนหลังไป ๓ ปีนักษัตรเช่นกัน ดังนั้น ดร.ประเสริฐ จึงสรุปว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททองไม่ได้ตัดหรือลบจุลศักราช แต่ได้เปลี่ยนปีนักษัตรถอยหลังไป ๓ ปีนักษัตร[๑๐] ส่วน ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร เสริมว่า พระองค์ได้ทรงหันไปใช้ระบบศักราชแบบเขมร คือ มหาศักราช[๑๑] (ดังปรากฏในจารึกวัดไชยวัฒนาราม) ซึ่งมีความเป็นไปได้ เพราะน่าสังเกตว่าในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้ทรงนำสิ่งต่างๆที่เป็นรูปแบบเขมรกลับมาใช้อีกครั้ง เช่น การสร้างพระปรางค์ การสร้างปราสาทนครหลวง การสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่อง เป็นต้น


ปราสาทนครหลวง
ภาพโดยคุณ บุณฑริกา จาก http://www.klongdigital.com/webboard3/33030.html 


พระพุทธรูปทรงเครื่อง วัดหน้าพระเมรุ
ภาพจาก http://www.thaiwhic.go.th/heritage_culture2.aspx 

            ส่วนข้อมูลเรื่องการส่งทูตให้พม่าใช้ศักราชที่ตั้งใหม่แต่พม่าปฏิเสธนั้น ดร.วินัย ได้อธิบายว่า เป็นเรื่องเข้าใจผิดของผู้แต่งพระราชพงศาวดารใช้สมัยหลัง เพราะความจริงแล้วเหตุการณ์นี้เกี่ยวข้องกับ “กบฏเจ้าท่าทราย” ซึ่งกลุ่มที่สนับสนุนเจ้าอาทิตย์ก่อการกบฏเข้ายึดพระราชวังหลวงได้ ๑ คืน ก่อนถูกปราบได้ โดยผู้ก่อการบางคนได้หนีไปยังราชสำนักพม่า พม่าจึงต้องส่งทูตมาชี้แจงว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลัง[๑๒] แต่เนื่องจากเหตุการณ์การส่งทูตมาชี้แจงนี้เกิดขึ้นใกล้จุลศักราช ๑๐๐๐ และพระราชพงศาวดารที่บันทึกไว้คงบันทึกแบบย่อๆ จึงเกิดการเสริมความเข้ากับเรื่องตัดศักราชตามจินตนาการในภายหลัง

            โดยสรุปแล้ว การตัดศักราชของสมเด็จพระเจ้าปราสาทคงเกิดขึ้นจริง แต่เป็นในลักษณะยกเลิกศักราชเก่า คือ จุลศักราชที่กำลังจะครบ ๑๐๐๐ ปี ซึ่งเป็นเรื่องไม่เป็นมงคลตามความเชื่อทางศาสนา ไปใช้มหาศักราชซึ่งเป็นศักราชที่รับมาจากเขมรแทน นอกจากนี้ ยังถอยปีนักษัตรไป ๓ ปีนักษัตร ตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร แต่ไม่ได้ทรงตั้งศักราชใหม่แต่อย่างใด ซึ่งเป็นกรณีที่แปลกมาก และน่าศึกษาถึงเหตุผลเบื้องหลังมากขึ้นกว่านี้



บทวิเคราะห์: พระยาลือไทตัดศักราชเก่าตั้งใหม่จริงหรือ?[๑๓]

            ส่วนกรณีพระยาลือไทนั้น ตามการวิเคราะห์ของ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร ที่มาทั้งสี่ที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั้นเป็นเรื่องฟั่นเฝือเชื่อไม่ได้เสีย ๓ เรื่อง แต่ได้รับการเสริมความน่าเชื่อถือจากเนื้อความในจารึกที่เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ โดยจะกล่าวไปทีละเรื่อง ดังนี้

เรื่องแรก ตำนานพระร่วงตัดศักราชใน พงศาวดารเหนือ นั้นมีเค้าโครงเดียวกับเรื่องที่พบในเอกสารล้านนาทั่วไป คือ เรื่องพระเจ้าอนิรุทธมหาราช (กษัตริย์พุกาม ครองราชย์ ค..๑๐๔๔-๑๐๗๗) เรียกชุมนุมเจ้าผู้ปกครองประเทศต่างๆเพื่อตั้งศักราชใหม่ (จุลศักราช) ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะจุลศักราชเริ่มต้นก่อนเวลาตั้งอาณาจักรพุกาม แต่น่าจะเป็นการสร้างเรื่องขึ้นมาเพื่อแสดงความเกี่ยวข้องของจุลศักราชกับอาณาจักรพุกาม ซึ่งอาจเป็นเพราะล้านนาได้รับเอาการใช้จุลศักราชมาจากพุกามก็เป็นได้

            ส่วน "ศักราช ๒๓" ที่ปรากฏในไตรภูมิพระร่วงนั้น ก็ไม่ใช่ศักราชที่พระยาลือไทตั้งขึ้นใหม่ เพราะไตรภูมิพระร่วงนั้นเป็นพระราชนิพนธ์ของพระยาลือไทขณะยังครองเมืองศรีสัชนาลัยอยู่ (ประมาณ พ..๑๘๘๓-๑๘๙๐) ขณะที่เรื่อง นางนพมาศ ก็เป็นเรื่องที่เพิ่งแต่งเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๓ นี้เอง และแม้แต่จารึกวัดป่ามะม่วงที่พรรณนาพระอัจฉริยภาพของพระยาลือไทด้านการคำนวณปฏิทินมากมาย แต่ก็ไม่มีเนื้อความใดกล่าวว่าพระองค์ได้ทรงตัดศักราชเลย

            ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า พระยาลือไทไม่ได้ทรงตัดหรือลบศักราชแต่อย่างใด รวมทั้งไม่ได้ทรงตั้งศักราชใหม่ด้วย หากแต่เป็นที่ยอมรับว่า พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถในการคำนวณปฏิทินได้อย่างถูกต้องแม่นยำ



พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์เดียวที่ทรงตั้งศักราชใหม่

            จากที่ได้กล่าวไป จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องของพระมหากษัตริย์ไทยสมัยโบราณทั้งสิ้น และคนในปัจจุบันคงนึกภาพการตัดและตั้งศักราชเฉพาะแต่เรื่องในอดีตที่ย้อนไปไกลเช่นนี้เท่านั้น หากแต่พระมหากษัตริย์ที่ทรงตัดและตั้งศักราชเพียงพระองค์เดียวกลับเป็นพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีนี้เอง คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

            ศักราชที่พระองค์ตั้งใหม่นั้น คือ “รัตนโกสินทร์ศก” เขียนย่อว่า “ร, ศก” โดยก่อนหน้านี้ ไทยใช้จุลศักราชมาแทบตลอดสมัยอยุธยาตอนปลายและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ การตั้งรัตนโกสินทร์ศกนี้ เป็นไปเพื่อทั้งปฏิรูประบบปฏิทินของไทยซึ่งต้องติดต่อกับโลกภายนอกมากขึ้น และรำลึกถึงการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์และตั้งราชวงศ์จักรี ใน พ..๒๓๒๕[๑๔]


พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผู้ทรงตั้ง "รัตนโกสินทร์ศก" และ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่ได้ยกเลิกศักราชดังกล่าว แล้วประกาศให้ใช้ "พุทธศักราช" แทน
ภาพจาก http://rb-old.blogspot.com/2011/01/2.html  

ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกและพระองค์เดียวที่ได้ตัดศักราชเก่า (จุลศักราช) แล้วตั้งศักราชใหม่ (รัตนโกสินทร์ศก) อย่างแท้จริง โดยการออกประกาศที่ชื่อว่า “ประกาศให้ใช้วันอย่างใหม่” เมื่อจุลศักราช ๑๒๕๐ ปีชวดสัมฤทธิศก วันพฤหัสบดี แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๔ ตรงกับ ๒๘ มีนาคม พ..๒๔๓๒[๑๕] ก่อนที่ในรัชกาลต่อมาจะมีการปฏิรูประบบปฏิทินไทยอีกครั้ง รวมทั้งการยกเลิกรัตนโกสินทร์ศกที่เพิ่งตั้งนี้ด้วย แล้วหันไปใช้พุทธศักราชเป็นศักราชประจำชาติแทน ซึ่งยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน



[๑] วินัย พงศ์ศรีเพียร, วันวาร กาลเวลา แลนานาศักราช, พิมพ์ครั้งที่ ๒, (กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์), ๒๕๕๒, ๙๑.
[๒] ดูข้อความละเอียดใน กรมศิลปากร, พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๒, (กรุงเทพฯ: คลังวิทยา), ๒๕๑๖, ๑๖-๑๘ อ้างใน วินัย พงศ์ศรีเพียร, เพิ่งอ้าง, ๙๑.
[๓] วินัย พงศ์ศรีเพียร, เพิ่งอ้าง, ๙๑-๙๒.
[๔] วินัย พงศ์ศรีเพียร, “ไตรภูมิพระร่วงกับจารึกสุโขทัยและสังคมไทย,” ใน ไผ่นอกกอ, (กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์), ๒๕๕๒, ๓๒.
[๕] วินัย พงศ์ศรีเพียร, วันวาร กาลเวลา แลนานาศักราช, ๙๐.
[๖] “จารึกหลักที่ ๔ วัดป่ามะม่วง ภาษาเขมร” ใน จารึกสมัยสุโขทัย, (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร), ๒๕๒๖, ๒๓๔ อ้างใน วินัย พงศ์ศรีเพียร, เพิ่งอ้าง, ๙๐.
[๗] ประเสริฐ ณ นคร, “พระเจ้าปราสาททองทรงลบศักราช,” ใน ประวัติศาสตร์เบ็ดเตล็ด, (กรุงเทพฯ: มติชน), ๒๕๔๙, ๑๙๔.
[๘] เรื่องเดิม, ๑๙๕.
[๙] ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, [ออนไลน์], จารึกแผ่นทองแดงวัดไชยวัฒนาราม ด้านที่ ๑, เข้าถึงเมื่อ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๔ จาก http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/th/main.php?p=cGFydA==&id=317&id_part=1. จารึกหลักนี้พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกและครั้งเดียวใน วารสารศิลปากร ปีที่ ๓๕ ฉบับที่ ๖ พ..๒๕๓๕ ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ที่อ้างนี้
[๑๐] ประเสริฐ ณ นคร, เพิ่งอ้าง, ๑๙๕.
[๑๑] วินัย พงศ์ศรีเพียร, วันวาร กาลเวลา แลนานาศักราช, ๙๓.
[๑๒] เรื่องเดิม, ๙๒.
[๑๓] สรุปความจาก เรื่องเดิม, ๘๙-๙๑.
[๑๔] เรื่องเดิม, ๙๔.
[๑๕] เรื่องเดิม, ๙๔.