วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554

พระเกษม: original กับ traditional, สถาบันสงฆ์ไทย, และมันจะจบอย่างไร?

            เรื่องใหญ่และเป็นที่จับตามองของสังคมในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานอกจากเรื่องน้ำท่วมแล้ว กรณีคลิปพระเกษม อาจิณฺณสีโล แห่งที่พักสงฆ์ (คือ ไม่ใช่ที่อันขึ้นทะเบียนให้เป็นที่จำพรรษาของพระอย่างถูกต้องตามกฎสงฆ์ได้เหมือนวัดและสำนักสงฆ์?) สามแยก ตามรายงานระบุว่าพระรูปนี้เคยเป็นข่าวมาแล้วจากการห้ามมิให้กราบไหว้พระพุทธรูป แต่ครั้งนี้แม้เรื่องความคิดของพระเกษมจะยังคงเหมือนเดิม แต่ได้มีเรื่องคลิปที่ราวกับแสร้งแกล้ง (จงใจ) กระทำการบางอย่างเพิ่มมา คือ กระทืบทุบโต๊ะเก้าอี้ พูดตะโกน ฯลฯ ต่อหน้าศิษยานุศิษย์ที่กระทำกิจราวไม่มีเหตุอันใดเกิดขึ้น




อากัปกิริยาหนึ่งในคลิปที่เป็นข่าว
ภาพจาก http://techalife.com/blog/พระรึเปล่า-ไม่ได้อยากดัง-พระเกษม-อาจิณฺณสีโล-วัดสามแยก

อีกหนึ่งแอ็กชั่น: เก้าอี้จงสยบแทบเท้า


สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับกรณีนี้ คือ สังคมไทยได้เกิดเสียงแตก มิได้เห็นตรงกันไปเสียหมด เพราะสิ่งที่พระเกษมป่าวประกาศดังๆให้ประชาชนได้ยินนั้นไม่ได้เลื่อนลอยซะทีเดียว เพราะยึดตามคัมภีร์ศาสนา (พระไตรปิฎก) ดังนั้น ผู้ที่มิได้นับถือศาสนาอย่างที่ไม่รู้ว่าฉันนับถือไปตั้งแต่เมื่อไร (คือ ไม่ใช่พ่อแม่พี่น้องปู่ยาตาทวดฉันถือมาอย่างนี้ฉันก็ถือด้วย) ก็พอจะเงี่ยหูฟังและรับฟังได้อยู่บ้างมากน้อยต่างกันไป ขณะที่กลุ่มตรงข้ามซึ่งเป็นกระแสหลักในสังคมก็มองต่างไป คือ การกระทำเช่นนี้เป็นเรื่องผิด (ที่เป็นแบบผิดในตัวเอง หรือวัตถุวิสัย objective) เพราะพระที่อื่นไม่ได้กระทำกันแบบนี้ และเรื่องของพระที่อื่นก็เป็นเรื่องถูก (แบบวัตถุวิสัยเช่นกัน) เช่น รับเงิน สร้างวัตถุ ปลุกเสก ฯลฯ

ท่ามกลางเสียงจากสังคมที่แตกเป็นหลายเสี่ยง (แต่ส่วนใหญ่ก็ยังน่าจะยืนอยู่ตรงข้ามพระเกษม) ผู้เขียนจับความคิดของพระเกษมได้อย่างหนึ่ง คือ พระเกษมดูเหมือนจะต้องการกลับสู่ความดั้งเดิม (origin) ของพุทธศาสนาในสมัยพระศาสดาโคตมยังทรงพระชนม์ โดยท่านถือว่าพระไตรปิฎก คือ ความดั้งเดิมของศาสนาที่จับต้องได้ ซึ่งความดั้งเดิมได้แย้งอยู่กับประเพณี (traditional) ของสังคมไทยอยู่มากทีเดียว

พระพุทธรูปแบบคันธาระ
กำหนดอายุราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑-๒
ภาพจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Gandhara
แน่นอนว่า พระไตรปิฎกไม่มีพระพุทธรูปให้กราบไหว้ เพราะพุทธศาสนาเป็นแนวคิด “อเทวนิยม” คือ ไม่นิยมบูชาเทพเทวดารูปเคารพ และพระพุทธรูปแผลงมาจากรูปเคารพของกรีก โดยในสมัยกษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งมาซิโดเนีย ซึ่งได้ยาตราทัพมาจนถึงอนุทวีปอินเดีย เมื่อก่อนคริสตกาลประมาณ ๓๐๐ ปี และได้มีผู้ปกครองชาวกรีกปกครองบริเวณแถบตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียต่อมาในนามแคว้นแบคเตรีย ผู้นำชาวกรีกน่าจะได้ยอมรับนับถือพุทธศาสนา เช่น พระเจ้ามิลินทร์หรือเมนานเดอร์ (Menander) ซึ่งปรากฏการถามตอบของพระองค์ข้อปัญหาในพระพุทธศาสนากับพระนาคเสน และกลายมาเป็น มิลินทปัญหา และได้มีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นพระพุทธรูปที่หน้าฝรั่งมาก เรียกรูปแบบตามอย่างประวัติศาสตร์ศิลป์ว่าแบบ "คันธาระ" (Gandhara) นี่คือที่มาของพระพุทธรูป หรือรูปเคารพแบบพุทธศาสนา การมุ่งสู่ความดั้งเดิมของพระเกษมย่อมไม่รับเอาสิ่งเหล่านี้มาไว้ในสารบบด้วย เพราะไม่ใช่เนื้อแท้ของศาสนา ซึ่งก็ดูจะจริง แต่สังคมที่กราบไหว้พระพุทธรูปมาช้านานก็คงคิดตามแกทันได้ยาก

ขณะที่บางเรื่องซึ่งเป็นเรื่องขึ้นมา เพราะเกี่ยวข้องกับการเมืองเห็นๆ เพราะพระเกษมตีความตามพระคำสอนเรื่องใดไม่ทราบว่าผู้หญิงด้อยกว่าผู้ชาย และเลยไปถึงประณามผู้หญิงที่ก้าวขึ้นเป็น “ผู้นำ” ซึ่งก็เผอิญว่าผู้นำประเทศไทยตอนนี้ดันเป็นผู้หญิง เรื่องนี้ ท่านสุลักษณ์ ศิวลักษณ์ ปราชญ์พุทธศาสนาให้ความเห็นว่า พุทธศาสนาให้ความเท่าเทียมแก่สตรี เช่น ให้มีการบวชภิกษุณี และเห็นว่าหญิงและชายต่างบรรลุได้เท่าๆกัน ส่วนเรื่องที่พระเกษมยกมาคงเป็นเรื่องที่สอดแทรกมาในสมัยหลัง และให้ความเห็นว่าสังคมเมื่อสองพันกว่าปีก่อนย่อมเปลี่ยนไปจากปัจจุบันมากแล้ว เช่น เรื่องสิทธิสตรี ดังนั้น ด้วยกาลที่ต่าง ก็ควรต้องปรับเสียบ้าง



ภิกษุประกอบกิจในอุโบสถวัดพระแก้ว กรุงเทพฯ
ภาพจาก http://www.tinyzone.tv/TravelDetail.aspx?ctpostid=703
ส่วนเรื่องอื่นๆเช่น ความเรียบง่าย ก็น่าชื่นชมพระเกษมที่พูดเรื่องนี้ เพราะสังคมไทยดูฟุ้งเฟ้อกับเรื่องประเพณีและ “พิธีกรรม” ซึ่งดูเป็นเรื่องปรุงแต่งอย่างที่สุด และผิดกับหลักศาสนาอย่างชัดเจน แต่ก็ด้วยกาลที่เปลี่ยนอีกเช่นกัน มันก็อยู่กับคนที่จะตีความว่าจะยึด “ประเพณีนิยม” ต่อ หรือเลือกหันมาตีความแนวเก่า (หรือใหม่?) เพราะชุดความรู้ในปัจจุบันถูดป้ายด้วยสี “ทุนนิยม-เสรีนิยม-อุตสาหกรรมนิยม” ซึ่งดูแย้งกับการกลับสู่ความดั้งเดิมอยู่มากทีเดียว

ผู้เขียนเคยคิดเอาเองว่า กรณีพระเกษมอาจนำไปสู่การปฏิวัติทางความคิดของคนไทยเกี่ยวกับศาสนาอย่างที่เคยเกิดกับคริสต์ศาสนามาแล้ว แต่ดูไปดูมากลายเป็นพระเกษมโดนรุมกระทืบโดยสังคมเสียมากกว่าพระเกษมจะไปช่วยปลุกปัญญาผู้คนให้ตื่น

แม้แกจะดู “ยึดติด” อยู่ในทีกับความคิดของแก ที่เห็นว่าต้องทางฉันถึงจะถูก และดูจะตีความผิดกาลไปมาก ทั้งที่คำสอนเรื่องอนิจจังก็มีอยู่ว่าสิ่งต่างๆย่อมเปลี่ยนแปลง ไม่เว้นแม้แต่คำสอนก็ต้องปรับให้เข้ากับรูปการณ์ แต่ข้อควรชื่นชมของแกก็คือ อย่างน้อยแกก็สนใจศึกษาพระคัมภีร์ของศาสนาอย่างจริงจัง (หรือเปล่า? ผู้เขียนก็พิสูจน์ไม่ได้ แต่ก็ยกประโยชน์ให้จำเลยไปก่อน) ผิดกับคนที่ถือศาสนาตามๆกันมา เช่น พิธีกรฝีปากกล้า (หมา?) ชื่อ ม.. พูดดังๆผ่านจอทีวีว่า ให้คิดดูเถิดว่าควรจะเชื่อพระเกษมหรือไม่ เพราะบรรพบุรุษเรา (?) ก็กราบไหว้มา

เอาเป็นว่า ตอนนี้ควรติดตามกรณีนี้อย่างใกล้ชิด เพราะคำสั่ง “เผด็จการ” จากสถาบันสงฆ์ไทยได้ออกมาแล้ว และพระเกษมน่าจะถูกจับสึกอย่างไม่ยินยอมพร้อมใจ น่าคิดด้วยว่า ผู้ที่ตัดสินคือ คณะสงฆ์ นั้น ถูกพระเกษมวิจารณ์ไว้ด้วย ดังนั้น คงไม่ต่างจากกรณีทักษิณถูก คตส. ซึ่งยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามตนเองตัดสินความผิด ยิ่งกรณีพระเกษมเป็นเพียงกรณีเล็กน้อยมากยังถูกจับสึก นี่อาจเผยธาตุแท้อันชั่วร้ายของคณะสงฆ์ไทย อำนาจนิยมในคณะสงฆ์ไทย และอาจพ่วงด้วยเรื่องสองมาตรฐานไปด้วย แน่นอนว่าเรื่องทั้งหมดจะไม่จบตรงที่พระเกษมต้องสึกหรือไม่สึก เพราะการสึกหรือไม่สึกไม่ใช่คำตอบของเรื่องที่ตรงประเด็นเลย และมีเรื่องค้างคาอีกเยอะ และผู้เขียนก็เชื่ออีกว่าวิญญาณนักสู้ของพระเกษมจะผุดขึ้นมา 




ปัญหาที่ต้องตอบเลยกลายเป็น "แล้วเรื่องนี้มันจะจบอย่างไร?"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น