วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ว่าด้วยศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน จันทบุรี


ระหว่างที่กำลังพยายามตามรอยหลวงบุรุษประชาภิรมย์ (กี้ บุณยัษฐิติ) ในนิราศจันทบุรี-กรุงเทพฯ โดยเฉพาะสถานที่ต่างๆตามลำน้ำจันทบุรีก่อนที่จะถึงบริเวณปากน้ำ (ซึ่งตอนนี้พบว่าชื่อบ้านนามเมืองและสถานที่ต่างๆหายไปจากความรับรู้ของคนปัจจุบันแล้วจำนวนหนึ่ง) เลยต้องสอบค้นจากหนังสือ “จดหมายเหตุความทรงจำสมัยฝรั่งเศสยึดจันทบุรีฯ” ของหลวงสาครคชเขต (ประทวน สาคริกานนท์) ซึ่งพอจะมีรูปภาพเก่าๆอยู่บ้าง โดยเฉพาะภาพลำน้ำจันทบุรีบริเวณตัวเมือง


ขณะที่ดูภาพเพลินๆก็มาพบภาพที่บรรยายไว้ว่า “ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินภายในเมืองเก่า” (เอกสารประกอบการเขียนหมายเลข ๑) หน้า๔๐๐) ซึ่งแน่นอนว่าภาพนี้ไม่ใช่ภาพศาลพระเจ้าตากฯที่ทำหลังเป็นพระมาลากลมยอดแหลมซึ่งผู้คนชอบไปกราบไหว้กันในปัจจุบัน แต่ในภาพขาวดำที่เลือนไปบ้างแล้วนั้นยังเห็นได้ว่าเป็นอาคารทรงจัตุรมุข ดังนั้น ด้วยความไม่คุ้นหูคุ้นตาเอาเสียเลยจึงสงสัยว่าศาลนี้อยู่ที่ใด แล้วเมืองเก่าที่ว่าคือเมืองใดกัน

ภาพศาลที่อธิบายใต้ภาพว่า "ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินภายในเมืองเก่า"


ว่าแล้วก็อ่านเนื้อความด้านข้าง ชื่อเรื่อง “การสร้างศาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี” เพื่อความกระจ่าง ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นประโยชน์ทั้งในแง่ประวัติการสร้างศาล รวมทั้งได้ศึกษาความคิดของบุคคลเมื่อกาลก่อนราวครึ่งศตวรรษล่วงแล้ว  เพราะเรื่องนี้ถูกรวมพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ..๒๔๙๕ ผู้เขียนจึงขอคัดมาลงไว้ (คัดจาก หนังสือประกอบการเขียนหมายเลข ๑) หน้า ๔๐๑-๔๐๓) ดังนี้


การสร้างศาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

เนื่องแต่ผลแห่งคุณงามความดีของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ได้พรรณนามานี้เอง จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ชนชาวไทยโดยทั่วไปพากันระลึกถึงบุญคุณของพระองค์ที่ได้มีมาแต่หนหลัง ดังนั้น เฉพาะในจังหวัดจันทบุรีขึงได้ปรากฏว่าได้มีศาลของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีสร้างไว้เป็นที่สักการบูชาอยู่ถึง ๒ ศาลด้วยกัน คือ ศาลหนึ่งตั้งอยู่ใต้ต้นข่อยหน้าค่ายทหารเดี๋ยวนี้อยู่เคียงคู่กันกับศาลเทพรักษ์ (ศาลเจ้าหลักเมือง) ศาลหนึ่ง ศาลนี้ผู้เขียนสันนิษฐานว่า จะได้มีการสร้างขึ้นไว้ในสมัยเมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตีเมืองจันทบุรีได้แล้วในครั้งนั้น แต่ศาลพระเจ้ากรุงธนบุรีนี้ได้ก่อสร้างด้วยไม้จึงต้องมีการชำรุดปรัก[๑] หักพังและต้องมีการซ่อมแซมเปลี่ยนแปลงกันมาหลายๆครั้ง สภาพความเป็นอยู่ของศาลเดิมจึงไม่มีซากที่เหลืออยู่พอที่จะตรวจดูได้ และต่อมาเมื่อระหว่างปี พ..๒๔๗๗ คณะนายทหารม้ากองพันที่ ๔ จันทบุรี ซึ่งย้ายมาจากสระบุรีมาประจำอยู่ที่จังหวัดจันทบุรีนี้แล้วก็ได้มีการสร้างศาล ซึ่งมีความหมายบ่งชัดว่าเป็นศาลเจ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และศาลเจ้าหลักเมืองลงไว้ในบริเวณอันเดียวกันขึ้นไว้อีกด้วย แต่ก็ทำขึ้นด้วยไม้และเป็นศาลขนาดเล็กๆเท่านั้น

ศาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนอกจากที่จะปรากฏได้มีอยู่ ณ สถานที่นี้แต่กาลก่อนแล้ว ความได้ปรากฏว่าเมื่อระหว่างสมัยที่หม่อมเจ้าสฤษดิเดช ชยางกูล เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลจันทบุรี ท่านได้ทรงจัดการสร้างศาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีขึ้นไว้อีกศาลหนึ่ง โดยได้มีการสร้างทำขึ้นในระหว่างปี พ..๒๔๖๓ คือศาลที่ตั้งอยู่หน้าค่ายทหารกองพันนาวิกโยธินบัดนี้ ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับศาลที่กล่าวแล้ว ศาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่หม่อมเจ้าสฤษดิเดช เป็นผู้อำนวยการสร้างขึ้นใหม่ในภายหลังนี้ ผู้สร้างได้ขอแบบแปลนมาจากกรมศิลปากรเป็นชนิดแบบไทย มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรมุข มีบันไดด้านหน้าและข้างรวมสามด้าน มีประตู ๓ ช่องหล่อด้วยคอนกรีต หลังคาประดับด้วยกระเบื้องสี ประตูประดับด้วยแก้วสี ภายในก่อเป็นแท่นติดกับศาลและสร้างพระรูปหล่อสีทองขึ้นประดิษฐานไว้บนแท่นนั้นด้วยองค์หนึ่ง แต่ไม่ใช่เป็นพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยรูปพระไทยเทวาธิราช[๒] ผู้เขียนได้เคยทูลถามหม่อมเจ้าสฤษดิเดชถึงพระรูปองค์นี้ว่ามีความหมายเพียงใด ก็ได้รับคำชี้แจงจากท่านว่า ท่านมีความหมายจำนง[๓] ให้รูปพระทัยเทวาธิราชนี้เป็นเทพเจ้าประจำพระองค์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ความประสงค์ของท่านในข้อนี้ท่านยังได้ให้ช่างจารึกอักษรไว้ที่ใต้แท่นบูชาว่า “เทวรูปสนองพระองค์พระเจ้ากรุงธนบุรี” ไว้ด้วย ฉะนั้น นามศาลที่หม่อมเจ้าสฤษดิเดชได้ทรงสร้างไว้ในครั้งนั้นจนต่อมาถึงสมัยนี้จึงได้ว่าชื่อว่า ศาลพระเจ้าตาก มาจนทุกวันนี้

การสร้างศาลหลังนี้ปรากฏว่าผู้สร้างได้สละทรัพย์ใช้จ่ายสิ้นเป็นจำนวนประมาณ ๓,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินของท่านเอง นับว่าศาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีหลังนี้การก่อสร้างทำประณีต[๔] เรียบร้อยงดงามดี เพราะการสร้างทำก็ได้ทำกันอย่างถาวร ซึ่งจะได้ทนทานไปได้อีกนานปี

เมื่อกล่าวถึงศาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่จันทบุรีแล้วก็ทำให้ผู้เขียนระลึกว่า ในพระนครกรุงเทพฯ ยังไม่ปรากฏว่าได้มีการสร้างศาล หรือพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไว้ในที่แห่งใดให้เป็นหลักฐานถาวร คงได้ความแต่ว่าที่โรงเรียนนายเรือภายในบริเวณพระราชวังเดิม จังหวัดธนบุรี ได้มีศาลของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก่อแห่งหนึ่ง แต่ผู้เขียนยังไม่มีโอกาสได้เห็น จะมีรูปลักษณะเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบตลอด แต่ในกาลปัจจุบันนี้ปรากฏว่า ทางฝั่งพระนครได้มีพระบรมรูปสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าขึ้นที่เชิงสะพานขึ้นแล้วแห่งหนึ่ง ถ้าหากว่ารัฐบาลจะได้ดำริการสร้างทำพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไว้ทางฟากฝั่งธนบุรีในที่แห่งหนึ่งแห่งใดที่สมควรขึ้นสักแห่งหนึ่ง เพื่อให้เป็นคู่กันกับพระบรมรูปสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าที่สร้างไว้แล้ว ก็จะเป็นประโยชน์ให้ความรู้เห็นของบุคคลในภายหลังๆนี้เป็นอันมาก ทั้งจะทำให้เป็นที่เชิดชูพระเกียรติยศเกียรติคุณ และเป็นอนุสรณ์คำนึงถึงคุณความดีของพระองค์ท่านที่ได้ทรงกระทำไว้ให้แก่ประเทศชาติไทยเราสืบไปชั่วกาลนาน ทั้งนี้เพราะจังหวัดธนบุรีในสมัยหนึ่งเคยเป็นราชธานี ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เป็นผู้ทรงสถาปนาไว้ จึงสมควรให้พระบาทภิธัยแลพระฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านได้ปรากฏสถิต[๕] เสถียรสืบไป ตามที่กล่าวมาก็ด้วยความหวังดี จึงขอบันทึกไว้ให้เป็นที่สังเกตในที่นี้ด้วย



_______________


เนื้อความทั้งหมดนี้ตอบโจทย์ของผมได้ทั้งหมด คือ ๑) เมื่อเทียบลักษณะที่หลวงสาครคชเขตระบุไว้กับศาลทรงจัตุรมุข (ต่อไปจะเรียก ศาลหลังเก่า) ในรูปนั้น ก็พอจะสรุปได้ว่าเป็นศาลที่หม่อมเจ้าสฤษดิเดชสร้างขึ้นในระหว่าง พ..๒๔๖๓ ซึ่งคงหมายความว่าได้เริ่มสร้างและสร้างเสร็จในปีนั้นเอง ส่วนวันเวลาอาจต้องไปสอบค้นภาคสนามที่ตัวศาลนี้ว่ามีฤกษ์หรือจารึกระบุไว้หรือไม่ ๒) เมืองเก่า จากคำบรรยายใต้รูปว่า “ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินภายในเมืองเก่า” ก็คือ เมืองจันทบุรีเก่าที่มีแนวคันดินและแนวคูเมืองอยู่ภายในค่ายทหารนั้นเอง และ ๓) ดังนั้น ศาลทรงจัตุรมุขที่ปรากฏในรูปย่อมต้องอยู่หน้าค่ายทหาร ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ค่ายตากสิน นั้นเอง

แต่ด้วยความไม่คุ้นตากับศาลหลังเก่า (ตามรูปในหนังสือ) เอาเสียเลย จึงต้องพยายามค้นดูในอินเตอร์เน็ต แต่ก่อนจะค้นก็ตั้งข้อสันนิษฐานเบื้องต้นไว้เป็น ๑) ศาลนี้อาจถูกรื้อไปแล้ว แล้วสร้างเป็นศาลที่มีหลังคาเป็นรูปหมวกหรือพระมาลากลมยอดแหลม (ต่อไปจะเรียกศาลหลังใหม่) และ ดังนั้น ๒) พระไทยเทวาธิราช ที่สร้างเป็นรูปแทนสมเด็จพระเจ้าตากสินนั้นก็ควรถูกย้ายมาประดิษฐาน ณ ศาลหลังใหม่นั้นด้วย

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินหลังใหม่
                  ภาพจาก เอกสารประกอบการเขียนหมายเลข ๓)
ภายในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินหลังใหม่
               ภาพจาก เอกสารประกอบการเขียนหมายเลข ๓)
ข้อสันนิษฐานนั้นตั้งอยู่บนความไม่คุ้นตากับศาลทรงจัตุรมุข จึงคิดไปว่าคงถูกรื้อทิ้งเสียแล้ว เริ่มแรกจึงลองหาภาพภายในศาลหลังใหม่ดูว่ามีพระรูปที่ควรจะเป็นพระไทยเทวาธิราชบ้างหรือไม่ (ตามข้อสันนิษฐาน ๒) ปรากฏว่าภายในมีเพียงพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสิน กับรูปปั้นหรือรูปหล่อทหารของพระองค์ และสัตว์อีกบางชนิดที่ชาวบ้านคงนำมาถวายตามความเชื่อ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นไปได้ ๒ ทาง คือ ๑) ศาลหลังเก่าไม่ได้ถูกรื้อ กับ ๒) พระไทยเทวาธิราชถูกเคลื่อนย้ายไปที่อื่น

   ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินหลังเก่าอยู่ข้างๆหลังใหม่
                    ภาพจาก เอกสารประกอบการเขียนหมายเลข ๒)
ดังนั้น การค้นหาจึงเปลี่ยนเป็นการหาศาลทรงจัตุรมุขแทน ก็พบประวัติคล้ายที่ปรากฏในบทความของหลวงสาครคชเขต แต่พระไทยเทวาธิราชได้กลายเป็นเทพพระจำพระองค์ของพระเจ้าตากสินไปเสียแล้วนอกจากนี้ ยังไม่ได้บอกว่าศาลหลังเก่าไปไหนอีกต่างหาก การที่ไม่ได้บอกก็อาจตีความได้ว่าไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงกับศาลนี้กระมัง และแล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะปรากฏว่าพบรูปศาลทรงจัตุรมุขอยู่ข้างๆศาลที่มีหลังคารูปหมวกนั้นเอง จึงเป็นอันว่า ศาลหลังเก่าก็ยังอยู่ดีเคียงข้างศาลหลังใหม่นั้นเอง แต่คนจันทบุรีอย่างผู้เขียนกลับไม่คุ้นกับศาลนี้เลย อาจเป็นเพราะแต่เกิดมาก็เจอศาลหลังใหม่ (สร้าง พ..๒๕๓๔) ก็ตั้งตระหง่านอยู่บดบังรัศมีของศาลหลังเก่าไปเสียแล้ว ก็เป็นอันว่าหายข้องใจกับรูปเจ้าปัญหานี้ (หรือเราเองที่มีปัญหา) และก็ออกจะดีใจที่ศาลหลังเก่ายังอยู่ ซึ่งก็หมายความว่า จันทบุรีมีศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน ๒ แห่ง อยู่ติดๆกัน!!! หวังว่าไม่นานนี้คงได้ไปสำรวจตรวจดูสถานที่จริง


เอกสารประกอบการเขียน

๑) หลวงสาครคชเขต (ประทวน สาคริกานนท์). จดหมายเหตุความทรงจำสมัยฝรั่งเศสยึดจันทบุรี ตั้งแต่ พ..๒๔๓๖ ถึง พ..๒๔๔๗. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: ศรีปัญญา, ๒๕๕๒.
๒) http://www.tiewchan.com/สถานที่ท่องเที่ยวในเขตเทศบาลเมืองจันทบุรี/ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช.html
๓) http://www.abhakara.com/webboard/index.php?topic=1857.0



[๑] ฉบับพิมพ์ครั้งนี้แก้จาก สลัก
[๒] ฉบับพิมพ์ครั้งนี้แก้จาก พระทัยเทวาธิราช
[๓] ฉบับพิมพ์ครั้งนี้แก้จาก จำนงค์
[๔] ฉบับพิมพ์ครังนี้แก้จาก ปราณีต
[๕] ฉบับพิมพ์ครั้งนี้แก้จาก สถิตย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น