หลังจากประเทศไทยต้องประสบกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่หนักหน่วงในช่วงปลายทศวรรษ 2540 มาจนกระทั่งปัจจุบัน โดยเฉพาะตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร พ.ศ.2549 เล็กน้อยเป็นต้นมา มีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีหลายคน มีการยุบพรรคการเมือง เกิดการชุมนุมของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เกิดการสลายการชุมนุมที่ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ฯลฯ จวบจนวันนี้ สถานการณ์การเมืองไทยกลับเข้าสู่การเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดจะกลับไปอยู่ในมือประชาชนอีกครั้ง (ตามทฤษฎี)
หลังจากนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศเจตนารมณ์ยุบสภาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2554 พรรคต่างๆจึงต้องเตรียมตัวอย่างที่สื่อสำนักต่างๆพากันเรียกว่าเข้าสู่ “โหมดเลือกตั้ง” ซึ่งมีทั้งการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. ทั้งสองระบบ (แบ่งเขต-บัญชีรายชื่อ) วางแผนยุทธศาสตร์การหาเสียง และที่สำคัญคือ วางนโยบายเพื่อดึงคะแนนเสียงจากประชาชน
เป็นที่ทราบกันว่า นโยบายของพรรคการเมืองได้เริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกของประชาชนตั้งแต่การเลือกตั้ง พ.ศ.2544 ซึ่งพรรคไทยรักไทยโดยการนำของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้นำเสนอนโยบายที่นักวิชาการจัดว่าเป็นนโยบาย “ประชานิยม” (populism) ซึ่งเป็นนโยบายที่เข้าถึงมวลชนระดับล่างหรือ “รากหญ้า” อันเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศ เช่น นโยบายกองทุนหมู่บ้านที่มีการจัดสรรเงินทุนลงไปสู่หมู่บ้านต่างๆเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะลงทุนให้หมู่บ้านต่างๆเติบโตได้ด้วยตนเอง หรือนโยบาย 30 บาท รักษา (แทบ) ทุกโรค ก็เป็นการใส่ใจชีวิตความเป็นอยู่ของคนจน ที่รายได้ปกติไม่เอื้อต่อการเดินเข้าโรงพยาบาล
เมื่อนโยบายที่ดูตื่นตาตื่นใจรวมเข้ากับปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นบุคลิกภาพส่วนบุคคลของผู้นำพรรค (charisma) ทีมงานพรรคที่มีคุณภาพ การมี ส.ส. ในท้องถิ่นเดิมย้ายมาลงสมัครกับพรรคไทยรักไทย ฯลฯ ทำให้พรรคไทยรักไทยได้คะแนนเสียงข้างมากในสภา และได้จัดตั้งรัฐบาล นอกจากนี้ ความสำคัญของนโยบายยังปรากฏชัดกว่าเดิมในการเลือกตั้ง พ.ศ.2548 โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคไทยรักไทยได้คะแนนเสียงท่วมท้น 377 เสียง จาก 500 เสียง ซึ่งปัจจัยสำคัญ คือ การที่รัฐบาลไทยรักไทยสามารถนำนโยบายที่หาเสียงไว้ไปปฏิบัติได้จริง ความสำเร็จของพรรคไทยรักไทย ทำให้พรรคประชาธิปัตย์นำนโยบายที่ดึงดูดใจประชาชนเช่นนี้ไปใช้ด้วยในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ดี มีนักวิชาการจำนวนมากออกมาโจมตีนโยบายประชานิยม จนเกิดวลีเด็ด “ต้องสอนให้คนรู้จักจับปลา” ไม่ใช่คอยประเคนปลาให้จนชาวบ้านจับปลากินเองไม่เป็น รวมทั้งนำเสนอผลเสียจากนโยบายเหล่านี้ไปต่างๆนานา
แต่ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ พรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะสองพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทย (มีต้นเค้าจากพรรคไทยรักไทย) และประชาธิปัตย์ต่างก็ยังชูการแก้ปัญหาปากท้องด้วยนโยบายประชานิยมอีกเช่นเคย ดังนั้น บทความนี้จะเสนอว่า การมองแบบภาพนิ่ง (static) เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเลือกพรรคที่ชูนโยบายประชานิยมกันมาก และพรรคต่างๆจึงต้องแข่งกันออกนโยบายลดแลกแจกแถมอย่างดุเดือด
การมองแบบภาพนิ่ง คือ การมองหรือพิจารณาสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงด้านเดียว มุมเดียว ไม่เห็นความเป็นไปทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต หรือไม่เห็นความเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นๆ เช่น เมื่อบางคนมองประเทศกัมพูชา สถานการณ์ในปัจจุบันก็อาจทำให้มองว่าประเทศนี้เลว แย่งดินแดนไทย ควรตัดสัมพันธ์กับประเทศนี้เสีย ซึ่งพลอยมีผลต่อการมองพลเมืองของกัมพูชาไปด้วยว่าไม่น่าคบเพราะนิสัยเลว ทั้งที่กัมพูชาก็เคยเป็นมิตรที่ดีกับไทย และในอนาคตก็อาจกลับมามีมิตรภาพที่ดีต่อกันหากสามารถตกลงข้อขัดแย้งกันได้ ส่วนประชาชนทั้งสองประเทศก็ไปมาหาสู่ มีมิตรภาพ ค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันมายาวนาน ดังนี้เป็นต้น และเช่นกัน การมองนโยบายประชานิยมแบบภาพนิ่ง ก็คือ การมองแต่เพียงข้อเสนอที่ปรากฏ และมองเพียงมุมเดียว ซึ่งผู้ที่เลือกพรรคที่ชูนโยบายนี้ย่อมเห็นเพียงมุมที่ดี ไม่รู้ถึงผลที่จะตามมาจากนโยบายเหล่านี้ในด้านอื่น นอกจากประโยชน์ที่ตนจะได้รับ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรกับสังคมที่ไม่ต้องการให้คนคิดเป็นอย่างสังคมไทย
ทางแก้คือ ต้องสอนให้คนตั้งคำถาม ตั้งข้อสงสัย คิดเป็นและคิดในมุมต่างจากที่คิดไว้บ้าง โดยเฉพาะการมองถึงสิ่งที่จะเกิดจากนโยบายประชานิยมอย่างรอบด้าน เช่น ถ้ามองนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เราไม่อาจมองถึงประโยชน์ที่จะได้จากรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่ต้องมองถึงผลที่จะเกิดจากนโยบายนี้ซึ่งเชื่อมโยงกัน เช่น นายจ้างจะสามารถรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้จริงหรือไม่ ถ้าไม่ได้ตนเองก็ต้องตกงานในท้ายที่สุดใช่หรือไม่ ซึ่งกลับกลายเป็นผลเสียต่อตนเองไปในที่สุด หรือนโยบายรถเมล์ฟรี ค่าไฟฟรีต่างๆนานา เราก็ย่อมต้องเอะใจว่าเหตุใดจึงฟรี รัฐเอาเงินที่ไหนมาจ่ายให้เรา สุขภาพการเงินของประเทศจะมีปัญหาหรือไม่ เป็นต้น
เมื่อเริ่มไม่แน่ใจกับความดีที่เคยหลอกตาของนโยบายประชานิยม เราก็จะมีภูมิคุ้มกันจากนโยบายเช่นนี้ ซึ่งท้ายที่สุดก็คงมีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกตั้งไม่มากก็น้อย อาจจะยังเลือกต่อไปหรือไม่เลือกต่อไปก็สุดแล้วแต่ แต่ที่เป็นประโยชน์คือได้พิจารณาในระดับหนึ่งก่อน ไม่ใช่หลงไปกับการชวนเชื่อลดแลกแจกแถมเพื่อเรียกคะแนนของพรรคการเมืองที่ต้องการเข้าสู่อำนาจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น