วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554

จัดหนักโหวตโน!!!

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) วันที่ 3 กรกฎาคมนี้ นอกเหนือไปจากตัวแปรอย่างนโยบายของแต่ละพรรค กระแสต่อตัวผู้สมัครในแต่ละพื้นที่ ผลงานที่ผ่านๆมาของทั้งคนทั้งพรรค ไปจนถึงหน้าตาและภาพลักษณ์ของหัวหน้าพรรค ฯลฯ ที่ล้วนเป็นตัวชี้วัดผลการเลือกตั้ง ยังมีตัวแปรสำคัญอีกตัวหนึ่ง ได้แก่ กระแสการปลุกระดมโหวตโน (Vote No)

แกนหลักที่สร้างกระแสนี้ขึ้นมาเป็นที่รู้กันว่า คือ “กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ที่นำโดย สนธิ ลิ้มทองกุล กลุ่มนี้ได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองมาอย่างยาวนาน เชื่อว่ามีจุดเริ่มต้นจากความขัดแย้งระหว่างหัวขบวนกับ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เดิมทีคุณสนธิทำรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ เป็นพิธีกรร่วมกับคุณสโรชา ออกอากาศทางช่อง 9 มีโอกาสเคยติดตามดูอยู่บ้าง ดูแล้วก็คิดว่าเป็นรายการที่มีสาระ วิเคราะห์เจาะลึกได้อย่างถึงลูกถึงคน แต่แล้วจากจุดเด่นก็กลายเป็นสิ่งที่ทำให้รายการต้องมีคำว่า “สัญจร” ต่อท้าย และในที่สุดกลายเป็นกลุ่มก้อนใหญ่โตขึ้นมา โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อล้มสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “ระบอบทักษิณ” และภายหลังยังหันไปกัดรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่ร่วมกันล้มรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลในเครือทักษิณมาแล้ว

กลุ่มพันธมิตรฯ ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชนบนเส้นทางการเมืองข้างถนน หรือทางวิชาการเรียกว่าการเคลื่อนไหว “นอกระบบ” คือ เป็นการเมืองนอกสภา บางครั้งปิดถนน บางครั้งปิดทำเนียบรัฐบาล เลยไปถึงปิดสนามบิน มีคดีความมากมายที่ยังค้างอยู่ในกระบวนการยุติธรรม กระแสตอบรับก็มีคนรักคู่ไปกับคนชัง ยังไม่รวมศัตรูที่รายล้อมซ้ายขวาหน้าหลัง จนกระทั่งเข้าสู่จุดสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย “เลือกตั้ง 3 กรกฎาฯ 54” กลุ่มพันธมิตรฯ แหวกกระแสปลุกระดม “โหวตโน” ทั้งที่ก่อนนี้ตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่ชื่อ “พรรคการเมืองใหม่” ขึ้นมา แต่กลับมีมติไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง (แต่ก็มีผู้แหกมตินำโดยสมศักดิ์ โกศัยสุข) เรียกได้ว่า ก็ยังคงไม่เข้าสู่ระบบเช่นเดิม

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โหวตโน หรือการลงคะแนนกากบาทในช่อง “ไม่ประสงค์ลงคะแนน” เป็นการเปิดโอกาสให้กับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ไม่อยากเลือกลงคะแนนให้ใครเลยไม่ว่าจะด้วยเหตุอันใดก็แล้วแต่ เพื่อจะได้ไม่ต้องอึดอัดใจกาให้คนที่ไม่รัก พรรคที่ไม่ชอบ หรือทำบัตรเสีย บางกรณีก็นอนตีพุงอยู่บ้านไปเสียเลย ดังนั้น เจตนารมณ์ของการมีช่องโหวตโนจึงชัดเจนว่า เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนที่ไม่ถูกใจผู้สมัครและพรรคการเมืองใดเลย โดยมีนัยไปถึงความล้มเหลวของพรรคการเมือง ทั้งในการคัดสรรผู้สมัครลงเลือกตั้ง นโยบายมีปัญหาไม่ว่าจะเป็นนโยบายโฆษณาเกินจริง ขายฝัน หรือแม้แต่ภาพลักษณ์ของพรรคที่เข้าไปเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง และ ฯลฯ ดังนั้น การจะกาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนจึงต้องผ่านกระบวนการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในระดับหนึ่งก่อน เมื่อเห็นว่าไร้ซึ่งความพอใจที่จะเลือกใครจึงตัดสินใจกากบาทในช่องดังกล่าว

อย่างไรก็ดี เรื่องการปลุกกระแสโหวตโนไม่ใช่ครั้งแรก เพราะในการเลือกตั้ง 2 เมษาฯ 2549 ก่อนหน้าการรัฐประหารครั้งล่าสุดของไทยเพียง 5 เดือน พรรคการเมืองฝ่ายค้านนำโดยประชาธิปัตย์ได้รวมกันบอยคอตการเลือกตั้ง โดยเสนอให้ลงคะแนนในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนแทนการโหวตให้พรรคเหล่านั้น อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกยกเลิกไปเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้เพิกถอนการเลือกตั้ง หลังสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯมีพระราชดำรัส “ตุลาการภิวัฒน์” และก่อนจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ก็เกิดการรัฐประหารก่อน

จะเห็นได้ว่าจุดหมายหลักของการรณรงค์โหวตโนในครั้งนั้นเป็นเกมการเมืองที่ต้องการสร้างปัญหาให้กับการเลือกตั้ง และปิดโอกาสการตั้งรัฐบาลใหม่จากการมี ส.ส.ไม่ครบ 500 คน ซึ่งทำให้เปิดประชุมสภาไม่ได้ และอาจสร้างข้อสรุปได้ว่า การปลุกระดมให้คนจำนวนมากโหวตโนนั้นน่าจะมีวาระแฝงเร้น (hidden agenda) อยู่ด้วย และอาจเว้นเสียไม่ได้กับการปลุกกระแสของพันธมิตรฯในเวลานี้
อย่างไรก็ดี เป้าหมายที่กลุ่มพันธมิตรฯตั้งไว้กลับดูเป็นอุดมคติไม่ใช่แค่บอยคอตการเลือกตั้ง แต่บอยคอตทั้งระบบการเมือง คือ นักการเมืองทุกวันนี้เลวทรามต่ำช้า ไม่ควรค่าให้ประชาชนเลือกอะไรประมาณนั้น พอไปเป็นรัฐบาลก็โกงกิน เล่นพรรคเล่นพวก ฯลฯ ซึ่งเป้าหมายอันสูงส่งนี้ยังแปลความได้ว่ากลุ่มพันธมิตรนี่เองที่สูงส่ง ดีงาม อยู่เหนือทุกพรรคการเมืองที่เน่าเฟะ โดยจะเห็นได้ว่ากลุ่มพันธมิตรฯพยายามสร้างภาพความมีธรรมและดีงามตลอดเวลา เช่น การดึงกลุ่มสันติอโศกมาร่วมงาน การสวดมนต์ การพร่ำบอกว่ามาทำเพื่อชาติ ตอบแทนชาติ ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้ก็ปรากฏคู่ไปกับการด่ากราด การพร่ำบ่น ตำหนิติเตียนคนอื่นอย่างบ้าคลั่ง ไปจนถึงการจงใจให้ผู้ร่วมชุมนุมของตนเองได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในการสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา 7 ตุลาฯ 51 ตามที่เว็บไซต์วิกิลีกส์เปิดเผย ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่กลุ่มซึ่ง (อ้างตนว่า) ดีงามนั้นจะเสนอเรื่องที่เป็นอุดมคติเช่นนี้ขึ้นมา แต่ก็ขาดความชัดเจนมากมาย เช่น คุณสมบัตินักการเมืองที่ดีเป็นอย่างไร แล้วเหล่าเทพบุตรนั้นจะหาจากไหน มีจริงหรือไม่ แล้วต่อไปจะป้องกันไม่ให้เหล่ามารมาผจญในโลกการเมืองไทยที่บริสุทธิ์สวยงามได้อย่างไร ซึ่งจริงๆแล้วไม่มีคำตอบ เพราะเป็นโลกของความฝัน การเสนอเช่นนี้ไม่ต่างอะไรกับความคิดการรอคอยการมาถึงของยุคพระศรีอาริย์ จริงอยู่ที่นักการเมืองทุกวันนี้ดูไม่น่าพึงใจเอาเสียเลย แต่ก็ต้องตั้งคำถามกลับไปด้วยว่ากลุ่มพันธมิตรฯได้เคยสำรวจตรวจดูผู้สมัครทุกคน ดูนโยบายทุกพรรคอย่างครบถ้วนถี่แล้วหรือยัง อย่างน้อยที่สุด พรรคเล็กโนเนมอย่างกลุ่มเครือข่ายชาวนา กลุ่มเกษตรกร กลุ่มนักศึกษา กลุ่มอุดมการณ์เสรีนิยม กลุ่มคนกีฬา ที่ได้ตั้งพรรคขึ้นมาไม่ควรค่าแก่การพิจารณาลงคะแนนให้เลยหรือ นี่คือความเป็นจริงที่ต้องยอมรับว่าดูเหมือนกลุ่มพันธมิตรฯจะมองการเมืองแบบองค์รวมและ “เหมารวม” ไปหน่อย และถ้าหากกลุ่มพันธมิตรฯ คิดว่าไม่มีใครดีอีกแล้วจริงๆ การแก้ไขก็ต้องทำในระบบ ไม่ใช่ออกนอกระบบ พันธมิตรฯมีมวลชนที่เหนียวแน่นไม่ใช่น้อย การมีพรรคการเมืองในมือ ทั้งเสียงสนับสนุนก็พร้อมถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะส่งคนดีของตนจำนวนหนึ่งเข้าสู่ระบบได้ไม่ยาก หากแต่เป็นกลุ่มแกนนำผู้กำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวเองที่ไม่ยอมเลือกทางนี้ และดื้อดึงที่จะอยู่นอกระบบต่อไป ซึ่งน่าจับตาว่าจะมีการเคลื่อนไหวต่อไปหลังการเลือกตั้งหรือไม่ ในประเด็นอะไร อย่างไร?

เมื่อทราบแล้วว่าข้อเสนอเรื่องการโหวตโนนั้นเกิดผลให้ดีจริงได้ยาก ดังนั้น จึงควรตั้งข้อสงสัยกับการตัดสินใจของแกนนำพันธมิตรฯไว้บ้าง เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่ามวลชนของพันธมิตรฯนั้นเพียงพอที่จะทำให้ “พรรคการเมืองใหม่” หรือจะ “พรรคเพื่อฟ้าดิน” อะไรก็แล้วแต่มี ส.ส.ในสภาได้ไม่ยาก แต่แกนนำกลับพอใจที่จะสถาปนาช่อง “ไม่ประสงค์ลงคะแนน” เป็นช่องของตัวเองแทน ดังนั้น ส่วนที่จะนำเสนอต่อไปเป็นการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของวาระแอบแฝงของการโหวตโน

ประการแรก กลุ่มพันธมิตรฯ อาจจงใจสร้างเงื่อนไขให้หลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นมีความไม่ปกติเกิดขึ้น อย่างเลวร้ายที่สุดก็ คือ เปิดช่องให้ทหารออกมาปฏิวัติ ซึ่งเมื่อพิจารณาว่าถ้าคะแนนโหวตโนมีมาก ย่อมมีผลต่อความชอบธรรม (legitimacy) ของรัฐบาลอย่างแน่นอน ซึ่งเพิ่มโอกาสให้กองทัพออกมายึดอำนาจมากขึ้น และเมื่อพิจารณาความเป็นไปได้ที่พรรคเพื่อไทยซึ่งดูจะมีความขัดแย้งกับกองทัพอย่างชัดแจ้งแล้ว รัฐประหารหลังการเลือกตั้งก็เป็นไปได้มากขึ้นไปอีก หรืออย่างน้อยที่สุด จากที่มีการตีความกฎหมายเลือกตั้ง 50 (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550) ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 89 ผิดเพี้ยนไปว่า หากคะแนนโหวตโนมากกว่าผู้สมัครทุกคนในเขตใดๆก็ตาม จะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งเป็นผลมาจากการนำมาตรา 88 ที่ใช้กับการเลือกตั้งที่มีผู้ลงสมัครคนเดียวมาผสมโรงอย่างไม่ถูกต้อง และจากการตีความที่ผิดเพี้ยนไปนี้ย่อมโยงไปถึงการมีโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ ส.ส.ไม่ครบ และเปิดประชุมสภาเลือกนายกฯ ไม่ได้ ดังที่เคยเกิดเมื่อครั้งเลือกตั้ง 2 เมษาฯ 49 และแน่นอน อีกหนึ่งเป้าหมายคือให้กลุ่มพันธมิตรฯออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง โดยหวังอ้างคะแนนโหวตโนที่ท่วมท้นเพื่อแสดงความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลใหม่ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพรรคใดก็ตาม รวมทั้งประเด็นอื่นที่ยังคงรอผสมโรง ทั้งประเด็นเขาพระวิหาร ประเด็นระบอบทักษิณ (โดยเฉพาะถ้าเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย) ฯลฯ ดังนั้น นี่คือความเป็นไปได้ประการแรกที่อาจอยู่ในใจของแกนนำพันธมิตรฯ

ประการต่อมา จากการที่กลุ่มพันธมิตรฯ มีความขัดแย้งกับกลุ่มการเมือง โดยเฉพาะ 2 พรรคใหญ่ ดังนั้น นี่จึงเป็นการพยายามโจมตี 2 พรรคดังกล่าว ซึ่งรวมถึงพรรคบางพรรคที่กลุ่มโจมตีอยู่เป็นประจำด้วย (โดยที่พรรคกลางและเล็กอื่นๆโดนหางเลขไปหมด) ให้ดูมีภาพลักษณ์เลวร้ายอย่างถึงที่สุด สังเกตได้ชัดจากป้ายหาเสียงที่มีนานาสัตว์อยู่ในคราบนักการเมือง โดยที่กลุ่มของตนเองนั้นเป็นดังพระเอกขี่ม้าขาวที่ขี่เฉยๆ ไม่กระดิกไปไหน ไม่เข้าไปมีส่วนร่วมลงสมัครในการเลือกตั้งครั้งนี้ให้แปดเปื้อน เพราะหากมีการแข่งขันเกิดขึ้น ย่อมถูกเปิดโปง แฉแหลก อย่างที่เห็นกันอยู่ในช่วงหาเสียงนี้ ซึ่งย่อมส่งผลต่อภาพลักษณ์ของกลุ่มพันธมิตรฯที่พยายามเน้นถึงความสูงส่งดีงามของตน ดังนั้น แม้จะเห็นว่ากลุ่มของตนจะเล่นแผนส่งคนดีสู้คนเลวได้ แต่แกนนำก็ไม่เสี่ยงที่จะเล่นแผนที่ต้องเข้าไปคลุกฝุ่นเปลืองตัว เนื่องจากกังวลว่าจะได้ไม่คุ้มเสียกับภาพลักษณ์ที่ต้องเสียไป แต่ได้ ส.ส.มีในจำนวนที่คาดเดาได้ยาก อย่างไรก็ดี จริงๆแล้วแกนนำน่าจะใจถึงลองเสี่ยง เพราะการเมืองตอนนี้เป็นการเมืองเชิงอุดมการณ์ที่ผู้คนจำนวนมากตัดสินใจเลือกตามอุดมการณ์ที่ฝังหัวอยู่ เห็นได้ชัดจากคนเสื้อแดงส่วนมากจะเลือกพรรคเพื่อไทย ดังนั้น กลุ่มเสื้อเหลืองที่กำลังลอยเคว้งเพราะไม่รู้จะเลือกพรรคใดจากการที่กลุ่มโจมตีไปทั่วย่อมตัดสินใจเลือกพรรคของกลุ่มถ้าตัดสินใจลงสมัครอย่างไม่ต้องสงสัย สรุปได้ว่า แกนนำพันธมิตรนั้นไม่อยากเสี่ยงเปลืองตัวอย่างไม่คุ้มค่า และถือโอกาสสร้างภาพตัวเองดี คนอื่นเลวด้วยการไม่ลงสมัคร และให้ผู้สนับสนุนไม่ต้องเลือกใคร

ประการสุดท้าย (ที่นึกออก) การโหวตโนในการเลือกตั้งครั้งนี้อาจถูกใช้เป็นฐานให้กับการเลือกตั้งครั้งหน้า โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก การปั่นกระแสโหวตโนเป็นการวัดฐานเสียงผู้สนับสนุนที่อยู่ในโอวาทคำสั่งแกนนำอย่างไม่กระดิก หากผลการเลือกตั้งออกมาว่าคะแนนโหวตโนอยู่ในระดับสูง ก็เท่ากับแกนนำได้รู้ถึงจำนวนที่น่าพอใจของแฟนคลับที่เหนียวแน่น และนำไปสู่ส่วนที่สอง คือ ฐานเสียงที่ค่อนข้างแน่นอนในครั้งนี้ จะกลายเป็นฐานข้อมูลสำหรับการเตรียมตัวลงเลือกตั้งของพรรคของกลุ่มพันธมิตรฯ (ไม่ว่าจะชื่ออะไรก็ตาม) ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งหากเสียงโหวตโนในครั้งนี้น่าพอใจก็คงสร้างความมั่นใจในการลงสมัครเลือกตั้งในครั้งหน้าแก่กลุ่มแกนนำมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี มีตัวแปรอื่นๆอีกมากที่จะมีผลต่อคะแนนของพรรคของกลุ่มพันธมิตรฯในการเลือกตั้งครั้งหน้าทั้งในด้านดีและไม่ดี เช่น ระยะเวลาจะห่างจากครั้งนี้นานเท่าไร จะเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นหรือไม่ เป็นต้น

โดยสรุป การจัดหนักแบบเบาๆครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การระดมพลโหวตโนในครั้งนี้ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น น่าจะมีวาระแฝงเร้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งได้วิเคราะห์ไปใน 3 ทาง ได้แก่ ประการแรก เป็นความต้องการสร้างเงื่อนไขให้เหตุการณ์หลังการเลือกตั้งไม่ปกติ ซึ่งเลวร้ายที่สุดอาจเกิดรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง และนำประชาธิปไตยถอยหลังลงคลองอย่างน่าเสียดาย ประการที่สอง แกนนำพันธมิตรฯ ถือโอกาสสร้างภาพเทพกับมารให้กับฝ่ายตนกับพรรคการเมืองอื่นๆ โดยที่ตนเองไม่ต้องเสี่ยงลงไปพัวพันกับการเลือกตั้ง พร้อมกับให้มวลชนของตนโหวตโนแทน ประการสุดท้าย แกนนำมองการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเพียงฐานให้การเลือกตั้งครั้งหน้า โดยมีตัวชี้วัดอยู่ที่คะแนนโหวตโนในครั้งนี้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงสำหรับกลุ่มมวลชนที่ยังถูกชักนำโดยแกนนำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในยุคการเมืองเชิงอุดมการณ์ที่มวลชนจะเดินตามกลุ่มที่ตนเองเชื่อถือเชื่อมั่นอย่างรุนแรง และอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือของแกนนำซึ่งมีเบื้องหน้าเบื้องหลังที่มวลชนไม่รู้ และอาจไม่ต้องการจะรู้เพราะเชื่อทุกสิ่งที่แกนนำพูด สิ่งที่อยากทิ้งท้ายจึงขอเตือนสติคนที่กำลังหลงไปกับการปลุกระดมของแกนนำให้พิจารณาให้ดีว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นจริงมากแค่ไหน และลองมองดูพรรคการเมืองที่เสนอตัวทำหน้าที่ถึง 40 พรรค รวมทั้งผู้สมัครที่น่าสนใจอีกครั้ง เผื่อคุณจะพบว่าโหวตเยส (Vote Yes) ก็เป็นคำตอบให้คุณได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น