วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สังคมไทยต้องก้าวข้ามไปอีกขั้นในการเลือกตั้ง

ใกล้ถึงวันเลือกตั้งเข้ามาทุกที ข้อมูลข่าวสาร บทวิเคราะห์มากมาย ไหลทะลักเข้าสู่สมองอืดๆของอดีตนักศึกษาที่กำลังเคว้งคว้างในชีวิต จนอดไม่ได้ที่จะเขียนบทความอีกแล้ว เป็นครั้งแรกๆหลังเรียนจบที่เริ่มโหยหาการอ่านหนังสือ การเขียนบทความอีกครั้ง คาดว่าคงเป็นกลไกโดยธรรมชาติที่วันๆเอาแต่นั่งกดเกมส์ มันก็เริ่มนึกถึงสิ่งเก่าๆที่เป็นประโยชน์อยู่บ้างขึ้นมา วันนี้ก็จั่วหัวไว้ว่า “สังคมไทยต้องก้าวไปอีกขั้นในการเลือกตั้ง” เนื่องด้วยตอนนี้การหาเสียงจำเป็นต้องชูนโยบายอยู่พอสมควร และนั่นคือสิ่งที่สังคมไทยคาดหวังไว้ว่าอยากเห็นการเมืองไทยเป็นการเมืองที่ขายนโยบาย ไม่ใช่ซื้อเสียงแจกเงิน แต่ทว่าวันนี้ดูเหมือนสังคมไทยไม่อาจอยู่กับการเลือกนโยบายเช่นนี้ได้อีกต่อไป

ด้วยการแข่งขันที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จากความต้องการอำนาจรัฐเพื่อผลประโยชน์ของพรรคและพวก ทำให้การนำเสนอนโยบายก็มีการแข่งขันกันรุนแรงตามไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ พรรคใหญ่โดยเฉพาะประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยที่เป็นจุดโฟกัสของการเลือกตั้งต่างชูนโยบายหาเสียง ซึ่งล้วนเป็นนโยบายที่ดึงดูดใจมวลชนคนรากหญ้าเสียเหลือเกิน ทั้งนโยบายค่าแรง การศึกษา ราคาข้าว ฯลฯ หากเป็นเมื่อสักสิบปีก่อน การแข่งขันด้านนโยบายเช่นนี้คงเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความชื่นใจให้กับคอการเมืองเป็นแน่ แต่วันนี้ผ่านมา 10 ปีพอดี ตั้งแต่พรรคไทยรักไทยเจ้าของต้นตำรับประชานิยมไทยลงรับเลือกตั้งครั้งแรก ข้อวิจารณ์ไปจนถึงความวิตกกังวลว่าด้วยนโยบายจากพรรคการเมืองกลับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ คนไทยเริ่มรู้ทันนโยบายเหล่านั้นทีละน้อยๆ

ความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ไม่ว่าจะลำบากมากหรือน้อย จะเป็นคนชั้นกลางหรือคนจนก็ล้วนแล้วแต่มีจุดอ่อนอยู่ที่ความต้องการความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หรือปัญหาปากท้องที่อยากได้รับการแก้ไข ดังนั้น นโยบายประชานิยมจึงสามารถหากินได้อย่างมหาศาลกับกลุ่มคนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เพราะโดนใจ โดนความต้องการ แต่นโยบายเหล่านั้นกลับถูกมองอย่างแน่นิ่ง (ดูบทความการมองนโยบายแบบภาพนิ่ง (static) กับการเลือกตั้ง) มองเห็นเพียงประโยชน์ที่จะเข้ามา แต่ไม่เห็นความเชื่อมโยง และผลเสียจากนโยบายเหล่านั้น ดังนั้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ประชาชนคนไทยจำเป็นต้องได้รับข้อมูลที่มากกว่านโยบายที่ดูดีและดึงดูดเหล่านั้น มิเช่นนั้นย่อมส่งผลระยะยาวต่อประเทศอย่างแน่นอน

ตัวอย่างเช่น นโยบายที่มีแต่ “ให้” ไม่ว่าจะเป็นให้ค่าแรงเพิ่ม ให้ราคาข้าวดีขึ้น และ “ลด” โดยเฉพาะลดภาษี ซึ่งหากคิดในตรรกะง่าย คือ เมื่อรัฐบาลให้มาก ก็จำเป็นต้องมีงบประมาณรายจ่ายมากขึ้น ขณะที่การลดภาษีก็เท่ากับลดรายได้ของรัฐบาลเอง กล่าวคือ รัฐบาลจะมีรายได้น้อยลง ขณะที่รายจ่ายเพิ่มขึ้น ดังนั้น นี่คือนโยบายที่ขัดกันอย่างรุนแรง แต่ถูกเสนอโดยพรรคเพียงพรรคเดียว หากนโยบายเหล่านี้ถูกนำไปใช้จริง สิ่งที่จะเกิดขึ้นคิดอย่างง่ายๆก็คือ รัฐบาลจะต้องค่อยๆมีเงินลดลงๆ จนหมด เท่านั้นไม่พอ เพราะรายจ่ายไม่ได้ลด และรายได้ก็ไม่ได้เพิ่ม ดังนั้น รัฐบาลหรือประเทศย่อมเข้าสู่ภาวะติดหนี้ในที่สุด ซึ่งหากเทียบกับคนทั่วไป เมื่อติดหนี้ก็ต้องขายของของตัวเองเพื่อเอาเงินไปใช้หนี้ ดังนั้น อาจเกิดการแปรรูปหรือขายรัฐวิสาหกิจทอดตลาด ซึ่งเมื่อรัฐวิสาหกิจตกไปอยู่ในมือนายทุนซึ่งหวังผลกำไรเป็นสำคัญ ค่าครองชีพของประชาชนก็ต้องสูงขึ้น ค่าน้ำ ค่าไฟแพงขึ้นเรื่อยๆ ผิดกับค่าแรงที่รัฐบาลไม่ได้มีนโยบายรัดกุมเพียงพอรองรับสถานการณ์เช่นนี้ มีเพียงนโยบายที่ “ให้” แล้วก็จบกัน สุดท้าย ผู้ที่แบกรับผลร้ายจากนโยบายเหล่านี้ก็กลายเป็นประชาชนเช่นเดิม ความหวังที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีก็จบลง นี่คือตัวอย่างที่อาจฟังดูเลวร้าย แต่มันเป็นไปได้เสมอหากนโยบายประชานิยมที่ผลาญเงินประเทศถูกนำมาปฏิบัติจริง

ดังนั้น สิ่งที่สังคมต้องก้าวข้ามไปอีกขั้น คือ จากที่แค่พิจารณานโยบายไหนโดนใจ ต้องพิจารณาด้วยว่านโยบายนั้นมีผลดีผลเสียอย่างไร มีผลกระทบต่ออะไรบ้าง โดยมองอย่างมีมิติ ไม่ใช่มองอย่างแข็งทื่อว่ามันเกิดประโยชน์ต่อตนเองหรือคนในกลุ่มเดียวกับเราเท่านั้น เช่น นโยบายเกี่ยวกับราคาข้าวของทั้งสองพรรคที่นำเสนอรูปแบบการจัดการที่ต่างกันสองรูปแบบใหญ่ๆในทางเศรษฐศาสตร์ คือ รับจำนำข้าวกับประกันราคาข้าว ซึ่งรูปแบบทั้งสองต่างมีข้อดีข้อเสียพอๆกัน การรับจำนำนั้น เกษตรกรได้เงินตามที่เสนอไว้ เช่น 15,000 บาทต่อตันก็ได้ตามนั้น โดยมีรัฐบาลเป็นผู้รับซื้อ แต่รัฐบาลก็ต้องใช้เงินเยอะตามไปด้วย และก็ต้องผ่านกลไกต่างๆในระดับล่างซึ่งที่ผ่านมาเกิดการทุจริตกันอย่างคึกคัก ซึ่ง 15,000 บาทของชาวนาอาจลดลงไปด้วย นอกจากนี้ การตั้งราคาโดยไม่สนกลไกราคาข้าวในตลาดโลกย่อมส่งผลต่อการส่งออก เพราะเมื่อตั้งราคาไว้สูง เมื่อรัฐบาลนำข้าวไปขาย หากขายได้ต่ำกว่าที่รับจำนำมาก็เท่ากับรัฐบาลขาดทุน ซึ่งหากราคาในตลาดโลกต่ำว่าที่รับจำนำไว้มาก รัฐบาลก็อาจเกิดสภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงินได้ ส่วนการประกันราคานั้น แน่นอนว่ารัฐบาลไม่ได้รับภาระจ่ายเงินมหาศาลอย่างการรับจำนำ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลเองด้วยว่าจะกำหนดราคาประกันสูงมากหรือไม่ โดยรัฐบาลจะจ่ายส่วนต่างราคาตามกลไกตลาดกับราคาประกันให้ชาวนา ดังนั้น หากรัฐบาลไม่ตั้งราคาประกันสูงจนเกินไป ก็สามารถรักษาสภาพคล่องทางการเงินได้ดีกว่า แต่หากมุ่งเอาใจประชาชนจนเกินไปโดยตั้งราคาประกันสูงมาก รัฐบาลก็ต้องมีปัญหาค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น นี่คือสิ่งที่ประชาชนควรต้องได้รับไปด้วย ไม่ใช่แค่เพียงตัวนโยบายที่สวยหรู หากพรรคหนี่งเสนอว่าจะต้องราคาประกันไว้ที่ 20,000 บาท ส่วนอีกพรรคเสนอจะรับจำนำข้าวที่ 15,000 บาท ประชาชนก็อาจหลงเลือกไปตามราคาที่สูงกว่าโดยไม่ได้คำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายของรัฐที่ต้องเพิ่มสูงตามไปด้วย แต่หากประชาชนมีข้อมูลว่าจะเกิดผลอย่างไรจากนโยบายประกอบการตัดสินใจ ชาวนาก็อาจจะเลือกนโยบายที่ตัวเลขต่ำกว่าก็เป็นได้

โดยสรุปแล้ว การเมืองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการใช้นโยบายหาเสียงในการเลือกตั้งกันมากขึ้น แต่นโยบายเหล่านั้นกลับมีปัญหา เพราะมีแต่ลดแลกแจกแถม ซึ่งมีปัญหาทั้งวินัยการเงินของชาติและของประชาชน ดังนั้น สิ่งที่สังคมไทยต้องทำ คือ ต้องก้าวข้าวไปอีกขั้น โดยการพิจารณานโยบายอย่างหลากหลาย ไม่มองเพียงประโยชน์ที่จะได้รับเท่านั้น เพื่อให้ได้การตัดสินใจที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและประเทศ ไม่ใช่ประชาชนได้เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งอาจนำไปสู่ความล่มสลายทางการเงินของประเทศได้ ทั้งนี้ ต้องอยู่ที่นักวิชาการต้องนำเสนอผลต่างๆให้แก่ประชาชนในวงกว้างให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่นั่งเสวนากันในวงแคบๆแล้วทอดทิ้งประชาชนให้เลือกอยู่ในวังวนเก่าๆ ซึ่งในที่สุดก็กลับมาทำร้ายประเทศซึ่งก็เท่ากับทำร้ายตัวเองในทางอ้อมนั่นเอง ร่วมกันก้าวข้ามเพื่ออนาคตประเทศครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น