วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2554

ปฏิทินแบบ N.S. และ O.S.

ในเอกสารต่างประเทศซึ่งนำมาใช้ศึกษาประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาบางฉบับ จะลงวันที่ที่เขียนหรือส่งไว้ ๒ แบบ โดยระบุไว้ว่าเป็นแบบ N.S. (New Style) และ O.S. (Old Style) และนี่คือสิ่งที่บทความนี้จะกล่าวถึง

ปฏิทินแบบเก่าหรือ O.S. และปฏิทินแบบใหม่หรือ N.S. ต่างเป็นปฏิทินแบบสุริยคติ คือ ดูการโคจรของดวงอาทิตย์เป็นหลัก ถ้าจะให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือเดือน มกราคม กุมภาพันธ์ จนกระทั่งธันวาคม แบบไทย ซึ่งชื่อเดือนนั้นตั้งตามการที่ดวงอาทิตย์โคจรไปถึงกลุ่มดาวต่างๆ เช่น ถ้าดวงอาทิตย์โคจรไปอยู่ในกลุ่มดาวรูปมังกร (ตามสายตาคนโบราณ) ช่วงนั้นก็คือ เดือนมกราคม (มกร- ราศีดาวรูปมังกร อาคม- การมาถึง) หรือถ้าดวงอาทิตย์โคจรมาถึงกลุ่มดาวรูปแกะ เดือนนั้นก็คือ เดือนเมษายน (เมษ- ราศีดาวรูปแกะ อายน- การมาถึง) ต่อไปจะว่าถึงปฏิทินแต่ละแบบ

เริ่มที่แบบเก่าหรือ Old Style เรียกว่า ปฏิทินแบบจูเลียน (Julian calendar) มีที่มาตั้งแต่สมัยจักรพรรดิจูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) ปฏิทินแบบนื้ถือว่าปีหนึ่งๆมีทั้งสิ้น ๓๖๕.๒๕ วัน จาก ๑๒ เดือน ดังนั้น ปกติแล้ว แต่ละปีจะมีทั้งสิ้น ๓๖๕ วัน แต่เพื่อให้เศษปีไม่ขาดตกไปไหน ทุกๆ ๔ ปีจึงมีการเพิ่มวันอีกหนึ่งวันในเดือนกุมภาพันธ์ จากเดิม ๒๘ เป็น ๒๙ วัน ปีนั้นก็จะมี ๓๖๖ วัน ส่วนเดือนต่างๆก็มีวันเท่ากับในปัจจุบัน ต่างไปแต่เพียงชื่อเท่านั้น อย่างไรก็ดี จำนวนวันของปฏิทินแบบเก่าเกินไปจากปีตามฤดูกาล (the tropical year) ซึ่งมี ๓๖๕.๒๔๒๒๐ วัน หรือเกินไปปีละประมาณ ๑๑ นาที และค่อยๆคลาดเคลื่อนออกไปจนเมื่อมาถึง ค.ศ.๑๕๘๒ ตรงกับ พ.ศ.๒๑๒๕ ปฏิทินแบบจูเลียนก็เคลื่อนไปจากปีตามฤดูกาลถึง ๑๐ วัน และมีการปฏิรูปปฏิทินกันใหม่จนเกิดเป็นปฏิทินอีกรูปแบบหนึ่ง

ปฏิทินที่ปฏิรูปขึ้นใหม่ซึ่งเป็นแบบที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกในปัจจุบันก็คือ ปฏิทินแบบใหม่ หรือ New Style เรียกกันทั่วไปว่า ปฏิทินเกรกอเรียน (Gregorian calendar) นอกจากนี้ยังเรียก ปฏิทินตะวันตก (Western calendar) และปฏิทินชาวคริสต์ (Christian calendar) ผู้คิดค้นและนำเสนอปฏิทินแบบนี้ คือ พระสันตะปาปาเกรกอรีที่ ๑๓ (Pope Gregory XIII) โดยปรับปรุงจากปฏิทินแบบแรก คือ แบบจูเลียน เพื่อให้เกิดการคลาดเคลื่อนที่น้อยลงจากปฏิทินจูเลียน โดยปฏิทินแบบนี้ถือว่าแต่ละปีมีทั้งสิ้น ๓๖๕.๒๔๒๕ วัน ซึ่งก็ยังคงเคลื่อนจากปีตามฤดูกาล (มี ๓๖๕.๒๔๒๒๐ วัน) แต่ก็น้อยลงกว่าเดิม ตามปฏิทินแบบนี้ ปีปรกติก็มี ๓๖๕ วันเช่นเดียวกับปฏิทินจูเลียน แต่เพื่อให้มีการชดเชยเศษปีให้ครบถ้วนไม่ขาดไม่เกิน จึงมีหลักเกณฑ์เพิ่มขึ้นจากปฏิทินจูเลียนที่ให้ปีอธิกสุรทินหรือปีที่มีการเพิ่มวันที่ ๒๙ ในเดือนกุมภาพันธ์ หรือปีที่มี ๓๖๖ วัน เกิดขึ้นทุก ๔ ปี เป็น

(๑) ปีที่หารด้วย ๔ ลงตัว
(๒) ปีที่หารด้วย ๑๐๐ ไม่ลงตัว
และ (๓) ปีที่หารด้วย ๔๐๐ ลงตัว


จะเห็นได้ว่า ปฏิทินเกรกอเรียนทำให้ปีอธิกสุรทินมีน้อยลง ๓ ปีใน ๔๐๐ ปี หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ใน ๔๐๐ ปี ปฏิทินเกรกอเรียนจะมีวันน้อยกว่าปฏิทินจูเลียน ๓ วัน เช่น ในรอบปี ๑๓๐๐ ๑๔๐๐ ๑๕๐๐ และ ๑๖๐๐ ปีอธิกสุรทินที่หายไปตามแบบปฏิทินเกรกอเรียน คือ ๑๓๐๐ ๑๔๐๐ และ ๑๕๐๐ ซึ่งเท่ากับว่าวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ หายไป ๓ วัน จากแบบจูเลียน ส่วนปีปรกติก็ใช้หลักเกณฑ์ที่สลับกับปีอธิกสุรทิน แต่ปีอธิกสุรทินย่อมมีน้อยกว่า ดังนั้นก็จำเกณฑ์ปีอธิกสุรทินไว้ ส่วนปีที่ไม่ใช่ก็เป็นปีปรกติไป

เมื่อเริ่มใช้ใน ค.ศ.๑๕๘๒ (พ.ศ.๒๑๒๕) ปฏิทินแบบเกรกอเรียนนี้คลาดกับแบบจูเลียนไป ๑๐ วัน และจากการที่ปฏิทินแบบเกรกอเรียนตั้งเกณฑ์ที่ลดปีอธิกสุรทินลงอย่างที่กล่าวไปแล้ว คือ ปรกติตามปฏิทินจูเลียน ศักราชที่เต็มร้อย เช่น ๑๗๐๐ ๑๘๐๐ ๑๙๐๐ ต่างเป็นปีอธิกสุรทินทั้งสิ้น แต่เกณฑ์ปฏิทินแบบเกรกอเรียนถือเป็นปีปรกติ มี ๓๖๕ วัน มีเพียงทุก ๔๐๐ ปี (เกณฑ์ข้อ ๓) ที่จะเป็นปีอธิกสุรทิน คือ ๔๐๐ ๘๐๐ ๑๒๐๐ ๑๖๐๐ ๒๐๐๐ ไปเรื่อยๆ ดังนั้น ปฏิทินเกรกอเรียนจึงห่างจากปฏิทินจูเลียนออกไปอีก โดยเมื่อปฏิทินจูเลียนเพิ่มวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ใน ค.ศ.๑๗๐๐ โดยที่ปฏิทินเกรกอเรียนไม่ได้เพิ่มด้วย ปฏิทินทั้งสองจึงคลาดกันเพิ่มอีกหนึ่งวันในวันดังกล่าว เป็น ๑๑ วัน และเพิ่มอีกปีละหนึ่งวันเมื่อปฏิทินจูเลียนเพิ่มวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ในปี ๑๘๐๐ (๑๒ วัน) และ ๑๙๐๐ (๑๓ วัน) ส่วนปี ๒๐๐๐ ที่ผ่านมาครบรอบ ๔๐๐ ปีที่ปฏิทินเกรกอเรียนให้เป็นปีอธิกสุรทิน ดังนั้น จึงยังไม่เคลื่อนเพิ่มไปอีก แต่จะห่างเป็น ๑๔ วันเมื่อปฏิทินจูเลียนเพิ่มวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ใน ค.ศ.๒๑๐๐ (พ.ศ.๒๖๔๓)

ปฏิทินเกรกอเรียนที่ประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.๑๕๘๒ หรือ พ.ศ.๒๑๒๕ นั้น ไม่ได้ถูกใช้โดยทุกประเทศในครั้งเดียว ซึ่งเหตุผลหนึ่งมาจากความขัดแย้งระหว่างนิกายแคธอลิกกับโปรแตสแตนต์ ทำให้การประกาศปฏิทินแบบใหม่จากพระสันตะปาปาซึ่งเป็นประมุขของฝ่ายแคธอลิกไม่ได้รับการยอมรับจากประเทศโปรแตสแตนต์บางประเทศ โดยประเทศใหญ่ๆ เช่น อังกฤษ เพิ่งเปลี่ยนมาใช้ปฏิทินเกรกอเรียน เมื่อ ค.ศ.๑๗๕๒ (พ.ศ.๒๒๙๕) ขณะที่สยามเพิ่งเริ่มใช้เมื่อ ค.ศ.๑๘๘๙ (พ.ศ.๒๔๓๒) เท่านั้น

การเริ่มใช้ปฏิทินเกรกอเรียนที่ไม่พร้อมกันถือเป็นเหตุผลหนึ่งที่เอกสารต่างประเทศสมัยอยุธยาบางฉบับต้องระบุวันที่ทั้งสองแบบเอาไว้ เช่น ฮอลันดาหรือเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเริ่มใช้ปฏิทินแบบเกรกอเรียนไปตั้งแต่ ค.ศ.๑๕๘๒ เมื่อต้องติดต่อกับสยาม ซึ่งแม้จะไม่ได้ใช้ปฏิทินแบบตะวันตก แต่ก็เป็นประเทศที่ต้องไปติดต่อกับชาติอื่นๆที่ยังไม่เปลี่ยนมาใช้ปฏิทินเกรกอเรียน เช่น อังกฤษ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องระบุวันทั้งแบบปฏิทินจูเลียนและเกรกอเรียนไว้ด้วยกัน เพื่อสะดวกต่อความเข้าใจของฝ่ายต่างๆ อาทิ เอกสาร “ข้อตกลงและสนธิสัญญาสันติภาพ” ค.ศ.๑๖๖๔ (พ.ศ.๒๒๐๗) ที่ฮอลันดาทำกับสยามหลังเกิดเหตุการณ์ฮอลันดาปิดอ่าวสยาม ระบุวันที่ไว้เป็น

วันที่ ๑๑ สิงหาคม โอ.เอส.
(วันที่ ๒๒ สิงหาคม เอน.เอส.) ค.ศ.๑๖๖๔

นอกจากนี้ ความเคยชินก็อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีการระบุวันทั้งสองแบบไว้ด้วยกัน เพราะแม้ประเทศหนึ่งจะเปลี่ยนมาใช้ปฏิทินแบบใหม่แล้ว แต่ก็ไม่จำเป็นที่คนของประเทศนั้นทุกคนจะใช้ปฏิทินแบบใหม่ไปด้วย ดังนั้น เพื่อให้ไม่เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนระหว่างผู้ส่งและรับสาร จึงเป็นการดีกว่าที่จะระบุวันทั้งสองแบบไว้ด้วยกัน


บรรณานุกรม


กรมศิลปากร. บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรี ระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศ ในศตวรรษที่ 17 เล่ม 2. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2513.
ประเสริฐ ณ นคร. "ปฏิทินไทย." ใน ประวัติศาสตร์เบ็ดเตล็ด. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๙.
http://en.wikipedia.org/wiki/Gregorian_calendar
http://en.wikipedia.org/wiki/Julian_calendar
http://en.wikipedia.org/wiki/Old_Style_and_New_Style_dates
http://th.wikipedia.org/wiki/ปฏิทินเกรโกเรียน
http://th.wikipedia.org/wiki/ปฏิทินจูเลียน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น