วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เหรียญนกเม็กซิโก

กิจวัตรประจำวันช่วงหมดวัยเรียนและเคว้งคว้างอย่างบอกไม่ถูกตอนนี้ นอกจากช่วยแม่ขายของ เล่นเกมส์ ไปจ่ายตลาด ฯลฯ ก็มีอ่านหนังสือพิมพ์ติดตามข่าวสารนี่แหละ ที่บ้านรับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเป็นประจำทุกวัน มีรถมาส่งไม่ต้องไปซื้อ ดังนั้น แน่ใจได้เลยว่ามีหนังสือพิมพ์มาประเคนให้ จริงๆแล้วก็ไม่ได้อ่านครบทุกหน้า ส่วนใหญ่ก็ดูข่าวใหญ่หน้า 1 แล้วก็เข้าไปอ่านคอลัมน์การเมืองหน้า 3 จากนั้นก็วกกลับมาอ่านข่าวต่างประเทศหน้า 2 ต่อไปก็เปิดไปดูหน้า 5 เพื่อดูการ์ตูนคุณชัย ราชวัตร แล้วก็จะพลอยได้อ่านคอลัมน์อื่นๆในหน้านั้นไปด้วย คือ สกู๊ปหน้า 1 ซึ่งจริงๆควรจะเห็นตั้งแต่ตอนหน้า 1 แต่ไม่รู้ทำไมไม่เคยสังเกตเห็นสักที อ่อ เกือบลืมหน้ากีฬาและหน้าบันเทิงที่อ่านเป็นประจำเช่นกัน

ในช่วงที่มีข่าวตัวแทนไทยถอนตัวจากการเป็นภาคีคณะกรรมการมรดกโลก พื้นที่ข่าวก็เทให้กับเรื่องนี้อย่างมาก แม้แต่คอลัมน์สกู๊ปหน้า 1 (ซึ่งก็มาเจอหลังอ่านการ์ตูนเช่นเคย) ของฉบับวันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2554 (ก็คือของวันที่ 27 เพราะวันที่ของหนังสือพิมพ์จะล่วงหน้าไปก่อน 1 วัน) ก็เล่นเรื่องดังกล่าว โดยย้อนอดีตไปถึงเหตุแห่งความวุ่นวาย คือ เหตุการณ์ ร.ศ.112 จั่วหัวว่า “ร.ศ.112 ไทยถูกปล้น แผลใจไทย-เขมร” อย่างที่ทราบกันดีว่า หลังจากฝรั่งเศสใช้นโยบายเรือปืน เดินเรือรบมาถึงปากอ่าวสยาม (เปลี่ยนเป็นอ่าวไทยหลังนโยบายรัฐนิยม) เมื่อ พ.ศ.2436 ในที่สุดรัฐบาลสยามต้องยอมแพ้แต่โดยดี และต้องยอมทำสนธิสัญญาเสียเปรียบต่างๆนานา โดยเฉพาะต้องยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง คือ ดินแดนลาว และให้ฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรีเป็นประกันว่าสยามจะทำตามสัญญา ซึ่งในอีกประมาณ 10 ปีต่อมา คือ พ.ศ.2447 สยามที่ทำตามสัญญาแล้วกลับต้องยอมยกดินแดนเขมรบางส่วนให้ฝรั่งเศสเพื่อแลกกับเมืองจันทบุรี ก่อนที่ฝรั่งเศสจะย้ายไปยึดเมืองตราดแทน ซึ่งการยกดินแดนเขมรครั้งนี้เองที่ทำให้ภายหลังต้องมาเถียงกันเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร และเขตแดนจนบานปลายใหญ่โตอย่างที่เห็นกันอยู่ ก่อนที่ พ.ศ.2449 สยามจะยอมยกดินแดนเขมรส่วนในเพื่อแลกกับเมืองตราดคืนมา


(ปกหนังสือ "บ้าหาเบี้ย" จาก http://www.sujitwongthes.com/2010/12/ห้องสมุด-กับ-มิวเซียม-บร/)

แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่จะพูดถึงในบทความนี้ เพราะจริงๆแล้วจุดสนใจอยู่ที่ข้อความตอนที่รัฐบาลสยามต้องจ่ายเงินค่าเงินหายให้ฝรั่งเศส 3 ล้านฟรังก์ โดยเงินที่นำมาจ่ายส่วนใหญ่มาจาก “เงินถุงแดง” ซึ่งเรามักรับรู้กันว่าเป็นเงินที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงเก็บไว้จากการค้าสำเภา แต่เรามักไม่รู้ว่าเงินในถุงนั้นเป็นอย่างไร ดังนั้น เมื่ออ่านไปเจอข้อความนี้จึงสะดุดตายิ่งนัก โดยผู้เขียนอ้างว่าเอามาจากคุณไกรฤกษ์ นานา คนไทยคนแรกๆ (ไม่กล้าบอกว่าคนแรก เพราะไม่ได้ศึกษาละเอียดพอจะบอกได้เช่นนั้น) ที่เปิดวาทกรรมใหม่ในวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 คือ “ลูกแกะกับหมาป่า” คาดว่าผู้เขียนคงอ่านมาจากหนังสือ “สยามกู้อิสรภาพตนเอง ทางออกและวิธีแก้ปัญหาชาติบ้านเมือง เกิดจากพระราชกุศโลบายของพระเจ้าแผ่นดิน” พิมพ์เมื่อปี 2550 โดยในคอลัมน์มีข้อความว่า “คำว่าเงินถุงแดง อาจเรียกตามถุงที่เก็บเงินไว้ เป็นพระราชทรัพย์ที่เก็บไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ชนิดของเงินชาวบ้านสมัยนั้นเรียกว่า เงินเหรียญนก เป็นเงินของประเทศเม็กซิโก…” อ่านจบเท่านั้นก็พลันนึกถึงหนังสือชื่อแปลก “บ้าหาเบี้ย” ของอาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ที่ฝากคุณป้าซื้อจากงานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ผ่านมา จริงๆแล้วที่หมายหนังสือเล่มนี้ เพราะเห็นชื่อแล้วคิดว่าคงเป็นประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการใช้เงินของชนชาติสยาม แต่ที่ไหนได้กลับเป็นหนังสือรวมบทความว่าด้วย “เงิน” คือตัวเงินที่เป็นเหรียญเป็นเงินแท่งพวกนี้ทั้งที่ใช้ในสยามและเพื่อนบ้าน แม้จะผิดหวังเมื่อแรกได้มาจนอ่านได้ไม่กี่หน้าก็กลับไปแน่นิ่งกับตู้ แต่ก็กลับนึกถึงอีกครั้งในครั้งนี้นี่เอง เพราะจำได้ว่าเคยอ่านเจอ “เหรียญนก” และก็เกิดทิฐิมานะให้เขียนบทความนี้เพื่อส่งต่อความรู้

ข้อมูลของเหรียญชนิดนี้เก็บความจากหนังสือ “บ้าหาเบี้ย” ได้ว่า

1. ที่มา: เป็นเหรียญของประเทศเม็กซิโก
2. เริ่มผลิต: เริ่มผลิตในปี ค.ศ.1823 (พ.ศ.2366) หรือ 2 ปี หลังจากเม็กซิโกได้เอกราชจากสเปน ก่อนจะเปลี่ยนมาผลิตแบบอื่นใน ค.ศ.1897 (พ.ศ.2440) และเปลี่ยนหน่วยเงินเป็น เปโซ (Peso)
3. วัตถุดิบ: ทำจากเงินบริสุทธิ์ 902 ส่วน จาก 1,000 ส่วน ซึ่งก็เข้ากับการที่เม็กซิโกเป็นแหล่งแร่เงินที่ใหญ่ที่สุดในยุคนั้น
4. ขนาดและน้ำหนัก: เส้นผ่าศูนย์กลาง 3.8 เซนติเมตร น้ำหนัก 27 กรัม
5. ราคาบนเหรียญ: เหรียญนกเป็นเหรียญราคา 8 เรียล (Real) ซึ่งเป็นหน่วยเงินแบบสเปน โดยคำว่า “เรียล” นี้ อาจารย์ล้อมได้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นที่มาของคำว่า “เหรียญ” ด้วย


(รูปเหรียญนกด้านหัว จาก
https://www.collectors-society.com/wcm/CoinView.aspx?sc=3675)

6. ด้านหัว: ตรงกลางเป็นรูปนกอินทรีกางปีกคาบงู (สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ กลับบอกคาบนก ซึ่งทำให้ต้องตระหนักว่า คำว่า “สารานุกรม” ไม่ได้หมายความว่าเป็นคลังความรู้ที่ถูกต้องเสมอ) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อแบบไทยๆว่า “เหรียญนก” โดยรอบด้านบนบอกประเทศที่ผลิต คือ REPUBLICA MEXICANA ส่วนครึ่งล่างอาจารย์ล้อมไม่ได้บอก ผู้เขียนเห็นว่าอาจจะเป็นช่อมะกอก


(รูปเหรียญนกด้านก้อย ระบุปีที่ผลิต 1856 จาก
https://www.collectors-society.com/wcm/CoinView.aspx?sc=3675)

7. ด้านก้อย: ตรงกลางเป็นภาพหมวกเสรีภาพ มีอักษา LIBERTAD คาดอยู่บนหมวก แล้วมีรัศมีเปล่งออกไปโดยรอบหมวกนั้น ใต้หมวกมีอักษร (ยกเป็นตัวอย่าง) ดังนี้ (รูปดาว)8R.M(มีวงกลมด้านบน).1851.G.C.10 D8(เป็นตัวยก).20 G8(เป็นตัวยก). อธิบายทีละตัวได้ว่า 8R คือ ราคา 8 เรียล M. และ G.C. เป็นชื่อย่อของผู้ตรวจและโรงกษาปณ์ 1851 คือ ปีที่ผลิต 10 D8. ย่อมาจาก diez Dineros หมายความว่า ten Moneys และ 20 G8. หมายถึง twenty Grains ซึ่งบอกความบริสุทธิ์และความละเอียดของเนื้อเงินที่ไม่ต่ำกว่า 900 จาก 1,000 ส่วน


(รูปเหรียญนกตีตรา จะสังเกตเห็นตรามงกุฎและตราจักรตรงด้านก้อยบริเวณรัศมีของหมวกเสรีภาพ
จาก http://sale20.eurseree.com/cgi-bin/info/agora.cgi?cart_id=7097547.28525*fG0um2&p_id=1268&xm=on&ppinc=search2)

8. เหรียญนกในสยาม: รัฐบาลสยามได้รับรองให้ใช้เหรียญนกโดยตีตรามงกุฎกับตราจักรไว้ นักเลงเหรียญปัจจุบันเรียก “เหรียญนกตีตรา” โดยเริ่มตีตราเมื่อใดไม่ทราบ แต่มีหลักฐานย้อนไปนานที่สุด คือ เหรียญนกที่ผลิตใน ค.ศ.1840 (พ.ศ.2383) ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 แต่ในที่นี้ผู้เขียนขอเสนอเองว่า ตรา(พระมหาพิชัย)มงกุฎนั้นเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 และตราจักรเป็นตราประจำราชวงศ์จักรี ดังนั้น การตีตรารับรองเหรียญต้องทำในรัชกาลที่ 4 กล่าวคือไม่ก่อน พ.ศ.2394 ไม่ว่าปีผลิตเหรียญที่ปรากฏบนเหรียญนกจะย้อนไปนานเท่าใดก็ตาม โดยเหรียญเก่าอาจถูกนำมาใช้ในสยามและถูกตีตราภายหลังปีผลิต และเท่ากับว่าเหรียญนกใน “ถุงแดง” ที่รัชกาลที่ 3 ทรงเก็บไว้และถูกนำมาใช้เป็นเหรียญที่ไม่มีการตีตราแต่อย่างใด ซึ่งเหรียญที่ไม่ได้มีการตีตราจากทางรัฐบาลก็ยังมีหมุนเวียนใช้ในสยามควบคู่ไปกับเหรียญที่มีการตีตราด้วย

ในหนังสือ “บ้าหาเบี้ย” ยังมีข้อมูลที่ทั้งยุติแล้วและยังไม่ยุติให้ค้นหาอีกมากมาย เช่น เหรียญไทร เงินลาว เงินอีสาน เหรียญไม้เท้า ฯลฯ ซึ่งแต่ละเหรียญมีราคาในเว็บประมูลสินค้าหลายหมื่นบาท หากสนใจก็ลองหยิบจับซื้อหามาอ่านสักเล่ม ในราคาไม่สิ้นเบี้ยนัก คือ 120 บาท เท่านั้น


บรรณานุกรม

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. จาก http://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว. จาก http://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว.
ล้อม เพ็งแก้ว. บ้าหาเบี้ย. กรุงเทพฯ: มติชน, 2553
สกู๊ปหน้า 1. ไทยรัฐ ปีที่ 62 ฉบับที่ 19516 วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2554: 5.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น