วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เหรียญนกเม็กซิโก

กิจวัตรประจำวันช่วงหมดวัยเรียนและเคว้งคว้างอย่างบอกไม่ถูกตอนนี้ นอกจากช่วยแม่ขายของ เล่นเกมส์ ไปจ่ายตลาด ฯลฯ ก็มีอ่านหนังสือพิมพ์ติดตามข่าวสารนี่แหละ ที่บ้านรับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเป็นประจำทุกวัน มีรถมาส่งไม่ต้องไปซื้อ ดังนั้น แน่ใจได้เลยว่ามีหนังสือพิมพ์มาประเคนให้ จริงๆแล้วก็ไม่ได้อ่านครบทุกหน้า ส่วนใหญ่ก็ดูข่าวใหญ่หน้า 1 แล้วก็เข้าไปอ่านคอลัมน์การเมืองหน้า 3 จากนั้นก็วกกลับมาอ่านข่าวต่างประเทศหน้า 2 ต่อไปก็เปิดไปดูหน้า 5 เพื่อดูการ์ตูนคุณชัย ราชวัตร แล้วก็จะพลอยได้อ่านคอลัมน์อื่นๆในหน้านั้นไปด้วย คือ สกู๊ปหน้า 1 ซึ่งจริงๆควรจะเห็นตั้งแต่ตอนหน้า 1 แต่ไม่รู้ทำไมไม่เคยสังเกตเห็นสักที อ่อ เกือบลืมหน้ากีฬาและหน้าบันเทิงที่อ่านเป็นประจำเช่นกัน

ในช่วงที่มีข่าวตัวแทนไทยถอนตัวจากการเป็นภาคีคณะกรรมการมรดกโลก พื้นที่ข่าวก็เทให้กับเรื่องนี้อย่างมาก แม้แต่คอลัมน์สกู๊ปหน้า 1 (ซึ่งก็มาเจอหลังอ่านการ์ตูนเช่นเคย) ของฉบับวันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2554 (ก็คือของวันที่ 27 เพราะวันที่ของหนังสือพิมพ์จะล่วงหน้าไปก่อน 1 วัน) ก็เล่นเรื่องดังกล่าว โดยย้อนอดีตไปถึงเหตุแห่งความวุ่นวาย คือ เหตุการณ์ ร.ศ.112 จั่วหัวว่า “ร.ศ.112 ไทยถูกปล้น แผลใจไทย-เขมร” อย่างที่ทราบกันดีว่า หลังจากฝรั่งเศสใช้นโยบายเรือปืน เดินเรือรบมาถึงปากอ่าวสยาม (เปลี่ยนเป็นอ่าวไทยหลังนโยบายรัฐนิยม) เมื่อ พ.ศ.2436 ในที่สุดรัฐบาลสยามต้องยอมแพ้แต่โดยดี และต้องยอมทำสนธิสัญญาเสียเปรียบต่างๆนานา โดยเฉพาะต้องยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง คือ ดินแดนลาว และให้ฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรีเป็นประกันว่าสยามจะทำตามสัญญา ซึ่งในอีกประมาณ 10 ปีต่อมา คือ พ.ศ.2447 สยามที่ทำตามสัญญาแล้วกลับต้องยอมยกดินแดนเขมรบางส่วนให้ฝรั่งเศสเพื่อแลกกับเมืองจันทบุรี ก่อนที่ฝรั่งเศสจะย้ายไปยึดเมืองตราดแทน ซึ่งการยกดินแดนเขมรครั้งนี้เองที่ทำให้ภายหลังต้องมาเถียงกันเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร และเขตแดนจนบานปลายใหญ่โตอย่างที่เห็นกันอยู่ ก่อนที่ พ.ศ.2449 สยามจะยอมยกดินแดนเขมรส่วนในเพื่อแลกกับเมืองตราดคืนมา


(ปกหนังสือ "บ้าหาเบี้ย" จาก http://www.sujitwongthes.com/2010/12/ห้องสมุด-กับ-มิวเซียม-บร/)

แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่จะพูดถึงในบทความนี้ เพราะจริงๆแล้วจุดสนใจอยู่ที่ข้อความตอนที่รัฐบาลสยามต้องจ่ายเงินค่าเงินหายให้ฝรั่งเศส 3 ล้านฟรังก์ โดยเงินที่นำมาจ่ายส่วนใหญ่มาจาก “เงินถุงแดง” ซึ่งเรามักรับรู้กันว่าเป็นเงินที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงเก็บไว้จากการค้าสำเภา แต่เรามักไม่รู้ว่าเงินในถุงนั้นเป็นอย่างไร ดังนั้น เมื่ออ่านไปเจอข้อความนี้จึงสะดุดตายิ่งนัก โดยผู้เขียนอ้างว่าเอามาจากคุณไกรฤกษ์ นานา คนไทยคนแรกๆ (ไม่กล้าบอกว่าคนแรก เพราะไม่ได้ศึกษาละเอียดพอจะบอกได้เช่นนั้น) ที่เปิดวาทกรรมใหม่ในวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 คือ “ลูกแกะกับหมาป่า” คาดว่าผู้เขียนคงอ่านมาจากหนังสือ “สยามกู้อิสรภาพตนเอง ทางออกและวิธีแก้ปัญหาชาติบ้านเมือง เกิดจากพระราชกุศโลบายของพระเจ้าแผ่นดิน” พิมพ์เมื่อปี 2550 โดยในคอลัมน์มีข้อความว่า “คำว่าเงินถุงแดง อาจเรียกตามถุงที่เก็บเงินไว้ เป็นพระราชทรัพย์ที่เก็บไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ชนิดของเงินชาวบ้านสมัยนั้นเรียกว่า เงินเหรียญนก เป็นเงินของประเทศเม็กซิโก…” อ่านจบเท่านั้นก็พลันนึกถึงหนังสือชื่อแปลก “บ้าหาเบี้ย” ของอาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ที่ฝากคุณป้าซื้อจากงานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ผ่านมา จริงๆแล้วที่หมายหนังสือเล่มนี้ เพราะเห็นชื่อแล้วคิดว่าคงเป็นประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการใช้เงินของชนชาติสยาม แต่ที่ไหนได้กลับเป็นหนังสือรวมบทความว่าด้วย “เงิน” คือตัวเงินที่เป็นเหรียญเป็นเงินแท่งพวกนี้ทั้งที่ใช้ในสยามและเพื่อนบ้าน แม้จะผิดหวังเมื่อแรกได้มาจนอ่านได้ไม่กี่หน้าก็กลับไปแน่นิ่งกับตู้ แต่ก็กลับนึกถึงอีกครั้งในครั้งนี้นี่เอง เพราะจำได้ว่าเคยอ่านเจอ “เหรียญนก” และก็เกิดทิฐิมานะให้เขียนบทความนี้เพื่อส่งต่อความรู้

ข้อมูลของเหรียญชนิดนี้เก็บความจากหนังสือ “บ้าหาเบี้ย” ได้ว่า

1. ที่มา: เป็นเหรียญของประเทศเม็กซิโก
2. เริ่มผลิต: เริ่มผลิตในปี ค.ศ.1823 (พ.ศ.2366) หรือ 2 ปี หลังจากเม็กซิโกได้เอกราชจากสเปน ก่อนจะเปลี่ยนมาผลิตแบบอื่นใน ค.ศ.1897 (พ.ศ.2440) และเปลี่ยนหน่วยเงินเป็น เปโซ (Peso)
3. วัตถุดิบ: ทำจากเงินบริสุทธิ์ 902 ส่วน จาก 1,000 ส่วน ซึ่งก็เข้ากับการที่เม็กซิโกเป็นแหล่งแร่เงินที่ใหญ่ที่สุดในยุคนั้น
4. ขนาดและน้ำหนัก: เส้นผ่าศูนย์กลาง 3.8 เซนติเมตร น้ำหนัก 27 กรัม
5. ราคาบนเหรียญ: เหรียญนกเป็นเหรียญราคา 8 เรียล (Real) ซึ่งเป็นหน่วยเงินแบบสเปน โดยคำว่า “เรียล” นี้ อาจารย์ล้อมได้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นที่มาของคำว่า “เหรียญ” ด้วย


(รูปเหรียญนกด้านหัว จาก
https://www.collectors-society.com/wcm/CoinView.aspx?sc=3675)

6. ด้านหัว: ตรงกลางเป็นรูปนกอินทรีกางปีกคาบงู (สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ กลับบอกคาบนก ซึ่งทำให้ต้องตระหนักว่า คำว่า “สารานุกรม” ไม่ได้หมายความว่าเป็นคลังความรู้ที่ถูกต้องเสมอ) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อแบบไทยๆว่า “เหรียญนก” โดยรอบด้านบนบอกประเทศที่ผลิต คือ REPUBLICA MEXICANA ส่วนครึ่งล่างอาจารย์ล้อมไม่ได้บอก ผู้เขียนเห็นว่าอาจจะเป็นช่อมะกอก


(รูปเหรียญนกด้านก้อย ระบุปีที่ผลิต 1856 จาก
https://www.collectors-society.com/wcm/CoinView.aspx?sc=3675)

7. ด้านก้อย: ตรงกลางเป็นภาพหมวกเสรีภาพ มีอักษา LIBERTAD คาดอยู่บนหมวก แล้วมีรัศมีเปล่งออกไปโดยรอบหมวกนั้น ใต้หมวกมีอักษร (ยกเป็นตัวอย่าง) ดังนี้ (รูปดาว)8R.M(มีวงกลมด้านบน).1851.G.C.10 D8(เป็นตัวยก).20 G8(เป็นตัวยก). อธิบายทีละตัวได้ว่า 8R คือ ราคา 8 เรียล M. และ G.C. เป็นชื่อย่อของผู้ตรวจและโรงกษาปณ์ 1851 คือ ปีที่ผลิต 10 D8. ย่อมาจาก diez Dineros หมายความว่า ten Moneys และ 20 G8. หมายถึง twenty Grains ซึ่งบอกความบริสุทธิ์และความละเอียดของเนื้อเงินที่ไม่ต่ำกว่า 900 จาก 1,000 ส่วน


(รูปเหรียญนกตีตรา จะสังเกตเห็นตรามงกุฎและตราจักรตรงด้านก้อยบริเวณรัศมีของหมวกเสรีภาพ
จาก http://sale20.eurseree.com/cgi-bin/info/agora.cgi?cart_id=7097547.28525*fG0um2&p_id=1268&xm=on&ppinc=search2)

8. เหรียญนกในสยาม: รัฐบาลสยามได้รับรองให้ใช้เหรียญนกโดยตีตรามงกุฎกับตราจักรไว้ นักเลงเหรียญปัจจุบันเรียก “เหรียญนกตีตรา” โดยเริ่มตีตราเมื่อใดไม่ทราบ แต่มีหลักฐานย้อนไปนานที่สุด คือ เหรียญนกที่ผลิตใน ค.ศ.1840 (พ.ศ.2383) ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 แต่ในที่นี้ผู้เขียนขอเสนอเองว่า ตรา(พระมหาพิชัย)มงกุฎนั้นเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 และตราจักรเป็นตราประจำราชวงศ์จักรี ดังนั้น การตีตรารับรองเหรียญต้องทำในรัชกาลที่ 4 กล่าวคือไม่ก่อน พ.ศ.2394 ไม่ว่าปีผลิตเหรียญที่ปรากฏบนเหรียญนกจะย้อนไปนานเท่าใดก็ตาม โดยเหรียญเก่าอาจถูกนำมาใช้ในสยามและถูกตีตราภายหลังปีผลิต และเท่ากับว่าเหรียญนกใน “ถุงแดง” ที่รัชกาลที่ 3 ทรงเก็บไว้และถูกนำมาใช้เป็นเหรียญที่ไม่มีการตีตราแต่อย่างใด ซึ่งเหรียญที่ไม่ได้มีการตีตราจากทางรัฐบาลก็ยังมีหมุนเวียนใช้ในสยามควบคู่ไปกับเหรียญที่มีการตีตราด้วย

ในหนังสือ “บ้าหาเบี้ย” ยังมีข้อมูลที่ทั้งยุติแล้วและยังไม่ยุติให้ค้นหาอีกมากมาย เช่น เหรียญไทร เงินลาว เงินอีสาน เหรียญไม้เท้า ฯลฯ ซึ่งแต่ละเหรียญมีราคาในเว็บประมูลสินค้าหลายหมื่นบาท หากสนใจก็ลองหยิบจับซื้อหามาอ่านสักเล่ม ในราคาไม่สิ้นเบี้ยนัก คือ 120 บาท เท่านั้น


บรรณานุกรม

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. จาก http://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว. จาก http://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว.
ล้อม เพ็งแก้ว. บ้าหาเบี้ย. กรุงเทพฯ: มติชน, 2553
สกู๊ปหน้า 1. ไทยรัฐ ปีที่ 62 ฉบับที่ 19516 วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2554: 5.

วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สังคมไทยต้องก้าวข้ามไปอีกขั้นในการเลือกตั้ง

ใกล้ถึงวันเลือกตั้งเข้ามาทุกที ข้อมูลข่าวสาร บทวิเคราะห์มากมาย ไหลทะลักเข้าสู่สมองอืดๆของอดีตนักศึกษาที่กำลังเคว้งคว้างในชีวิต จนอดไม่ได้ที่จะเขียนบทความอีกแล้ว เป็นครั้งแรกๆหลังเรียนจบที่เริ่มโหยหาการอ่านหนังสือ การเขียนบทความอีกครั้ง คาดว่าคงเป็นกลไกโดยธรรมชาติที่วันๆเอาแต่นั่งกดเกมส์ มันก็เริ่มนึกถึงสิ่งเก่าๆที่เป็นประโยชน์อยู่บ้างขึ้นมา วันนี้ก็จั่วหัวไว้ว่า “สังคมไทยต้องก้าวไปอีกขั้นในการเลือกตั้ง” เนื่องด้วยตอนนี้การหาเสียงจำเป็นต้องชูนโยบายอยู่พอสมควร และนั่นคือสิ่งที่สังคมไทยคาดหวังไว้ว่าอยากเห็นการเมืองไทยเป็นการเมืองที่ขายนโยบาย ไม่ใช่ซื้อเสียงแจกเงิน แต่ทว่าวันนี้ดูเหมือนสังคมไทยไม่อาจอยู่กับการเลือกนโยบายเช่นนี้ได้อีกต่อไป

ด้วยการแข่งขันที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จากความต้องการอำนาจรัฐเพื่อผลประโยชน์ของพรรคและพวก ทำให้การนำเสนอนโยบายก็มีการแข่งขันกันรุนแรงตามไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ พรรคใหญ่โดยเฉพาะประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยที่เป็นจุดโฟกัสของการเลือกตั้งต่างชูนโยบายหาเสียง ซึ่งล้วนเป็นนโยบายที่ดึงดูดใจมวลชนคนรากหญ้าเสียเหลือเกิน ทั้งนโยบายค่าแรง การศึกษา ราคาข้าว ฯลฯ หากเป็นเมื่อสักสิบปีก่อน การแข่งขันด้านนโยบายเช่นนี้คงเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความชื่นใจให้กับคอการเมืองเป็นแน่ แต่วันนี้ผ่านมา 10 ปีพอดี ตั้งแต่พรรคไทยรักไทยเจ้าของต้นตำรับประชานิยมไทยลงรับเลือกตั้งครั้งแรก ข้อวิจารณ์ไปจนถึงความวิตกกังวลว่าด้วยนโยบายจากพรรคการเมืองกลับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ คนไทยเริ่มรู้ทันนโยบายเหล่านั้นทีละน้อยๆ

ความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ไม่ว่าจะลำบากมากหรือน้อย จะเป็นคนชั้นกลางหรือคนจนก็ล้วนแล้วแต่มีจุดอ่อนอยู่ที่ความต้องการความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หรือปัญหาปากท้องที่อยากได้รับการแก้ไข ดังนั้น นโยบายประชานิยมจึงสามารถหากินได้อย่างมหาศาลกับกลุ่มคนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เพราะโดนใจ โดนความต้องการ แต่นโยบายเหล่านั้นกลับถูกมองอย่างแน่นิ่ง (ดูบทความการมองนโยบายแบบภาพนิ่ง (static) กับการเลือกตั้ง) มองเห็นเพียงประโยชน์ที่จะเข้ามา แต่ไม่เห็นความเชื่อมโยง และผลเสียจากนโยบายเหล่านั้น ดังนั้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ประชาชนคนไทยจำเป็นต้องได้รับข้อมูลที่มากกว่านโยบายที่ดูดีและดึงดูดเหล่านั้น มิเช่นนั้นย่อมส่งผลระยะยาวต่อประเทศอย่างแน่นอน

ตัวอย่างเช่น นโยบายที่มีแต่ “ให้” ไม่ว่าจะเป็นให้ค่าแรงเพิ่ม ให้ราคาข้าวดีขึ้น และ “ลด” โดยเฉพาะลดภาษี ซึ่งหากคิดในตรรกะง่าย คือ เมื่อรัฐบาลให้มาก ก็จำเป็นต้องมีงบประมาณรายจ่ายมากขึ้น ขณะที่การลดภาษีก็เท่ากับลดรายได้ของรัฐบาลเอง กล่าวคือ รัฐบาลจะมีรายได้น้อยลง ขณะที่รายจ่ายเพิ่มขึ้น ดังนั้น นี่คือนโยบายที่ขัดกันอย่างรุนแรง แต่ถูกเสนอโดยพรรคเพียงพรรคเดียว หากนโยบายเหล่านี้ถูกนำไปใช้จริง สิ่งที่จะเกิดขึ้นคิดอย่างง่ายๆก็คือ รัฐบาลจะต้องค่อยๆมีเงินลดลงๆ จนหมด เท่านั้นไม่พอ เพราะรายจ่ายไม่ได้ลด และรายได้ก็ไม่ได้เพิ่ม ดังนั้น รัฐบาลหรือประเทศย่อมเข้าสู่ภาวะติดหนี้ในที่สุด ซึ่งหากเทียบกับคนทั่วไป เมื่อติดหนี้ก็ต้องขายของของตัวเองเพื่อเอาเงินไปใช้หนี้ ดังนั้น อาจเกิดการแปรรูปหรือขายรัฐวิสาหกิจทอดตลาด ซึ่งเมื่อรัฐวิสาหกิจตกไปอยู่ในมือนายทุนซึ่งหวังผลกำไรเป็นสำคัญ ค่าครองชีพของประชาชนก็ต้องสูงขึ้น ค่าน้ำ ค่าไฟแพงขึ้นเรื่อยๆ ผิดกับค่าแรงที่รัฐบาลไม่ได้มีนโยบายรัดกุมเพียงพอรองรับสถานการณ์เช่นนี้ มีเพียงนโยบายที่ “ให้” แล้วก็จบกัน สุดท้าย ผู้ที่แบกรับผลร้ายจากนโยบายเหล่านี้ก็กลายเป็นประชาชนเช่นเดิม ความหวังที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีก็จบลง นี่คือตัวอย่างที่อาจฟังดูเลวร้าย แต่มันเป็นไปได้เสมอหากนโยบายประชานิยมที่ผลาญเงินประเทศถูกนำมาปฏิบัติจริง

ดังนั้น สิ่งที่สังคมต้องก้าวข้ามไปอีกขั้น คือ จากที่แค่พิจารณานโยบายไหนโดนใจ ต้องพิจารณาด้วยว่านโยบายนั้นมีผลดีผลเสียอย่างไร มีผลกระทบต่ออะไรบ้าง โดยมองอย่างมีมิติ ไม่ใช่มองอย่างแข็งทื่อว่ามันเกิดประโยชน์ต่อตนเองหรือคนในกลุ่มเดียวกับเราเท่านั้น เช่น นโยบายเกี่ยวกับราคาข้าวของทั้งสองพรรคที่นำเสนอรูปแบบการจัดการที่ต่างกันสองรูปแบบใหญ่ๆในทางเศรษฐศาสตร์ คือ รับจำนำข้าวกับประกันราคาข้าว ซึ่งรูปแบบทั้งสองต่างมีข้อดีข้อเสียพอๆกัน การรับจำนำนั้น เกษตรกรได้เงินตามที่เสนอไว้ เช่น 15,000 บาทต่อตันก็ได้ตามนั้น โดยมีรัฐบาลเป็นผู้รับซื้อ แต่รัฐบาลก็ต้องใช้เงินเยอะตามไปด้วย และก็ต้องผ่านกลไกต่างๆในระดับล่างซึ่งที่ผ่านมาเกิดการทุจริตกันอย่างคึกคัก ซึ่ง 15,000 บาทของชาวนาอาจลดลงไปด้วย นอกจากนี้ การตั้งราคาโดยไม่สนกลไกราคาข้าวในตลาดโลกย่อมส่งผลต่อการส่งออก เพราะเมื่อตั้งราคาไว้สูง เมื่อรัฐบาลนำข้าวไปขาย หากขายได้ต่ำกว่าที่รับจำนำมาก็เท่ากับรัฐบาลขาดทุน ซึ่งหากราคาในตลาดโลกต่ำว่าที่รับจำนำไว้มาก รัฐบาลก็อาจเกิดสภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงินได้ ส่วนการประกันราคานั้น แน่นอนว่ารัฐบาลไม่ได้รับภาระจ่ายเงินมหาศาลอย่างการรับจำนำ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลเองด้วยว่าจะกำหนดราคาประกันสูงมากหรือไม่ โดยรัฐบาลจะจ่ายส่วนต่างราคาตามกลไกตลาดกับราคาประกันให้ชาวนา ดังนั้น หากรัฐบาลไม่ตั้งราคาประกันสูงจนเกินไป ก็สามารถรักษาสภาพคล่องทางการเงินได้ดีกว่า แต่หากมุ่งเอาใจประชาชนจนเกินไปโดยตั้งราคาประกันสูงมาก รัฐบาลก็ต้องมีปัญหาค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น นี่คือสิ่งที่ประชาชนควรต้องได้รับไปด้วย ไม่ใช่แค่เพียงตัวนโยบายที่สวยหรู หากพรรคหนี่งเสนอว่าจะต้องราคาประกันไว้ที่ 20,000 บาท ส่วนอีกพรรคเสนอจะรับจำนำข้าวที่ 15,000 บาท ประชาชนก็อาจหลงเลือกไปตามราคาที่สูงกว่าโดยไม่ได้คำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายของรัฐที่ต้องเพิ่มสูงตามไปด้วย แต่หากประชาชนมีข้อมูลว่าจะเกิดผลอย่างไรจากนโยบายประกอบการตัดสินใจ ชาวนาก็อาจจะเลือกนโยบายที่ตัวเลขต่ำกว่าก็เป็นได้

โดยสรุปแล้ว การเมืองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการใช้นโยบายหาเสียงในการเลือกตั้งกันมากขึ้น แต่นโยบายเหล่านั้นกลับมีปัญหา เพราะมีแต่ลดแลกแจกแถม ซึ่งมีปัญหาทั้งวินัยการเงินของชาติและของประชาชน ดังนั้น สิ่งที่สังคมไทยต้องทำ คือ ต้องก้าวข้าวไปอีกขั้น โดยการพิจารณานโยบายอย่างหลากหลาย ไม่มองเพียงประโยชน์ที่จะได้รับเท่านั้น เพื่อให้ได้การตัดสินใจที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและประเทศ ไม่ใช่ประชาชนได้เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งอาจนำไปสู่ความล่มสลายทางการเงินของประเทศได้ ทั้งนี้ ต้องอยู่ที่นักวิชาการต้องนำเสนอผลต่างๆให้แก่ประชาชนในวงกว้างให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่นั่งเสวนากันในวงแคบๆแล้วทอดทิ้งประชาชนให้เลือกอยู่ในวังวนเก่าๆ ซึ่งในที่สุดก็กลับมาทำร้ายประเทศซึ่งก็เท่ากับทำร้ายตัวเองในทางอ้อมนั่นเอง ร่วมกันก้าวข้ามเพื่ออนาคตประเทศครับ

วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554

จัดหนักโหวตโน!!!

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) วันที่ 3 กรกฎาคมนี้ นอกเหนือไปจากตัวแปรอย่างนโยบายของแต่ละพรรค กระแสต่อตัวผู้สมัครในแต่ละพื้นที่ ผลงานที่ผ่านๆมาของทั้งคนทั้งพรรค ไปจนถึงหน้าตาและภาพลักษณ์ของหัวหน้าพรรค ฯลฯ ที่ล้วนเป็นตัวชี้วัดผลการเลือกตั้ง ยังมีตัวแปรสำคัญอีกตัวหนึ่ง ได้แก่ กระแสการปลุกระดมโหวตโน (Vote No)

แกนหลักที่สร้างกระแสนี้ขึ้นมาเป็นที่รู้กันว่า คือ “กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ที่นำโดย สนธิ ลิ้มทองกุล กลุ่มนี้ได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองมาอย่างยาวนาน เชื่อว่ามีจุดเริ่มต้นจากความขัดแย้งระหว่างหัวขบวนกับ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เดิมทีคุณสนธิทำรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ เป็นพิธีกรร่วมกับคุณสโรชา ออกอากาศทางช่อง 9 มีโอกาสเคยติดตามดูอยู่บ้าง ดูแล้วก็คิดว่าเป็นรายการที่มีสาระ วิเคราะห์เจาะลึกได้อย่างถึงลูกถึงคน แต่แล้วจากจุดเด่นก็กลายเป็นสิ่งที่ทำให้รายการต้องมีคำว่า “สัญจร” ต่อท้าย และในที่สุดกลายเป็นกลุ่มก้อนใหญ่โตขึ้นมา โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อล้มสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “ระบอบทักษิณ” และภายหลังยังหันไปกัดรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่ร่วมกันล้มรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลในเครือทักษิณมาแล้ว

กลุ่มพันธมิตรฯ ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชนบนเส้นทางการเมืองข้างถนน หรือทางวิชาการเรียกว่าการเคลื่อนไหว “นอกระบบ” คือ เป็นการเมืองนอกสภา บางครั้งปิดถนน บางครั้งปิดทำเนียบรัฐบาล เลยไปถึงปิดสนามบิน มีคดีความมากมายที่ยังค้างอยู่ในกระบวนการยุติธรรม กระแสตอบรับก็มีคนรักคู่ไปกับคนชัง ยังไม่รวมศัตรูที่รายล้อมซ้ายขวาหน้าหลัง จนกระทั่งเข้าสู่จุดสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย “เลือกตั้ง 3 กรกฎาฯ 54” กลุ่มพันธมิตรฯ แหวกกระแสปลุกระดม “โหวตโน” ทั้งที่ก่อนนี้ตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่ชื่อ “พรรคการเมืองใหม่” ขึ้นมา แต่กลับมีมติไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง (แต่ก็มีผู้แหกมตินำโดยสมศักดิ์ โกศัยสุข) เรียกได้ว่า ก็ยังคงไม่เข้าสู่ระบบเช่นเดิม

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โหวตโน หรือการลงคะแนนกากบาทในช่อง “ไม่ประสงค์ลงคะแนน” เป็นการเปิดโอกาสให้กับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ไม่อยากเลือกลงคะแนนให้ใครเลยไม่ว่าจะด้วยเหตุอันใดก็แล้วแต่ เพื่อจะได้ไม่ต้องอึดอัดใจกาให้คนที่ไม่รัก พรรคที่ไม่ชอบ หรือทำบัตรเสีย บางกรณีก็นอนตีพุงอยู่บ้านไปเสียเลย ดังนั้น เจตนารมณ์ของการมีช่องโหวตโนจึงชัดเจนว่า เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนที่ไม่ถูกใจผู้สมัครและพรรคการเมืองใดเลย โดยมีนัยไปถึงความล้มเหลวของพรรคการเมือง ทั้งในการคัดสรรผู้สมัครลงเลือกตั้ง นโยบายมีปัญหาไม่ว่าจะเป็นนโยบายโฆษณาเกินจริง ขายฝัน หรือแม้แต่ภาพลักษณ์ของพรรคที่เข้าไปเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง และ ฯลฯ ดังนั้น การจะกาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนจึงต้องผ่านกระบวนการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในระดับหนึ่งก่อน เมื่อเห็นว่าไร้ซึ่งความพอใจที่จะเลือกใครจึงตัดสินใจกากบาทในช่องดังกล่าว

อย่างไรก็ดี เรื่องการปลุกกระแสโหวตโนไม่ใช่ครั้งแรก เพราะในการเลือกตั้ง 2 เมษาฯ 2549 ก่อนหน้าการรัฐประหารครั้งล่าสุดของไทยเพียง 5 เดือน พรรคการเมืองฝ่ายค้านนำโดยประชาธิปัตย์ได้รวมกันบอยคอตการเลือกตั้ง โดยเสนอให้ลงคะแนนในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนแทนการโหวตให้พรรคเหล่านั้น อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกยกเลิกไปเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้เพิกถอนการเลือกตั้ง หลังสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯมีพระราชดำรัส “ตุลาการภิวัฒน์” และก่อนจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ก็เกิดการรัฐประหารก่อน

จะเห็นได้ว่าจุดหมายหลักของการรณรงค์โหวตโนในครั้งนั้นเป็นเกมการเมืองที่ต้องการสร้างปัญหาให้กับการเลือกตั้ง และปิดโอกาสการตั้งรัฐบาลใหม่จากการมี ส.ส.ไม่ครบ 500 คน ซึ่งทำให้เปิดประชุมสภาไม่ได้ และอาจสร้างข้อสรุปได้ว่า การปลุกระดมให้คนจำนวนมากโหวตโนนั้นน่าจะมีวาระแฝงเร้น (hidden agenda) อยู่ด้วย และอาจเว้นเสียไม่ได้กับการปลุกกระแสของพันธมิตรฯในเวลานี้
อย่างไรก็ดี เป้าหมายที่กลุ่มพันธมิตรฯตั้งไว้กลับดูเป็นอุดมคติไม่ใช่แค่บอยคอตการเลือกตั้ง แต่บอยคอตทั้งระบบการเมือง คือ นักการเมืองทุกวันนี้เลวทรามต่ำช้า ไม่ควรค่าให้ประชาชนเลือกอะไรประมาณนั้น พอไปเป็นรัฐบาลก็โกงกิน เล่นพรรคเล่นพวก ฯลฯ ซึ่งเป้าหมายอันสูงส่งนี้ยังแปลความได้ว่ากลุ่มพันธมิตรนี่เองที่สูงส่ง ดีงาม อยู่เหนือทุกพรรคการเมืองที่เน่าเฟะ โดยจะเห็นได้ว่ากลุ่มพันธมิตรฯพยายามสร้างภาพความมีธรรมและดีงามตลอดเวลา เช่น การดึงกลุ่มสันติอโศกมาร่วมงาน การสวดมนต์ การพร่ำบอกว่ามาทำเพื่อชาติ ตอบแทนชาติ ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้ก็ปรากฏคู่ไปกับการด่ากราด การพร่ำบ่น ตำหนิติเตียนคนอื่นอย่างบ้าคลั่ง ไปจนถึงการจงใจให้ผู้ร่วมชุมนุมของตนเองได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในการสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา 7 ตุลาฯ 51 ตามที่เว็บไซต์วิกิลีกส์เปิดเผย ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่กลุ่มซึ่ง (อ้างตนว่า) ดีงามนั้นจะเสนอเรื่องที่เป็นอุดมคติเช่นนี้ขึ้นมา แต่ก็ขาดความชัดเจนมากมาย เช่น คุณสมบัตินักการเมืองที่ดีเป็นอย่างไร แล้วเหล่าเทพบุตรนั้นจะหาจากไหน มีจริงหรือไม่ แล้วต่อไปจะป้องกันไม่ให้เหล่ามารมาผจญในโลกการเมืองไทยที่บริสุทธิ์สวยงามได้อย่างไร ซึ่งจริงๆแล้วไม่มีคำตอบ เพราะเป็นโลกของความฝัน การเสนอเช่นนี้ไม่ต่างอะไรกับความคิดการรอคอยการมาถึงของยุคพระศรีอาริย์ จริงอยู่ที่นักการเมืองทุกวันนี้ดูไม่น่าพึงใจเอาเสียเลย แต่ก็ต้องตั้งคำถามกลับไปด้วยว่ากลุ่มพันธมิตรฯได้เคยสำรวจตรวจดูผู้สมัครทุกคน ดูนโยบายทุกพรรคอย่างครบถ้วนถี่แล้วหรือยัง อย่างน้อยที่สุด พรรคเล็กโนเนมอย่างกลุ่มเครือข่ายชาวนา กลุ่มเกษตรกร กลุ่มนักศึกษา กลุ่มอุดมการณ์เสรีนิยม กลุ่มคนกีฬา ที่ได้ตั้งพรรคขึ้นมาไม่ควรค่าแก่การพิจารณาลงคะแนนให้เลยหรือ นี่คือความเป็นจริงที่ต้องยอมรับว่าดูเหมือนกลุ่มพันธมิตรฯจะมองการเมืองแบบองค์รวมและ “เหมารวม” ไปหน่อย และถ้าหากกลุ่มพันธมิตรฯ คิดว่าไม่มีใครดีอีกแล้วจริงๆ การแก้ไขก็ต้องทำในระบบ ไม่ใช่ออกนอกระบบ พันธมิตรฯมีมวลชนที่เหนียวแน่นไม่ใช่น้อย การมีพรรคการเมืองในมือ ทั้งเสียงสนับสนุนก็พร้อมถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะส่งคนดีของตนจำนวนหนึ่งเข้าสู่ระบบได้ไม่ยาก หากแต่เป็นกลุ่มแกนนำผู้กำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวเองที่ไม่ยอมเลือกทางนี้ และดื้อดึงที่จะอยู่นอกระบบต่อไป ซึ่งน่าจับตาว่าจะมีการเคลื่อนไหวต่อไปหลังการเลือกตั้งหรือไม่ ในประเด็นอะไร อย่างไร?

เมื่อทราบแล้วว่าข้อเสนอเรื่องการโหวตโนนั้นเกิดผลให้ดีจริงได้ยาก ดังนั้น จึงควรตั้งข้อสงสัยกับการตัดสินใจของแกนนำพันธมิตรฯไว้บ้าง เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่ามวลชนของพันธมิตรฯนั้นเพียงพอที่จะทำให้ “พรรคการเมืองใหม่” หรือจะ “พรรคเพื่อฟ้าดิน” อะไรก็แล้วแต่มี ส.ส.ในสภาได้ไม่ยาก แต่แกนนำกลับพอใจที่จะสถาปนาช่อง “ไม่ประสงค์ลงคะแนน” เป็นช่องของตัวเองแทน ดังนั้น ส่วนที่จะนำเสนอต่อไปเป็นการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของวาระแอบแฝงของการโหวตโน

ประการแรก กลุ่มพันธมิตรฯ อาจจงใจสร้างเงื่อนไขให้หลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นมีความไม่ปกติเกิดขึ้น อย่างเลวร้ายที่สุดก็ คือ เปิดช่องให้ทหารออกมาปฏิวัติ ซึ่งเมื่อพิจารณาว่าถ้าคะแนนโหวตโนมีมาก ย่อมมีผลต่อความชอบธรรม (legitimacy) ของรัฐบาลอย่างแน่นอน ซึ่งเพิ่มโอกาสให้กองทัพออกมายึดอำนาจมากขึ้น และเมื่อพิจารณาความเป็นไปได้ที่พรรคเพื่อไทยซึ่งดูจะมีความขัดแย้งกับกองทัพอย่างชัดแจ้งแล้ว รัฐประหารหลังการเลือกตั้งก็เป็นไปได้มากขึ้นไปอีก หรืออย่างน้อยที่สุด จากที่มีการตีความกฎหมายเลือกตั้ง 50 (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550) ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 89 ผิดเพี้ยนไปว่า หากคะแนนโหวตโนมากกว่าผู้สมัครทุกคนในเขตใดๆก็ตาม จะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งเป็นผลมาจากการนำมาตรา 88 ที่ใช้กับการเลือกตั้งที่มีผู้ลงสมัครคนเดียวมาผสมโรงอย่างไม่ถูกต้อง และจากการตีความที่ผิดเพี้ยนไปนี้ย่อมโยงไปถึงการมีโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ ส.ส.ไม่ครบ และเปิดประชุมสภาเลือกนายกฯ ไม่ได้ ดังที่เคยเกิดเมื่อครั้งเลือกตั้ง 2 เมษาฯ 49 และแน่นอน อีกหนึ่งเป้าหมายคือให้กลุ่มพันธมิตรฯออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง โดยหวังอ้างคะแนนโหวตโนที่ท่วมท้นเพื่อแสดงความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลใหม่ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพรรคใดก็ตาม รวมทั้งประเด็นอื่นที่ยังคงรอผสมโรง ทั้งประเด็นเขาพระวิหาร ประเด็นระบอบทักษิณ (โดยเฉพาะถ้าเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย) ฯลฯ ดังนั้น นี่คือความเป็นไปได้ประการแรกที่อาจอยู่ในใจของแกนนำพันธมิตรฯ

ประการต่อมา จากการที่กลุ่มพันธมิตรฯ มีความขัดแย้งกับกลุ่มการเมือง โดยเฉพาะ 2 พรรคใหญ่ ดังนั้น นี่จึงเป็นการพยายามโจมตี 2 พรรคดังกล่าว ซึ่งรวมถึงพรรคบางพรรคที่กลุ่มโจมตีอยู่เป็นประจำด้วย (โดยที่พรรคกลางและเล็กอื่นๆโดนหางเลขไปหมด) ให้ดูมีภาพลักษณ์เลวร้ายอย่างถึงที่สุด สังเกตได้ชัดจากป้ายหาเสียงที่มีนานาสัตว์อยู่ในคราบนักการเมือง โดยที่กลุ่มของตนเองนั้นเป็นดังพระเอกขี่ม้าขาวที่ขี่เฉยๆ ไม่กระดิกไปไหน ไม่เข้าไปมีส่วนร่วมลงสมัครในการเลือกตั้งครั้งนี้ให้แปดเปื้อน เพราะหากมีการแข่งขันเกิดขึ้น ย่อมถูกเปิดโปง แฉแหลก อย่างที่เห็นกันอยู่ในช่วงหาเสียงนี้ ซึ่งย่อมส่งผลต่อภาพลักษณ์ของกลุ่มพันธมิตรฯที่พยายามเน้นถึงความสูงส่งดีงามของตน ดังนั้น แม้จะเห็นว่ากลุ่มของตนจะเล่นแผนส่งคนดีสู้คนเลวได้ แต่แกนนำก็ไม่เสี่ยงที่จะเล่นแผนที่ต้องเข้าไปคลุกฝุ่นเปลืองตัว เนื่องจากกังวลว่าจะได้ไม่คุ้มเสียกับภาพลักษณ์ที่ต้องเสียไป แต่ได้ ส.ส.มีในจำนวนที่คาดเดาได้ยาก อย่างไรก็ดี จริงๆแล้วแกนนำน่าจะใจถึงลองเสี่ยง เพราะการเมืองตอนนี้เป็นการเมืองเชิงอุดมการณ์ที่ผู้คนจำนวนมากตัดสินใจเลือกตามอุดมการณ์ที่ฝังหัวอยู่ เห็นได้ชัดจากคนเสื้อแดงส่วนมากจะเลือกพรรคเพื่อไทย ดังนั้น กลุ่มเสื้อเหลืองที่กำลังลอยเคว้งเพราะไม่รู้จะเลือกพรรคใดจากการที่กลุ่มโจมตีไปทั่วย่อมตัดสินใจเลือกพรรคของกลุ่มถ้าตัดสินใจลงสมัครอย่างไม่ต้องสงสัย สรุปได้ว่า แกนนำพันธมิตรนั้นไม่อยากเสี่ยงเปลืองตัวอย่างไม่คุ้มค่า และถือโอกาสสร้างภาพตัวเองดี คนอื่นเลวด้วยการไม่ลงสมัคร และให้ผู้สนับสนุนไม่ต้องเลือกใคร

ประการสุดท้าย (ที่นึกออก) การโหวตโนในการเลือกตั้งครั้งนี้อาจถูกใช้เป็นฐานให้กับการเลือกตั้งครั้งหน้า โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก การปั่นกระแสโหวตโนเป็นการวัดฐานเสียงผู้สนับสนุนที่อยู่ในโอวาทคำสั่งแกนนำอย่างไม่กระดิก หากผลการเลือกตั้งออกมาว่าคะแนนโหวตโนอยู่ในระดับสูง ก็เท่ากับแกนนำได้รู้ถึงจำนวนที่น่าพอใจของแฟนคลับที่เหนียวแน่น และนำไปสู่ส่วนที่สอง คือ ฐานเสียงที่ค่อนข้างแน่นอนในครั้งนี้ จะกลายเป็นฐานข้อมูลสำหรับการเตรียมตัวลงเลือกตั้งของพรรคของกลุ่มพันธมิตรฯ (ไม่ว่าจะชื่ออะไรก็ตาม) ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งหากเสียงโหวตโนในครั้งนี้น่าพอใจก็คงสร้างความมั่นใจในการลงสมัครเลือกตั้งในครั้งหน้าแก่กลุ่มแกนนำมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี มีตัวแปรอื่นๆอีกมากที่จะมีผลต่อคะแนนของพรรคของกลุ่มพันธมิตรฯในการเลือกตั้งครั้งหน้าทั้งในด้านดีและไม่ดี เช่น ระยะเวลาจะห่างจากครั้งนี้นานเท่าไร จะเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นหรือไม่ เป็นต้น

โดยสรุป การจัดหนักแบบเบาๆครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การระดมพลโหวตโนในครั้งนี้ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น น่าจะมีวาระแฝงเร้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งได้วิเคราะห์ไปใน 3 ทาง ได้แก่ ประการแรก เป็นความต้องการสร้างเงื่อนไขให้เหตุการณ์หลังการเลือกตั้งไม่ปกติ ซึ่งเลวร้ายที่สุดอาจเกิดรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง และนำประชาธิปไตยถอยหลังลงคลองอย่างน่าเสียดาย ประการที่สอง แกนนำพันธมิตรฯ ถือโอกาสสร้างภาพเทพกับมารให้กับฝ่ายตนกับพรรคการเมืองอื่นๆ โดยที่ตนเองไม่ต้องเสี่ยงลงไปพัวพันกับการเลือกตั้ง พร้อมกับให้มวลชนของตนโหวตโนแทน ประการสุดท้าย แกนนำมองการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเพียงฐานให้การเลือกตั้งครั้งหน้า โดยมีตัวชี้วัดอยู่ที่คะแนนโหวตโนในครั้งนี้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงสำหรับกลุ่มมวลชนที่ยังถูกชักนำโดยแกนนำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในยุคการเมืองเชิงอุดมการณ์ที่มวลชนจะเดินตามกลุ่มที่ตนเองเชื่อถือเชื่อมั่นอย่างรุนแรง และอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือของแกนนำซึ่งมีเบื้องหน้าเบื้องหลังที่มวลชนไม่รู้ และอาจไม่ต้องการจะรู้เพราะเชื่อทุกสิ่งที่แกนนำพูด สิ่งที่อยากทิ้งท้ายจึงขอเตือนสติคนที่กำลังหลงไปกับการปลุกระดมของแกนนำให้พิจารณาให้ดีว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นจริงมากแค่ไหน และลองมองดูพรรคการเมืองที่เสนอตัวทำหน้าที่ถึง 40 พรรค รวมทั้งผู้สมัครที่น่าสนใจอีกครั้ง เผื่อคุณจะพบว่าโหวตเยส (Vote Yes) ก็เป็นคำตอบให้คุณได้

วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การมองนโยบายแบบภาพนิ่ง (static) กับการเลือกตั้ง

หลังจากประเทศไทยต้องประสบกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่หนักหน่วงในช่วงปลายทศวรรษ 2540 มาจนกระทั่งปัจจุบัน โดยเฉพาะตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร พ.ศ.2549 เล็กน้อยเป็นต้นมา มีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีหลายคน มีการยุบพรรคการเมือง เกิดการชุมนุมของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เกิดการสลายการชุมนุมที่ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ฯลฯ จวบจนวันนี้ สถานการณ์การเมืองไทยกลับเข้าสู่การเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดจะกลับไปอยู่ในมือประชาชนอีกครั้ง (ตามทฤษฎี)

หลังจากนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศเจตนารมณ์ยุบสภาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2554 พรรคต่างๆจึงต้องเตรียมตัวอย่างที่สื่อสำนักต่างๆพากันเรียกว่าเข้าสู่ “โหมดเลือกตั้ง” ซึ่งมีทั้งการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. ทั้งสองระบบ (แบ่งเขต-บัญชีรายชื่อ) วางแผนยุทธศาสตร์การหาเสียง และที่สำคัญคือ วางนโยบายเพื่อดึงคะแนนเสียงจากประชาชน

เป็นที่ทราบกันว่า นโยบายของพรรคการเมืองได้เริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกของประชาชนตั้งแต่การเลือกตั้ง พ.ศ.2544 ซึ่งพรรคไทยรักไทยโดยการนำของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้นำเสนอนโยบายที่นักวิชาการจัดว่าเป็นนโยบาย “ประชานิยม” (populism) ซึ่งเป็นนโยบายที่เข้าถึงมวลชนระดับล่างหรือ “รากหญ้า” อันเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศ เช่น นโยบายกองทุนหมู่บ้านที่มีการจัดสรรเงินทุนลงไปสู่หมู่บ้านต่างๆเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะลงทุนให้หมู่บ้านต่างๆเติบโตได้ด้วยตนเอง หรือนโยบาย 30 บาท รักษา (แทบ) ทุกโรค ก็เป็นการใส่ใจชีวิตความเป็นอยู่ของคนจน ที่รายได้ปกติไม่เอื้อต่อการเดินเข้าโรงพยาบาล

เมื่อนโยบายที่ดูตื่นตาตื่นใจรวมเข้ากับปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นบุคลิกภาพส่วนบุคคลของผู้นำพรรค (charisma) ทีมงานพรรคที่มีคุณภาพ การมี ส.ส. ในท้องถิ่นเดิมย้ายมาลงสมัครกับพรรคไทยรักไทย ฯลฯ ทำให้พรรคไทยรักไทยได้คะแนนเสียงข้างมากในสภา และได้จัดตั้งรัฐบาล นอกจากนี้ ความสำคัญของนโยบายยังปรากฏชัดกว่าเดิมในการเลือกตั้ง พ.ศ.2548 โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคไทยรักไทยได้คะแนนเสียงท่วมท้น 377 เสียง จาก 500 เสียง ซึ่งปัจจัยสำคัญ คือ การที่รัฐบาลไทยรักไทยสามารถนำนโยบายที่หาเสียงไว้ไปปฏิบัติได้จริง ความสำเร็จของพรรคไทยรักไทย ทำให้พรรคประชาธิปัตย์นำนโยบายที่ดึงดูดใจประชาชนเช่นนี้ไปใช้ด้วยในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ดี มีนักวิชาการจำนวนมากออกมาโจมตีนโยบายประชานิยม จนเกิดวลีเด็ด “ต้องสอนให้คนรู้จักจับปลา” ไม่ใช่คอยประเคนปลาให้จนชาวบ้านจับปลากินเองไม่เป็น รวมทั้งนำเสนอผลเสียจากนโยบายเหล่านี้ไปต่างๆนานา

แต่ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ พรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะสองพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทย (มีต้นเค้าจากพรรคไทยรักไทย) และประชาธิปัตย์ต่างก็ยังชูการแก้ปัญหาปากท้องด้วยนโยบายประชานิยมอีกเช่นเคย ดังนั้น บทความนี้จะเสนอว่า การมองแบบภาพนิ่ง (static) เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเลือกพรรคที่ชูนโยบายประชานิยมกันมาก และพรรคต่างๆจึงต้องแข่งกันออกนโยบายลดแลกแจกแถมอย่างดุเดือด

การมองแบบภาพนิ่ง คือ การมองหรือพิจารณาสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงด้านเดียว มุมเดียว ไม่เห็นความเป็นไปทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต หรือไม่เห็นความเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นๆ เช่น เมื่อบางคนมองประเทศกัมพูชา สถานการณ์ในปัจจุบันก็อาจทำให้มองว่าประเทศนี้เลว แย่งดินแดนไทย ควรตัดสัมพันธ์กับประเทศนี้เสีย ซึ่งพลอยมีผลต่อการมองพลเมืองของกัมพูชาไปด้วยว่าไม่น่าคบเพราะนิสัยเลว ทั้งที่กัมพูชาก็เคยเป็นมิตรที่ดีกับไทย และในอนาคตก็อาจกลับมามีมิตรภาพที่ดีต่อกันหากสามารถตกลงข้อขัดแย้งกันได้ ส่วนประชาชนทั้งสองประเทศก็ไปมาหาสู่ มีมิตรภาพ ค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันมายาวนาน ดังนี้เป็นต้น และเช่นกัน การมองนโยบายประชานิยมแบบภาพนิ่ง ก็คือ การมองแต่เพียงข้อเสนอที่ปรากฏ และมองเพียงมุมเดียว ซึ่งผู้ที่เลือกพรรคที่ชูนโยบายนี้ย่อมเห็นเพียงมุมที่ดี ไม่รู้ถึงผลที่จะตามมาจากนโยบายเหล่านี้ในด้านอื่น นอกจากประโยชน์ที่ตนจะได้รับ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรกับสังคมที่ไม่ต้องการให้คนคิดเป็นอย่างสังคมไทย

ทางแก้คือ ต้องสอนให้คนตั้งคำถาม ตั้งข้อสงสัย คิดเป็นและคิดในมุมต่างจากที่คิดไว้บ้าง โดยเฉพาะการมองถึงสิ่งที่จะเกิดจากนโยบายประชานิยมอย่างรอบด้าน เช่น ถ้ามองนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เราไม่อาจมองถึงประโยชน์ที่จะได้จากรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่ต้องมองถึงผลที่จะเกิดจากนโยบายนี้ซึ่งเชื่อมโยงกัน เช่น นายจ้างจะสามารถรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้จริงหรือไม่ ถ้าไม่ได้ตนเองก็ต้องตกงานในท้ายที่สุดใช่หรือไม่ ซึ่งกลับกลายเป็นผลเสียต่อตนเองไปในที่สุด หรือนโยบายรถเมล์ฟรี ค่าไฟฟรีต่างๆนานา เราก็ย่อมต้องเอะใจว่าเหตุใดจึงฟรี รัฐเอาเงินที่ไหนมาจ่ายให้เรา สุขภาพการเงินของประเทศจะมีปัญหาหรือไม่ เป็นต้น

เมื่อเริ่มไม่แน่ใจกับความดีที่เคยหลอกตาของนโยบายประชานิยม เราก็จะมีภูมิคุ้มกันจากนโยบายเช่นนี้ ซึ่งท้ายที่สุดก็คงมีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกตั้งไม่มากก็น้อย อาจจะยังเลือกต่อไปหรือไม่เลือกต่อไปก็สุดแล้วแต่ แต่ที่เป็นประโยชน์คือได้พิจารณาในระดับหนึ่งก่อน ไม่ใช่หลงไปกับการชวนเชื่อลดแลกแจกแถมเพื่อเรียกคะแนนของพรรคการเมืองที่ต้องการเข้าสู่อำนาจ