วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ม.อิตีเมอร์ คือใคร?

วันนี้เพิ่งซื้อและอ่านหนังสือรวมบทความของ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ชื่อ “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ” ในเรื่องที่สองหรือบทความที่สอง “ไม่มีเมืองสระหลวงในสมัยสุโขทัย” (เคยตีพิมพ์ในวารสาร ศิลปวัฒนธรรม เดือนเมษายน 2542) ได้อธิบายถึงความคลาดเคลื่อนของคำในสมัยหลัง จากการที่คนในสมัยหลังไม่เคยรู้จักกับคำคำนั้นมาก่อน โดยในเรื่องนี้ คือ ชื่อเมืองในสมัยสุโขทัยที่ชื่อว่า “สรลวงสองแคว” (อ่านว่า สะ-ระ-ลวง - เมืองพิษณุโลก) แต่ต่อมาในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์เกิดความคลาดเคลื่อนไปเป็น “สหลวงสองแคว” (น่าจะอ่านว่า สะ-หะ-หลวง) และต่อมาเป็น “สระหลวงสองแคว” ตามลำดับ และสุดท้ายถูกจับแยกเป็นสองเมือง คือ “สระหลวง” และ “สองแคว” โดยกรมพระยาดำรงราชานุภาพ บิดาประวัติศาสตร์ไทย ทั้งที่จริงแล้วคือเมืองเดียวกัน จนนักวิชาการต่างพากันตามหาเมืองสระหลวง (รู้อยู่แล้วว่าเมืองสองแควคือพิษณุโลก) โดยพยายามใช้ชื่อเมืองที่แปลว่า สระขนาดใหญ่ เป็นตัวบ่งชี้สำคัญ (ซึ่งสุดท้ายก็ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าอยู่ที่ไหน เพราะมันไม่มี ฮี่ๆ) – ถ้าสนใจรายละเอียดทั้งหมดก็ลองหามาอ่านกัน ในเล่มมีทั้งหมด 12 เรื่อง ซึ่งให้ข้อโต้แย้งความคิดความเชื่อเดิมอย่างน่าสนใจและเป็นระบบระเบียบทางวิชาการ (เขาอ้างไว้)

เมื่ออ่านเรื่องนี้จบก็สะกิดใจถึงเรื่องแบบนี้ที่เคยผ่านสมองอืดๆของตัวเองไป เรื่องของเรื่องก็คือ ไปเจอชื่อคนที่ชื่อว่า ม.อีตีเมอร์ ปรากฏในประวัติเมืองจันทบุรี ดังนี้

“จันทบุรี เป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งในประเทศไทย แต่เริ่มสร้างเมื่อใดไม่สามารถจะหาหลักฐานแน่นอนได้ ปรากฏหลักฐานในหนังสือฝรั่งเศสชื่อ แคมโบช ซึ่งชาวฝรั่งเศสชื่อ ม.อิตีเมอร์ เขียนไว้เมื่อ พ.ศ.2444 ว่าได้มีบาทหลวงองค์หนึ่ง พบศิลาจารึกภาษาสันสกฤต ที่ตำบลเขาสระบาป ในศิลาจารึกนั้นมีข้อความว่า เมื่อ 1,000 ปี ล่วงมาแล้ว มีเมืองหนึ่งชื่อว่า ควนคราบุรี เป็นเมืองที่มีอาณาเขตกว้างขวางมาก ตั้งอยู่เชิงเขาสระบาป”

ข้อความเช่นนี้ (หมายความว่าเหมือนทุกตัวอักษร) ปรากฏในเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดจันทบุรีมากมาย (เช่น เว็บไซต์ของศูนย์ข้อมูลเพื่อการท่องเที่ยวภาคตะวันออก ของมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ที่ได้ไปคัดลอกข้อความข้างบนนี้มา) โดยไม่ได้อ้างถึงที่มา จึงทำให้ไม่รู้ว่าจริงๆแล้วต้นฉบับมาจากแหล่งใด และชื่อ ม.อิตีเมอร์ ปรากฏครั้งแรกเมื่อใด แต่ถ้าจะให้เดาก็คงเป็นเรื่องในหนังสือ “ชุมนุมเรื่องจันทบุรี” เพราะหนังสือที่เขียนถึงประวัติเมืองจันทบุรีมีไม่กี่เล่ม

ด้วยความอยากรู้อยากเห็นว่าอีตาชาวฝรั่งเศสคนนี้เป็นใคร จะได้ไปค้นหนังสือต้นฉบับจริงๆมาดู ก็เลยเริ่มจากการแปลงคำว่า ม.อิตีเมอร์ ในภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ ก็ได้ประมาณ M.Etimer, M.Iteemer, M.Itimer, ฯลฯ แล้วก็หาใน Google แต่ก็ล้มเหลว ไม่เจอชื่อนี้เลย แต่ยังเหลือเบาะแสอีกอย่าง คือ ชื่อหนังสือ “แคมโบช” (กัมพูชาในภาษาฝรั่งเศส) และปีที่พิมพ์ คือ พ.ศ.2448 คิดออกมาก็เป็น ค.ศ.1901 (ยังดีที่ใส่รายละเอียดมาบ้าง) ก็เลยลองค้นหาใน Google คราวนี้พอจะได้เบาะแสบ้าง แต่ชื่อหนังสือเป็น เลอ แคมโบช (Le Cambodge) ซึ่งพิมพ์เป็น 3 เล่ม ในช่วงปี 1900-1904 (ถ้าจำไม่ผิด) และคนแต่งกลายเป็น เอเตียน อายโมนิเยร์ (Etienne Aymonier) แต่ปีที่พิมพ์มันใกล้เคียง ก็พอจะเดาได้ว่าคงมาถูกทางแล้ว

แต่จุดที่น่าสงสัยก็ คือ ทำไมชื่อคนแต่งถึงผิดพลาดไปได้ขนานใหญ่เช่นนี้ เมื่อสังเกตดีๆ ก็พบว่า ชื่อ Etienne นั้น ถ้าคนอ่านตาลายไปสักนิดเดียวก็อาจพลาดพลั้ง มองตัว n ที่ติดกันสองตัวเป็นตัว m ได้ และเมื่อรวมกับการแบ่งวรรคที่ผิดไปก็เลยกลายเป็น E-tie-me หรือ อิตีเมอร์ นั่นเอง (ตัว ร์ คงเติมเอง) ส่วน ม. นั้น เมื่อไม่ใช่ชื่อแล้ว ที่มาก่อนชื่อก็เหลือแค่คำนำหน้าชื่อ ถ้าภาษาอังกฤษก็เป็น มิสเตอร์ (Mister) แต่อายโมนิเยร์เป็นชาวฝรั่งเศส ดังนั้น ก็ต้องเป็นมองซิเออร์ (Monsieur) นั่นเอง

เหตุที่เกิดความคลาดเคลื่อนนี้ ก็คงเป็นเพราะผู้เขียนประวัติเมืองจันทบุรีนั้น ไม่เคยได้รู้จักกับชื่อของเอเตียน อายโมนิเยร์มาก่อน เหมือนที่คนสมัยอยุธยาตอนปลายและรัตนโกสินทร์ (หมายถึง คนที่ศูนย์กลาง) ไม่เคยรู้จักชื่อเมืองสรลวงสองแคว จนที่สุดแล้วถูกแยกเป็นสองเมือง ยิ่งประกอบกับผู้เขียนคงเป็นคนรุ่นเก่าที่ไม่สันทัดภาษาฝรั่งเศสเท่าใดนักก็ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้ หรืออีกแง่หนึ่ง ผู้เขียนอาจรู้ภาษาฝรั่งเศสพอสมควร ซึ่งสังเกตได้จากการที่ผู้เขียนนั้น ใช้คำว่ามองซิเออร์เอเตียน แทนที่จะเรียกชื่อ เอเตียน อายโมนิเยร์ แบบธรรมดา เพียงแต่อ่านชื่อผิดไป ขณะเดียวกัน ตัว n สองตัวในคำว่า Etienne ก็อาจจะชิดกันมาก จนทำให้ผู้เขียนเข้าใจผิดไปว่าเป็นตัว m จนกลายเป็น ม.อิตีเมอร์ไปในที่สุด

ก็คงสรุปอย่างง่ายๆว่า ม.อิตีเมอร์ เป็นคนเดียวกับ เอเตียน อายโมนิเยร์ แต่ผู้เขียนประวัติเมืองจันทบุรีคงไม่ได้รู้จักนามของนักโบราณคดีฝรั่งเศสคนนี้มาก่อนจึงอ่านผิด รวมถึงเหตุผลอื่นๆอย่างที่กล่าวไป ก็เลยทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในชื่อของอายโมนิเยร์ ก็หวังว่า ผู้ที่เจอกับชื่อ ม.อิตีเมอร์ โดยเฉพาะผู้สนใจศึกษาประวัติของเมืองหรือจังหวัดจันทบุรี แล้วสงสัยว่าเขาเป็นใครเผื่อจะได้ไปหาผลงานมาอ่านเพิ่มเติม ก็คงจะได้คำตอบอันเป็นที่น่าพอใจจากบทความนี้นะครับ

สุดท้าย ขอหยิบยกข้อความที่หน้าปกหนังสือฟื้นฝอยหาตะเข็บ ซึ่งกระชับและชัดเจนสำหรับการศึกษาทางประวัติศาสตร์มาลงไว้ด้วย “…หากหยิบหลักฐานดั้งเดิมทางประวัติศาสตร์โบราณคดี…พิจารณาอย่างรอบคอบ ก็จะไม่ยากเลยที่จะพบเห็นความผิดพลาด…” ซึ่งบทความนี้ก็ได้ชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดเล็กๆน้อยๆข้อหนึ่งไปแล้ว ^ ^

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น