วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ความผิดแบบปรนัย (Objective)

หลังจากดูหนังเรื่อง หนีตามกาลิเลโอ มีอยู่ตอนหนึ่งที่เรย์ แม็คโดนัลด์ เถียงกับ ต่าย (season change) ต้องย้อนกลับไปก่อนทั้งคู่จะได้มาเถียงกันว่า ต่ายปลอมลายเซ็นอาจารย์เพื่อเข้าใช้ห้องเขียนแบบและโดนพักการเรียน ก็เลยตัดสินใจชวนเพื่อนอีกคนคือ เต้ย ออกเดินทางไปยุโรป จนได้มาเจอเรย์ที่ฝรั่งเศส เอาล่ะ คงพอจะรู้ภูมิหลังไปแล้ว ก็ถึงประเด็นที่จะกล่าวถึง คือ เรย์บอกว่า ที่ต่ายปลอมลายเซ็นอาจารย์นั้นผิด และแน่นอนว่าก็คือผิดโดยไร้ข้อแก้ต่าง นั่นหมายความว่า ในความคิดของเรย์ มีความผิดแบบปรนัย (objective) ตายตัวอยู่

ในปัจจุบัน ความผิดแบบปรนัยที่ชัดเจนที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นความผิดตามกฎหมาย รวมถึงความผิดที่อิงอยู่กับจารีต ประเพณี (อาจรวมถึงวัฒนธรรม เช่น ไม่ทำตามวัฒนธรรมอันดีงามของไทย) แน่นอนว่า ความผิดหลายสิ่งหลายอย่าง เราไม่เห็นด้วย อาทิ แม่ลูกอ่อนขโมยนมผงเพื่อเอาไปเลี้ยงลูกเพราะความจน การกระทำผิดเช่นนี้ได้รับความเห็นใจ และไม่อยากคิดว่าทำผิดจากสังคม และต้องการที่จะช่วยเหลือมากกว่าลงโทษหรือเอาผิด เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะอธิบายกรณีนี้อย่างไร เพราะที่สุดแล้ว การลักขโมยที่เป็นความผิดตามกฎหมาย (รวมถึงตามจารีต) ก็ยังมีข้อหรือกรณียกเว้น (exception) ดังนั้น เราพอจะสรุปได้มั้ยว่าความผิดแบบปรนัย แท้จริงแล้วคือสิ่งที่ถูกสร้างว่าเป็นความผิด เป็นวาทกรรมชนิดหนึ่งเท่านั้นที่สร้างคนผิด (เลว) และคนถูก (ดี) ขึ้นในสังคม และอีกเช่นกัน แท้จริงแล้ว การกระทำทุกอย่างที่มนุษย์ก่อขึ้นก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการได้ทำสิ่งๆนั้น ถ้าไม่มีเรื่องของคุณค่า (ดี-เลว) รวมถึงเรื่องผิด-ถูก เข้าไป เพียงแต่อาจต้องการคำอธิบายที่สร้างความยอมรับให้แก่สังคม เพราะมนุษย์ต้อง (ถูกบังคับให้) อยู่ในสังคม และสังคมย่อมมีเรื่องคุณค่า เรื่องถูก-ผิด ในรูปของจารีต ประเพณี ดังนั้น มนุษย์ก็ยังคงต้องสร้างคำอธิบายแก่การกระทำของตน แม้จริงๆแล้วมันไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ถ้ามนุษย์ไม่ได้อยู่ในสังคม

แล้วเรื่องที่ต่ายปลอมลายเซ็นอาจารย์ล่ะ? นี่ก็แค่เรื่องความขัดแย้งทางความคิดระหว่างคนที่เป็นครู กับนักเรียน (นักศึกษา) ซึ่งฝ่ายหนึ่ง (ถูกทำให้) ต้องรักษากฎระเบียบ อบรมสั่งสอนในทางที่สังคมต้องการ กับนักเรียนที่มักมีความคิดที่เหนือไปกว่านั้น แต่ก็พร้อมจะให้คำอธิบายในการกระทำของตน (ที่อาจารย์มักไม่ฟังเสมอ) ดังนั้น ถ้าไม่มีความผิดแบบตายตัวแล้ว ต่ายก็เพียงแค่อธิบายการกระทำของตนว่าทำไปเพื่ออะไร ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องที่สังคมรับไม่ได้เสียทีเดียว (อย่างน้อยข้าพเจ้าก็ไม่เห็นความผิดอะไรถึงขั้นพักการเรียน) ขณะที่อาจารย์ ถ้าไร้ซึ่งความคิดที่โลกนี้มีความผิดแบบปรนัย ก็คงสามารถรับฟังคำอธิบายของต่ายได้ไม่ยาก และคงไม่ได้ข้ามโลกไปนั่งเถียงกับเรย์ที่ฝรั่งเศสเป็นแน่ ฮา..

สรุปแล้ว ความผิดแบบปรนัยก็เป็นเพียงการสร้างวาทกรรมของผู้มีอำนาจ (ผู้ออกกฎหมาย ผู้นำสังคม ฯลฯ) เพื่อวัตถุประสงค์ (หรือข้ออ้าง) บางอย่าง เช่น รักษาความสงบของบ้านเมือง แต่จริงๆแล้ว กลับยังปรากฏกรณียกเว้น เนื่องจากการสร้างวาทกรรมย่อมกำหนดให้ทุกคนต้องเป็นไปตามนั้น และไม่ได้มองเห็นความแตกต่างหลากหลาย (เช่น วาทกรรมชาติไทย ที่คนในรัฐไทยเป็นเชื้อไทยไปเสียหมด) ซึ่งสะท้อนว่า ความผิดแบบปรนัยไม่มีจริง และสุดท้าย เราเพียงแค่ควรเปิดโอกาสให้แก่คำอธิบายของการกระทำในฐานะที่มนุษย์ต้องอยู่ในสังคม เป็นมนุษย์สังคม (จริงๆแล้วมันก็แค่การกระทำที่ไม่ได้ต้องการคำอธิบายอะไร) เพื่อให้เกิดความยอมรับ (หรือไม่ยอมรับ) ในการกระทำเท่านั้นใช่หรือไม่?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น