วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การพัฒนาของไทยกับงบด้านความมั่นคง (บทความรำลึก 14 ตุลา)

เนื่องในโอกาสครบรอบวันที่เผด็จการทหารสิ้นอำนาจ (ในทางทฤษฎี) จากการเมืองไทย จากเหตุการณ์ 14 ตุลา เมื่อ 39 ปี กับ 1 วันที่แล้ว ตัวผู้เขียนไม่รู้ตื้นลึกหนาบางดีเท่ากับคนที่เกิดร่วมสมัย จึงอยากจะเขียนบทความก่นด่าทหารยุคปัจจุบันที่ใหญ่คับประเทศแทน เป็นการอุทิศแด่วีรชนที่ยืนหยัดกับคมกระสุน คมหอก คมดาบของเหล่าทหารของระบอบเผด็จการทหารในอดีต จนบาดเจ็บล้มตาย และสูญหาย

ในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศจัดสรรงบประมาณไปยังหน่วยงานด้านความมั่นคงจำนวนที่สูงมาก และหนึ่งในนั้นมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย สิ่งที่เกิดควบคู่กันไปย่อมหนีไม่พ้นงบประมาณที่จะนำไปใช้พัฒนาประเทศที่น้อยลงเป็นเงาตามตัว คำถามสำหรับประเทศไทยวันนี้คือ งบประมาณด้านความมั่นคงจำเป็นต้องสูงขนาดนั้นหรือไม่? เราคงต้องดูกันว่างบด้านความมั่นคงสูงเพราะอะไร (จากปัญหาอะไร)? และสมเหตุสมผลหรือไม่?

ปัญหาความมั่นคงของประเทศไทยที่อาจเรียกได้ว่าสำคัญในอันดับต้นๆ และยืดเยื้อยาวนาน คือ ปัญหาชายแดนใต้ ปัญหานี้เกิดขึ้นแทบจะพร้อมๆกับการขีดเส้นรัฐ-ชาติ (Nation-state) ไทยใน พ.ศ.2435 ซึ่งได้ดูดเอาอำนาจท้องถิ่นทั้งหมดเข้าสู่ศูนย์กลาง คือพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และหนึ่งในนั้นก็คือ อำนาจของเหล่าสุลต่านในคาบสมุทรมลายู ขณะที่ต่อมา ปัญหาถูกซ้ำเติมด้วยนักชาตินิยมอย่างจอมพล ป.พิบูลสงคราม (รวมถึงหลวงวิจิตรฯ) จนปัญหาลงสู่รากหญ้าอย่างเต็มตัว ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างราชสำนักที่กรุงเทพฯ กับราชสำนักท้องถิ่นที่สูญอำนาจอีกต่อไป ขณะที่หลังวาทะ “โจรกระจอก” ของอดีตนายกฯทักษิณ ก็ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวประกาศตนว่าไม่ได้กระจอกอย่างลมปากนั้น ด้วยการก่อความไม่สงบอันนำไปสู่การสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินอย่างยากที่จะประเมินค่าได้อย่างต่อเนื่องและรุนแรง คำถามก็คือ รัฐไทยใช้งบกับปัญหานี้อย่างไร? แน่นอนว่า คำตอบต้องรวมค่าโง่หลายล้านบาทที่จ่ายไปกับเครื่องมือเต่าถุยที่ชื่อว่า GT200 และเงินเดือนที่ล่อให้ทหาร ตำรวจตาดำๆ (และจนๆ) ลงไปตายห่างไกลบ้านเกิดหลายร้อยกิโลฯ แล้วยังมีเงินที่ซื้ออาวุธให้ขบวนการปลดปล่อย (Liberation Movement) หยิบยืมไปใช้โดยไม่นำมาคืน และ ฯลฯ นี่คือผลงานของงบความมั่นคงที่ใช้ไปกับปัญหานี้ใช่หรือไม่? ท่านทั้งหลายคงสรุปเองในใจได้เองว่าคุ้มค่าหรือไม่ …

ปัญหาความมั่นคงต่อมาคือ ปัญหาความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหนีไม่พ้นกัมพูชากับปัญหาเขาพระวิหาร และดินแดนอื่นๆที่จะเป็นผลติดตามมาจากกรณีดังกล่าว ความขัดแย้งนี้เกิดเป็นระยะๆ และครั้งล่าสุดก็ช่วงไม่กี่ปีมานี้จนถึงปัจจุบัน (แม้จะซาๆลงไปบ้าง) แน่นอนว่าปัญหานี้เป็นมรดกจากลัทธิอาณานิคม อันได้แก่ เจ้าอาณานิคมชื่อฝรั่งเศส ที่มาไล่เขมือบดินแดนแถบอินโดจีนและดินแดนของรัฐไทย แล้วงบที่ใช้กับปัญหานี้ล่ะ? เราไม่เห็นอะไรเป็นพิเศษ นอกจากส่งทหารไปเป็นเป้านิ่งให้ทหารกัมพูชายิง ดังนั้น อย่ามาอ้างปัญหานี้เพื่อเรียกร้องงบบ้าบอคอแตก!

ปัญหาร่วมสมัยอีกปัญหา คือ ปัญหาการเมืองภายใน อันได้แก่ การชุมนุม และกลุ่มหัวรุนแรงที่ยังคง unidentified จนถึงปัจจุบัน ซึ่งนี่คือข้อกังขากับการจัดงบมหาศาลให้กับเจ้าหน้าที่ไปจัดการ ทั้งที่ยังระบุเป้าหมายไม่ได้ … รวมถึงการจัดกำลังไปถล่มม็อบสีแดงเมื่อเมษา-พฤษภา เดือดที่ผ่านมา ทั้งที่ค่าเหนื่อยสูงลิ่วกับภารกิจพิเศษ แต่กำลังทหารกลับสังหารผู้บริสุทธิ์อย่างโหดเหี้ยมไปหลายศพ ซึ่งถือว่าไม่คุ้มค่าเหนื่อยในการสลายม็อบตามหลักสากลเลยแม้แต่นิด แต่รัฐไทยก็รอดพ้นการประนามจากเวทีโลกในการปราบปรามผู้มีความคิดต่างทางการเมืองมาอย่างปาฏิหาริย์
ส่วนงบอีกอย่างที่ไม่เคยลดลง คือ การสั่งสมกำลังของกองทัพด้วยการเกณฑ์ทหาร โดยที่งบประมาณที่ใช้ไปนั้นมหาศาลในการจ่ายค่าแรงให้เด็กหนุ่มวัยฉกรรจ์มาวิ่งเล่น ขัดรองเท้า ขับรถให้นายพล นายพันในกรมกอง แทนที่จะเอาเวลาไปพัฒนาตนเองและประเทศ และจบด้วยการได้ชื่อว่าครั้งหนึ่งเคยรับใช้ชาติของ (วาทกรรม) ลูกผู้ชายคนหนึ่ง ขณะที่รัฐไทยไม่ได้ทหารอาชีพมาประดับประเทศเสียด้วย (แต่เสียงบประมาณ และเสียบุคลากรไปโดยใช่เหตุ) แต่ประโยชน์ที่กองทัพคงมองเห็นคือ การดึงคนเข้าสู่กองทัพ การหลอมละลายคนให้เป็นกองทัพ (militarization) จนไม่คิดกระด้างกระเดื่องต่อกองทัพอันเกรียงไกรของไทย และคิดเพียงกูจะปกป้องประเทศ (และชาติ) ของกูอย่างสุดชีวิตด้วยแรงชาตินิยมที่การเป็นทหารยัดใส่หัวพวกเขา (แค่ไม่ยัดก็ท่อง ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ กันอย่างไม่ลืมหูลืมตา) แล้วอย่างนี้เรียกว่าจำเป็นต้องคงงบอย่างนี้ไว้ใช่หรือไม่? ในการพัฒนาประเทศ เราต้องลดงบและขนาดกองทัพมิใช่หรือ? แต่ทำไมรัฐไทยจึงมุ่งไปในทางตรงข้าม ..

คำถามจึงเกิดว่า ควรเอางบด้านความมั่นคงที่ถลุงเล่นนี้ไปลงทุนในการพัฒนาประเทศหรือไม่? อย่างน้อยที่สุด เอาเงินเดือนพวกนี้ไปปรับปรุงการศึกษา ปรับปรุงระบบสาธารณสุข ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) และลดขนาดของกองทัพลง ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ญี่ปุ่น ที่ไม่มีกองทัพ (ถูกบังคับให้ไม่มี) และสามารถใช้งบประมาณแผ่นดินไปในการพัฒนาประเทศได้อย่างเต็มที่จนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจมาเนิ่นนาน อย่างไรก็ดี อุปสรรคสำคัญ คือ กองทัพไทยยังมีอิทธิพลทางการเมืองในระดับสูงมาก และไม่มีทีท่าจะลดลง จึงเป็นไปได้น้อยที่เรื่องเช่นนี้จะเกิดขึ้นในประเทศไทย ขณะที่การพัฒนาก็ต้องพบกับนักการเมืองที่หิวโหย และพร้อมจะใช้งบประมาณที่เพิ่มมาจากงบความมั่นคงที่ลดลงเพื่อประโยชน์ของตน เลือดเนื้อของวีรชนเมื่อ 39 ปีก่อนกลับกลายเป็นสภาพปัจจุบันได้อย่างไร? เรารู้สึกชินชากับบทบาทของทหารในปัจจุบันได้อย่างไร? เรามุ่งพัฒนาประเทศหรือกองทัพกันแน่? หรือเหตุการณ์เมื่อเกือบสี่สิบปีก่อนก็แค่เหตุการณ์ที่มีคนตาย และเราควรปล่อยให้วันหนึ่งทหารทำเช่นนั้นอีก ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น