วันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2555

พื้นที่ชีวิตในเยรูซาเล็ม: เศรษฐกิจ ศรัทธา และความขัดแย้ง


ส่วนที่เป็นย่านชาวอาร์เมเนีย (Armenian Quarter) ในเมืองเก่าของเยรูซาเล็ม
ภาพจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Jerusalem
หลังจากดู "พื้นที่ชีวิต" กับการสำรวจศรัทธาในเยรูซาเล็มสัปดาห์นี้โดย วรรณสิงห์&มาโนช จบไปแล้ว พอสรุปสาระได้เป็น 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ

1. เรื่องของความหลากหลายทางศาสนา เชื้อชาติ วัฒนธรรม (และอาจรวมถึงสถานะทางเศรษฐกิจของแต่ละกลุ่มชน) ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่มาก เพราะปัจจุบันยังมีความขัดแย้งระหว่างฝ่ายต่างๆเกิดขึ้น เช่น ยิวกับอาหรับ อิสราเอลกับปาเลสไตน์ เป็นต้น แต่จากภาพโดยรวมในวันนี้ทำให้เราเห็นว่า บางทีภาพความรุนแรงในสังคมการเมืองโลกกับปัญหาตะวันออกกลางก็ไม่ได้มีผลอะไรต่อความหลากหลายในเยรูซาเล็มมากนัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนเยรูซาเล็มจากแต่ละศาสนาจะมองความหลากหลายในแง่ดีไปเสียหมด หลายคนอาจมองเห็นแต่ละศาสนาเป็นจิ๊กซอว์ที่ต่อขึ้นมาเป็นเยรูซาเล็ม จะขาดชิ้นใดชิ้นหนึ่งไปเสียไม่ได้ แต่ก็คงอีกไม่น้อยที่มองเป็นความวุ่นวาย หรืออาจมีอคติต่อศาสนาอื่นจากการมอง "ความจริง" ของตนเหนือกว่าของคนอื่น ซึ่งเป็นเรื่องปกติในโลก เช่น คนคริสต์ที่เดินทางสำรวจโลกเมื่อประมาณ 500 ปีก่อนมองชาวพื้นเมืองทางซีกโลกตะวันออกว่าเป็นพวกป่าเถื่อน (barbarian) ขณะที่คนไทยพุทธบางคนมองว่าศาสนาและศาสดาของตนยิ่งใหญ่เหนือใคร เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งและความรุนแรงได้ง่ายๆ
มัสยิด Dome of the Rock หรือ Masjid Qubbat As-Sakhrah
ภาพจาก 
http://www.pixpros.net/forums/showthread.php?t=11659

ความจริงแล้ว ความขัดแย้งระหว่างศาสนา และเชื้อชาติเพิ่งก่อตัวเมื่อลัทธิจักรวรรดินิยมเข้ามาเกี่ยวข้องกับดินแดนในแถบตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ซึ่งชาติเหล่านี้กลับถูกอำนาจทางเศรษฐกิจของชาวยิวโน้มนำให้ทำในสิ่งซึ่งกระทบต่อชาวอาหรับ-มุสลิม โดยแย่งชิงดินแดนซึ่งปัจจุบันคือประเทศอิสราเอลไปจากพวกเขา และนำไปสู่สงครามหลายครั้งระหว่างอิสราเอลและชาติอาหรับ ซึ่งทุกครั้งสหรัฐฯจะยื่นมือเข้ามาช่วยอิสราเอล ก่อนหน้าเหตุการณ์เหล่านี้ ขันติธรรมทางศาสนาที่แท้จริงคงเกิดขึ้นอยู่ ก่อนที่ความหวาดระแวงและเกลียดชังจะเข้ามาแทนที่หลังมหาอำนาจเข้ามาสร้างมรดกอันเลวร้ายเอาไว้


ชายชาวยิวกำลังนั่งศึกษาคัมภีร์ศาสนายูดายอย่างคร่ำเคร่ง
ภาพจาก http://www.pixpros.net/forums/showthread.php?t=11659

2. เรื่องของเศรษฐกิจ ซึ่งตัวขับเน้นเศรษฐกิจของเยรูซาเล็มก็คือ "ศรัทธา" จากศาสนาและความเชื่อต่างๆ โดยเฉพาะ 3 ความเชื่อหลักที่ก่อร่างสร้างตัวในเยรูซาเล็ม คือ ยูดาย คริสต์ และอิสลาม

เศรษฐกิจในรูปแบบแรกที่ศรัทธาได้ขับเคลื่อนให้ คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งผู้คนที่มีศรัทธาใน 3 ศาสนาที่ว่าต่างเดินทางทั้งจากในและนอกประเทศอิสราเอลเพื่อมาเยี่ยมชมและปฏิบัติศาสนกิจ ออกแนวคนไทยเห่อไปพุทธคยาในอินเดียอะไรประมาณนั้น ซึ่งโอเคว่ามันนำมาซึ่งเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวจากหลายมุมของโลกเอียงๆใบนี้ แต่มุมมองของบางคนกลับน่าสนใจแม้จะดูอนุรักษ์นิยมก็ตาม คือ การท่องเที่ยวได้นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่เมืองศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงมีทั้งดีขึ้นและเลวลง

ในแง่ดี ชาวเมืองจากทุกความเชื่อพยายามหลุดพ้นจากความขัดแย้ง (แบบเฉพาะกิจ?) แล้วสร้างเมืองให้น่าเที่ยวเพื่อดึงดูดผู้คนให้เข้ามาเยี่ยมเยียนและนำเงินมาให้


เด็กหญิงนักท่องเที่ยวชาวคริสต์ที่มาเยือนเยรูซาเล็มกับครอบครัว
ภาพจาก http://www.pixpros.net/forums/showthread.php?t=11659

แต่อีกแง่หนึ่ง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทำให้เมืองแห่งนี้แออัดยัดเยียดเกินไป จากที่เคยเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์และเงียบสงบ กลับกลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายจากนักท่องเที่ยวหลากหลายศาสนา ลองนึกภาพตลาดแถวบ้านคุณที่เคยเดินจ่ายตลาดได้อย่างสบายใจ แต่วันหนึ่งต้องมีคนแขก มีฝรั่ง มีคนแอฟริกามาเดินกันขวักไขว่ในตลาดแห่งนั้น ความรู้สึกแบบนี้ก็คงไม่ต่างไปจากความรู้สึกของคนที่มองในมุมนี้สักเท่าไร

เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยศรัทธาอีกรูปแบบหนึ่ง คือ ศาสนพานิชย์ อันได้แก่ "ศรัทธาที่ซื้อขายได้" เช่น ในไทยมีพระเครื่อง มีเครื่องสังฆทาน มีผ้าไตร จีวร เทียนพรรษา ฯลฯ ซึ่งซื้อขายกันอย่างคึกคักเนื่องจากความศรัทธาในศาสนา ในเยรูซาเล็มก็ไม่ต่างกัน ความศรัทธามักแปรเปลี่ยนเป็นตัวเงินได้เสมอ สิ่งศักดื์สิทธิ์ของศาสนาต่างๆถูกนำมาวางขายในย่านเก่าของเยรูซาเล็มเพื่อรอตอบสนองนักท่องเที่ยวและเหล่าศาสนิกผู้ศรัทธาอย่างเต็มใจ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกตราบที่มนุษย์ยังไม่อาจควบคุมชะตาชีวิตแหละเห็นว่าควรมีสิ่งยึดเหนี่ยวสำหรับตน ตั้งแต่พระเครื่องไปยันไม้กางเขนหรือพระคัมภีร์

ภาพ The Finding of Moses โดย Sir Lawrence Alma-Tadema ปี 1904
ภาพจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Lawrence_Alma-Tadema

โดยสรุปแล้ว ความแตกต่างหลากหลายในเยรูซาเล็มค่อนข้างแตกต่างไปจากความรับรู้ ที่มีเรื่องยิงใส่กันระหว่างกองกำลังอาหรับในเขตปาเลสไตน์กับทหารอิสราเอล เพราะศาสนาหลักในเมืองแห่งนี้ทั้ง 3 อันได้แก่ ยูดาย คริสต์ และอิสลาม ต่างดำรงอยู่ร่วมกันอย่างค่อนข้างสงบ ไม่ว่าความขัดแย้งจะหายไปแล้วจริงๆหรือมันถูกเก็บและกดไว้ (ซึ่งผมเห็นว่าเป็นกรณีหลังเสียมากกว่า) แต่สิ่งที่ได้รับประโยชน์ คือ ภาคเศรษฐกิจเกี่ยวกับศรัทธา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และศาสนพานิชย์ ที่เติบโตเป็นอย่างดีเมื่อเมืองมีความสงบ แต่บางทีถ้าขาดการดูแลจัดการที่ดีพอ ก็อาจกลายเป็นปัญหาใหม่ เช่น ปัญหาสังคม ปัญหาผู้อพยพ ฯลฯ ซึ่งในยุคโลกาภิวัตน์ สิ่งเหล่านี้พร้อมจะทะลุทะลวงเข้าไปในทุกประเทศได้เสมอ


ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับ "ศรัทธา" ในเยรูซาเล็ม ตอนที่ 2 ได้ในวันพุธหน้า 4 ทุ่มตรง ทาง ThaiPBS ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น