วันพุธที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2555

เสวนา “ตามรอยทัพพระเจ้าตาก”


พระบรมรูปพระเจ้าตากสินและทหารคนสนิท ประดิษฐานที่อู่ต่อเรือฯ เสม็ดงาม จันทบุรี
ถ่ายภาพ: Poii 

เมื่อช่วงบ่ายของวันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมฟังการเสวนาในหัวข้อเรื่อง "ตามรอยทัพพระเจ้าตาก" ณ อู่ต่อเรือฯ บ้านเสม็ดงาม จันทบุรี ซึ่งได้ทราบข่าวผ่านทางโซเชียลมีเดีย (Social Media) อย่างเฟซบุ๊ค (Facebook) ของทางหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี ที่ทางผู้จัด คือ คุณสุชาติ กนกรัตน์มณี ได้แชร์กิจกรรมดีๆนี้ไว้

เมื่อสำรวจสายตาไปดูรายชื่อวิทยากรแล้ว คาดไว้ได้เลยว่าคงไม่ใช่งานเสวนาธรรมดาๆ แน่ๆ เพราะรายชื่อนั้นนำโดยนักประวัติศาสตร์อาวุโสชั้นแนวหน้าของประเทศอย่าง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ปิยนาถ บุนนาค ส่วนอีกสองท่าน คือ คุณกุณฑล วัฒนวีร์ และ ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ ทราบในภายหลังว่า ท่านแรกเป็นมัคคุเทศน์ผู้เชี่ยวชาญสถานที่ทางฝั่งธนฯ อย่างมาก และเขียนหนังสือเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมาแล้ว 2 เล่ม ส่วนท่านหลังเป็นอาจารย์ประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ไฟแรงจากอักษณศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เวลานัดหมาย คือ บ่ายโมงตรง แต่เวลาที่เริ่มต้นจริงก็ล่วงเลยไปเกือบจะบ่ายสองโมงเสียแล้ว เพื่อไม่ให้เสียเวลา ผู้ดำเนินการเสวนาซึ่งก็คือผู้จัดนั่นเองก็เริ่มประเด็นแรกว่าด้วย “การศึกษาประวัติศาสตร์” ซึ่งตัวผู้เขียนถือว่าสำคัญมาก เพราะนี่คือเรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งในวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจสรุปเป็นได้ ดังนี้

1. ต้อง “เลือกใช้และเลือกเชื่อ” ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เนื่องจากหลักฐานประวัติศาสตร์นั้น บางครั้งก็ไม่ได้ให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันเสมอไป และแม้แต่หลักฐานทุกชิ้นให้ข้อมูลเหมือนๆกัน ก็ต้องวิพากษ์ความน่าเชื่อถือของข้อมูลนั้นด้วย

2. ผู้ศึกษาต้องตัด “อคติ” (bias) ส่วนตัวออกไป กล่าวคือ ต้องมีความเป็นกลาง ซื่อสัตย์ต่อหลักฐานที่มี โดยอคตินั้นอาจมาจากเชื้อชาติ ศาสนา ฯลฯ แต่ที่น่าจะเกี่ยวข้องกับประเด็นสมเด็จพระเจ้าตากสินที่สุดคงเป็น “ศรัทธา” ที่อาจทำให้ผู้ศึกษาไขว้เขวไปได้

วิทยากรทั้ง 3 ท่าน และพิธีกรในงาน
ถ่ายภาพ: Poii
ประเด็นต่อมา คือ การวิเคราะห์ว่า “ทำไมสมเด็จพระเจ้าตากสินจึงเลือกมาตั้งหลักที่จันทบุรี” เรื่องนี้วิทยากรทั้งสามท่านเห็นตรงกันในเรื่อง “เศรษฐกิจการค้า” เนื่องจากจันทบุรีเป็นเมืองท่าการค้าที่สำคัญทางตะวันออกของกรุงศรีอยุธยามาโดยตลอด ซึ่งผลจากจุดเด่นนี้ส่งผลอื่นๆอีก คือ เป็นแรงดึงดูดผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาตั้งถิ่นฐาน โดยเฉพาะชาวจีนและชาวมุสลิม ที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่กองทัพกู้ชาติของสมเด็จพระเจ้าตากสินอย่างมาก

อีกเหตุผลหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง คือ เรื่อง “ยุทธศาสตร์” เนื่องจากสงครามคราวเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 นั้นส่งผลให้หัวเมืองทั้งทางภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ได้รับผลกระทบมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป มีเพียงทางอีสานกับตะวันออก-เขมรเท่านั้นที่อยู่รอดปลอดภัย อย่างไรก็ดี หัวเมืองทางอีสานมีข้อจำกัดในด้านการรวบรวมไพร่พล เนื่องจากบ้านเมืองค่อนข้างกระจายตัวอย่างกว้างขวาง ผิดกับทางตะวันออกที่หัวเมืองเรียงต่อกันไปตามชายฝั่งง่ายต่อกันเดินทางรวบรวมกำลังพล

ส่วนในประเด็นสุดท้าย ได้แก่ “พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าตากสิน” ซึ่งเรื่องนี้ วิทยากรพยายามชี้ให้เห็นมุมที่ต่างไปของพระองค์ ซึ่งมักถูกฉายให้เห็นเพียงความเป็นนักรบที่หาญกล้าเท่านั้น เช่น วิสัยทัศน์ในการเลือกเมืองที่จะลงหลักปักฐานใหม่ที่กรุงธนบุรี การเสียสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อเลี้ยงดูพสกนิกรที่กำลังเดือดร้อนไปทั่ว การใช้ศาสนาในการกล่อมเกลาจิตใจประชาชน รวมทั้งในด้านวรรณกรรมที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นด้วยพระองค์เอง ซึ่งแม้คุณค่าด้านวรรณศิลป์อาจจะเทียบกับงานของเหล่ากวีเอกหลายๆคนไม่ได้ แต่ก็สอดแทรกเรื่องของการสั่งสอนโดยทางอ้อมซึ่งเข้ากับสภาพการณ์มากกว่า

ที่นำมาลงเป็นเพียงประเด็นหลักๆ เท่านั้น เพราะจริงๆแล้วมีประเด็นเล็กประเด็นน้อยอีกมากที่ไม่ได้กล่าวในที่นี้ และก่อนจบการเสวนา วิทยากรได้สรุปให้เห็นความสำคัญของช่วงเวลาสิบปีเศษในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน หรือสมัยธนบุรีอย่างน่าสนใจ ช่วงเวลาในประวัติศาสตร์นี้เป็นช่วงส่งต่อหรือเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ จากอยุธยามาเป็นรัตนโกสินทร์ “หากไม่มีธนบุรี ก็ไม่มีรัตนโกสินทร์”

ด้วยเวลาอันจำกัดทำให้การแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างวิทยากรกับผู้ร่วมเสวนาเกิดขึ้นน้อยไปสักหน่อย แต่ก็ต้องขอบคุณผู้จัดงานที่เห็นคุณค่าของ “ประวัติศาสตร์” และจัดงานนี้ขึ้นมา ขอขอบคุณวิทยากรทุกท่านที่กรุณาสละเวลามาให้ความรู้ ขอบคุณ ทีมงานจากหอจดหมายเหตุ จันทบุรี ที่ทำงานหนักเพื่อประชาชนโดยตลอด ขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับ คุณกุณฑล วัฒนวีร์ สำหรับหนังสือดีๆ ขอบคุณ อาจารย์ปิยนาถสำหรับแรงบันดาลใจให้ทำงานประวัติศาสตร์ต่อไป และเหนืออื่นใด เพื่อนร่วมทางที่บุกตะลุยไปทุกที่ทุกแห่งอย่างรู้ใจ ^ ^

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น