วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การก่อตั้งอาณาจักรอโยธยาศรีรามเทพนคร: มองผ่านทฤษฎีพหุชนชั้นนำ (Phural Elites)

อโยธยา (ต่อมาเป็นกรุงศรีอยุธยาหลังเสียกรุงฯครั้งที่ ๑) ก่อตั้งมาด้วยการร่วมมือกันของ ๒ ราชวงศ์ หรือ ๒ กลุ่มการเมือง อันได้แก่ กลุ่มของพระเจ้าอู่ทองที่มาจากละโว้ (ลพบุรี) และกลุ่มของขุนหลวงพ่องั่วจากสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) การร่วมมือกันของชนชั้นนำเช่นนี้เข้ากันได้กับทฤษฎีทางรัฐศาสตร์ที่เรียกว่า “พหุชนชั้นนำ” (Phural Elites)

ทฤษฎีพหุชนชั้นนำ (Phural Elites)

ทฤษฎีพหุชนชั้นนำเกิดจากการคลี่คลายความสุดโต่งของ ๒ ทฤษฎี คือ ทฤษฎีชนชั้นนำนิยม (Elitism) ที่อธิบายว่า แต่ละสังคมไม่ได้มีความเท่าเทียมกัน แต่ประกอบไปด้วยชนชั้นต่างๆ โดยอำนาจจะตกอยู่กับชนชั้นที่เรียกว่า “ชนชั้นนำ” (elite) ซึ่งเป็นคนกลุ่มเล็กๆ ทฤษฎีนี้มักถูกเปรียบเทียบกับรูปปิระมิดซึ่งแบ่งเป็นชั้นๆ โดยส่วนยอดซึ่งเป็นส่วนที่เล็กที่สุดของรูปก็คือชนชั้นนำซึ่งกุมอำนาจทางการเมืองไว้นั่นเอง

ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่งคือ ทฤษฎีพหุนิยม (Phuralism) ซึ่งอธิบายว่า สังคมประกอบไปด้วยกลุ่มต่างๆที่มีส่วนผลักดันให้รัฐกำหนดนโยบายที่กลุ่มของตนต้องการ บางครั้งทฤษฎีนี้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับลูกบิลเลียดที่กระทบชิ่งกันไปมา อันเปรียบได้กับกลุ่มต่างๆที่ทั้งต่อสู้กันเองและกดดันรัฐให้ออกนโยบายที่ตนต้องการไปพร้อมๆกัน

เมื่อนำจุดแข็งของทั้ง ๒ ทฤษฎีมารวมกันก็จะได้เป็นแนวคิดที่อธิบายว่า แต่ละสังคมนั้นมีชนชั้น และในสังคมก็มีหลายกลุ่มก้อนด้วย ซึ่งแต่ละกลุ่มต่างมีชนชั้นนำของตน เช่น ในกลุ่มกรรมกรก็มีชนชั้นนำ กลุ่มทุนก็มีชนชั้นนำ ดังนั้น ชนชั้นนำของแต่ละกลุ่มจึงต้องอยู่ในสภาวะที่ต่อรองกัน หากชนชั้นนำของทั้งสองกลุ่มตกลงกันได้ที่เรียกว่า “การตกลงยินยอมร่วมกันของชนชั้นนำ” (elite accommodation) หรือเรียกง่ายๆว่าเป็นการสร้างดุลยภาพระหว่างกลุ่มต่างๆ การร่วมมือกันก็ย่อมเกิดขึ้นได้

การก่อตั้งอโยธยาศรีรามเทพนคร: การตกลงยินยอมร่วมกันของ ๒ แคว้น

เมื่อนำทฤษฎีนี้มาใช้มองการก่อตั้งอาณาจักรอโยธยาก็จะได้ว่า ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีกลุ่มอำนาจทางการเมืองที่สำคัญ ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มที่เมืองละโว้ กับกลุ่มที่เมืองสุพรรณภูมิ แต่ละกลุ่มมีชนชั้นนำ ได้แก่ พระเจ้าอู่ทองและขุนหลวงพ่องั่วตามลำดับ ในปัจจุบัน การศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาพบว่า อาณาจักรแห่งนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์ทางการค้าเป็นหลัก ดังนั้น ชนชั้นนำของทั้งสองกลุ่มคงเกิดการต่อรองแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันเพื่อสร้างศูนย์กลางทางการค้าขึ้นมา ซึ่งได้แก่ เกาะเมืองอยุธยาในปัจจุบัน โดยการต่อรองหรือตกลงกันครั้งนั้นเปิดโอกาสให้พระเจ้าอู่ทองได้เป็นกษัตริย์ของแคว้นใหม่ที่จะก่อตั้งขึ้น

นี่คือภาพการก่อตั้งอาณาจักรอโยธยาขึ้น โดยอาศัยการตกลงต่อรองกันระหว่าง ๒ กลุ่มอำนาจ ซึ่งในที่นี้อาจเป็นการตกลงกันภายในเครือญาติ เพราะปรากฏในเอกสารบางชิ้นว่า พระเจ้าอู่ทองกับขุนหลวงพ่องั่วนั้นเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน และคงไม่แปลกหากจะบอกว่าพระเจ้าอู่ทองเกิดหรือมีความเกี่ยวข้องกับเมืองโบราณอู่ทอง ในเขตแคว้นสุพรรณภูมิ ขณะที่วงศ์จากละโว้กับสุพรรณภูมิคงต่างได้มีความสัมพันธ์กันโดยการแต่งงานอย่างน้อยก็ ๒-๓ ชั่วอายุคน จนวงศ์ทั้งสองดูจะกลายเป็นวงศ์เดียวกันจนแยกได้ยาก หากแต่มีศูนย์อำนาจ ๒ แห่ง และผู้นำของแต่ละศูนย์อำนาจคงสืบทอดตามสายผู้ชาย ขณะที่พระราชมารดาของผู้นำอาจเป็นเจ้าหญิงของอีกแคว้น ซึ่งกรณีพระเจ้าอู่ทองก็คงอยู่ในกรณีนี้ด้วย โดยชื่ออู่ทองอาจเป็นการแสดงที่มาของพระราชมารดา หรือเป็นการบอกว่ามีอำนาจเหนือเมืองดังกล่าวด้วยก็ได้ (โดยอ้างความเป็นเครือญาติกับแคว้นสุพรรณภูมิ) ในสมัยของขุนหลวงพ่องั่วและพระเจ้าอู่ทอง ความสัมพันธ์ของทั้งสองแคว้นคงมาถึงจุดสุกงอมพอที่จะตกลงเพื่อลงทุนร่วมกันในการก่อตั้งเมืองท่าบนเกาะใหญ่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีการตกลงจัดสรรผลประโยชน์กันในหมู่เครือญาติอย่างลงตัว

เราจะเห็นได้ว่า เมื่อพระเจ้าอู่ทองสามารถขยายอำนาจไปทางหัวเมืองเหนือ เข้ายึดเมืองพิษณุโลกไว้ได้ พระเจ้าอู่ทองก็เวนเมืองให้ขุนหลวงพ่องั่ว แต่ปรากฏว่าพระมหาธรรมราชาลิไทย กษัตริย์สุโขทัยในขณะนั้นได้ถวายบรรณาการเป็นอันมากจนได้เมืองคืนไป ซึ่งคงมีการตกลงผลประโยชน์กันอย่างมหาศาลพอที่จะแลกเมืองคืนไปได้ เป็นอันว่าขุนหลวงพ่องั่วก็ต้องกลับมาที่สุพรรณภูมิตามเดิม แต่ก็สะท้อนการแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างชัดเจน

พระเจ้าอู่ทองสวรรคต: จุดเริ่มแห่งการเสื่อมสลายของการตกลงร่วมกัน

แต่แล้วเหตุการณ์ภายหลังการสวรรคตของพระเจ้าอู่ทอง (พ.ศ.๑๙๑๒) กลับแสดงให้เห็นดุลยภาพที่ค่อยๆเสื่อมลงระหว่างกลุ่มการเมืองที่ร่วมกันก่อตั้งอโยธยาศรีรามเทพนคร โดยพระราเมศวรที่ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาถูกขุนหลวงพ่องั่วผู้เป็นญาติฝ่ายแม่ (อาจเป็นพี่ของพระราชมารดา) เข้าทำรัฐประหารยึดอำนาจ โดยพระราเมศวรต้องกลับไปแคว้นละโว้ตามเดิม ก่อนจะกลับมาทวงอำนาจคืนในภายหลัง การแย่งชิงอำนาจทางการเมืองของทั้ง ๒ กลุ่มดำเนินไปจนกระทั่งเจ้านครอินทร์แห่งกลุ่มแคว้นสุพรรณภูมิสามารถยึดอำนาจไว้ได้ใน พ.ศ.๑๙๕๒

ถ้าหากใช้ทฤษฎีพหุชนชั้นนำมาทำความเข้าใจ นี่ก็คงเป็นสถานการณ์ที่เกิดจากการตกลง หาข้อลงตัวกันไม่ได้อีกต่อไประหว่างชนชั้นนำของทั้ง ๒ กลุ่ม ซึ่งอยู่ที่เรื่องของอำนาจทางการเมืองที่สัมพันธ์กับอำนาจทางเศรษฐกิจอันหอมหวานด้วยนั่นเอง พระเจ้าอู่ทองอาจได้รับการยอมรับจากทั้ง ๒ กลุ่ม แต่ไม่ได้หมายความว่าพระราเมศวรจะได้รับการยอมรับเหมือนกับพระราชบิดาของพระองค์ ดังนั้น ขุนหลวงพ่องั่วซึ่งมีทั้งอำนาจและการยอมรับในระดับที่สูงกว่า ประกอบเข้ากับความต้องการอำนาจและผลประโยชน์จึงเข้ายึดอำนาจจากพระราชนัดดาของพระองค์

พระราเมศวร: จุดเปลี่ยนผ่านสู่ความแตกแยก

หลังจากชนชั้นนำที่ได้ร่วมตกลงกันก่อตั้งอโยธยาขึ้นมาสิ้นพระชนม์ไปทั้งคู่ (ขุนหลวงพ่องั่วสวรรคต พ.ศ.๑๙๓๑) ดุลยภาพระหว่าง ๒ วงศ์จึงยากที่จะดำรงอยู่เช่นกัน พระราเมศวรทำรัฐประหารพระเจ้าทองลันแทบจะทันทีที่ขุนหลวงพ่องั่วสวรรคต จะเห็นได้ว่า เพียงแค่ชนชั้นนำในรุ่นลูกก็ไม่อาจรักษาการตกลงร่วมกันไว้ได้แล้ว และดูจะเข้าสู่การขับเคี่ยวกันระหว่าง ๒ วงศ์อย่างเต็มตัว เอกสารจีนบ่งชี้ว่าทั้งสองวงศ์ต่างพยายามหาความชอบธรรมในราชสมบัติด้วยการแข่งกันส่งทูตไปยังพระเจ้ากรุงจีน อย่างไรก็ดี อาจด้วยการเตรียมสรรพกำลังของพระราเมศวรหลังถูกพระปิตุลายึดอำนาจไป และอาจรวมถึงพระญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองวงศ์ที่ยังมองเห็นความเป็นเครือญาติ จึงสามารถส่งเสริมให้พระองค์ยังรักษาอำนาจไว้ได้จนพระชนมายุขัยไปเอง เมื่อ พ.ศ.๑๙๓๘

ต่อจากพระราเมศวร ก็คือชนชั้นนำในรุ่นหลานของพระเจ้าอู่ทองและขุนหลวงพ่องั่ว
อันได้แก่ สมเด็จพระรามราชา จากกลุ่มแคว้นละโว้ และเจ้านครอินทร์ (ต่อมาคือ สมเด็จพระอินทราธิราช) จากกลุ่มแคว้นสุพรรณภูมิ ซึ่งไม่ได้ร่วมตกลงกัน และต่างมีผลประโยชน์ของตนเองที่ต่างไปจากเมื่อครั้งบรรพบุรุษที่เคยมองเห็นผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งสองพระองค์ได้แข่งกันส่งทูตไปยังพระเจ้ากรุงจีนเพื่อหาความชอบธรรมในราชบัลลังก์ (ซึ่งแน่นอนว่า จีนยังสามารถสื่อถึงจุดหมายทางการค้าได้อีกด้วย) แม้จะเคยมีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติที่แน่นแฟ้นก็ตาม แต่เป็นไปได้ว่า ความสัมพันธ์ทางเครือญาติได้ค่อยๆห่างเหินกันไป เพราะฝ่ายกลุ่มสุพรรณภูมิดูจะไปมีความสัมพันธ์เช่นนี้กับทางฝ่ายราชวงศ์พระร่วง หรือราชวงศ์สุโขทัยทางตอนเหนือมากขึ้น ดังนั้น เมื่อมาถึงจุดนี้จึงไร้ที่ยึดเหนี่ยวที่จะดึงให้ผลประโยชน์ของทั้งสองกลุ่มกลับมาประสานกันอีกครั้ง และผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจที่ควบคู่มากับอำนาจทางการเมือง (ซึ่งอาจมากกว่าที่บรรพบุรุษของทั้งสองกลุ่มคิดไว้มาก) คงเป็นอีกแรงหนุนให้การตกลงยินยอมร่วมกันระหว่างชนชั้นนำทั้งสองกลุ่มสั่นคลอนและสลายลง จนกระทั่งเจ้านครอินทร์ (ซึ่งมีเชื้อสายเจ้าหญิงสุโขทัยด้วย) ได้ยึดอำนาจไว้ได้เมื่อ พ.ศ.๑๙๕๒

สรุป

สรุปแล้ว เมื่อมองการเมืองต้นอยุธยา (หรือสมัยอโยธยา) ผ่านทฤษฎีพหุชนชั้นนำแล้วก็พบว่า มีความเป็นไปได้ที่ชนชั้นนำของ ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มของพระเจ้าอู่ทองที่ละโว้ กับกลุ่มของขุนหลวงพ่องั่วที่สุพรรณภูมิ ซึ่งคงมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกันได้ต่อรองและตกลงกันตั้งอโยธยาศรีรามเทพนครเพื่อเป็นเมืองท่าการค้ากลางลำน้ำเจ้าพระยา โดยมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้จัดสรรกันอย่างลงตัวเป็นที่ตั้ง แต่ต่อมา ดุลยภาพที่เคยมีอยู่กลับค่อยๆลดลง จนกระทั่งขุนหลวงพ่องั่ว คู่เจรจาพระองค์สุดท้ายได้สวรรคตไปเมื่อ พ.ศ.๑๙๓๘ ดุลยภาพนั้นก็ขาดสะบั้นลง เพราะกลุ่มชนชั้นนำรุ่นใหม่ไม่ได้ร่วมตกลงด้วยแม้แต่ในรุ่นลูก และต่างมีผลประโยชน์ส่วนตัว ต่างไปจากบรรพบุรุษของตนที่มองเห็นผลประโยชน์ร่วมกัน ขณะที่ความสัมพันธ์ด้านเครือญาติค่อยๆถอยห่างและไร้ซึ่งความรู้สึกถึงความเป็นญาติไป จนในที่สุดนำไปสู่การแย่งชิงราชสมบัติกันโดยจบลงที่ฝ่ายวงศ์จากสุพรรณภูมิสามารถกุมสถานการณ์ไว้ได้ และกลายเป็นราชวงศ์ที่มีกษัตริย์ครองราชย์มากที่สุดในประวัติศาสตร์อยุธยา

เอกสารประกอบการเขียน

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. การเมืองในประวัติศาสตร์ ยุคสุโขทัย-อยุธยา พระมหาธรรมราชา กษัตราธิราช. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: มติชน,๒๕๕๓.

ขอบคุณทฤษฎีจากอาจารย์เซษฐา พวงหัตถ์ครับ (เคยสอนไว้)

๒๗-๑๒-๑๐

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น