บทความ “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย” ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2534 ก่อนถูกนำมารวมพิมพ์ในหนังสือรวมบทของ นิธิ เองชื่อ ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2538 และครั้งที่ 2 พ.ศ.2547 หลักใหญ่ใจความของบทความนี้น่าสนใจยิ่ง เพราะชี้ว่าในแต่ละสังคมการเมืองมิได้มีเพียงรัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษร (ที่บางประเทศเขียนแล้วฉีกๆ ยิ่งกว่ากระดาษเช็ดตูด) แต่ยังมีรัฐธรรมนูญอีกฉบับที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม” ซึ่งยังคงสะท้อนการเมืองไทยได้ดีระดับหนึ่ง แม้อายุของบทความจะล่วงเลยมาถึงเกือบ 10 ปีแล้ว (เวลา 10 ปีมันนานพอที่อะไรๆจะเปลี่ยนแปลงไปแล้ว)
ก่อนอื่นต้องมาดูนิยามคำว่า “รัฐธรรมนูญ” เสียก่อน นิธิ กล่าวว่า “รัฐธรรมนูญ คือ ข้อกำหนดว่าบุคคลและสถาบันต่างๆ ในรัฐหนึ่งนั้นพึงสัมพันธ์กันในเชิงอำนาจอย่างไร (ใครใหญ่กว่าใคร)” แล้วอธิบายต่อไปว่า “ข้อกำหนดของความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมหนึ่งๆ นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากใครเป็นผู้กำหนดขึ้น แต่เกิดจากการที่บุคคลและสถาบันต่างๆ ในสังคมนั้น ได้ต่อสู้ช่วงชิงและรักษาสถานะแห่งอำนาจของตนมาเป็นเวลานานจนทำให้เกิดการยอมรับกันในระดับหนึ่ง กลายเป็นประเพณีทางการปกครองและการเมืองขึ้น” (นิธิ, 2547: 126)
จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญของ นิธิ ถ้าดูเฉพาะข้อความที่ยกมาข้อความแรก นั่นคือรัฐธรรมนูญฉบับเขียนแล้วฉีกๆ เพราะมักมีคนคิดว่ากูต้องเป็นคนร่างหรือสั่งให้ร่างข้อกำหนดนี้ (และหลายครั้งก็ฉีกเสียเอง) แต่ถ้าอ่านต่อไปจะเห็นว่า รัฐธรรมนูญกลายเป็นสิ่งที่ไม่ตายตัว เพราะหน่วยในสังคมต่างๆ ต้องต่อสู้-ต่อรองกัน (และยังต้องเป็นเช่นนั้นต่อไป) ต้องผ่านประสบการณ์มาอย่างยาวนาน จนกลายเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม” ที่สะท้อนวัฒนธรรมทางการเมืองของแต่ละสังคมได้อย่างแท้จริง และใครหน้าไหนก็ไม่อาจฉีกลงได้ (และก็ไม่อาจร่างได้เช่นกัน)
รัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ คือ ฉบับที่เป็นลายลักษณ์อักษร และฉบับวัฒนธรรม (ก็คือวัฒนธรรมทางการเมือง) ควรจะสอดคล้องกัน ถ้าเป็นเช่นนั้น อายุของรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นก็ยาวนาน แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น การฉีกรัฐธรรมนูญ (ฉบับลายลักษณ์อักษร) ก็เกิดขึ้นได้ง่ายดาย (นิธิ, 2547: 127) ซึ่งไม่เดาก็รู้ได้ว่าไทยอยู่ในจำพวกนี้ด้วย สาเหตุประการหนึ่ง คือ การไม่ได้ศึกษาถึงรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของสังคมตัวเอง (หรือศึกษาแต่ไม่อยากยอมรับ) ซึ่ง นิธิ กล่าวถึงประโยชน์ของการศึกษารัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมว่า “ความเข้าใจรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความสำคัญทั้งในแง่ที่จะทำให้เข้าใจวัฒนธรรมทางการเมืองของไทย และเข้าใจว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางอะไรในวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยด้วย” (นิธิ, 2547: 128)
ในส่วนต่อไป นิธิ จะกล่าวถึงสถาบันสำคัญต่างๆ ในสังคมไทย อันได้แก่ สถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันพระพุทธศาสนา กองทัพ ส.ส. และกฎหมาย ว่าเป็นอย่างไรในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า สถาบันเหล่านี้ได้มีเส้นทางเดิน (ต่อสู้ ฟาดฟัน รักษาตัวรอด) อย่างไร จนพัฒนาเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองในวันนี้ ซึ่งจะได้ review เป็นลำดับต่อไป
เอกสารประกอบการเขียน
นิธิ เอียวศรีวงศ์. “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย” ใน ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มติชน, 2547.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น