วันอังคารที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2556

สงกรานต์: การยึดมั่นในความตายตัวของสังคมไทย

"สงกรานต์" ลาวออกเสียงว่า "สังขาน" เช่นเดียวกับล้านนา (กร ออกเสียงเป็น ข) ป้ายในรูปนี้จึงติดว่า "งานปะกวด นางสังขาน นะคอนหฺลวงวฺยงจัน (เวียงจันทน์)"

งานปะกวด นางสังขาน นะคอนหฺลวงวฺยงจัน ปะจำปี พ.ส 2556 , ค.ส 2013
จาก page Laos Pictures (http://www.facebook.com/LaosPictures)

สงกรานต์ เป็นคำยืมภาษาสันสกฤต (สงฺกฺรานติ) คำเดิมต้องออกเสียง สังกรานต์ เพราะแขกไม่มีสระโอะ แต่ไทยยืมมาแล้วเปลี่ยนเสียงสระไป ขณะที่ล้านนาและลาวไม่ได้เปลี่ยน ยังออกเสียงว่า "สัง" ไม่ใช่ "สง"

สงกรานต์ แปลตามรากศัพท์ว่า เคลื่อนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง (going from one place to another) ซึ่งหมายถึง การที่พระอาทิตย์เคลื่อนจากราศีหนึ่งไปสถิตอีกราศีหนึ่ง

"๑ ปี จึงมีสงกรานต์ ๑๒ ครั้ง เพราะมี ๑๒ ราศี" แต่สงกรานต์ที่สำคัญที่สุด คือ พระอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสถิตราศีเมษ ไทยเรียกวันดังกล่าวว่า วันมหาสงกรานต์ ภาคเหนือเรียก "สังขานล่อง" วันนี้คือวันแรกของเทศกาลสงกรานต์ ประมาณ ๖๐ ปีก่อนจนถึงปีที่แล้วตรงกับวันตามปฏิทินสุริยคติ คือ ๑๓ เมษายน แต่ตั้งแต่ปีนี้ไปอีกประมาณ ๖๐ ปี จะตรงกับวันที่ ๑๔ เมษายน


วัยรุ่นชาวลาวเล่นสงกรานต์ที่เมืองหลวงพระบาง โดยมีคำอธิบายว่า
"traditional photo is ended, please enjoy real Water festival foto"
จาก page Luang Prabang Moradok (
http://www.facebook.com/luangprabang.mdr)

วันถัดมาเป็นวันเนาว์ หรือวันเนา หรือวันดา เป็นวันที่รอให้พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษให้หมดเสียก่อน แล้ววันถัดมาที่พระอาทิตย์สถิตราศีเมษทั้งหมดแล้ว จึงจะเป็นวันเถลิงศก ภาคเหนือเรียก "พญาวัน" คือ เป็นวันที่สำคัญใหญ่กว่าวันทั้งปวง (พญา เป็นคำยืมภาษามอญ หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ ไทยรับมาใช้หลายรูปทั้ง พรญา พระยา พญา) "ปีนี้ก็เลื่อนจากวันที่ ๑๕ เมษายน ไปเป็น ๑๖ เมษายนด้วย"

การเลื่อนวันสงกรานต์เช่นนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะคัมภีร์ที่ใช้คำนวณเป็นของเก่าที่ย่อมคลาดเคลื่อนไปเรื่อยๆ (คลาดเคลื่อนไปจากการคำนวณทางดาราศาสตร์) เมื่อเราใช้คัมภีร์เก่าในการคำนวณปฏิทินก็ต้องเลื่อนวันตามที่คำนวณได้


รูปการเล่นน้ำสงกรานต์ของชาวลาวที่หลวงพระบางที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
จาก page Luang Prabang Moradok (http://www.facebook.com/luangprabang.mdr)
อย่างไรก็ดี ความเคยชินมักทำให้เกิดความคิดที่แน่นิ่งตายตัวกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และคิดว่าจะดำรงอยู่เช่นนี้ตลอดไปไร้ซึ่งความเปลี่ยนแปลง ซึ่งมักนำไปสู่ปัญหา ในประเด็นวันสงกรานต์เกิดปัญหา คือ ทางภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องไม่ยอมเปลี่ยนเทศกาลสงกรานต์ให้เป็นวันที่ ๑๔ ไปจนถึงวันที่ ๑๖ เราจึงฉลองสงกรานต์เคลื่อน(เร็ว)ไป ๑ วัน และถ้ายังไม่หยุดทัศนคติที่จะคงเทศกาลสงกรานต์ให้แน่นิ่งไว้เช่นนี้ (ทั้งที่ในอดีตเราก็เลื่อนมาเรื่อยๆ จนมาหยุดที่ ๑๓-๑๕ เมษายน ประมาณ ๖๐ ปี จนถึงปีก่อน) ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลหรือปัจจัยใดๆ ก็ตาม อีกประมาณ ๖๐ ปีข้างหน้า เทศกาลสงกรานต์ก็จะเคลื่อน(เร็ว)ไป ๒ วัน และเคลื่อนไป ๑ วันอีกประมาณทุกๆ ๖๐ ปี

แน่นอนว่าความคลาดเคลื่อนของคัมภีร์เก่าต้องมีการแก้ปัญหา มิเช่นนั้น วันสงกรานต์อาจเคลื่อนไปจนถึงเดือนพฤษภาคมได้ (แต่ก็เป็นเวลายาวนานเกิน ๑,๐๐๐ ปี) แต่ปัญหาที่ใกล้กว่านั้น คือ เรากลับละเลยความถูกต้องแล้วกลับยึดเอาความแน่นิ่งตายตัวที่มาจากความเคยชิน ซึ่งแม้จะไม่เกิดปัญหาใดๆ ร้ายแรง แต่นั่นก็เท่ากับเลือกที่จะเบือนหน้าใส่ผลการคำนวณจากคัมภีร์ซึ่งยึดถืออยู่ หากต้องการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ควรให้เหตุผลและชี้แจงแก่ประชาชน มิใช่จัดการอย่างลอยๆ และทำให้คนที่ไม่รู้อยู่แล้วไม่ต้องรู้ตลอดไป ... นี่ไม่ใช่ลักษณะอันควรเกิดในสังคมแห่งการเรียนรู้ที่กำลังฟักตัวของไทย !!!

1 ความคิดเห็น:

  1. จำได้ว่าตอนเป็นเด็ก ประมาณปี 2536 2537 2538 เนี่ยแหระ วันสงกรานต์มันวันที่ 12 13 14 เมษายน นะ แล้วเค้าเลื่อนปีไหนไม่รู้

    ตอบลบ