วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เอกสารจีนกับประวัติศาสตร์ไทย

ก่อนจะเข้าสู่บทความนี้ ผู้อ่านควรเข้าใจก่อนว่า ประวัติศาสตร์ไทย นั้นคืออะไร ? นี่คือคำถามที่ต้องตอบเสียก่อน และคำตอบก็คงไม่ได้มีแค่คำตอบเดียว แต่เอาเป็นว่าถ้าตอบอย่างง่ายก็คงบอกได้ว่า ประวัติศาสตร์ไทยก็คือ ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในดินแดนรัฐไทยปัจจุบัน อันกอปรขึ้นด้วยคนหลากหลายที่มา ซึ่งเมื่อพูดเช่นนี้ ก็จะได้ขอบเขตของประวัติศาสตร์ที่กว้างขึ้นจาก สุโขทัย-อยุธยา-ธนบุรี-รัตนโกสินทร์

เมื่อพูดถึงสุโขทัยว่าเหตุใดจึงเป็นจุดเริ่มของประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักนั้น ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะหลักฐานการบันทึกที่เก่าที่สุดนั้นเกิดขึ้นในสมัยสุโขทัย และแน่นอนว่าผู้ที่พบบันทึก อันได้แก่ จารึกหลักที่ 1 (พ่อขุนรามคำแหง) นั้น ก็คือพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 4 แห่งจักรีวงศ์ อันทำให้สุโขทัยเข้าสู่ความรับรู้ของคนไทยจำนวนมากได้ดีกว่าประวัติศาสตร์ของล้านนาประเทศหรืออาณาจักรอย่างนครศรีธรรมราชในภาคใต้ที่ยังคงกระจุกตัวอยู่ในวงแคบๆ ทั้งที่สุโขทัยเองนั้นน่าจะมีความใกล้ชิดกับล้านนามากกว่าอยุธยาที่ถูกวางเป็นอาณาจักรภาคต่อของสุโขทัยในสายธารประวัติศาสตร์กระแสหลักด้วยซ้ำ

เมื่อเป็นเช่นนี้ อาณาจักรรอบข้างที่เกิดขึ้นในสมัยเดียวกับสุโขทัย (ประมาณ คริสต์ศตวรรษที่ 13/พุทธศตวรรษที่ 18) หรือสมัยก่อนหน้านั้นที่ปัจจุบันน่าจะอยู่ในดินแดนรัฐไทยจึงหายไปจากความรับรู้ของคนไทย หรือกันไปอยู่เป็นชายขอบของประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลัก

ในยุคปัจจุบันที่เกิด ประวัติศาสตร์แนว alternative ได้แทรกตัวขึ้นมาได้สำเร็จ โดยเฉพาะภายใต้บริบทของแนวคิด Post-Modernism ที่ข้อโต้แย้งทางวิชาการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาณาจักรเหล่านั้นจึงเริ่มปรากฏตัวขึ้นอีกครั้ง แต่ในทางประวัติศาสตร์นั้น หลักฐานถือเป็นสิ่งสำคัญ

ในภาวะที่อาณาจักรโบราณเหล่านั้นขาดแคลนหลักฐานที่เป็นบันทึกเพื่อยืนยันความมีอยู่ของตนเอง นอกจากหลักฐานทางโบราณคดีแล้ว การได้รู้จักกับเอกสารจีนถือเป็นการค้นพบที่สำคัญยิ่ง เพราะบันทึกของราชสำนักจีนนั้นมีระบบ มีความน่าเชื่อถือสูงอยู่แล้ว และนอกจากนั้น ราชสำนักจีนยังได้เริ่มตั้งกองงานชำระประวัติศาสตร์และจดบันทึกตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง (ตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 7) จึงย่อมให้ภาพในช่วงเวลาก่อนสุโขทัยได้อย่างดี เช่น เอกสารจีนพาเรากลับไปรู้จักชื่ออย่าง พัน-พัน (เมืองใดเมืองหนึ่งบนคาบสมุทรมลายู) ตางมาลิง (เมืองนครโบราณ) ปาไป่สีฟู่ (ล้านนา) เจอทู่ (เมืองแถบสงขลาหรือปัตตานี) ฯลฯ แม้แต่ภาพในประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักเองก็ต้องถูกกระทบ และเกิดข้อโต้แย้งจากหลักฐานที่น่าเชื่อถืออย่างเอกสารจีน แต่อีกด้านหนึ่งก็ได้ภาพต่างๆที่มาช่วยเติมเต็มสิ่งที่เอกสารไทยขาดตกไปเช่นกัน

ดังนั้น เราควรมาทำความรู้จักกับเอกสารจีนเหล่านั้นว่ามีที่มาอย่างไรกันบ้าง เรื่องนี้อาจารย์วินัย พงศ์ศรีเพียรได้เขียนไว้ใน เชียงใหม่ในเอกสารประวัติศาสตร์จีนโบราณ บอกไว้ว่าเอกสารจีนนั้นมีถึง 15 ประเภท แต่ไม่ได้ระบุว่ามีชนิดใดบ้าง แต่กล่าวถึงไว้ว่ามี 2 ประเภทที่สำคัญและมีความน่าเชื่อถือสูง คือ สือลู่ และเจิ้งสื่อ ดังนั้น เราจะมารู้จักกับเอกสารทั้ง 2 ประเภทนี้กัน

สือลู่ (Shi-lu)หรือ "บันทึกเรื่องจริง" มีที่มาที่ไปที่ค่อนข้างเป็นระบบซับซ้อน ผมขอเอายกข้อความในหนังสือของอาจารย์วินัยมาแยกเป็นขั้นๆ คือ 1. ทุกๆ 3 เดือน อาลักษณ์ในราชสำนักในความควบคุมของเสนาบดีผู้ใหญ่จะรวบรวมเอกสารที่เรียกว่า ฉี่จื๊อจู้ (จดหมายเหตุพระราชกิจ) เกี่ยวกับฝ่ายหน้าและฝ่ายในขององค์จักรพรรดิ และเอกสารที่เรียกว่า สื่อเจิ้งจี้ (บันทึกราชการปัจจุบัน) ส่งให้กองงานชำระประวัติศาสตร์ 2. บัณฑิตที่กองงานดังกล่าวจะรวบรวม เรียบเรียงเป็นเอกสารที่เรียกว่า ยื้อลี่ (บันทึกรายวัน) 3. เอาเอกสารราชการอื่นๆที่สำคัญมารวบรวมสาระ (น่าจะหมายถึงเรียบเรียง) กลายเป็น สือลู่ จนได้

เจิ้งสื่อ (น่าจะเป็นตัวภาษาจีน 帧史 zheng shi ซึ่งแปลคร่าวๆได้ว่า ประวัติศาสตร์ที่ดีเยี่ยม ดีเลิศ)หรือ "ประวัติศาสตร์ราชวงศ์ ฉบับหอหลวง" ก็มีที่มาจากสือลู่นั่นเอง กล่าวคือ สือลู่ที่สำเร็จแล้วนั้นก็คือข้อมูลที่จะนำมาเขียนเป็นเจิ้งสื่อนั่นเอง แต่จะเขียนเมื่อมีการเปลี่ยนราชวงศ์แล้ว ก่อนหน้านี้ สือลู่ จะถูกผนึกลงหีบไว้ และเมื่อนำมาใช้เขียนเจิ้งสื่อเสร็จแล้วก็จะถูกทำลายไป (เพื่อป้องกันการแก้ประวัติศาสตร์อย่างผิดๆ)

หลักฐานที่มีคุณค่ากว่าในทางประวัติศาสตร์ คือ สือลู่ เพราะเขียนขึ้นร่วมสมัย แต่เนื่องจากถูกทำลายไปมาก จึงเหลืออยู่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนั้น ก็ต้องใช้ เจิ้งสื่อ ที่เรียบเรียงจากสือลู่อีกทีมาใช้ประกอบด้วย ปัจจุบัน เอกสารที่ได้รับการแปล และใช้กันมาก คือ หมิงสือลู่ (ก็คือสือลู่ที่เขียนในสมัยราชวงศ์หมิง) ที่ยังเหลืออยู่มากพอสมควร รวมทั้งหยวนสื่อ (เจิ้งสื่อของราชวงศ์หยวนที่เขียนเขียนขึ้นโดยราชวงศ์หมิงที่เข้ามาแทนที่)ด้วย

หลักฐานที่ว่าไปทั้ง เจิ้งสื่อ และ สือลู่ นั้นต่างเป็นเอกสารของทางราชการ แต่ยังมีเอกสารจีนอื่นๆอีกมาก โดยอาจารย์ต้วน ลี เซิง กล่าวว่ามีเอกสาร 3 ประเภท คือ เอกสารราชการอย่างที่กล่าวไปแล้วเป็นอันหนึ่ง ต่อมา คือ เอกสารและบันทึกจากคนหรือกลุ่มคนต่างๆที่ได้เดินทางไปยังที่ต่างๆ ทั้งทูต พ่อค้านักเดินเรือ ฯลฯ และสุดท้าย คือ เอกสารและจดหมายเหตุซึ่งเป็นพวกต้นฉบับเอกสารต่างๆ เช่น เอกสารเจริญสัมพันธไมตรี เอกสารที่ส่งมาจากหัวเมืองต่างๆ เอกสารพระบรมราชโองการ เป็นต้น

โดยสรุปแล้ว เอกสารจีนนั้นมีประโยชน์แต่การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยอย่างแน่นอน เพียงแต่ผู้ศึกษาปรวัติศาสตร์ไทยจะเลือกใช้ หรือเปิดใจต่อข้อมูลใหม่ๆเหล่านั้นมากน้อยเพียงใด หากหน้าประวัติศาสตร์มีความเปลี่ยนแปลงไปจะเลือกคงไว้ซึ่งประวัติศาสตร์ชาติที่ล้าหลัง-คลั่งชาติ (คำพูดคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ) แบบเดิม หรือยอมให้ข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งได้ท้าทาย และเกิดการพิสูจน์และชำระกันต่อไป ทั้งหมดขึ้นอยู่กับผู้มีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบว่าจะเลือกให้หน้าประวัติศาสตร์ของเราเป็นอย่างไรต่อไป ...


เอกสารประกอบการเขียน
ต้วน ลี เซิง. ประวัติศาสตร์ไทยในสายตาชาวจีน. กรุงเทพฯ : พิราบ, 2537.
วินัย พงศ์ศรีเพียร. [บรรณาธิการ]. ปาไป่สีฟู่-ปาไป่ต้าเตี้ยน : เชียงใหม่ในเอกสารประวัติศาสตร์จีนโบราณ. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการสืบค้นประวัติศาสตร์ไทยในเอกสารภาษาจีน สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2539.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น