วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การเขียนบรรณานุกรม (ฉบับปลาเน่าเน่า+)

บรรณานุกรม (Bibliography) ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการทำงานเขียนเช่นกัน และสำคัญไม่แพ้ตัวเนื้อหาเลยก็ว่าได้ เพราะตัวรายชื่อหนังสือ ผู้แต่ง ปีที่พิมพ์ ที่ปรากฏในบรรณานุกรมนั่นเองที่จะเป็นตัวสร้างความน่าเชื่อถือให้กับงานวิชาการหรืองานเขียนอะไรก็แล้วแต่ของคุณ

แม้ว่าการเขียนบรรณานุกรมจะมีหลากหลายแบบตามเอกสารที่เรานำมาประกอบการเขียน แต่โดยหลักๆแล้ว สิ่งที่ต้องระบุลงไปก็หนีไม่พ้น ชื่อผู้แต่ง ชื่อหนังสือ แล้วก็ปีที่พิมพ์ ส่วนรายละเอียดอื่นๆก็ค่อยๆว่ากันไป

จริงๆ ที่เขียนขึ้นมานี่ก็เพื่อกันลืมเองด้วย 555+ ก็พยายามรวบรวม มาจากหลายๆเว็บไซท์ แล้วก็ดูแบบจากหนังสือบางเล่ม ก็ลองศึกษาดูแล้วกันครับ ถ้ามีเวลาก็อาจทำการอ้างอิงซึ่งก็สำคัญเช่นกันอีกอันครับ

หลักการเขียนบรรณานุกรม (คร่าวๆ)

1. คำว่า บรรณานุกรม พิมพ์ไว้กลางหน้ากระดาษ (คงรู้กันแล้ว แต่บางทีก็เห็นชิดซ้ายบ้าง ก็ว่ากันไป)
2. เรียงเอกสารจากภาษาไทยก่อน ตามด้วยภาษาอังกฤษ แล้วก็อินเตอร์เน็ท (บางทีก็แยกเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ แล้วก็อินเตอร์เน็ทไปเลย หรือบางทีก็เอาอินเตอร์เน็ทไปรวมไว้ในภาษาไทยหรืออังกฤษเลย) แล้วแต่ละภาษาก็เรียงตามตัวอักษร (ถ้าไม่แม่นลองเปิดพจนานุกรมดู มันจะมีปัญหาตรงเรียงภาษาไทยเนี่ยแหละ)
3. กรณีผู้แต่งหลายคน
- 2 คน ใส่ "และ" คั่น เช่น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และทักษิณ ชินวัตร
- 3 คน ใส่ "จุลภาค" คั่นชื่อแรกกับชื่อสอง แล้วใส่ "และ" คั่นชื่อสองกับสาม เช่น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, ทักษิณ ชินวัตร และเนวิน ชิดชอบ
- มากกว่า 3 ใส่ชื่อคนแรก แล้วตามด้วย "และคณะ" เช่น สุเทพ เทือกสุบรรณ และคณะ
4. ถ้าไม่มีชื่อผู้แต่ง (หรือหาไม่เจอ แม้พลิกซ้าย ขวา หน้า หลังเต็มที่แล้ว) ก็ไม่ต้องใส่ ให้เอาชื่อหนังสือขึ้นก่อนเลย
5. ถ้าเอกสาร 1 ชิ้นใส่ในบรรทัดเดียวไม่พอ บรรทัดต่อไปต้องเริ่มต้นที่ตัวอักษรที่ 9 หรืออีกนัยหนึ่งต้องเคาะ space bar ไป 8 ทีก่อนค่อยเริ่มใหม่

โดยสรุป แนวทางการเขียนก็จะเป็นอย่างนี้

ชื่อผู้แต่ง. ชื่อหนังสือ (จะทำตัวใหญ่ ตัวเอียง หรือขีดเส้นใต้ก็ตามแต่). พิมพ์ครั้งที่ (ใส่เฉพาะเอกสารที่ไม่ได้พิมพ์ครั้งแรก คือ 2-infinity). เมือง/จังหวัดที่พิมพ์ : สำนักพิมพ์, ปีที่พิมพ์. (อย่าลืมจุดปิดท้าย)

ตัวอย่าง
สาครคชเขตต์, หลวง. จดหมายเหตุความทรงจำสมัยฝรั่งเศสยึดจันทบุรี ตั้งแต่ พ.ศ.2436 ถึง พ.ศ.2447. พิมพ์ครั้งที่ 3. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2552.

ข้อควรระวังอื่นๆ
1. ชื่อผู้แต่งนั้น มีข้อควรระวัง คือ
- ไม่ต้องใส่คำนำหน้าชื่ออันได้แก่ นาย นาง นางสาว เด็กหญิง เด็กชาย (Mr. Mrs. Miss) ...
- เรื่องของยศต่างๆ ถ้าเป็นบรรดาศักดิ์ เช่น หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ กรมพระยา พระยา อะไรแนวๆนี้ ต้องเอายศไปไว้หลังชื่อ โดยใส่จุลภาคคั่น

ตัวอย่าง
คึกฤทธิ์ ปราโมช, หม่อมราชวงศ์

- แต่ถ้าเป็นตำแหน่งทางวิชาการ หรือคำระบุอาชีพไม่ต้องใส่ ไม่ว่าจะเป็น ศาสตราจารย์ นายแพทย์ (หมอ) เอ๊ะ แต่ทหารไม่แน่ใจ ถ้ารู้จะมาบอก 555+
- ต่อมาก็เรื่องของพระ (สมณศักดิ์) ไม่ต้องไปยุ่งกับเค้า มายังไง ใส่อย่างนั้น เช่น พระพยอมกัลยาโน หรือพระเทพวาที ก็ใส่ตามนี้ ยกเว้น พระที่เป็นเจ้า หรือพระสังฆราช

ตัวอย่าง
ปรมานุชิตชิโนรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมสมเด็จพระ

- ส่วนฝรั่งให้เอานามสกุลขึ้นก่อน แล้วใส่จุลภาคคั่น ตามด้วยชื่อ

ตัวอย่าง
Jackson, Michael.

- ถ้าเป็นแบบว่ารวมบทความ แล้วมีบรรณาธิการ ก็ใส่ชื่อบรรณาธิการ แล้วใส่ [บรรณาธิการ] ตาม

ตัวอย่าง
เหวง โตจิราการ , บรรณาธิการ.
Beckham, David, ed.

- ส่วนหนังสือแปลจะเป็นอีกรูปแบบนึง ซึ่งจะกล่าวต่อไปข้างหน้า

2. ส่วนเมืองที่พิมพ์นั้น ถ้าช่วงที่พิมพ์ชื่อไหน ก็ใส่ชื่อนั้น เช่น พระนคร ก็ไม่ต้องเปลี่ยนเป็นกรุงเทพฯ แล้วก็ถ้าไม่มี หรือหาแล้วหาอีกก็ไม่เจอให้ใส่ ม.ป.ท. แทน (น่าจะย่อมาจาก ไม่ปรากฏ[เมือง]ที่พิมพ์)

ตัวอย่าง
นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพ่อขุนรามคำแหง. ม.ป.ท. : มติชน, 2310.

3. เรื่องของสำนักพิมพ์ เวลาใส่ ไม่ต้องใส่คำว่าสำนักพิมพ์ (งงมั้ย?? เช่น ใส่ไปเลยว่า มติชน ศรีปัญญา ฯลฯ) แล้วก็ถ้าเป็นหนังสือใหม่ ส่วนใหญ่ก็จะระบุชื่อสำนักพิมพ์ชัดเจน แต่ถ้าเป็นหนังสือเก่าๆ บางทีมันไม่มีสำนักพิมพ์ แต่จะมีโรงพิมพ์บอกครับ ก็ใส่โรงพิมพ์แทน แต่คราวนี้ต้องใส่คำว่าโรงพิมพ์ไปด้วย จะได้รู้ว่าเป็นโรงพิมพ์นะ ไม่ใช่สำนักพิมพ์

ตัวอย่าง
นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพญามังราย. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์หลินปิง, 2456.

4. สุดท้ายก็เรื่องของปีที่พิมพ์ ถ้าไม่มี ระบุไม่ได้ ให้ใส่ ม.ป.ป. แทนครับ (น่าจะย่อมาจาก ไม่ปรากฏปี[ที่พิมพ์])

ที่ว่าไปนี่ แค่เรื่องของหนังสือเล่มธรรมดาครับ ก็คงไม่ยากนัก ต่อไปก็จะว่ากันถึงหนังสือรูปแบบต่างๆ อาจไม่ครอบคลุมทั้งหมดทุกชนิดนะครับ ก็ต้องขออภัยด้วย

การเขียนบรรณานุกรมหนังสือชนิดอื่นๆ

1. ว่ากันที่หนังสือแปลก่อนแล้วกัน สิ่งที่ต้องเพิ่มมาแน่นอนก็คือชื่อคนแปล ดังนั้น หนังสือแปลจึงต้องระบุทั้งคนเขียนในภาษาต้นฉบับ แล้วก็คนที่แปล (อาจจะแปลเป็นไทย หรือแปลจากฝรั่งเศสเป็นอังกฤษอะไรก็ว่าไป)

รูปแบบ ชื่อผู้แต่ง (ต้นฉบับ). ชื่อหนังสือ (ที่แปลแล้ว) แปลจาก (ชื่อหนังสือต้นฉบับ) โดย (คนแปล). เมืองหรือจังหวัดที่พิมพ์ (เล่มที่แปล) : สำนักพิมพ์ (ฉบับที่แปล), ปีที่พิมพ์ (เล่มที่แปล). (อย่าลืมจุด 555+)

ตัวอย่าง
ฮอลล์, ดี อี จี. ประวัติศาสตร์โลก แปลจาก The World History โดย อู๊ด เป็นต่อ. ปัตตานี : หลบระเบิด, 3412.
Yingthai Jaingam. History of Thailand translated by Barack Obama. London : Oxford, 1989. (คือว่าไม่ต้องบอกว่าแปลจากชื่อเรื่องอะไรสำหรับภาษาอังกฤษ)

2. บทความจากวารสาร (journal) สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาก็คือสิ่งที่ปรากฏบนหน้าปกนั่นแหละครับ เช่น ปีที่พิมพ์ ฉบับที่ อะไรแนวๆนี้ ลองไปดูกันครับ อาจจะงงนิดๆ แต่ถ้าเข้าใจแล้วก็น่าจะง่ายขึ้น

รูปแบบ ชื่อผู้แต่ง (บทความที่ใช้). "ชื่อบทความ.(เห็นมั้ยว่ามีจุดด้วย!!!)" ชื่อวารสาร ปีที่. (จุด) ฉบับที่ (เดือน ปี): หน้า.

ตัวอย่าง
จตุพร พรหมพันธุ์. "แดงนรก หมวยยกล้อ" แดงซะ 5. 1 (มกราคม-มีนาคม 2553): 45-46.

3. จากอินเตอร์เน็ท แน่นอนว่าต้องมีชื่อเว็บไซท์ แล้วก็ชื่อเรื่อง ผู้แต่งอาจจะหาไม่เจอก็เอาชื่อเรื่องขึ้นก่อนครับ

รูปแบบ ชื่อผู้แต่ง. [ออนไลน์] (ถ้าภาษาอังกฤษก็ใช้ Online). ชื่อเรื่อง. เข้าใช้เมื่อ (วันที่ เดือน ปี), จาก (url ของเว็บไซท์).

ตัวอย่าง
แช่ม แช่มรัมย์. [ออนไลน์]. เมายันสว่าง. เข้าใช้เมื่อ 1 มกราคม 2554, จาก http://www.maoyunchao.com/. --> อันนี้แบบมีคนแต่ง
แดงแล้วไง. [ออนไลน์]. เข้าใช่เมื่อ 3 สิงหาคม 2445, จาก http://www.dangdang.co.th/. --> อันนี้ไม่มีคนแต่ง

ปล. เวลาทำจริงใน Word ก็คลิกขวา เอาการเชื่อมโยงออกด้วยครับ url เว็บจะได้ไม่เป็นสีฟ้า แล้วก็เปลี่ยนฟ้อนต์ให้มันเหมือนๆกันด้วยล่ะ 55+

4. จากวิทยานิพนธ์ (thesis) แน่นอนต้องมีสถาบัน ชื่อปริญญาอะไรพวกนี้เข้ามาเพิ่มเติม ไปดูกันเลยดีกว่า

รูปแบบ ชื่อผู้แต่ง. ชื่อวิทยานิพนธ์. วิทยานิพนธ์ปริญญา (ชื่อปริญญา) ภาควิชา (ถ้ามี) คณะ มหาวิทยาลัย, ปี.

ตัวอย่าง
กา บิน. ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นระหว่างปี 2456-2458. วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556.

ก็คงจะมีเท่านี้ครับ คิดว่าที่เอามาแต่ละอันน่าจะเป็นอันที่ใช้บ่อยๆ (สังเกตจากตัวเอง) ก็หวังว่าผู้ที่เข้ามาใช้คงจะได้ประโยชน์ไปบ้างแหละ ไม่ใช่แต่คนที่จะทำงานเท่านั้น แต่ผู้อ่านทั้งหลายก็ควรจะรู้เช่นกัน เพื่อที่จะได้ทราบถึงข้อมูลที่คนเขียนหนังสือเขาเอามาใช้เขียน ซึ่งเราอาจจะอยากรู้อยากเห็นเพิ่มเติมแล้วก็ไปหาข้อมูลเหล่านั้นมาอ่านเพิ่ม ซึ่งถ้าอ่านบรรณานุกรมไม่ออกก็คงทำได้ยากนิดหน่อย (แต่ก็ไม่ยากมาก เพราะมันก็ค่อนข้างตรงตัว) แต่ประโยชน์ที่มากที่สุดก็คงไม่พ้นตัวเอง 555+ เพราะทำไว้กันลืม พอจะทำรายงานก็คงต้องมาหาในบล็อกตัวเองเนี่ยแหละ คงไม่มีคนอื่นเข้ามาใช้สักเท่าไรหรอก ลาละ หิววๆๆๆๆ

4 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณนะตะเอ๊ง >___<

    พอดีเข้ามาหาบรรณานุกรมน่ะจ้ะ

    เอ่อ ... แล้วถ้าเป็นพวกเอกสารอัดสำเนา หรือการจัดบรรณานุกรม

    ภาษาไทย ต้องเรียงตามตัวอักษร ตามพจนานุกรม งี้เหรอ ?

    ตอบลบ
  2. - ถ้าเป็นเอกสารอัดสำเนา ผมเคยเห็นเค้าทำกัน คือ วงเล็บว่าเป็นเอกสารอัดสำเนาเลย แต่ไม่แน่ใจว่าใส่ตรงไหนนะครับ

    - การทำบรรณานุกรมต้องเรียงตามพจนานุกรมถูกต้องแล้วครับ ถ้าพจนานุกรมไม่อยู่ใกล้ตัว ลองพึ่ง google ได้ครับ หาคำประมาณว่า เรียงพจนานุกรม ประมาณนี้ครับ

    - เพิ่มเติมนะครับ ตอนนี้สำหรับผมเองจะแยกเป็นหนังสือ บทความ แล้วก็สื่อออนไลน์ ครับ แล้วแต่ละอันก็เรียงตามพจนานุกรม (หรือดิกชันนารี) ครับ

    ขอโทษที่ตอบช้ามากๆเลยครับ พอดีไม่ได้เช็คบทความเก่าๆเลย คงไม่ทันแล้วใช่มั้ย ?? แหะๆ แต่ก็ขอบคุณที่เข้ามาใช้บริการครับ

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณฮ๊าาาาาาา :D

    ตอบลบ
  4. ถ้าไม่มีชื่อผูแต่ง กับวันที่ที่ลงควนทำอย่างไรคะ

    ตอบลบ