ทับหลังศิลปะไพรกเมง (เดิมกำหนดเป็นถาลาบริวัต) พบที่จังหวัดจันทบุรี จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร |
ในวงเหรียญมีรูปครุฑยุดนาค? |
จารึกช่องสระแจง พบที่จังหวัดสระแก้ว จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร |
ในช่วงก่อนนี้มีการกำหนดศิลปะทับหลังชิ้นนี้เป็นถาลาบริวัต แต่ปัจจุบันจัดเป็นไพรกเมง คือ มีมกรคลายเส้นโค้ง (พวงมาลัย?) มีวงเหรียญที่มีรูปบุคคล (ครุฑยุดนาค?) วางเชื่อมอยู่เป็นระยะ ซึ่งชิ้นที่สมบูรณ์ควรมี ๓ เหรียญ? และมีลายพวงอุบะห้อยย้อยเป็นจังหวะ
ศิลปะแบบไพรกเมงมีต้นแบบที่กลุ่มโบราณสถานสมโบร์ไพรกุก (ป่าที่สมบูรณ์หรืออุดมไปด้วยคูหา คือ ปราสาท?) ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเมืองอีศานปุระ? ที่พระเจ้าอีศานวรมันที่ ๑ กษัตริย์พระองค์ที่ ๓ แห่งอาณาจักรเจนละ (ครองราชย์ราวๆ พ.ศ. ๑๑๕๘-๑๑๘๐?) ย้ายเมืองหลวงมาที่นี่
ทับหลังรุ่นเดียวกับชิ้นนี้ยังพบอีก ๓ ชิ้น? เก็บรักษาที่จันทบุรี ซึ่งแต่เดิมทุกชิ้นกำหนดศิลปะเป็นถาลาบริวัตไปหมด แต่เท่าทีดูแล้วควรกำหนดใหม่เป็นไพรกเมง และไพรกเมง-กำปงพระ (มีความผสมผสานกัน) มากกว่า เพราะวงโค้งที่มีวงเหรียญคั่นเป็นระยะแบบทับหลังในรูปได้กลายเป็นเส้นตรงไปแล้ว และเริ่มมีลายพรรณพฤกษาประกอบ ซึ่งที่สมโบร์ไพรกุกก็พบปราสาทบางหลังมีทับหลังแบบไพรกเมงกับไพรกเมง-กำปงพระ อยู่ในหลังเดียวกัน
ที่จันทบุรีมีการพบจารึกรุ่นเก่าที่จารึกด้วยอักษรรุ่นเก่าซึ่งยังใกล้เคียงกับอักษรต้นแบบจากอินเดียใต้ราชวงศ์ปัลลวะมาก คือ จารึกวัดทองทั่ว-ไชยชุมพล (จบ. ๓-๔) ซึ่งน่าจะเป็นส่วนประกอบของศาสนสถาน (ปราสาท) จารึกหลักนี้มีคำสำคัญเป็นชื่อกษัตริย์ คือ ศฺรีศานวรฺมฺม หรือ พระเจ้าอีศานวรมันที่ ๑
ดังนั้น การกำหนดศิลปะทับหลังซึ่งพบที่จันทบุรีชิ้นนี้ (คือชิ้นในภาพ) ใหม่เป็นแบบไพรกเมง และชิ้นอื่นซึ่งเก็บรักษาที่จันทบุรีเป็นไพรกเมง-กำปงพระ ทำให้เกิดความสอดคล้องไปด้วยกันได้ดีกับอายุสมัยของจารึก คือ ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าอีศานวรมันที่ ๑ ซึ่งอิทธิพลของเจนละได้ควบรวมฟูนันอย่างสมบูรณ์ และได้ขยายอาณาเขตเพิ่มเติมจากสมัยพระเจ้ามเหนทรวรมันมายังแถบจันทบุรี (สมัยพระเจ้ามเหนทรวรมันพบจารึกถึงแค่ที่สระแก้ว คือ จารึกช่องสระแจง) ถือเป็นอิทธิพลเขมรที่เก่าที่สุดที่พบในจังหวัดจันทบุรี น่าเสียดายที่ตัวปราสาท (ซึ่งควรเป็นปราสาทอิฐ?) ไม่หลงเหลือแล้ว