วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เอกสารจีนกับประวัติศาสตร์ไทย

ก่อนจะเข้าสู่บทความนี้ ผู้อ่านควรเข้าใจก่อนว่า ประวัติศาสตร์ไทย นั้นคืออะไร ? นี่คือคำถามที่ต้องตอบเสียก่อน และคำตอบก็คงไม่ได้มีแค่คำตอบเดียว แต่เอาเป็นว่าถ้าตอบอย่างง่ายก็คงบอกได้ว่า ประวัติศาสตร์ไทยก็คือ ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในดินแดนรัฐไทยปัจจุบัน อันกอปรขึ้นด้วยคนหลากหลายที่มา ซึ่งเมื่อพูดเช่นนี้ ก็จะได้ขอบเขตของประวัติศาสตร์ที่กว้างขึ้นจาก สุโขทัย-อยุธยา-ธนบุรี-รัตนโกสินทร์

เมื่อพูดถึงสุโขทัยว่าเหตุใดจึงเป็นจุดเริ่มของประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักนั้น ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะหลักฐานการบันทึกที่เก่าที่สุดนั้นเกิดขึ้นในสมัยสุโขทัย และแน่นอนว่าผู้ที่พบบันทึก อันได้แก่ จารึกหลักที่ 1 (พ่อขุนรามคำแหง) นั้น ก็คือพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 4 แห่งจักรีวงศ์ อันทำให้สุโขทัยเข้าสู่ความรับรู้ของคนไทยจำนวนมากได้ดีกว่าประวัติศาสตร์ของล้านนาประเทศหรืออาณาจักรอย่างนครศรีธรรมราชในภาคใต้ที่ยังคงกระจุกตัวอยู่ในวงแคบๆ ทั้งที่สุโขทัยเองนั้นน่าจะมีความใกล้ชิดกับล้านนามากกว่าอยุธยาที่ถูกวางเป็นอาณาจักรภาคต่อของสุโขทัยในสายธารประวัติศาสตร์กระแสหลักด้วยซ้ำ

เมื่อเป็นเช่นนี้ อาณาจักรรอบข้างที่เกิดขึ้นในสมัยเดียวกับสุโขทัย (ประมาณ คริสต์ศตวรรษที่ 13/พุทธศตวรรษที่ 18) หรือสมัยก่อนหน้านั้นที่ปัจจุบันน่าจะอยู่ในดินแดนรัฐไทยจึงหายไปจากความรับรู้ของคนไทย หรือกันไปอยู่เป็นชายขอบของประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลัก

ในยุคปัจจุบันที่เกิด ประวัติศาสตร์แนว alternative ได้แทรกตัวขึ้นมาได้สำเร็จ โดยเฉพาะภายใต้บริบทของแนวคิด Post-Modernism ที่ข้อโต้แย้งทางวิชาการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาณาจักรเหล่านั้นจึงเริ่มปรากฏตัวขึ้นอีกครั้ง แต่ในทางประวัติศาสตร์นั้น หลักฐานถือเป็นสิ่งสำคัญ

ในภาวะที่อาณาจักรโบราณเหล่านั้นขาดแคลนหลักฐานที่เป็นบันทึกเพื่อยืนยันความมีอยู่ของตนเอง นอกจากหลักฐานทางโบราณคดีแล้ว การได้รู้จักกับเอกสารจีนถือเป็นการค้นพบที่สำคัญยิ่ง เพราะบันทึกของราชสำนักจีนนั้นมีระบบ มีความน่าเชื่อถือสูงอยู่แล้ว และนอกจากนั้น ราชสำนักจีนยังได้เริ่มตั้งกองงานชำระประวัติศาสตร์และจดบันทึกตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง (ตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 7) จึงย่อมให้ภาพในช่วงเวลาก่อนสุโขทัยได้อย่างดี เช่น เอกสารจีนพาเรากลับไปรู้จักชื่ออย่าง พัน-พัน (เมืองใดเมืองหนึ่งบนคาบสมุทรมลายู) ตางมาลิง (เมืองนครโบราณ) ปาไป่สีฟู่ (ล้านนา) เจอทู่ (เมืองแถบสงขลาหรือปัตตานี) ฯลฯ แม้แต่ภาพในประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักเองก็ต้องถูกกระทบ และเกิดข้อโต้แย้งจากหลักฐานที่น่าเชื่อถืออย่างเอกสารจีน แต่อีกด้านหนึ่งก็ได้ภาพต่างๆที่มาช่วยเติมเต็มสิ่งที่เอกสารไทยขาดตกไปเช่นกัน

ดังนั้น เราควรมาทำความรู้จักกับเอกสารจีนเหล่านั้นว่ามีที่มาอย่างไรกันบ้าง เรื่องนี้อาจารย์วินัย พงศ์ศรีเพียรได้เขียนไว้ใน เชียงใหม่ในเอกสารประวัติศาสตร์จีนโบราณ บอกไว้ว่าเอกสารจีนนั้นมีถึง 15 ประเภท แต่ไม่ได้ระบุว่ามีชนิดใดบ้าง แต่กล่าวถึงไว้ว่ามี 2 ประเภทที่สำคัญและมีความน่าเชื่อถือสูง คือ สือลู่ และเจิ้งสื่อ ดังนั้น เราจะมารู้จักกับเอกสารทั้ง 2 ประเภทนี้กัน

สือลู่ (Shi-lu)หรือ "บันทึกเรื่องจริง" มีที่มาที่ไปที่ค่อนข้างเป็นระบบซับซ้อน ผมขอเอายกข้อความในหนังสือของอาจารย์วินัยมาแยกเป็นขั้นๆ คือ 1. ทุกๆ 3 เดือน อาลักษณ์ในราชสำนักในความควบคุมของเสนาบดีผู้ใหญ่จะรวบรวมเอกสารที่เรียกว่า ฉี่จื๊อจู้ (จดหมายเหตุพระราชกิจ) เกี่ยวกับฝ่ายหน้าและฝ่ายในขององค์จักรพรรดิ และเอกสารที่เรียกว่า สื่อเจิ้งจี้ (บันทึกราชการปัจจุบัน) ส่งให้กองงานชำระประวัติศาสตร์ 2. บัณฑิตที่กองงานดังกล่าวจะรวบรวม เรียบเรียงเป็นเอกสารที่เรียกว่า ยื้อลี่ (บันทึกรายวัน) 3. เอาเอกสารราชการอื่นๆที่สำคัญมารวบรวมสาระ (น่าจะหมายถึงเรียบเรียง) กลายเป็น สือลู่ จนได้

เจิ้งสื่อ (น่าจะเป็นตัวภาษาจีน 帧史 zheng shi ซึ่งแปลคร่าวๆได้ว่า ประวัติศาสตร์ที่ดีเยี่ยม ดีเลิศ)หรือ "ประวัติศาสตร์ราชวงศ์ ฉบับหอหลวง" ก็มีที่มาจากสือลู่นั่นเอง กล่าวคือ สือลู่ที่สำเร็จแล้วนั้นก็คือข้อมูลที่จะนำมาเขียนเป็นเจิ้งสื่อนั่นเอง แต่จะเขียนเมื่อมีการเปลี่ยนราชวงศ์แล้ว ก่อนหน้านี้ สือลู่ จะถูกผนึกลงหีบไว้ และเมื่อนำมาใช้เขียนเจิ้งสื่อเสร็จแล้วก็จะถูกทำลายไป (เพื่อป้องกันการแก้ประวัติศาสตร์อย่างผิดๆ)

หลักฐานที่มีคุณค่ากว่าในทางประวัติศาสตร์ คือ สือลู่ เพราะเขียนขึ้นร่วมสมัย แต่เนื่องจากถูกทำลายไปมาก จึงเหลืออยู่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนั้น ก็ต้องใช้ เจิ้งสื่อ ที่เรียบเรียงจากสือลู่อีกทีมาใช้ประกอบด้วย ปัจจุบัน เอกสารที่ได้รับการแปล และใช้กันมาก คือ หมิงสือลู่ (ก็คือสือลู่ที่เขียนในสมัยราชวงศ์หมิง) ที่ยังเหลืออยู่มากพอสมควร รวมทั้งหยวนสื่อ (เจิ้งสื่อของราชวงศ์หยวนที่เขียนเขียนขึ้นโดยราชวงศ์หมิงที่เข้ามาแทนที่)ด้วย

หลักฐานที่ว่าไปทั้ง เจิ้งสื่อ และ สือลู่ นั้นต่างเป็นเอกสารของทางราชการ แต่ยังมีเอกสารจีนอื่นๆอีกมาก โดยอาจารย์ต้วน ลี เซิง กล่าวว่ามีเอกสาร 3 ประเภท คือ เอกสารราชการอย่างที่กล่าวไปแล้วเป็นอันหนึ่ง ต่อมา คือ เอกสารและบันทึกจากคนหรือกลุ่มคนต่างๆที่ได้เดินทางไปยังที่ต่างๆ ทั้งทูต พ่อค้านักเดินเรือ ฯลฯ และสุดท้าย คือ เอกสารและจดหมายเหตุซึ่งเป็นพวกต้นฉบับเอกสารต่างๆ เช่น เอกสารเจริญสัมพันธไมตรี เอกสารที่ส่งมาจากหัวเมืองต่างๆ เอกสารพระบรมราชโองการ เป็นต้น

โดยสรุปแล้ว เอกสารจีนนั้นมีประโยชน์แต่การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยอย่างแน่นอน เพียงแต่ผู้ศึกษาปรวัติศาสตร์ไทยจะเลือกใช้ หรือเปิดใจต่อข้อมูลใหม่ๆเหล่านั้นมากน้อยเพียงใด หากหน้าประวัติศาสตร์มีความเปลี่ยนแปลงไปจะเลือกคงไว้ซึ่งประวัติศาสตร์ชาติที่ล้าหลัง-คลั่งชาติ (คำพูดคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ) แบบเดิม หรือยอมให้ข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งได้ท้าทาย และเกิดการพิสูจน์และชำระกันต่อไป ทั้งหมดขึ้นอยู่กับผู้มีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบว่าจะเลือกให้หน้าประวัติศาสตร์ของเราเป็นอย่างไรต่อไป ...


เอกสารประกอบการเขียน
ต้วน ลี เซิง. ประวัติศาสตร์ไทยในสายตาชาวจีน. กรุงเทพฯ : พิราบ, 2537.
วินัย พงศ์ศรีเพียร. [บรรณาธิการ]. ปาไป่สีฟู่-ปาไป่ต้าเตี้ยน : เชียงใหม่ในเอกสารประวัติศาสตร์จีนโบราณ. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการสืบค้นประวัติศาสตร์ไทยในเอกสารภาษาจีน สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2539.

วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การเขียนบรรณานุกรม (ฉบับปลาเน่าเน่า+)

บรรณานุกรม (Bibliography) ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการทำงานเขียนเช่นกัน และสำคัญไม่แพ้ตัวเนื้อหาเลยก็ว่าได้ เพราะตัวรายชื่อหนังสือ ผู้แต่ง ปีที่พิมพ์ ที่ปรากฏในบรรณานุกรมนั่นเองที่จะเป็นตัวสร้างความน่าเชื่อถือให้กับงานวิชาการหรืองานเขียนอะไรก็แล้วแต่ของคุณ

แม้ว่าการเขียนบรรณานุกรมจะมีหลากหลายแบบตามเอกสารที่เรานำมาประกอบการเขียน แต่โดยหลักๆแล้ว สิ่งที่ต้องระบุลงไปก็หนีไม่พ้น ชื่อผู้แต่ง ชื่อหนังสือ แล้วก็ปีที่พิมพ์ ส่วนรายละเอียดอื่นๆก็ค่อยๆว่ากันไป

จริงๆ ที่เขียนขึ้นมานี่ก็เพื่อกันลืมเองด้วย 555+ ก็พยายามรวบรวม มาจากหลายๆเว็บไซท์ แล้วก็ดูแบบจากหนังสือบางเล่ม ก็ลองศึกษาดูแล้วกันครับ ถ้ามีเวลาก็อาจทำการอ้างอิงซึ่งก็สำคัญเช่นกันอีกอันครับ

หลักการเขียนบรรณานุกรม (คร่าวๆ)

1. คำว่า บรรณานุกรม พิมพ์ไว้กลางหน้ากระดาษ (คงรู้กันแล้ว แต่บางทีก็เห็นชิดซ้ายบ้าง ก็ว่ากันไป)
2. เรียงเอกสารจากภาษาไทยก่อน ตามด้วยภาษาอังกฤษ แล้วก็อินเตอร์เน็ท (บางทีก็แยกเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ แล้วก็อินเตอร์เน็ทไปเลย หรือบางทีก็เอาอินเตอร์เน็ทไปรวมไว้ในภาษาไทยหรืออังกฤษเลย) แล้วแต่ละภาษาก็เรียงตามตัวอักษร (ถ้าไม่แม่นลองเปิดพจนานุกรมดู มันจะมีปัญหาตรงเรียงภาษาไทยเนี่ยแหละ)
3. กรณีผู้แต่งหลายคน
- 2 คน ใส่ "และ" คั่น เช่น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และทักษิณ ชินวัตร
- 3 คน ใส่ "จุลภาค" คั่นชื่อแรกกับชื่อสอง แล้วใส่ "และ" คั่นชื่อสองกับสาม เช่น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, ทักษิณ ชินวัตร และเนวิน ชิดชอบ
- มากกว่า 3 ใส่ชื่อคนแรก แล้วตามด้วย "และคณะ" เช่น สุเทพ เทือกสุบรรณ และคณะ
4. ถ้าไม่มีชื่อผู้แต่ง (หรือหาไม่เจอ แม้พลิกซ้าย ขวา หน้า หลังเต็มที่แล้ว) ก็ไม่ต้องใส่ ให้เอาชื่อหนังสือขึ้นก่อนเลย
5. ถ้าเอกสาร 1 ชิ้นใส่ในบรรทัดเดียวไม่พอ บรรทัดต่อไปต้องเริ่มต้นที่ตัวอักษรที่ 9 หรืออีกนัยหนึ่งต้องเคาะ space bar ไป 8 ทีก่อนค่อยเริ่มใหม่

โดยสรุป แนวทางการเขียนก็จะเป็นอย่างนี้

ชื่อผู้แต่ง. ชื่อหนังสือ (จะทำตัวใหญ่ ตัวเอียง หรือขีดเส้นใต้ก็ตามแต่). พิมพ์ครั้งที่ (ใส่เฉพาะเอกสารที่ไม่ได้พิมพ์ครั้งแรก คือ 2-infinity). เมือง/จังหวัดที่พิมพ์ : สำนักพิมพ์, ปีที่พิมพ์. (อย่าลืมจุดปิดท้าย)

ตัวอย่าง
สาครคชเขตต์, หลวง. จดหมายเหตุความทรงจำสมัยฝรั่งเศสยึดจันทบุรี ตั้งแต่ พ.ศ.2436 ถึง พ.ศ.2447. พิมพ์ครั้งที่ 3. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2552.

ข้อควรระวังอื่นๆ
1. ชื่อผู้แต่งนั้น มีข้อควรระวัง คือ
- ไม่ต้องใส่คำนำหน้าชื่ออันได้แก่ นาย นาง นางสาว เด็กหญิง เด็กชาย (Mr. Mrs. Miss) ...
- เรื่องของยศต่างๆ ถ้าเป็นบรรดาศักดิ์ เช่น หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ กรมพระยา พระยา อะไรแนวๆนี้ ต้องเอายศไปไว้หลังชื่อ โดยใส่จุลภาคคั่น

ตัวอย่าง
คึกฤทธิ์ ปราโมช, หม่อมราชวงศ์

- แต่ถ้าเป็นตำแหน่งทางวิชาการ หรือคำระบุอาชีพไม่ต้องใส่ ไม่ว่าจะเป็น ศาสตราจารย์ นายแพทย์ (หมอ) เอ๊ะ แต่ทหารไม่แน่ใจ ถ้ารู้จะมาบอก 555+
- ต่อมาก็เรื่องของพระ (สมณศักดิ์) ไม่ต้องไปยุ่งกับเค้า มายังไง ใส่อย่างนั้น เช่น พระพยอมกัลยาโน หรือพระเทพวาที ก็ใส่ตามนี้ ยกเว้น พระที่เป็นเจ้า หรือพระสังฆราช

ตัวอย่าง
ปรมานุชิตชิโนรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมสมเด็จพระ

- ส่วนฝรั่งให้เอานามสกุลขึ้นก่อน แล้วใส่จุลภาคคั่น ตามด้วยชื่อ

ตัวอย่าง
Jackson, Michael.

- ถ้าเป็นแบบว่ารวมบทความ แล้วมีบรรณาธิการ ก็ใส่ชื่อบรรณาธิการ แล้วใส่ [บรรณาธิการ] ตาม

ตัวอย่าง
เหวง โตจิราการ , บรรณาธิการ.
Beckham, David, ed.

- ส่วนหนังสือแปลจะเป็นอีกรูปแบบนึง ซึ่งจะกล่าวต่อไปข้างหน้า

2. ส่วนเมืองที่พิมพ์นั้น ถ้าช่วงที่พิมพ์ชื่อไหน ก็ใส่ชื่อนั้น เช่น พระนคร ก็ไม่ต้องเปลี่ยนเป็นกรุงเทพฯ แล้วก็ถ้าไม่มี หรือหาแล้วหาอีกก็ไม่เจอให้ใส่ ม.ป.ท. แทน (น่าจะย่อมาจาก ไม่ปรากฏ[เมือง]ที่พิมพ์)

ตัวอย่าง
นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพ่อขุนรามคำแหง. ม.ป.ท. : มติชน, 2310.

3. เรื่องของสำนักพิมพ์ เวลาใส่ ไม่ต้องใส่คำว่าสำนักพิมพ์ (งงมั้ย?? เช่น ใส่ไปเลยว่า มติชน ศรีปัญญา ฯลฯ) แล้วก็ถ้าเป็นหนังสือใหม่ ส่วนใหญ่ก็จะระบุชื่อสำนักพิมพ์ชัดเจน แต่ถ้าเป็นหนังสือเก่าๆ บางทีมันไม่มีสำนักพิมพ์ แต่จะมีโรงพิมพ์บอกครับ ก็ใส่โรงพิมพ์แทน แต่คราวนี้ต้องใส่คำว่าโรงพิมพ์ไปด้วย จะได้รู้ว่าเป็นโรงพิมพ์นะ ไม่ใช่สำนักพิมพ์

ตัวอย่าง
นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพญามังราย. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์หลินปิง, 2456.

4. สุดท้ายก็เรื่องของปีที่พิมพ์ ถ้าไม่มี ระบุไม่ได้ ให้ใส่ ม.ป.ป. แทนครับ (น่าจะย่อมาจาก ไม่ปรากฏปี[ที่พิมพ์])

ที่ว่าไปนี่ แค่เรื่องของหนังสือเล่มธรรมดาครับ ก็คงไม่ยากนัก ต่อไปก็จะว่ากันถึงหนังสือรูปแบบต่างๆ อาจไม่ครอบคลุมทั้งหมดทุกชนิดนะครับ ก็ต้องขออภัยด้วย

การเขียนบรรณานุกรมหนังสือชนิดอื่นๆ

1. ว่ากันที่หนังสือแปลก่อนแล้วกัน สิ่งที่ต้องเพิ่มมาแน่นอนก็คือชื่อคนแปล ดังนั้น หนังสือแปลจึงต้องระบุทั้งคนเขียนในภาษาต้นฉบับ แล้วก็คนที่แปล (อาจจะแปลเป็นไทย หรือแปลจากฝรั่งเศสเป็นอังกฤษอะไรก็ว่าไป)

รูปแบบ ชื่อผู้แต่ง (ต้นฉบับ). ชื่อหนังสือ (ที่แปลแล้ว) แปลจาก (ชื่อหนังสือต้นฉบับ) โดย (คนแปล). เมืองหรือจังหวัดที่พิมพ์ (เล่มที่แปล) : สำนักพิมพ์ (ฉบับที่แปล), ปีที่พิมพ์ (เล่มที่แปล). (อย่าลืมจุด 555+)

ตัวอย่าง
ฮอลล์, ดี อี จี. ประวัติศาสตร์โลก แปลจาก The World History โดย อู๊ด เป็นต่อ. ปัตตานี : หลบระเบิด, 3412.
Yingthai Jaingam. History of Thailand translated by Barack Obama. London : Oxford, 1989. (คือว่าไม่ต้องบอกว่าแปลจากชื่อเรื่องอะไรสำหรับภาษาอังกฤษ)

2. บทความจากวารสาร (journal) สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาก็คือสิ่งที่ปรากฏบนหน้าปกนั่นแหละครับ เช่น ปีที่พิมพ์ ฉบับที่ อะไรแนวๆนี้ ลองไปดูกันครับ อาจจะงงนิดๆ แต่ถ้าเข้าใจแล้วก็น่าจะง่ายขึ้น

รูปแบบ ชื่อผู้แต่ง (บทความที่ใช้). "ชื่อบทความ.(เห็นมั้ยว่ามีจุดด้วย!!!)" ชื่อวารสาร ปีที่. (จุด) ฉบับที่ (เดือน ปี): หน้า.

ตัวอย่าง
จตุพร พรหมพันธุ์. "แดงนรก หมวยยกล้อ" แดงซะ 5. 1 (มกราคม-มีนาคม 2553): 45-46.

3. จากอินเตอร์เน็ท แน่นอนว่าต้องมีชื่อเว็บไซท์ แล้วก็ชื่อเรื่อง ผู้แต่งอาจจะหาไม่เจอก็เอาชื่อเรื่องขึ้นก่อนครับ

รูปแบบ ชื่อผู้แต่ง. [ออนไลน์] (ถ้าภาษาอังกฤษก็ใช้ Online). ชื่อเรื่อง. เข้าใช้เมื่อ (วันที่ เดือน ปี), จาก (url ของเว็บไซท์).

ตัวอย่าง
แช่ม แช่มรัมย์. [ออนไลน์]. เมายันสว่าง. เข้าใช้เมื่อ 1 มกราคม 2554, จาก http://www.maoyunchao.com/. --> อันนี้แบบมีคนแต่ง
แดงแล้วไง. [ออนไลน์]. เข้าใช่เมื่อ 3 สิงหาคม 2445, จาก http://www.dangdang.co.th/. --> อันนี้ไม่มีคนแต่ง

ปล. เวลาทำจริงใน Word ก็คลิกขวา เอาการเชื่อมโยงออกด้วยครับ url เว็บจะได้ไม่เป็นสีฟ้า แล้วก็เปลี่ยนฟ้อนต์ให้มันเหมือนๆกันด้วยล่ะ 55+

4. จากวิทยานิพนธ์ (thesis) แน่นอนต้องมีสถาบัน ชื่อปริญญาอะไรพวกนี้เข้ามาเพิ่มเติม ไปดูกันเลยดีกว่า

รูปแบบ ชื่อผู้แต่ง. ชื่อวิทยานิพนธ์. วิทยานิพนธ์ปริญญา (ชื่อปริญญา) ภาควิชา (ถ้ามี) คณะ มหาวิทยาลัย, ปี.

ตัวอย่าง
กา บิน. ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นระหว่างปี 2456-2458. วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556.

ก็คงจะมีเท่านี้ครับ คิดว่าที่เอามาแต่ละอันน่าจะเป็นอันที่ใช้บ่อยๆ (สังเกตจากตัวเอง) ก็หวังว่าผู้ที่เข้ามาใช้คงจะได้ประโยชน์ไปบ้างแหละ ไม่ใช่แต่คนที่จะทำงานเท่านั้น แต่ผู้อ่านทั้งหลายก็ควรจะรู้เช่นกัน เพื่อที่จะได้ทราบถึงข้อมูลที่คนเขียนหนังสือเขาเอามาใช้เขียน ซึ่งเราอาจจะอยากรู้อยากเห็นเพิ่มเติมแล้วก็ไปหาข้อมูลเหล่านั้นมาอ่านเพิ่ม ซึ่งถ้าอ่านบรรณานุกรมไม่ออกก็คงทำได้ยากนิดหน่อย (แต่ก็ไม่ยากมาก เพราะมันก็ค่อนข้างตรงตัว) แต่ประโยชน์ที่มากที่สุดก็คงไม่พ้นตัวเอง 555+ เพราะทำไว้กันลืม พอจะทำรายงานก็คงต้องมาหาในบล็อกตัวเองเนี่ยแหละ คงไม่มีคนอื่นเข้ามาใช้สักเท่าไรหรอก ลาละ หิววๆๆๆๆ