หลังจากห่างหายจากการติดหนังเกาหลีกู้ชาติไปนานมากๆ
สุดท้ายก็มาติดเรื่อง “ทงอี” จนได้ พล็อตเรื่องน่าสนใจมาก
ขณะที่การแสดงแต่ละฉากสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกได้ถึงเอามากๆ
นอกจากจะได้รับอรรถรสความบันเทิงดังกล่าวแล้ว
ด้วยความที่เรียนประวัติศาสตร์ก็ได้คิดและตั้งคำถามหรือประเด็นไปพร้อมๆกัน
๑)
ว่าด้วยการนับศักราช จริงๆเรื่องนี้คิดไว้ตั้งแต่ดูตอนก่อนๆ
และมาสะกิดเตือนใจในวันนี้ตอนที่มีพระราชโองการ โดยบอกปีเป็นภาษาเกาหลีสองพยางค์
ปีเช่นนี้ก็เหมือนปีแบบไทที่เรียก หนไท หรือจะเรียกแบบแม่มื้อลูกมื้อก็ตามแต่
โดยปีแบบนี้จะวนเป็นรอบๆ ละ ๖๐ ปี คือ แต่ละปีในรอบ ๖๐ ปีนี้จะมีชื่อเฉพาะ และเมื่อครบรอบ
๖๐ ปี ก็จะกลับมาเริ่มปีที่ ๑ ใหม่ วนเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ปัจจุบันเชื่อว่าชนเผ่าไทได้รับการนับปีแบบนี้มาจากจีน
เพราะจีนมีการนับปีแบบนี้เช่นกัน แต่ปรากฏการใช้มานานนับพันปีแล้ว ดังนั้น
ต้นตำรับการนับปีแบบนี้ก็คงเป็นจีนนี้เอง ซึ่งเกาหลีก็คงรับไปจากจีน
ในอินเดียก็มีการนับปีเป็นรอบ ๖๐ ปีเช่นกัน เรียก
“พฤหัสบดีจักร” ปีที่พระพุทธเจ้าโคตมปรินิพพานเข้าใจว่าคงจำหรือจดไว้เป็นชื่อปีแบบนี้ด้วย
แต่ด้วยความเสื่อมถอยของพระพุทธศาสนาในอินเดียคงทำให้เกิดการขาดช่วง จนทำให้เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่ง
ผู้คนได้ลืมไปแล้วว่าชื่อปีที่จดหรือจำไว้นั้นอยู่ในรอบพฤหัสบดีจักรใดกันแน่ พระพุทธศาสนาที่เริ่มนับตั้งแต่พระพุทธเจ้าปรินิพพานจึงเคลื่อนไป
๑ รอบ และน่าจะเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชหรือก่อนนั้นแล้ว
เมื่อลังการับเอาพระพุทธศาสนาไปจากอินเดีย พระเถระผู้ทรงภูมิได้เขียนคัมภีร์ขึ้นชื่อ
“คัมภีร์มหาวงศ์” คัมภีร์นี้ก็ระบุปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานผิดไป ๑ รอบ คือ ๖๐ ปี
เมื่ออาณาจักรพม่า มอญ ล้านนา เขมร ลาว ซึ่งรับพระพุทธศาสนาจากลังกา
(ไม่ว่าโดยตรงหรืออ้อม) ทำให้พุทธศักราชในประเทศเหล่านี้ช้ากว่าความเป็นจริงไป ๖๐
ปีด้วยตราบจนปัจจุบัน
๒)
ผู้เขียนในฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์เกิดข้อสงสัยถึงที่มาของเรื่องราวที่นำมาสร้างเป็นละครอิงประวัติศาสตร์
ผู้เขียนไปทราบถึงเรื่องประวัติศาสตร์นิพนธ์ของเกาหลีเลย
หวังว่าในเร็ววันจะมีผู้ศึกษาเรื่องนี้ขึ้นมาบ้าง (คนไทย) ในเวลานี้จึงได้แต่เดาว่าคงมีพระราชพงศาวดารเขียนไว้กระมัง
แต่ไม่รู้ว่ามีการชำระและฟั่นเฝือแบบไทย
หรือมีระบบการบันทึกที่น่าเชื่อถือเหมือนจีน อย่างไรก็ดี
เรื่องราวที่นำมาสร้างเป็นละครนี้คงมีการดัดแปลงแต่งเติมไปมาก เพื่อให้เกิดผลดีต่อศิลปะการแสดง
๓)
จากที่ดูละครเรื่องนี้มาสักพัก (ใหญ่ๆ)
ก็อดนึกไม่ได้ว่ามีการชำระแต่งเติมในประวัติศาสตร์นิพนธ์เกาหลีจริงๆ
หมวกอีกใบของผู้เขียนคือ นักเรียนรัฐศาสตร์ซึ่งจำเป็นต้องคำนึงถึงประเด็นผู้หญิงกับการเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้
ทั้งการเรียนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาสะท้อนว่าผู้หญิงในราชสำนักตะวันออกมีบทบาททางการเมืองในระดับสูง
ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม แสดงออกหรืออยู่เบื้องหลัง จนผู้เขียนไม่อาจเชื่อว่า “ทงอี”
หรือ “พระสนมซุกบิน” จะไม่ประสีประสาการเมืองเลย มิหนำซ้ำ ยังอดมองไม่ได้ด้วยว่า นางนี้เองที่อยู่เบื้องหลังการชำระตกแต่งประวัติศาสตร์นิพนธ์
เป็นต้นว่าพระราชพงศาวดาร บางทีนางนี้เองที่ได้วางแผนการทั้งหมดเพื่อกำจัด “พระสนมฮีบิน”
ให้พ้นทาง แล้วสนับสนุน “องค์ชายยอนอิง” ให้ขึ้นสู่ราชบัลลังก์
ขณะที่องค์ชายรัชทายาทต้องทรงโดดเดี่ยว จากนั้น เมื่ออำนาจอยู่ในมือ “พระสนมซุกบิน”
ที่ได้กลายเป็นพระพันปีและ “องค์ชายยอนอิง”
ก็ได้จัดการแก้ไขเรื่องทั้งหมดที่ได้บันทึกไว้
หากเรื่องเป็นเช่นนี้
ฉากที่ ซุกบิน เข้าไปหา ฮีบิน ที่กลายสภาพเป็นนักโทษรอวันประหารก็ต้องเป็นการไปสมน้ำหน้ามากกว่าคุยกันเพื่อสะท้อนจิตใจของทั้งสองฝ่ายอย่างในละคร
และฉากที่ ซุกบิน เข้าไปเฝ้าพระสวามีก็ควรเป็นการเฝ้าเพื่อเร่งให้การประหารมีขึ้นในทันที
นื่คือผู้หญิงที่มีบทบาทการเมืองอย่างน่าทึ่งมากๆ
“แต่ทั้งหมดนี้คือนิยายเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนสร้างขึ้นอย่างไร้ซึ่งหลักฐาน
อย่าคิดตามและคิดมาก”
๔)
ด้วยความเป็นมนุษย์ที่มองมนุษย์ วันนี้รู้สึกสะเทือนใจอย่างถึงที่สุดกับฉากที่พระราชาทอดพระเนตรพระสนมฮีบินกำลังกลั้นใจดื่นยาพิษและค่อยๆตายลงอย่างช้าๆ
ในขุนช้างขุนแผนมีสำนวน “วัวเคยค้า ม้าเคยขี่” คือ คนมันคุ้นเคยรักใคร่กันมา
แต่เหตุใดพระราชาจึงใจแข็งสังประหารชีวิตได้เช่นนั้น เพราะซุกบิน? เพราะหน้าที่? เพราะความถูกต้อง? ฯลฯ เพราะอะไรกัน
ทำไมพระราชาจึงทำเช่นนั้นได้ลงคอ
แน่นอนว่าพระราชาต้องรักษาขื่อแปของบ้านเมืองและราชสำนัก แต่อำนาจสิทธิ์ขาดอยู่ที่พระองค์เอง
เยื่อใยและความผูกพันหายไปเสียแล้วหรือไร น่าสังเวชใจเสียจริง
ไหนจะองค์รัชทายาทที่ต้องโดดเดี่ยว และมีปัญหาจิตใจเพิ่มมากจากปัญหาสุขภาพ
ผู้เขียนจินตนาการตัวเองเป็นพระราชาและพระสนมซุกบินเท่าไร ก็ไม่เห็นทางให้คำพิพากษาออกมาเช่นนี้
โดยเฉพาะพระสนมซุกบิน ภาพนางเอกได้หายไปแล้วในวันนี้
นางไม่คิดช่วยรั้งชีวิตพระสนมฮีบินไว้
นางไร้ปฏิกิริยาในทางที่ดีกับคำขอชีวิตพระสนมฮีบินขององค์รัชทายาท
นางเฉยเมยกับคำขอสุดท้ายของพระสนมฮีบิน ตกลงซุกบินเป็นคนอย่างไร แต่ถึงอย่างไรก็ไม่มีปาฏิหาริย์สำหรับฮีบิน
…