วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2554

ความไม่สงบในชายแดนใต้: จุดเริ่มต้นครั้งใหม่

จากเหตุการณ์รุนแรง (ซึ่งต้องกล่าวว่ารุนแรงจริงๆ ไม่ใช่เหตุการณ์รุนแรงทั่วๆไปเหมือนในอดีต) รายวันในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ช่วงเดือนสองเดือนมานี้ จึงทำให้นึกถึงรายงานในวิชา สัมมนาประวัติศาสตร์ไทย ในเทอมที่ผ่านมานี้เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว แต่ก่อนจะได้นำมาลงขออารัมภบทให้ยืดยาวเสียก่อน

ผู้เขียนเคยคาดการณ์ไว้ว่า เหตุการณ์ถล่มค่ายพระองค์ดำ เมื่อ 19 มกราคม พ.ศ.2554 จะนำมาซึ่งความรุนแรงอย่างน่าหวาดหวั่น ซึ่งวันนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นจริง บทความที่จะนำมาลงไว้ตอนท้าย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายงานที่กล่าวถึงไปจะได้ชี้ให้เห็นต้นตอที่เป็นไปได้ปัจจัยหนึ่ง คือ นโยบายเชิงรุกจากฝ่ายรัฐ (ถ้าให้เจาะจงก็คือ กองทัพ) นับได้ว่า จุดเริ่มต้นความรุนแรงครั้งใหม่นี้ไม่ได้มาจากฝ่ายผู้ก่อการ แต่มาจากฝ่ายรัฐที่เปิดเกมรุกเข้าใส่ก่อน

และหลังเหตุการณ์วันที่ 19 มกราคม ฝ่ายรัฐทั้งทหารตำรวจต่างประกาศใช้กำลังเข้ากวาดล้าง และกลายเป็นข่าวถี่ยิบถึงการพบแหล่งซ่องสุมของผู้ก่อการ หรือจับตายผู้ก่อการ โดยเฉพาะกลุ่ม RKK การที่คลื่น(ความรุนแรง)สองลูกมาปะทะกันย่อมเกิดคลื่นลูกใหม่ที่ใหญกว่าเดิมตามหลักฟิสิกส์ และผู้เขียนก็ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าคลื่นนี้จะสูงขึ้นจนถึงเมื่อใด และจะสูงไปนานเท่าใด อันหมายถึง ไม่อาจรู้ได้เลยว่าความุรนแรงระลอกนี้จะจบสิ้นไปเมื่อใด

รัฐไม่ได้แก้ปัญหา แต่กำลังเลี้ยงไข้ สร้างปัญหา รวมทั้งลงไปเป็นคู่ขัดแย้ง (เหมือนที่เคยเป็นมา) เสียเอง การที่ 4 ส.ส.ชายแดนใต้ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาประกาศฉะการแก้ปัญหาไฟใต้และต้องการเปลี่ยนตัว ผบ.ทบ. ซึ่งไม่รู้ว่ามีเป้าประสงค์ทางการเมืองแฝงอยู่หรือไม่ (และก็ควรมองว่าคนที่บอกว่าคนกลุ่มนี้มีเป้าประสงค์ทางการเมืองมีเป้าประสงค์ทางการเมืองอะไรด้วย) เป็นภาพสะท้อนการหลงทางอย่างบัดซบที่สุด! ของรัฐไทยในการแก้ปัญหา และไม่มีทีท่าจะรับฟังฝ่ายอื่นๆด้วย (เรียกไปพบกับ ผบ.ทบ. เพื่อเคลียร์ให้ทุกสิ่งกลับสู่ภาวะก่อนการพูด) รัฐไทยยังมองความมั่นคงและเอกภาพมาเป็นอันดับแรก ส่วนชีวิตชาวบ้าน หรือแม้แต่พระที่ชาวไทยสะดีดสะดิ้งเมื่อถูกยิงตาย กลับกลายเป็นผักปลาที่ไร้ค่าในสายตา ฝ่ายทหารยังคงเชื่อมั่นในวิธีการปราบปรามอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ส่วนรัฐบาลก็ไร้น้ำยาพอที่จะต่อรองกับกองทัพได้ (ตกลงนายกฯหรือ ผบ.ทบ. เป็นหัวหน้ากันแน่?)

ผบ.ทบ. คนปัจจุบัน คือ ผู้นำกองทัพตามแบบกองทัพจริงๆ คือ แข็งกร้าว ถือตนว่าเก่งว่าสูงกว่าผู้อื่น (เคยออกมาทวงบุญคุณของทหารจากประชาชน...) เด็ดขาด ฯลฯ ซึ่งคุณสมบัติเช่นนี้ล้วนแต่จะทำให้ปัญหาชายแดนใต้เลวร้ายลง การแก้ปัญหาความขัดแย้งที่หยั่งรากลึก มีต้นตอทั้งจากเชื้อชาติ ศาสนา สังคมและวัฒนธรรม ทั้งยังมีภูมิหลังที่แย่จากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐหรือนโยบายของผู้มีอำนาจทั้งฝ่ายพลเรือนและกองทัพ ไม่อาจแก้ได้โดยการใช้กำลัง ปัญหาเช่นนี้ไม่เคยยุติลงได้อย่างง่ายดาย ปากีสถานขอแยกจากอินเดียด้วยความขัดแย้งทางศาสนา ซูดานแยกเป็นเหนือ-ใต้ ส่วนหนึ่งมาจากเชื้อชาติและศาสนา ฯลฯ จะเห็นได้ว่า สุดท้าย ปัญหาที่มีต้นตอเช่นนี้อาจจบลงด้วยการแยกทาง ... ถ้าไม่อยากเห็นก็หยุด !!!

ส่วนรัฐบาลปัจจุบันก็ดูอิ่มหนำสำราญกับการสวาปาล์ม ทุจริตอย่างหน้าด้านๆยิ่งกว่ายุคทักษิณเสียด้วยซ้ำ หากแต่มีกองทัพหนุนหลัง และประชาธิปัตย์คือพรรคที่ตั้งมาโดยมีสโลแกนโปรเจ้านิยมเจ้าอย่างออกนอกหน้าอยู่แล้ว ย่อมแตะต้องได้ยากยิ่ง โดยเฉพาะกองทัพที่ประกาศตนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่าเป็นทหารพระราชา/ราชินี ดังนั้น แม้ผิดใจกันปานใด ก็ถือว่าต้องเคลียร์กันให้รู้เรื่อง ไม่งั้นคงมีเรื่องในมุ้งกลุ่มคลั่งเจ้า (ปชป.-กองทัพ) ดังนั้น ข่าวลือปฏิวัติจึงเชื่อได้ยากจริงๆกับรัฐบาลชุดนี้ (ขณะที่คนหลงยุคบางคนยังเชียร์ให้ทหารปฏิวัติ)

ขอสรุปตรงนี้ว่า เหตุการณ์รุนแรงระลอกใหม่นี้ ไม่ได้มาจากการต้องการโชว์พาว (power) ของฝ่ายผู้ก่อการ หากแต่มาจากนโยบายของกองทัพ ซึ่งมุ่งใช้นโยบายเชิงรุกไปกระทบต่อผู้ก่อการ และยังคงใช้ต่อไปหลังเหตุการณ์เมื่อ 19 มกราฯ จนเหตุการณ์บานปลายอย่างทุกวันนี้ (ล่าสุดก็ระเบิดแฟลตตำรวจ - 7 มี.ค.) อย่าทำอะไรจนถึงขั้นอยู่ในเขตแดนเดียวกันไม่ได้ และต้องแบ่งแยกดินแดนกันในภายหน้า (ผู้เขียนไม่ได้รู้สึกรู้สาอะไร แต่พวกคลั่งชาติบางคนคงน้ำตาไหลพรากๆเป็นแน่)

ข้อเสนอในการแก้ปัญหาของผู้เขียนคงไม่เปลี่ยนแปลง คือ เปิดเจรจา รับฟังข้อเรียกร้องจากฝ่ายต่อต้านรัฐ นั่นคือหนทางที่ดีที่สุด และจากนั้น (หรือทำก่อนก็เอาเถอะ) ควรให้อำนาจคนในท้องถิ่นได้ปกครองตนเอง ข้าพเจ้ารู้สึกสงสาร พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ (อาจเป็นครั้งเดียว) เมื่อครั้งเสนอ "นครรัฐปัตตานี" ซึงยังไม่ทันเสนออย่างเป็นรูปเป็นร่างก็ถูกตอกกลับจนหน้าหงาย ด้วยทั้งเกมการเมืองและกลุ่มคลั่งชาติ ทั้งที่เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ ข้าพเจ้าไม่เพียงแต่เห็นว่าพื้นที่ชายแดนใต้เท่านั้นที่ควรให้ปกครองตนเอง หากแต่ทุกพื้นที่ควรมีการจัดการปกครองใหม่ การแบ่งเป็นมณฑลหรือมลรัฐไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดของโลกที่ประเทศจีนไม่มีขนมจีนใบนี้ เพื่อให้อำนาจการจัดการตอบสนองความต้องการประชาชนได้อย่างดี ขาวนาที่พิษณุโลกคงไม่ต้องปิดถนนถ้ามีรัฐบาลท้องถิ่นดูแลราคา หรือจัดการนายทุนที่เอาเปรียบพวกเขาได้ทันท่วงที สมัชชาคนจนคงไม่ต้องไปๆกลับๆกับเรื่องเปิด-ปิดเขื่อนปากมูล ถ้ามีรัฐบาลท้องถิ่นที่มองเห็นปัญหา เอาเถอะ บางคนบอกว่าระบบจะเป็นอย่างไงก็ช่างหัวมัน ขอให้มีคนดี (ดีคืออะไร อย่างไร)ปกครองเท่านั้นก็พอ ... ก็เอาเถอะ !!! แม้ไม่รู้ว่าดีเป็นอย่างไร (ไม่ทุจริต ช่วยประชาชน ให้ตังค์คนจน พัฒนาเศรษฐกิจ ฯลฯ) แต่ก็พออนุมานได้ตามในวงเล็บ แล้วก็คงต้องบอกว่ายากที่จะเกิด อุดมการณ์ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญไม่มี สิ่งที่จะฉุดรั้งจิตใจผู้ปกครอง (สุโขทัยมีไตรภูมิกถา) ส่วนสภาพแวดล้อมก็เต็มไปด้วยคนเทือกๆ อย่าหวังกับตัวผู้นำมากไปกว่าตัวเอง ซึ่งระบบที่กระจายอำนาจย่อมทำให้เราๆเข้าถึงอำนาจได้ง่ายกว่า หรือไม่จริง???

ปิดท้ายที่บทความสั้นๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายงานวิชา สัมมนาประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งเป็นการเขียนร่วมกับเพื่อนผู้หนึ่ง (เอามาลงโดยยังไม่ขออนุญาตเลย) ขอไม่ออกชื่อแล้วกัน เพราะยังไม่ได้บอกกล่าวว่าให้เอาลงได้มั้ย เนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อ 19 มกราฯ ที่ผ่านมา และได้วิเคราะห์ถึงต้นเหตุโดยคร่าวๆ ดังนี้


ถล่มค่ายพระองค์ดำ ปัญหาที่ไร้จุดจบ?

เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ได้ดำเนินเรื่อยมาอย่างต่อเนื่อง และไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลง จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง คือ เหตุการณ์ถล่มค่ายพระองค์ดำ เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2554

มติชนออนไลน์ รายงานว่า “เหตุดังกล่าวเกิดขึ้น ประมาณ 19.30 น. กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงประมาณ 40 คน เข้าปะทะกับทหารซึ่งอยู่ในที่ตั้งฐานปฏิบัติการ กองร้อยทหารราบที่ 15121 สังกัดหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ 38 โดยคนร้ายเข้ามาโจมตีทางด้านหลังของฐานปฎิบัติการ จึงได้เกิดการยิงปะทะกันขึ้นใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงจึงล่าถอยไป หลังเกิดเหตุพบผู้เสียชีวิต 4 นาย คือ ร.อ.กฤช คัมภีรญาณ ผู้บังคับกองร้อยทหารราบที่ 15121, ส.ท.เทวรัตน์ เทวา, ส.ท.อับดุลเลาะ ดะหยี, และพลทหาร ประวิทย์ ชูกลิ่น และมีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยอีก 7 นาย ซึ่งได้นำส่งโรงพยาบาลในเวลาต่อมา” นอกจากนี้ ผู้ก่อการยังได้อาวุธปืนจำนวนหนึ่งไปด้วย

เหตุการณ์นี้ได้รับความสนใจจากสังคมไทยอย่างมาก เพราะถือเป็นการโจมตีกองทหารอย่างอุกอาจ และมีทหารระดับพันเอกเสียชีวิต บางคนนำเหตุการณ์นี้ไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อต้นปี 2547 ด้วย (โฆษกกองทัพบางคนพยายามบอกว่าไม่ได้ร้ายแรงเท่า ซึ่งวิเคราะห์ได้ว่าเพื่อลดระดับความรุนแรงของเหตุการณ์)

สำหรับสาเหตุการโจมตีครั้งนี้ไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจเกี่ยวข้องการกับการยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษ คือ “พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน” และเปลี่ยนมาใช้ “พ.ร.บ.ความมั่นคง” อันเป็นกฎหมายปกติ โดยเฉพาะแผน “แม่ลาน 54” ซึ่งเป็นการใช้มาตรา 21 ของกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้ผู้กระทำความผิดในพื้นที่ อ.แม่ลาน มาแสดงตัวและมอบตัว เพื่อเข้ากระบวนการพิจารณาซึ่งอาจไม่ต้องรับโทษ โดยเริ่มดำเนินการแล้วระหว่างวันที่ 19 มกราคม จนถึงวันที่ 18 มกราคม 2555 ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ต้องการตัดกำลังและแย่งชิงมวลชนจากฝ่ายกลุ่มก่อความไม่สงบ

จากเหตุการณ์นี้ สะท้อนว่ากลุ่มก่อความไม่สงบได้พยายามเคลื่อนไหวเพื่อแสดงให้รัฐเห็นถึงพลังของกลุ่มตน ซึ่งความพยายามสร้างสถานการณ์เช่นนี้น่าจะยังคงมีต่อไป ตราบที่รัฐบาลยังคงมุ่งใช้นโยบายเชิงรุกต่อปัญหาชายแดนภาคใต้ เช่น การใช้แผนแม่ลาน 54 เป็นต้น

เอกสารประกอบการเขียน
มติชนออนไลน์. [Online]. กอ.รมน.ภาค 4 แถลงเหตุถล่มฐานระแงะ เผยคนร้ายมี 40 คน ยังไม่ทราบอาวุธใดหายไปบ้าง สั่งเร่งไล่ล่า. เข้าถึงเมื่อ 21 มกราคม 2554 จาก http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1295501339&grpid=00&catid=&subcatid=.
มติชนออนไลน์, [Online]. กอ.รมน.คลอดแผน"แม่ลาน 54" ดึงผู้หลงผิดเป็นพวก. เข้าถึงเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2554 จาก http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1296654781&grpid=03&catid=03.