วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2556

ข้อคิดเห็นใหม่เกี่ยวกับอายุและศิลปะของทับหลังรุ่นแรกที่พบในจังหวัดจันทบุรี

ทับหลังศิลปะไพรกเมง อายุปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๒ พบที่โบราณสถานเมืองเพนียด จังหวัดจันทบุรีชิ้นหนึ่ง จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานพระนคร ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าชมพร้อมกับผู้เข้าร่วมอบรมภาษาเขมรท่านอื่นๆ เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๖


ทับหลังศิลปะไพรกเมง (เดิมกำหนดเป็นถาลาบริวัต) พบที่จังหวัดจันทบุรี
จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ในวงเหรียญมีรูปครุฑยุดนาค?
จารึกช่องสระแจง พบที่จังหวัดสระแก้ว
จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ในช่วงก่อนนี้มีการกำหนดศิลปะทับหลังชิ้นนี้เป็นถาลาบริวัต แต่ปัจจุบันจัดเป็นไพรกเมง คือ มีมกรคลายเส้นโค้ง (พวงมาลัย?) มีวงเหรียญที่มีรูปบุคคล (ครุฑยุดนาค?) วางเชื่อมอยู่เป็นระยะ ซึ่งชิ้นที่สมบูรณ์ควรมี ๓ เหรียญ? และมีลายพวงอุบะห้อยย้อยเป็นจังหวะ

ศิลปะแบบไพรกเมงมีต้นแบบที่กลุ่มโบราณสถานสมโบร์ไพรกุก (ป่าที่สมบูรณ์หรืออุดมไปด้วยคูหา คือ ปราสาท?) ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเมืองอีศานปุระ? ที่พระเจ้าอีศานวรมันที่ ๑ กษัตริย์พระองค์ที่ ๓ แห่งอาณาจักรเจนละ (ครองราชย์ราวๆ พ.ศ. ๑๑๕๘-๑๑๘๐?) ย้ายเมืองหลวงมาที่นี่

ทับหลังรุ่นเดียวกับชิ้นนี้ยังพบอีก ๓ ชิ้น? เก็บรักษาที่จันทบุรี ซึ่งแต่เดิมทุกชิ้นกำหนดศิลปะเป็นถาลาบริวัตไปหมด แต่เท่าทีดูแล้วควรกำหนดใหม่เป็นไพรกเมง และไพรกเมง-กำปงพระ (มีความผสมผสานกัน) มากกว่า เพราะวงโค้งที่มีวงเหรียญคั่นเป็นระยะแบบทับหลังในรูปได้กลายเป็นเส้นตรงไปแล้ว และเริ่มมีลายพรรณพฤกษาประกอบ ซึ่งที่สมโบร์ไพรกุกก็พบปราสาทบางหลังมีทับหลังแบบไพรกเมงกับไพรกเมง-กำปงพระ อยู่ในหลังเดียวกัน


ที่จันทบุรีมีการพบจารึกรุ่นเก่าที่จารึกด้วยอักษรรุ่นเก่าซึ่งยังใกล้เคียงกับอักษรต้นแบบจากอินเดียใต้ราชวงศ์ปัลลวะมาก คือ จารึกวัดทองทั่ว-ไชยชุมพล (จบ. ๓-๔) ซึ่งน่าจะเป็นส่วนประกอบของศาสนสถาน (ปราสาท) จารึกหลักนี้มีคำสำคัญเป็นชื่อกษัตริย์ คือ ศฺรีศานวรฺมฺม หรือ พระเจ้าอีศานวรมันที่ ๑

ดังนั้น การกำหนดศิลปะทับหลังซึ่งพบที่จันทบุรีชิ้นนี้ (คือชิ้นในภาพ) ใหม่เป็นแบบไพรกเมง และชิ้นอื่นซึ่งเก็บรักษาที่จันทบุรีเป็นไพรกเมง-กำปงพระ ทำให้เกิดความสอดคล้องไปด้วยกันได้ดีกับอายุสมัยของจารึก คือ ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าอีศานวรมันที่ ๑ ซึ่งอิทธิพลของเจนละได้ควบรวมฟูนันอย่างสมบูรณ์ และได้ขยายอาณาเขตเพิ่มเติมจากสมัยพระเจ้ามเหนทรวรมันมายังแถบจันทบุรี (สมัยพระเจ้ามเหนทรวรมันพบจารึกถึงแค่ที่สระแก้ว คือ จารึกช่องสระแจง) ถือเป็นอิทธิพลเขมรที่เก่าที่สุดที่พบในจังหวัดจันทบุรี น่าเสียดายที่ตัวปราสาท (ซึ่งควรเป็นปราสาทอิฐ?) ไม่หลงเหลือแล้ว

วันอังคารที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2556

สงกรานต์: การยึดมั่นในความตายตัวของสังคมไทย

"สงกรานต์" ลาวออกเสียงว่า "สังขาน" เช่นเดียวกับล้านนา (กร ออกเสียงเป็น ข) ป้ายในรูปนี้จึงติดว่า "งานปะกวด นางสังขาน นะคอนหฺลวงวฺยงจัน (เวียงจันทน์)"

งานปะกวด นางสังขาน นะคอนหฺลวงวฺยงจัน ปะจำปี พ.ส 2556 , ค.ส 2013
จาก page Laos Pictures (http://www.facebook.com/LaosPictures)

สงกรานต์ เป็นคำยืมภาษาสันสกฤต (สงฺกฺรานติ) คำเดิมต้องออกเสียง สังกรานต์ เพราะแขกไม่มีสระโอะ แต่ไทยยืมมาแล้วเปลี่ยนเสียงสระไป ขณะที่ล้านนาและลาวไม่ได้เปลี่ยน ยังออกเสียงว่า "สัง" ไม่ใช่ "สง"

สงกรานต์ แปลตามรากศัพท์ว่า เคลื่อนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง (going from one place to another) ซึ่งหมายถึง การที่พระอาทิตย์เคลื่อนจากราศีหนึ่งไปสถิตอีกราศีหนึ่ง

"๑ ปี จึงมีสงกรานต์ ๑๒ ครั้ง เพราะมี ๑๒ ราศี" แต่สงกรานต์ที่สำคัญที่สุด คือ พระอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสถิตราศีเมษ ไทยเรียกวันดังกล่าวว่า วันมหาสงกรานต์ ภาคเหนือเรียก "สังขานล่อง" วันนี้คือวันแรกของเทศกาลสงกรานต์ ประมาณ ๖๐ ปีก่อนจนถึงปีที่แล้วตรงกับวันตามปฏิทินสุริยคติ คือ ๑๓ เมษายน แต่ตั้งแต่ปีนี้ไปอีกประมาณ ๖๐ ปี จะตรงกับวันที่ ๑๔ เมษายน


วัยรุ่นชาวลาวเล่นสงกรานต์ที่เมืองหลวงพระบาง โดยมีคำอธิบายว่า
"traditional photo is ended, please enjoy real Water festival foto"
จาก page Luang Prabang Moradok (
http://www.facebook.com/luangprabang.mdr)

วันถัดมาเป็นวันเนาว์ หรือวันเนา หรือวันดา เป็นวันที่รอให้พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษให้หมดเสียก่อน แล้ววันถัดมาที่พระอาทิตย์สถิตราศีเมษทั้งหมดแล้ว จึงจะเป็นวันเถลิงศก ภาคเหนือเรียก "พญาวัน" คือ เป็นวันที่สำคัญใหญ่กว่าวันทั้งปวง (พญา เป็นคำยืมภาษามอญ หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ ไทยรับมาใช้หลายรูปทั้ง พรญา พระยา พญา) "ปีนี้ก็เลื่อนจากวันที่ ๑๕ เมษายน ไปเป็น ๑๖ เมษายนด้วย"

การเลื่อนวันสงกรานต์เช่นนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะคัมภีร์ที่ใช้คำนวณเป็นของเก่าที่ย่อมคลาดเคลื่อนไปเรื่อยๆ (คลาดเคลื่อนไปจากการคำนวณทางดาราศาสตร์) เมื่อเราใช้คัมภีร์เก่าในการคำนวณปฏิทินก็ต้องเลื่อนวันตามที่คำนวณได้


รูปการเล่นน้ำสงกรานต์ของชาวลาวที่หลวงพระบางที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
จาก page Luang Prabang Moradok (http://www.facebook.com/luangprabang.mdr)
อย่างไรก็ดี ความเคยชินมักทำให้เกิดความคิดที่แน่นิ่งตายตัวกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และคิดว่าจะดำรงอยู่เช่นนี้ตลอดไปไร้ซึ่งความเปลี่ยนแปลง ซึ่งมักนำไปสู่ปัญหา ในประเด็นวันสงกรานต์เกิดปัญหา คือ ทางภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องไม่ยอมเปลี่ยนเทศกาลสงกรานต์ให้เป็นวันที่ ๑๔ ไปจนถึงวันที่ ๑๖ เราจึงฉลองสงกรานต์เคลื่อน(เร็ว)ไป ๑ วัน และถ้ายังไม่หยุดทัศนคติที่จะคงเทศกาลสงกรานต์ให้แน่นิ่งไว้เช่นนี้ (ทั้งที่ในอดีตเราก็เลื่อนมาเรื่อยๆ จนมาหยุดที่ ๑๓-๑๕ เมษายน ประมาณ ๖๐ ปี จนถึงปีก่อน) ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลหรือปัจจัยใดๆ ก็ตาม อีกประมาณ ๖๐ ปีข้างหน้า เทศกาลสงกรานต์ก็จะเคลื่อน(เร็ว)ไป ๒ วัน และเคลื่อนไป ๑ วันอีกประมาณทุกๆ ๖๐ ปี

แน่นอนว่าความคลาดเคลื่อนของคัมภีร์เก่าต้องมีการแก้ปัญหา มิเช่นนั้น วันสงกรานต์อาจเคลื่อนไปจนถึงเดือนพฤษภาคมได้ (แต่ก็เป็นเวลายาวนานเกิน ๑,๐๐๐ ปี) แต่ปัญหาที่ใกล้กว่านั้น คือ เรากลับละเลยความถูกต้องแล้วกลับยึดเอาความแน่นิ่งตายตัวที่มาจากความเคยชิน ซึ่งแม้จะไม่เกิดปัญหาใดๆ ร้ายแรง แต่นั่นก็เท่ากับเลือกที่จะเบือนหน้าใส่ผลการคำนวณจากคัมภีร์ซึ่งยึดถืออยู่ หากต้องการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ควรให้เหตุผลและชี้แจงแก่ประชาชน มิใช่จัดการอย่างลอยๆ และทำให้คนที่ไม่รู้อยู่แล้วไม่ต้องรู้ตลอดไป ... นี่ไม่ใช่ลักษณะอันควรเกิดในสังคมแห่งการเรียนรู้ที่กำลังฟักตัวของไทย !!!

วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2556

What a fucking stereotype on me (and other guy)?


          The man is the leader. This word is the significant example of the world of stereotype. Guys should be for everything his lover wants, and if not, you are bad! I think everyone has his or her own identity and do everything in his or her way. But most people look the world like it has many exact rules that existed since the earth was born. The man is stronger than woman so the man must lead, if you are behind you are a bad guy. So Yingluck should go to the kitchen and cook for her family and Aung San Su Kyi should go back to look after her children better, anything wrong?

          Why the wide sight did not be put in our eyes? Discourses (Thai: vadakram) that created by many powers, such as traditional leaders, religion, media, and everyone that can let his or her thought to the public, are the most effective factor to our way of thought. If an actor who love his mom so much tell us through the TV program that the nice guy should love mom and it impress many people in the society, loving mom will become the good attitude of that society. And in the same way, the soap opera that the leading actor take care of his wife in everything she want, the responsibility of the man that should do for another sex, especially the wife, will come to the position that every man should be there. Moreover, Stereotype can be considered as violence. It hurt many people on earth and will do more and more.

          I think we cannot destroy the thick wall like stereotype easily. It was absorbed deeply in everyone thought. In the other hand, we do not want someone to affect us with stereotype so we have to learn to open our heart for different thinking and accept it to appear in our society. The third gender is another fine instance for fighting against the world of stereotype and can change the thought in the world to have better sight on them. If all of stereotype issue can be adjust in the better way, our world could be a happier world. 

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ลมฟ้ากับอารมณ์


ในเช้าที่ลมโชยพาอากาศเย็นสดชื่นมาสู่เมืองกรุง การตื่นขึ้นจากความฝันสู่โลกความเป็นจริงก็ดูจะคุ้มค่าขึ้นเป็นทวี อากาศหนาวที่มีแค่ปีละครั้ง และก็ไม่มีอะไรมายืนยันได้ว่าจะเป็นแบบนี้ไปอีกนานเท่าใด สามารถเป็นยากระตุ้นให้คนอยากลุกจากเตียงขึ้นมาสูดความเย็นเข้าปอด แต่บางคนก็เลือกที่จะอยู่ใต้ผ้าห่มอุ่นๆ ให้นานขึ้นอีกนิดจะดีกว่า

อากาศและฤดูกาลช่างส่งผลต่อมนุษย์อย่างยิ่งยวด จะมีสักกี่คนที่ทานทนต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม และอุณหภูมิรอบกายอย่างไร้ซึ่งความรู้สึก เพลงหลายเพลงบ่งบอกความรู้สึกที่เหล่าศิลปินจินตนาการถึงยามลม ฝน หรือแดด มาเยือน ซึ่งเพลงเหล่านี้บางครั้งเป็นเพียงตัวสะท้อน แต่บางครั้งได้ตอกย้ำความรู้สึกเช่นนั้นแก่ผู้ฟัง และอาจทำให้ความด้านชาต่อฝนฟ้าอากาศลดน้อยลงไป

ยามฝนพรำ เปียกแฉะ ชุ่มชื้น เละเทะ เย็นฉ่ำ ฯลฯ หลากคนก็หลากความเห็นต่อวันเวลาดังกล่าว เพลงหลายเพลงบ่งบอกความเหงาของทั้งคนโสดและไม่โสดยามฝนตก เช่น “วันนี้ฝนตกไหลลงที่หน้าต่าง เธอคิดถึงฉันบ้างไหมหนอเธอ” (Loso ฝนตกที่หน้าต่าง) บางเพลงไม่แค่เหงายามฝนตก แต่ขอให้ฝนหยุดมันเสียเลย “ขอวอนเถอะฟ้าช่วยสั่งให้ฝนหยุด ก็หัวใจมันชำรุดไม่มีสักคนเคียงข้างกาย ฟ้าช่วยสั่งให้ฝนนั้นสลาย ก็มันเหงาจะตาย ไม่มีใครเลยสักคนให้กอด” (Dr.Fuu : โรคกลัวฝน) บางครั้งก็คิดถึงคนคนหนึ่งเวลาฝนตก “ก็เกี่ยวกับเธอเท่านั้นที่ฉันเป็นแบบนี้ ก็เธอคนดีไปแล้วไปลับไม่ย้อนมา เมื่อไม่มีเธอฉันเหงาทุกเวลา ไม่เกี่ยวกับฝนกับฟ้าหรือว่าเรื่องไหนเลย” (กะลา ไม่เกี่ยวกับฝน) บางทีก็น้อยใจขึ้นมายามฝนลงเม็ด “ฝนกำลังตกลงมา รู้ไหมว่ามีใครร้องไห้ คิดถึงจนแทบขาดใจ เกิดอะไรไม่โทรหากัน ฝนกำลังตกลงมา ฉันกำลังจิตใจฟุ้งซ่าน รู้ไหมว่าที่เธอทำฉันน้อยใจ” (ซาร่า ผุงประเสริฐ ฝน)

ฉากพระเอกหรือนางเอกเดินตากฝนเป็นฉากสุดคลาสสิคเมื่อนึกถึงเวลาอกหัก เศร้าใจ และอารมณ์ขุ่นมัวอื่นๆ ขณะเดียวกัน หากเปลี่ยนจากการเดินคนเดียวเป็นคู่กันแล้ว สถานการณ์ก็กลับตรงข้าม การเดินกุมมือภายใต้ร่มที่กันฝนได้บ้างไม่ได้บ้างช่างสุดแสนโรแมนติกในจินตนาการเสียจริง แม้นหากในความเป็นจริงแล้วอาจเป็นคนละเรื่องเลยก็ได้

เมื่อนึกถึงความรักยามฝนตก ก็ต้องมีหลายคนคิดอิจฉา เป็นไปไม่ได้ที่สมองจะไม่สั่งการใดๆ เมื่อเห็นใครสักคนมีคนเคียงข้างฝ่าฝนหรือหลบฝนด้วยกัน ความอิจฉาเกิดขึ้นเสมอเมื่อเห็นคนอื่นมีแล้วเราอยากจะมีบ้าง มันเป็นธรรมดาโลกของปุถุชนที่ไม่มีวันตัดได้ซึ่งโลภ โกรธ หลง เห็นไหมครับ หลากหลายอารมณ์จริงๆ ยามฝนพรำ แต่สุดท้าย เมื่อฝนหยุดมันก็จะเข้าสู่ความสดใส ต้นไม้ใบหญ้าต่างเขียวชอุ่ม ทุกสิ่งดูกลับมาสดใส (ลองนึกถึงตอนที่รถกำลังแล่นผ่านทุ่งหญ้าหรือทุ่งนาเขียวขจียามฝนหยุดใหม่ๆ พร้อมกับแสงแดดอ่อนๆ หลังฝนตก แม้จริงๆ แล้วมันจะเฉอะแฉะมากกว่าก็เถอะ) อย่างที่มักมีการเปรียบเปรยความสุขหลังความทุกข์ยากว่าเป็น “ฟ้าหลังฝน”

ฤดูที่น่าสนใจไม่น้อย และก็เกิดขึ้นอยู่ยามนี้คือ หน้าหนาว (oHhHH!! I feel it haa) บางคนตั้งหน้าตั้งตารอเพื่อจะได้ใส่เสื้อกันหนาวสวยๆ บางคนขอเพียงให้มาสักทีเถอะ (เบื่อหน้าฝน) บางคนอยากไปแอ่วบนดอยหม่อนเมืองเหนือ ก็ว่ากันไป ฤดูหนาวเป็นตัวแทนของหลายสิ่งอย่าง ในดินแดนที่หนาวเย็นอย่างยุโรป อเมริกา และบางประเทศในเอเชีย เขาจะมีฤดูที่เรียกว่า Autumn หรือไทยเราเรียกว่า “ฤดูใบไม้ร่วง” ใบไม้จะเปลี่ยนสีก่อนทิ้งตัวลงสู่ผืนดิน ก่อนที่ดินแดนเหล่านั้นจะเข้าสู่ช่วงฤดูที่หนาวที่สุด (Winter) และต่อด้วย “ฤดูใบไม้ผลิ” (Spring) ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนั้น ก็เหมือนกับการเปลี่ยนผ่านสิ่งต่างๆ ดุจดังใบไม้ใบชุดเก่าที่พร้อมจะร่วงโรยเพื่อหลีกทางให้กับใบอ่อนชุดใหม่ที่จะงอกเงยขึ้นมาแทนที่ในฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งฝรั่งมักมองว่าเปรียบเสมือน “การเกิดใหม่” (rebirth) ของสรรพสิ่งดังใบไม้ที่งอกเงย พร้อมกับต้นไม้ใบหญ้าที่กลับเติบโตขึ้นอีกครั้งหลังฤดูหนาวที่หิมะปกคลุมไปทั่ว

ว่าด้วยตัวแทนของหน้าหนาวกันบ้าง เพลงหลายเพลงบ่งบอกว่าหน้าหนาวมันช่วงยากเข็ญ อากาศที่เย็นยะเยือกกระตุ้นให้มนุษย์แสวงหาความอบอุ่นทั้งทางกายและทางใจ แต่เมื่อไม่มีคนรักหรืออกหักขาดคนดูแลก็จะออกมาแบบ “หนาวใจจะขาดใจเมื่อขาดเธอคนดี ขาดไอรักอบอุ่น ที่เคยได้มี ฉันเพียงต้องการเธอกลับมาหา โปรดเถิดหนา กลับมา มารักกัน” (Clash – หนาว) ไปจนถึงเพลงอมตะของวง Tea For Three อย่าง “ลมหนาว” ที่มีท่อนฮุกติดปากว่า “ลมหนาวมาเมื่อใด ใจฉันคงยิ่งเหงา คืนวันที่มันเหน็บหนาว ไม่รู้จะทนได้นานเท่าไร ลมหนาวมาเมื่อใด กลัวฉันกลัวขาดใจ เพราะหัวใจที่มันอ่อนไหว ไม่เคยได้รักจากใครเสียที”

ในความรู้สึกส่วนตัว ภาพของฤดูหนาวเป็นภาพที่สวยที่สุดในสายตาผม ความเย็นทำให้บางครั้งอะไรๆ ก็พร่ามัวลงบ้าง หมอกยามเช้าทำให้เราเหมือนอยู่ในดินแดนต้องมนตร์ แต่เป็นมนตร์ขลังที่เสกสรรค์ให้ความสวยงามเกิดขึ้น ผมชอบนึกถึงภาพแบบแนวสีอ่อนๆ แนวที่เราเห็นทั่วไปในร้านกาแฟแนวๆ แบบนั้น มันสบายตาไปหมด มันผลักดันให้เราอยากออกไปเจอโลกมากกว่าอยากจะอุดอู้อยู่ในห้อง ในใจเหมือนมีแต่ภาพแห่งความสุข ที่สุดแล้วมันก็อยู่ที่ว่าเราจะเลือกให้มันเป็นหนาวแบบไหน จะหนาวกายใจ หรือหนาวแต่กายแต่ใจอบอุ่นก็ต้องเลือกทางเดินของเรา

ฤดูสุดท้ายที่หลายๆ คนไม่อยากให้มาถึง คือ ฤดูร้อน บางคนสวนมาว่าจะบ่นทำไม เมืองไทยก็หน้าร้อนทุกวันแหละ แค่จะร้อนมากหรือร้อนน้อยก็แค่นั้น ก็ว่ากันไป แม้จะร้อนกาย แต่ใจบางคนก็เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสซะ “หัวใจมันเซทะเลคือจุดหมาย ได้ออกไปเจอคลื่นลมคงหายดี” (แพรว คณิตกุล เพิ่งจะรู้) แม้สุดท้ายมันจะไม่ได้ช่วยอะไรก็ตามเถอะ แถมยังพลอยคิดถึงมากขึ้นไปเสียอีก เพลงสุดคลาสสิคสำหรับหน้าร้อนอีกเพลง คือ ฤดูร้อน ของ Paradox ที่ก็ยังอยู่ในอารมณ์เศร้า แต่ดนตรีฟังสบาย “ยืนมองท้องฟ้าไม่เป็นเช่นเคย ฤดูร้อนไม่มีเธอ เหมือนก่อน เหมือนเก่า ขาดเธอ ” ส่วนอารมณ์สนุกก็ขาดไม่ได้สำหรับหัวใจที่ไม่เคยหลับใหลของมนุษย์ (แต่ก็ระวังเป็นลมแดดซะล่ะ) เพลงเรกเก้แนวๆ อย่าง Let’s go to the sea โดย Kai-Jo Brothers “Let’s go to the sea. Let’s go see the sun shine …” ซึ่งพาเรามามองโลกในอีกมุมหนึ่งแบบชีวิตเสรีในหน้าร้อน (หรือหน้าไหนๆ ก็ตาม) ลองทิ้งความทุกข์ไว้ข้างหลังแล้วมุ่งหน้าไปทะเลกันเถอะว่างั้น มันก็จริงที่เวลามีปัญหา คนเราก็มองหาทางออก ทางหนี ทางไล่ ไปจนถึงทางตาย แต่ไม่ค่อยแก้ปัญหา ปัญหามันก็เลยยังอยู่เมื่อกลับมา (หรือไม่กลับมาก็ตาม) อันนี้ก็คงต้องใช้วิจารณญาณเอาเอง

แม้อุณหภูมิรอบกายจะเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญคืออย่าทำให้อารมณ์เราเซไปกับมันมากนัก ความเปลี่ยนแปลงอย่างฟ้า ฝน แดด ลม มันก็เหมือนอารมณ์ที่แปรปรวนของคนเรา ถ้าเรายังปล่อยให้มันมีอิทธิพลต่อเราเกินไป บางทีความยุ่งยากอาจจะตามมาเสียเปล่าๆ และสุดท้าย ความคาดหวังต่อสภาพอากาศเป็นไปได้ยากเพียงใด ความคาดหวังต่อทุกสิ่งอย่างบนโลกนี้ก็ยากไม่น้อยไปกว่านั้น ขอให้ชีวิตภายใต้อากาศที่เปลี่ยนไปทุกวันจงประสบสุขทุกทั่วชั่วนิจเถิด 

วันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2555

พื้นที่ชีวิตในเยรูซาเล็ม: เศรษฐกิจ ศรัทธา และความขัดแย้ง


ส่วนที่เป็นย่านชาวอาร์เมเนีย (Armenian Quarter) ในเมืองเก่าของเยรูซาเล็ม
ภาพจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Jerusalem
หลังจากดู "พื้นที่ชีวิต" กับการสำรวจศรัทธาในเยรูซาเล็มสัปดาห์นี้โดย วรรณสิงห์&มาโนช จบไปแล้ว พอสรุปสาระได้เป็น 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ

1. เรื่องของความหลากหลายทางศาสนา เชื้อชาติ วัฒนธรรม (และอาจรวมถึงสถานะทางเศรษฐกิจของแต่ละกลุ่มชน) ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่มาก เพราะปัจจุบันยังมีความขัดแย้งระหว่างฝ่ายต่างๆเกิดขึ้น เช่น ยิวกับอาหรับ อิสราเอลกับปาเลสไตน์ เป็นต้น แต่จากภาพโดยรวมในวันนี้ทำให้เราเห็นว่า บางทีภาพความรุนแรงในสังคมการเมืองโลกกับปัญหาตะวันออกกลางก็ไม่ได้มีผลอะไรต่อความหลากหลายในเยรูซาเล็มมากนัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนเยรูซาเล็มจากแต่ละศาสนาจะมองความหลากหลายในแง่ดีไปเสียหมด หลายคนอาจมองเห็นแต่ละศาสนาเป็นจิ๊กซอว์ที่ต่อขึ้นมาเป็นเยรูซาเล็ม จะขาดชิ้นใดชิ้นหนึ่งไปเสียไม่ได้ แต่ก็คงอีกไม่น้อยที่มองเป็นความวุ่นวาย หรืออาจมีอคติต่อศาสนาอื่นจากการมอง "ความจริง" ของตนเหนือกว่าของคนอื่น ซึ่งเป็นเรื่องปกติในโลก เช่น คนคริสต์ที่เดินทางสำรวจโลกเมื่อประมาณ 500 ปีก่อนมองชาวพื้นเมืองทางซีกโลกตะวันออกว่าเป็นพวกป่าเถื่อน (barbarian) ขณะที่คนไทยพุทธบางคนมองว่าศาสนาและศาสดาของตนยิ่งใหญ่เหนือใคร เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งและความรุนแรงได้ง่ายๆ
มัสยิด Dome of the Rock หรือ Masjid Qubbat As-Sakhrah
ภาพจาก 
http://www.pixpros.net/forums/showthread.php?t=11659

ความจริงแล้ว ความขัดแย้งระหว่างศาสนา และเชื้อชาติเพิ่งก่อตัวเมื่อลัทธิจักรวรรดินิยมเข้ามาเกี่ยวข้องกับดินแดนในแถบตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ซึ่งชาติเหล่านี้กลับถูกอำนาจทางเศรษฐกิจของชาวยิวโน้มนำให้ทำในสิ่งซึ่งกระทบต่อชาวอาหรับ-มุสลิม โดยแย่งชิงดินแดนซึ่งปัจจุบันคือประเทศอิสราเอลไปจากพวกเขา และนำไปสู่สงครามหลายครั้งระหว่างอิสราเอลและชาติอาหรับ ซึ่งทุกครั้งสหรัฐฯจะยื่นมือเข้ามาช่วยอิสราเอล ก่อนหน้าเหตุการณ์เหล่านี้ ขันติธรรมทางศาสนาที่แท้จริงคงเกิดขึ้นอยู่ ก่อนที่ความหวาดระแวงและเกลียดชังจะเข้ามาแทนที่หลังมหาอำนาจเข้ามาสร้างมรดกอันเลวร้ายเอาไว้


ชายชาวยิวกำลังนั่งศึกษาคัมภีร์ศาสนายูดายอย่างคร่ำเคร่ง
ภาพจาก http://www.pixpros.net/forums/showthread.php?t=11659

2. เรื่องของเศรษฐกิจ ซึ่งตัวขับเน้นเศรษฐกิจของเยรูซาเล็มก็คือ "ศรัทธา" จากศาสนาและความเชื่อต่างๆ โดยเฉพาะ 3 ความเชื่อหลักที่ก่อร่างสร้างตัวในเยรูซาเล็ม คือ ยูดาย คริสต์ และอิสลาม

เศรษฐกิจในรูปแบบแรกที่ศรัทธาได้ขับเคลื่อนให้ คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งผู้คนที่มีศรัทธาใน 3 ศาสนาที่ว่าต่างเดินทางทั้งจากในและนอกประเทศอิสราเอลเพื่อมาเยี่ยมชมและปฏิบัติศาสนกิจ ออกแนวคนไทยเห่อไปพุทธคยาในอินเดียอะไรประมาณนั้น ซึ่งโอเคว่ามันนำมาซึ่งเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวจากหลายมุมของโลกเอียงๆใบนี้ แต่มุมมองของบางคนกลับน่าสนใจแม้จะดูอนุรักษ์นิยมก็ตาม คือ การท่องเที่ยวได้นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่เมืองศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงมีทั้งดีขึ้นและเลวลง

ในแง่ดี ชาวเมืองจากทุกความเชื่อพยายามหลุดพ้นจากความขัดแย้ง (แบบเฉพาะกิจ?) แล้วสร้างเมืองให้น่าเที่ยวเพื่อดึงดูดผู้คนให้เข้ามาเยี่ยมเยียนและนำเงินมาให้


เด็กหญิงนักท่องเที่ยวชาวคริสต์ที่มาเยือนเยรูซาเล็มกับครอบครัว
ภาพจาก http://www.pixpros.net/forums/showthread.php?t=11659

แต่อีกแง่หนึ่ง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทำให้เมืองแห่งนี้แออัดยัดเยียดเกินไป จากที่เคยเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์และเงียบสงบ กลับกลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายจากนักท่องเที่ยวหลากหลายศาสนา ลองนึกภาพตลาดแถวบ้านคุณที่เคยเดินจ่ายตลาดได้อย่างสบายใจ แต่วันหนึ่งต้องมีคนแขก มีฝรั่ง มีคนแอฟริกามาเดินกันขวักไขว่ในตลาดแห่งนั้น ความรู้สึกแบบนี้ก็คงไม่ต่างไปจากความรู้สึกของคนที่มองในมุมนี้สักเท่าไร

เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยศรัทธาอีกรูปแบบหนึ่ง คือ ศาสนพานิชย์ อันได้แก่ "ศรัทธาที่ซื้อขายได้" เช่น ในไทยมีพระเครื่อง มีเครื่องสังฆทาน มีผ้าไตร จีวร เทียนพรรษา ฯลฯ ซึ่งซื้อขายกันอย่างคึกคักเนื่องจากความศรัทธาในศาสนา ในเยรูซาเล็มก็ไม่ต่างกัน ความศรัทธามักแปรเปลี่ยนเป็นตัวเงินได้เสมอ สิ่งศักดื์สิทธิ์ของศาสนาต่างๆถูกนำมาวางขายในย่านเก่าของเยรูซาเล็มเพื่อรอตอบสนองนักท่องเที่ยวและเหล่าศาสนิกผู้ศรัทธาอย่างเต็มใจ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกตราบที่มนุษย์ยังไม่อาจควบคุมชะตาชีวิตแหละเห็นว่าควรมีสิ่งยึดเหนี่ยวสำหรับตน ตั้งแต่พระเครื่องไปยันไม้กางเขนหรือพระคัมภีร์

ภาพ The Finding of Moses โดย Sir Lawrence Alma-Tadema ปี 1904
ภาพจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Lawrence_Alma-Tadema

โดยสรุปแล้ว ความแตกต่างหลากหลายในเยรูซาเล็มค่อนข้างแตกต่างไปจากความรับรู้ ที่มีเรื่องยิงใส่กันระหว่างกองกำลังอาหรับในเขตปาเลสไตน์กับทหารอิสราเอล เพราะศาสนาหลักในเมืองแห่งนี้ทั้ง 3 อันได้แก่ ยูดาย คริสต์ และอิสลาม ต่างดำรงอยู่ร่วมกันอย่างค่อนข้างสงบ ไม่ว่าความขัดแย้งจะหายไปแล้วจริงๆหรือมันถูกเก็บและกดไว้ (ซึ่งผมเห็นว่าเป็นกรณีหลังเสียมากกว่า) แต่สิ่งที่ได้รับประโยชน์ คือ ภาคเศรษฐกิจเกี่ยวกับศรัทธา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และศาสนพานิชย์ ที่เติบโตเป็นอย่างดีเมื่อเมืองมีความสงบ แต่บางทีถ้าขาดการดูแลจัดการที่ดีพอ ก็อาจกลายเป็นปัญหาใหม่ เช่น ปัญหาสังคม ปัญหาผู้อพยพ ฯลฯ ซึ่งในยุคโลกาภิวัตน์ สิ่งเหล่านี้พร้อมจะทะลุทะลวงเข้าไปในทุกประเทศได้เสมอ


ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับ "ศรัทธา" ในเยรูซาเล็ม ตอนที่ 2 ได้ในวันพุธหน้า 4 ทุ่มตรง ทาง ThaiPBS ครับ

วันพุธที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2555

เสวนา “ตามรอยทัพพระเจ้าตาก”


พระบรมรูปพระเจ้าตากสินและทหารคนสนิท ประดิษฐานที่อู่ต่อเรือฯ เสม็ดงาม จันทบุรี
ถ่ายภาพ: Poii 

เมื่อช่วงบ่ายของวันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมฟังการเสวนาในหัวข้อเรื่อง "ตามรอยทัพพระเจ้าตาก" ณ อู่ต่อเรือฯ บ้านเสม็ดงาม จันทบุรี ซึ่งได้ทราบข่าวผ่านทางโซเชียลมีเดีย (Social Media) อย่างเฟซบุ๊ค (Facebook) ของทางหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี ที่ทางผู้จัด คือ คุณสุชาติ กนกรัตน์มณี ได้แชร์กิจกรรมดีๆนี้ไว้

เมื่อสำรวจสายตาไปดูรายชื่อวิทยากรแล้ว คาดไว้ได้เลยว่าคงไม่ใช่งานเสวนาธรรมดาๆ แน่ๆ เพราะรายชื่อนั้นนำโดยนักประวัติศาสตร์อาวุโสชั้นแนวหน้าของประเทศอย่าง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ปิยนาถ บุนนาค ส่วนอีกสองท่าน คือ คุณกุณฑล วัฒนวีร์ และ ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ ทราบในภายหลังว่า ท่านแรกเป็นมัคคุเทศน์ผู้เชี่ยวชาญสถานที่ทางฝั่งธนฯ อย่างมาก และเขียนหนังสือเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมาแล้ว 2 เล่ม ส่วนท่านหลังเป็นอาจารย์ประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ไฟแรงจากอักษณศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เวลานัดหมาย คือ บ่ายโมงตรง แต่เวลาที่เริ่มต้นจริงก็ล่วงเลยไปเกือบจะบ่ายสองโมงเสียแล้ว เพื่อไม่ให้เสียเวลา ผู้ดำเนินการเสวนาซึ่งก็คือผู้จัดนั่นเองก็เริ่มประเด็นแรกว่าด้วย “การศึกษาประวัติศาสตร์” ซึ่งตัวผู้เขียนถือว่าสำคัญมาก เพราะนี่คือเรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งในวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจสรุปเป็นได้ ดังนี้

1. ต้อง “เลือกใช้และเลือกเชื่อ” ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เนื่องจากหลักฐานประวัติศาสตร์นั้น บางครั้งก็ไม่ได้ให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันเสมอไป และแม้แต่หลักฐานทุกชิ้นให้ข้อมูลเหมือนๆกัน ก็ต้องวิพากษ์ความน่าเชื่อถือของข้อมูลนั้นด้วย

2. ผู้ศึกษาต้องตัด “อคติ” (bias) ส่วนตัวออกไป กล่าวคือ ต้องมีความเป็นกลาง ซื่อสัตย์ต่อหลักฐานที่มี โดยอคตินั้นอาจมาจากเชื้อชาติ ศาสนา ฯลฯ แต่ที่น่าจะเกี่ยวข้องกับประเด็นสมเด็จพระเจ้าตากสินที่สุดคงเป็น “ศรัทธา” ที่อาจทำให้ผู้ศึกษาไขว้เขวไปได้

วิทยากรทั้ง 3 ท่าน และพิธีกรในงาน
ถ่ายภาพ: Poii
ประเด็นต่อมา คือ การวิเคราะห์ว่า “ทำไมสมเด็จพระเจ้าตากสินจึงเลือกมาตั้งหลักที่จันทบุรี” เรื่องนี้วิทยากรทั้งสามท่านเห็นตรงกันในเรื่อง “เศรษฐกิจการค้า” เนื่องจากจันทบุรีเป็นเมืองท่าการค้าที่สำคัญทางตะวันออกของกรุงศรีอยุธยามาโดยตลอด ซึ่งผลจากจุดเด่นนี้ส่งผลอื่นๆอีก คือ เป็นแรงดึงดูดผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาตั้งถิ่นฐาน โดยเฉพาะชาวจีนและชาวมุสลิม ที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่กองทัพกู้ชาติของสมเด็จพระเจ้าตากสินอย่างมาก

อีกเหตุผลหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง คือ เรื่อง “ยุทธศาสตร์” เนื่องจากสงครามคราวเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 นั้นส่งผลให้หัวเมืองทั้งทางภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ได้รับผลกระทบมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป มีเพียงทางอีสานกับตะวันออก-เขมรเท่านั้นที่อยู่รอดปลอดภัย อย่างไรก็ดี หัวเมืองทางอีสานมีข้อจำกัดในด้านการรวบรวมไพร่พล เนื่องจากบ้านเมืองค่อนข้างกระจายตัวอย่างกว้างขวาง ผิดกับทางตะวันออกที่หัวเมืองเรียงต่อกันไปตามชายฝั่งง่ายต่อกันเดินทางรวบรวมกำลังพล

ส่วนในประเด็นสุดท้าย ได้แก่ “พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าตากสิน” ซึ่งเรื่องนี้ วิทยากรพยายามชี้ให้เห็นมุมที่ต่างไปของพระองค์ ซึ่งมักถูกฉายให้เห็นเพียงความเป็นนักรบที่หาญกล้าเท่านั้น เช่น วิสัยทัศน์ในการเลือกเมืองที่จะลงหลักปักฐานใหม่ที่กรุงธนบุรี การเสียสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อเลี้ยงดูพสกนิกรที่กำลังเดือดร้อนไปทั่ว การใช้ศาสนาในการกล่อมเกลาจิตใจประชาชน รวมทั้งในด้านวรรณกรรมที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นด้วยพระองค์เอง ซึ่งแม้คุณค่าด้านวรรณศิลป์อาจจะเทียบกับงานของเหล่ากวีเอกหลายๆคนไม่ได้ แต่ก็สอดแทรกเรื่องของการสั่งสอนโดยทางอ้อมซึ่งเข้ากับสภาพการณ์มากกว่า

ที่นำมาลงเป็นเพียงประเด็นหลักๆ เท่านั้น เพราะจริงๆแล้วมีประเด็นเล็กประเด็นน้อยอีกมากที่ไม่ได้กล่าวในที่นี้ และก่อนจบการเสวนา วิทยากรได้สรุปให้เห็นความสำคัญของช่วงเวลาสิบปีเศษในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน หรือสมัยธนบุรีอย่างน่าสนใจ ช่วงเวลาในประวัติศาสตร์นี้เป็นช่วงส่งต่อหรือเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ จากอยุธยามาเป็นรัตนโกสินทร์ “หากไม่มีธนบุรี ก็ไม่มีรัตนโกสินทร์”

ด้วยเวลาอันจำกัดทำให้การแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างวิทยากรกับผู้ร่วมเสวนาเกิดขึ้นน้อยไปสักหน่อย แต่ก็ต้องขอบคุณผู้จัดงานที่เห็นคุณค่าของ “ประวัติศาสตร์” และจัดงานนี้ขึ้นมา ขอขอบคุณวิทยากรทุกท่านที่กรุณาสละเวลามาให้ความรู้ ขอบคุณ ทีมงานจากหอจดหมายเหตุ จันทบุรี ที่ทำงานหนักเพื่อประชาชนโดยตลอด ขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับ คุณกุณฑล วัฒนวีร์ สำหรับหนังสือดีๆ ขอบคุณ อาจารย์ปิยนาถสำหรับแรงบันดาลใจให้ทำงานประวัติศาสตร์ต่อไป และเหนืออื่นใด เพื่อนร่วมทางที่บุกตะลุยไปทุกที่ทุกแห่งอย่างรู้ใจ ^ ^

วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555

ชำแหละแนวคิดแก้ ม.112: ว่าด้วยความเป็นสากล/ตะวันตก และการเป็น "นิติรัฐ" ที่แท้จริง


"มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี"


คือไม่ได้ว่า ม.112 แตะไม่ได้ แต่เบื่อนักกฎหมายที่หัวคิดแข็งทื่อ คิดแต่จะต้องเป็นสากล เปรียบเทียบไทยแลนด์กับอีกหลายๆ แลนด์แล้วบอกว่าเราต้องปรับปรุง กฎหมายเรามันยังไม่ดี โอเคกฎหมายมันมีส่วนที่เป็นปัญหาจริงก็ว่ากันไป (โทษสูงไป เกิดการฟ้องร้องอย่างไร้ขอบเขต ฯลฯ) แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่าคือทำไมเราต้องเดินตามตูดชาติอื่นไปเสียหมด ทำไมแก้กฎหมายไทยต้องไปลอกเมืองนอก ลอกแบบ (pattern) แต่เนื้อหาภายในเรามันไม่ใช่ เหมือนทุกวันนี้ที่ประชาธิปไตยของเรามันเริ่มจากการลอกฝรั่ง ผลก็เลยออกมาเละเพราะข้างในมันไม่ได้เป็นแบบที่ลอกมา หรือเพราะเส้นทางเกือบ 80 ปีของประชาธิปไตยไทยไม่ได้ทำให้คนไทยรู้จักตัวเอง และคิดแก้ปัญหาเองได้เลย

เอาเป็นว่า ถ้าเหตุุผลในการแก้กฎหมายมาตรานี้ของนักกฎหมายกลุ่มนี้อยู่ที่ประเด็นอยากเป็นสากล ผมว่ากลับไปคิดดูให้ดีๆ จะบอกว่าประเทศไทยเป็นมนุษย์ต่างดาวของโลกก็เอาเหอะ แต่ทุกประเทศมีอัตลักษณ์ มีตัวตน มีความแตกต่างกันมากมาย แล้วทำไมคุณถึงยังคงความแข็งทื่อทางความคิดแล้วบอกให้เราพุ่งตรงไปสู่จุดหมาย (สากล/ตะวันตก) เท่านั้น นี่มันความคิดแบบทำให้เป็นสมัยใหม่นิยม (Modernizationism) ชัดๆ ที่ต้องลอกคราบจารีตแบบเดิมออกให้หมด แล้วเอารูปแบบฝรั่ง (ที่ถูกตีตราว่าพัฒนา/ทันสมัย) มาสวมแทน คุณก็เห็นแล้วว่าทุนนิยม-อุตสาหกรรม สร้างปัญหาอย่างไรบ้างในโลกนี้ หรือเรื่องรัฐชาติ (Nation-State/รัฐเดียว-ชาติเดียว) ได้สร้างความแตกร้าวภายในประเทศต่างๆ มากมายแค่ไหน ถ้าคุณเห็นศพกองอยู่ตรงหน้าแล้วยังเดินหน้าก้าวตามไปเป็นศพต่อไป ผมคงต้องค้านแนวของคนกลุ่มนี้

อ่อ อีกประเด็นคือความตื่นตระหนกต่อจำนวนนักโทษที่กระทำความผิดกฎหมายมาตรานี้เพิ่มสูงขึ้นมาก และกรณีล่าสุด คือ คดีอากง ขอเรียนตรงๆว่า ถ้าผู้ต้องหาเหล่านั้นทำผิดจริงแล้วจะเต้นทำไม คือ ต้องแยกเรื่องคนทำความผิดถูกจับออกจากความเห็นใจ หรือความเหมือนทางอุดมการณ์ให้ออก และต้องแยกออกจากเรื่องปัญหาของตัวบทกฎหมายด้วย เพราะนั่นเป็นเรื่องของการรณรงค์แก้ไขต่อไป ซึ่งไม่ใช่ประเด็นที่จะนำไปสู่การเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษ อาจารย์บางคนถูกฟ้องคดีนี้แต่หลุดก็มี เพราะอัยการเค้าไม่ได้ดำเนินการมั่วซั่วถึงขนาดที่ฝ่ายสนับสนุนให้แก้ ม.112 อ้าง ขอเถอะว่าอย่าจุดประเด็นแล้วพาหลงประเด็นเพื่อเป้าหมายของกลุ่มตนอีกเลย (ออกแนวไปให้ถึงเป้าหมายโดยไม่เลือกว่าจะต้องใช้วิถีทางอย่างไร) ไม่ว่าจะอากง อาแป่ะ อาซิ้ม หรืออีก 108000 อา ก็ไม่อาจอยู่เหนือกฎหมายได้ นี่สิ "นิติรัฐ" ที่แท้จริง 


บ้านริมถนน AH123
16/01/2555 
21:01 น.