วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การก่อตั้งอาณาจักรอโยธยาศรีรามเทพนคร: มองผ่านทฤษฎีพหุชนชั้นนำ (Phural Elites)

อโยธยา (ต่อมาเป็นกรุงศรีอยุธยาหลังเสียกรุงฯครั้งที่ ๑) ก่อตั้งมาด้วยการร่วมมือกันของ ๒ ราชวงศ์ หรือ ๒ กลุ่มการเมือง อันได้แก่ กลุ่มของพระเจ้าอู่ทองที่มาจากละโว้ (ลพบุรี) และกลุ่มของขุนหลวงพ่องั่วจากสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) การร่วมมือกันของชนชั้นนำเช่นนี้เข้ากันได้กับทฤษฎีทางรัฐศาสตร์ที่เรียกว่า “พหุชนชั้นนำ” (Phural Elites)

ทฤษฎีพหุชนชั้นนำ (Phural Elites)

ทฤษฎีพหุชนชั้นนำเกิดจากการคลี่คลายความสุดโต่งของ ๒ ทฤษฎี คือ ทฤษฎีชนชั้นนำนิยม (Elitism) ที่อธิบายว่า แต่ละสังคมไม่ได้มีความเท่าเทียมกัน แต่ประกอบไปด้วยชนชั้นต่างๆ โดยอำนาจจะตกอยู่กับชนชั้นที่เรียกว่า “ชนชั้นนำ” (elite) ซึ่งเป็นคนกลุ่มเล็กๆ ทฤษฎีนี้มักถูกเปรียบเทียบกับรูปปิระมิดซึ่งแบ่งเป็นชั้นๆ โดยส่วนยอดซึ่งเป็นส่วนที่เล็กที่สุดของรูปก็คือชนชั้นนำซึ่งกุมอำนาจทางการเมืองไว้นั่นเอง

ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่งคือ ทฤษฎีพหุนิยม (Phuralism) ซึ่งอธิบายว่า สังคมประกอบไปด้วยกลุ่มต่างๆที่มีส่วนผลักดันให้รัฐกำหนดนโยบายที่กลุ่มของตนต้องการ บางครั้งทฤษฎีนี้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับลูกบิลเลียดที่กระทบชิ่งกันไปมา อันเปรียบได้กับกลุ่มต่างๆที่ทั้งต่อสู้กันเองและกดดันรัฐให้ออกนโยบายที่ตนต้องการไปพร้อมๆกัน

เมื่อนำจุดแข็งของทั้ง ๒ ทฤษฎีมารวมกันก็จะได้เป็นแนวคิดที่อธิบายว่า แต่ละสังคมนั้นมีชนชั้น และในสังคมก็มีหลายกลุ่มก้อนด้วย ซึ่งแต่ละกลุ่มต่างมีชนชั้นนำของตน เช่น ในกลุ่มกรรมกรก็มีชนชั้นนำ กลุ่มทุนก็มีชนชั้นนำ ดังนั้น ชนชั้นนำของแต่ละกลุ่มจึงต้องอยู่ในสภาวะที่ต่อรองกัน หากชนชั้นนำของทั้งสองกลุ่มตกลงกันได้ที่เรียกว่า “การตกลงยินยอมร่วมกันของชนชั้นนำ” (elite accommodation) หรือเรียกง่ายๆว่าเป็นการสร้างดุลยภาพระหว่างกลุ่มต่างๆ การร่วมมือกันก็ย่อมเกิดขึ้นได้

การก่อตั้งอโยธยาศรีรามเทพนคร: การตกลงยินยอมร่วมกันของ ๒ แคว้น

เมื่อนำทฤษฎีนี้มาใช้มองการก่อตั้งอาณาจักรอโยธยาก็จะได้ว่า ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีกลุ่มอำนาจทางการเมืองที่สำคัญ ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มที่เมืองละโว้ กับกลุ่มที่เมืองสุพรรณภูมิ แต่ละกลุ่มมีชนชั้นนำ ได้แก่ พระเจ้าอู่ทองและขุนหลวงพ่องั่วตามลำดับ ในปัจจุบัน การศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาพบว่า อาณาจักรแห่งนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์ทางการค้าเป็นหลัก ดังนั้น ชนชั้นนำของทั้งสองกลุ่มคงเกิดการต่อรองแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันเพื่อสร้างศูนย์กลางทางการค้าขึ้นมา ซึ่งได้แก่ เกาะเมืองอยุธยาในปัจจุบัน โดยการต่อรองหรือตกลงกันครั้งนั้นเปิดโอกาสให้พระเจ้าอู่ทองได้เป็นกษัตริย์ของแคว้นใหม่ที่จะก่อตั้งขึ้น

นี่คือภาพการก่อตั้งอาณาจักรอโยธยาขึ้น โดยอาศัยการตกลงต่อรองกันระหว่าง ๒ กลุ่มอำนาจ ซึ่งในที่นี้อาจเป็นการตกลงกันภายในเครือญาติ เพราะปรากฏในเอกสารบางชิ้นว่า พระเจ้าอู่ทองกับขุนหลวงพ่องั่วนั้นเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน และคงไม่แปลกหากจะบอกว่าพระเจ้าอู่ทองเกิดหรือมีความเกี่ยวข้องกับเมืองโบราณอู่ทอง ในเขตแคว้นสุพรรณภูมิ ขณะที่วงศ์จากละโว้กับสุพรรณภูมิคงต่างได้มีความสัมพันธ์กันโดยการแต่งงานอย่างน้อยก็ ๒-๓ ชั่วอายุคน จนวงศ์ทั้งสองดูจะกลายเป็นวงศ์เดียวกันจนแยกได้ยาก หากแต่มีศูนย์อำนาจ ๒ แห่ง และผู้นำของแต่ละศูนย์อำนาจคงสืบทอดตามสายผู้ชาย ขณะที่พระราชมารดาของผู้นำอาจเป็นเจ้าหญิงของอีกแคว้น ซึ่งกรณีพระเจ้าอู่ทองก็คงอยู่ในกรณีนี้ด้วย โดยชื่ออู่ทองอาจเป็นการแสดงที่มาของพระราชมารดา หรือเป็นการบอกว่ามีอำนาจเหนือเมืองดังกล่าวด้วยก็ได้ (โดยอ้างความเป็นเครือญาติกับแคว้นสุพรรณภูมิ) ในสมัยของขุนหลวงพ่องั่วและพระเจ้าอู่ทอง ความสัมพันธ์ของทั้งสองแคว้นคงมาถึงจุดสุกงอมพอที่จะตกลงเพื่อลงทุนร่วมกันในการก่อตั้งเมืองท่าบนเกาะใหญ่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีการตกลงจัดสรรผลประโยชน์กันในหมู่เครือญาติอย่างลงตัว

เราจะเห็นได้ว่า เมื่อพระเจ้าอู่ทองสามารถขยายอำนาจไปทางหัวเมืองเหนือ เข้ายึดเมืองพิษณุโลกไว้ได้ พระเจ้าอู่ทองก็เวนเมืองให้ขุนหลวงพ่องั่ว แต่ปรากฏว่าพระมหาธรรมราชาลิไทย กษัตริย์สุโขทัยในขณะนั้นได้ถวายบรรณาการเป็นอันมากจนได้เมืองคืนไป ซึ่งคงมีการตกลงผลประโยชน์กันอย่างมหาศาลพอที่จะแลกเมืองคืนไปได้ เป็นอันว่าขุนหลวงพ่องั่วก็ต้องกลับมาที่สุพรรณภูมิตามเดิม แต่ก็สะท้อนการแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างชัดเจน

พระเจ้าอู่ทองสวรรคต: จุดเริ่มแห่งการเสื่อมสลายของการตกลงร่วมกัน

แต่แล้วเหตุการณ์ภายหลังการสวรรคตของพระเจ้าอู่ทอง (พ.ศ.๑๙๑๒) กลับแสดงให้เห็นดุลยภาพที่ค่อยๆเสื่อมลงระหว่างกลุ่มการเมืองที่ร่วมกันก่อตั้งอโยธยาศรีรามเทพนคร โดยพระราเมศวรที่ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาถูกขุนหลวงพ่องั่วผู้เป็นญาติฝ่ายแม่ (อาจเป็นพี่ของพระราชมารดา) เข้าทำรัฐประหารยึดอำนาจ โดยพระราเมศวรต้องกลับไปแคว้นละโว้ตามเดิม ก่อนจะกลับมาทวงอำนาจคืนในภายหลัง การแย่งชิงอำนาจทางการเมืองของทั้ง ๒ กลุ่มดำเนินไปจนกระทั่งเจ้านครอินทร์แห่งกลุ่มแคว้นสุพรรณภูมิสามารถยึดอำนาจไว้ได้ใน พ.ศ.๑๙๕๒

ถ้าหากใช้ทฤษฎีพหุชนชั้นนำมาทำความเข้าใจ นี่ก็คงเป็นสถานการณ์ที่เกิดจากการตกลง หาข้อลงตัวกันไม่ได้อีกต่อไประหว่างชนชั้นนำของทั้ง ๒ กลุ่ม ซึ่งอยู่ที่เรื่องของอำนาจทางการเมืองที่สัมพันธ์กับอำนาจทางเศรษฐกิจอันหอมหวานด้วยนั่นเอง พระเจ้าอู่ทองอาจได้รับการยอมรับจากทั้ง ๒ กลุ่ม แต่ไม่ได้หมายความว่าพระราเมศวรจะได้รับการยอมรับเหมือนกับพระราชบิดาของพระองค์ ดังนั้น ขุนหลวงพ่องั่วซึ่งมีทั้งอำนาจและการยอมรับในระดับที่สูงกว่า ประกอบเข้ากับความต้องการอำนาจและผลประโยชน์จึงเข้ายึดอำนาจจากพระราชนัดดาของพระองค์

พระราเมศวร: จุดเปลี่ยนผ่านสู่ความแตกแยก

หลังจากชนชั้นนำที่ได้ร่วมตกลงกันก่อตั้งอโยธยาขึ้นมาสิ้นพระชนม์ไปทั้งคู่ (ขุนหลวงพ่องั่วสวรรคต พ.ศ.๑๙๓๑) ดุลยภาพระหว่าง ๒ วงศ์จึงยากที่จะดำรงอยู่เช่นกัน พระราเมศวรทำรัฐประหารพระเจ้าทองลันแทบจะทันทีที่ขุนหลวงพ่องั่วสวรรคต จะเห็นได้ว่า เพียงแค่ชนชั้นนำในรุ่นลูกก็ไม่อาจรักษาการตกลงร่วมกันไว้ได้แล้ว และดูจะเข้าสู่การขับเคี่ยวกันระหว่าง ๒ วงศ์อย่างเต็มตัว เอกสารจีนบ่งชี้ว่าทั้งสองวงศ์ต่างพยายามหาความชอบธรรมในราชสมบัติด้วยการแข่งกันส่งทูตไปยังพระเจ้ากรุงจีน อย่างไรก็ดี อาจด้วยการเตรียมสรรพกำลังของพระราเมศวรหลังถูกพระปิตุลายึดอำนาจไป และอาจรวมถึงพระญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองวงศ์ที่ยังมองเห็นความเป็นเครือญาติ จึงสามารถส่งเสริมให้พระองค์ยังรักษาอำนาจไว้ได้จนพระชนมายุขัยไปเอง เมื่อ พ.ศ.๑๙๓๘

ต่อจากพระราเมศวร ก็คือชนชั้นนำในรุ่นหลานของพระเจ้าอู่ทองและขุนหลวงพ่องั่ว
อันได้แก่ สมเด็จพระรามราชา จากกลุ่มแคว้นละโว้ และเจ้านครอินทร์ (ต่อมาคือ สมเด็จพระอินทราธิราช) จากกลุ่มแคว้นสุพรรณภูมิ ซึ่งไม่ได้ร่วมตกลงกัน และต่างมีผลประโยชน์ของตนเองที่ต่างไปจากเมื่อครั้งบรรพบุรุษที่เคยมองเห็นผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งสองพระองค์ได้แข่งกันส่งทูตไปยังพระเจ้ากรุงจีนเพื่อหาความชอบธรรมในราชบัลลังก์ (ซึ่งแน่นอนว่า จีนยังสามารถสื่อถึงจุดหมายทางการค้าได้อีกด้วย) แม้จะเคยมีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติที่แน่นแฟ้นก็ตาม แต่เป็นไปได้ว่า ความสัมพันธ์ทางเครือญาติได้ค่อยๆห่างเหินกันไป เพราะฝ่ายกลุ่มสุพรรณภูมิดูจะไปมีความสัมพันธ์เช่นนี้กับทางฝ่ายราชวงศ์พระร่วง หรือราชวงศ์สุโขทัยทางตอนเหนือมากขึ้น ดังนั้น เมื่อมาถึงจุดนี้จึงไร้ที่ยึดเหนี่ยวที่จะดึงให้ผลประโยชน์ของทั้งสองกลุ่มกลับมาประสานกันอีกครั้ง และผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจที่ควบคู่มากับอำนาจทางการเมือง (ซึ่งอาจมากกว่าที่บรรพบุรุษของทั้งสองกลุ่มคิดไว้มาก) คงเป็นอีกแรงหนุนให้การตกลงยินยอมร่วมกันระหว่างชนชั้นนำทั้งสองกลุ่มสั่นคลอนและสลายลง จนกระทั่งเจ้านครอินทร์ (ซึ่งมีเชื้อสายเจ้าหญิงสุโขทัยด้วย) ได้ยึดอำนาจไว้ได้เมื่อ พ.ศ.๑๙๕๒

สรุป

สรุปแล้ว เมื่อมองการเมืองต้นอยุธยา (หรือสมัยอโยธยา) ผ่านทฤษฎีพหุชนชั้นนำแล้วก็พบว่า มีความเป็นไปได้ที่ชนชั้นนำของ ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มของพระเจ้าอู่ทองที่ละโว้ กับกลุ่มของขุนหลวงพ่องั่วที่สุพรรณภูมิ ซึ่งคงมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกันได้ต่อรองและตกลงกันตั้งอโยธยาศรีรามเทพนครเพื่อเป็นเมืองท่าการค้ากลางลำน้ำเจ้าพระยา โดยมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้จัดสรรกันอย่างลงตัวเป็นที่ตั้ง แต่ต่อมา ดุลยภาพที่เคยมีอยู่กลับค่อยๆลดลง จนกระทั่งขุนหลวงพ่องั่ว คู่เจรจาพระองค์สุดท้ายได้สวรรคตไปเมื่อ พ.ศ.๑๙๓๘ ดุลยภาพนั้นก็ขาดสะบั้นลง เพราะกลุ่มชนชั้นนำรุ่นใหม่ไม่ได้ร่วมตกลงด้วยแม้แต่ในรุ่นลูก และต่างมีผลประโยชน์ส่วนตัว ต่างไปจากบรรพบุรุษของตนที่มองเห็นผลประโยชน์ร่วมกัน ขณะที่ความสัมพันธ์ด้านเครือญาติค่อยๆถอยห่างและไร้ซึ่งความรู้สึกถึงความเป็นญาติไป จนในที่สุดนำไปสู่การแย่งชิงราชสมบัติกันโดยจบลงที่ฝ่ายวงศ์จากสุพรรณภูมิสามารถกุมสถานการณ์ไว้ได้ และกลายเป็นราชวงศ์ที่มีกษัตริย์ครองราชย์มากที่สุดในประวัติศาสตร์อยุธยา

เอกสารประกอบการเขียน

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. การเมืองในประวัติศาสตร์ ยุคสุโขทัย-อยุธยา พระมหาธรรมราชา กษัตราธิราช. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: มติชน,๒๕๕๓.

ขอบคุณทฤษฎีจากอาจารย์เซษฐา พวงหัตถ์ครับ (เคยสอนไว้)

๒๗-๑๒-๑๐

วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ชำแหละ Episode I

“ธงชาติและเพลงชาติไทย เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทย
เราจงร่วมใจกันยืนตรงเคารพธงชาติ ด้วยความภาคภูมิใจในเอกราช
และความเสียสละของบรรพบุรุษไทย…..”

ก่อนเคารพธงชาติ คุณคุ้นชินกับข้อความเช่นนี้ใช่ไหม?
และขณะที่รับฟังคุณมีความรู้สึกร่วมใช่หรือไม่?

นั่นคือเหตุผลให้บทความนี้เกิดขึ้นเพื่อชำแหละข้อความเหล่านี้ และเตือนสติมิให้หลงไปกับข้อความชาตินิยมเช่นนี้

สิ่งที่ปรากฏในข้อความก่อนเคารพธงชาติที่เห็นเด่นชัด คือ

๑. นิยามของ ๐ความเป็น (คน/ประชาชน) ไทย๐ คือ ชาติ (ไทย) ศาสนา (พุทธ) และพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นแนวคิดแบบชาตินิยมรุ่นแรกที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ สร้างขึ้นมา เมื่อมีความเป็นไทยก็ต้องมีความไม่เป็นไทย เช่น ชาติกะเหรี่ยง ชาติพม่า ชาติมอญ ชาติมลายู-มุสลิม ชาติลาว ชาติญวน ชาติจีน ฯลฯ รวมถึงคนเสื้อแดงที่ถูกเหมารวมจากสังคมว่าล้มเจ้า

ความเป็นไทยเช่นนี้ก่อให้เกิดประชาชนชั้นสอง (หรืออาจมากชั้นกว่านั้น) โดยเฉพาะกับคนที่ไม่เป็นไทยตามความเป็นไทยข้างต้น เช่น น้องก้านธูปที่ถูกตัดสิทธิไม่ให้เข้าเรียนในคณะอักษรศาสตร์ ศิลปากร เพราะมีความคิดต่างจาบจ้วงสถาบันอันเป็นที่รักของชาวไทย ทั้งที่การจะเป็นไทยในยุครัฐชาติ คือ เรื่องของสัญชาติ และภักดีต่อรัฐมิใช่ต่อกลุ่มของตน (เช่น กลุ่มเชื้อชาติ กลุ่มศาสนา ฯลฯ) และแน่นอนว่าประชาธิปไตยยอมรับในเรื่องเสรีภาพ เสมอภาค ซึ่งเปิดโอกาสให้เกิดความหลากหลายอย่างเท่าเทียม

ดังนั้น นี่คือการสร้างความขัดแย้ง สร้างกลุ่มย่อย (ที่ไม่ใช่ไทยตามนิยามความเป็นไทย) มากกว่าการสร้างเอกภาพ ด้วยการเก็บกดปิดกั้นอัตลักษณ์ที่หลากหลายด้วย “ความเป็นไทย” แทนที่จะสร้างความยอมรับในความหลากหลาย (ซึ่งรวมถึงทางความคิดด้วย) และในที่สุด ก็จะเกิดการปะทะของกลุ่มย่อย ดังเช่น ความรุนแรงใน ๓-๔ จังหวัดชายแดนใต้นั่นเอง

๒. เราควรภูมิใจในเอกราชอย่างไร? เราควรภูมิใจที่เคยเสียพ่ายแพ้เสียท่าแก่พม่าข้าศึก ๒ ครั้งในประวัติศาสตร์ รอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกเพียงชาติเดียวในอุษาคเนย์?

ถ้าเป็นเช่นนั้น เราก็ตกอยู่ภายใต้วังวนของประวัติศาสตร์แบบชาตินิยม/ล้าหลัง-คลั่งชาติ ที่เส้นพรมแดนถูกขีดมาตั้งแต่อดีตกาล และมีความเชื่อมโยงจากสุโขทัยจนถึงกรุงเทพฯ คนในเส้นพรมแดนแต่ละยุคคือคนไทย แล้วก็พี่ไทยนี่เองที่เก่งที่สุดในสามโลก ซึ่งมันเหลวไหลทั้งเพ!

เอาเรื่องแรกก่อน คือ กรณีกับพม่าข้าศึก (ตลอดกาลในประวัติศาสตร์?) เรื่องนี้ยาว ต้องย้อนไปอธิบายว่า เส้นพรมแดนของรัฐสยามที่ต่อมาเป็นรัฐไทยเพิ่งถูกลากเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ปฏิรูปการปกครอง (เริ่มใน พ.ศ.๒๔๓๕) รวบ (ริบ) อำนาจเจ้าประเทศราชทั้งหลาย และ (ซ้ำร้าย) ยึดดินแดนของเจ้าประเทศราชเหล่านั้นมาเป็นของตน (และเอาบางส่วนไปแลกกับสิ่งอื่นอันเป็นประโยชน์แก่ตนเอง เช่น แลกหัวเมืองมลายูกับการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตกับอังกฤษ) นี่คือจุดเริ่มต้นของรัฐชาติไทยในปัจจุบันที่มีเส้นแดนแน่นอน (และจุดเริ่มต้นกลายๆของขบวนการแบ่งแยกดินแดนชายแดนใต้)

และแน่นอน เราต้องรู้ด้วยว่าในอดีต ระบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐนั้นเป็นเรื่องของการยอมรับอำนาจ รัฐเล็กยอมรับอำนาจรัฐใหญ่ ซึ่งนั่นก็คือระบบประเทศราชหรือบรรณาการนั่นเอง เรามักรับรู้ว่ารัฐประเทศราชหรือเมืองประเทศราชนั้นก็คือส่วนหนึ่งของรัฐ เพราะประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมวาดแผนที่รัฐสยามแต่ละยุคขึ้นมาแบบแผนที่ปัจจุบันที่มีเขตแดนแน่นอน คำอธิบายที่ควรจะเป็นคือ รัฐประเทศราชนั้นเพียงแต่ยอมรับอำนาจผ่านการส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทอง ผ่านการส่งกำลังคนไปช่วยรัฐที่ตนยอมรับอำนาจ และเช่นเดียวกัน ฝ่ายที่มีอำนาจเหนือกว่าก็มีหน้าที่ให้ความคุ้มครองรัฐที่อำนาจน้อยกว่านั้นด้วย เป็นระบบความสัมพันธ์แบบต่างตอบแทนที่สร้างความพอใจให้แก่ทั้งสองฝ่ายพอสมควร (อย่างน้อยปัตตานีก็พอใจที่จะอยู่ภายใต้ระบบคสามสัมพันธ์นี้มากกว่าถูกผนวกเข้าในรัฐชาติสยาม)

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็คงพอจะเดาได้ว่า ความหมายของคำว่า “เอกราช” ในอดีตและปัจจุบันคงมิได้พ้องกันเป็นแน่ ธงชัย วินิจจะกูล อธิบายว่า เอกราช หรืออิสรภาพ มิได้เพียงหมายถึง การเป็นราชาผู้ยิ่งใหญ่ ไม่เป็นสองรองใคร ภาวะไม่อยู่ใต้อำนาจผู้อื่น แต่ยังหมายรวมถึง “การเป็นราชาธิราชเหนือราชาอื่น” คำถามจึงเกิดว่า เราเป็นหรือมีเอกราชต่อพม่าจริงๆหรือ? ลองนึกภาพแผนที่ในปัจจุบันก็ได้ อยุธยาเคยรุกคืบเข้าไปในดินแดนพม่าได้เกินหัวเมืองมอญหรือ? อยุธยาเคยไปปลงพระชนม์กษัตริย์พม่าได้หรือ? แล้วอยุธยาจะมีเอกราชได้อย่างไร? อยุธยาสนใจการค้ามากกว่าที่จะสนใจการเป็นราชาเหนือราชา (แม้แต่พระนเรศวร เมื่อตัดขาดความสัมพันธ์กับพม่า แม้พระเจ้าบุเรงนองจะสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ก็ไม่ได้ขยายอำนาจไปสู่พม่า) ถ้าจะเป็นราชาเหนือราชาก็เพียงแต่รัฐเล็กๆ มิใช่รัฐใหญ่ที่มีอำนาจในระดับเดียวกันอย่างพม่า เช่น เขมร ล้านนา ปัตตานี ฯลฯ ซึ่งดูแล้วเกี่ยวข้องกับการค้าทั้งสิ้น ขณะเดียวกัน ดูเหมือนว่าพม่าต่างหากที่เป็นฝ่ายที่มีเอกราช (หรือพยายามมีเอกราช) ต่อสยาม และก็เป็นได้อย่างน้อยตั้ง ๒ ครั้ง เป็นอันว่า อยุธยา มิได้เป็นเอกราชตามความหมายในยุคจารีต และมิได้ยิ่งใหญ่ไปกว่าความรุ่งเรืองด้านการค้า ซึ่งสุดท้ายความเจริญทางการค้าที่ทำลายระบบการเมืองและสังคม (โดยเฉพาะระบบควบคุมคน) ก็มีส่วนให้อยุธยาล่มสลายไปในที่สุด

อีกกรณี คือ การไม่ตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก ในขณะที่รัฐเล็กรัฐน้อยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ค่อยๆตกเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจไปทีละรัฐสองรัฐ นี่เป็นความภูมิใจอย่างสูงสุดของใครหลายคนที่ประเทศของตนสามารถต่อกรกับมหาอำนาจทั้งอังกฤษ และฝรั่งเศสได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ และรักษาเอกราช (ตามความหมายปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับดินแดน และอำนาจอธิปไตยแบบรัฐชาติสมัยใหม่) ไว้ได้ ขณะที่กษัตริย์ของพวกเขาได้รับเครดิตไปอย่างท่วมท้น

แต่เรื่องที่พวกเขาไม่เคยรู้ หรือจงใจปิดหูปิดตาคือ สยาม (แถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา) ที่โชคดีอย่างที่สุด เพราะอยู่ตรงกลางของภูมิภาคถูกอังกฤษและฝรั่งเศสตกลงให้เป็นรัฐกันชน (buffer state) จะได้ไม่ต้องทะเลาะกัน และชะตากรรมของสยามก็ไม่ได้ดีเด่ไปกว่าชาติอื่นรัฐอื่น ทั้งโดนขูดรีด เอาเปรียบ (เพียงแต่ระดับก็คงน้อยกว่า) สนธิสัญญาเบาว์ริงที่การเรียนการสอนพยายามกลบๆความขายหน้าด้วยการสรรเสริญว่าเป็นการเริ่มต้นเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของสยามประเทศ ทั้งที่นั่นคือจุดเริ่มต้นของสนธิสัญญาแบบเสียเปรียบของสยามที่นานาประเทศจะประดังประเดเข้ามาทำแบบนี้อีกกว่า ๒๐ ประเทศ การค่อยๆรุกคืบเข้ามาในเขตอิทธิพลของสยาม แม้แต่เมื่อสยามกลายสภาพจากรัฐจารีตเป็นรัฐชาติแล้ว (empire สู่ kingdom) สยามก็ไม่อาจต้านทานอะไรได้ ดูกรณี ร.ศ.๑๑๒ ที่สยามมิได้มีความสามารถจะไปสู้อะไรกับใครได้ และการกลายสภาพจากรัฐจารีตสู่รัฐชาติที่สร้างปัญหาวุ่นวายไม่เฉพาะในภาคใต้ แต่ตามภาคเหนือ-อีสาน ก็มีกบฏผีบุญ/ผู้มีบุญเกิดขึ้นนั้น มิใช่ความจำเป็นและแรงกดดันจากลัทธิล่าอาณานิคมที่กำลังเข้าประชิดสยามหรอกหรือ? เช่นเดียวกับการสร้างความทันสมัยที่ทำให้กษัตริย์สยามพระองค์หนึ่งได้รับการยกย่องจากชาวสยามในปัจจุบันอย่างสูงก็มิใช่เพราะมหาอำนาจที่มาจ่ออยู่หน้าประตูบ้านหรอกหรือ? และนี่คือความน่าภาคภูมิใจในเอกราชของประเทศ (ไม่อยากใช้คำว่าชาติ) ใช่หรือไม่? เชิญตัดสินด้วนตัวท่านเอง

ความจริงยังมีอีกกรณีหนึ่ง คือ กรณีญี่ปุ่นช่วงสงครามโลก ครั้งที่ ๒ ซึ่งเคยถูกอธิบายว่าเป็นมิตรประเทศที่มีความเท่าเทียมกัน แต่แท้จริงแล้วต่างกัน และไทยก็ราวกับลูกไก่ในกำมือญี่ปุ่น ญี่ปุ่นคือนาย และไทยต้องยอมญี่ปุ่นไปเสียทุกอย่าง นี่คือความสัมพันธ์ตามความเป็นจริง แต่นิยายเรื่องคู่กรรมคงสร้างความตรึงใจจนคนไทยอาจจะสับสนและทำเป็นลืมมันไปเสีย ทั้งที่นี่คือหน้าประวัติศาสตร์ที่อาจเรียกได้ว่าไทยเสียเอกราช (ตามความหมายปัจจุบัน)

๓. ความเสียสละของบรรพบุรุษไทยที่เราควรภูมิใจคือใคร? คนอย่างเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์จะเป็นความภาคภูมิใจของราชสำนักสยามหรือไม่? ตนกูอับดุล กาเดร์ สุลต่านองค์สุดท้ายของปัตตานีเป็นวีรบุรุษของคนไทยทุกคนหรือไม่? ชาวบ้านบางระจันมีบุญคุณอะไรต่อสงขลาหรือเปล่า? ฯลฯ คำถามพวกนี้อธิบายคำถามแรกได้เป็นอย่างดี

บรรพบุรุษของคนในรัฐไทยปัจจุบันเคยต่อสู้ แย่งชิง หรือแม้แต่ฆ่าฟันกัน นี่คือความจริงที่อาจเลวร้ายสำคัญบางคนที่มองประวัติศาสตร์ตามแบบชาตินิยม คือ คนไทยฆ่ากัน คนไทยแตกสามัคคี แต่อย่างที่อธิบายไปเมื่อข้อที่แล้ว รัฐไทยที่มีเขตแดนชัดเจนเพิ่งเกิดเมื่อไม่นานมานี้ (ประมาณ ๑๐๐ กว่าปีเท่านั้น) ก่อนหน้านี้ ความสัมพันธ์ระหว่างศูนย์กลาง (ขอนับแค่ อยุธยา-กรุงเทพฯ ไม่ขอนับสุโขทัย เพราะสุโขทัย-อยุธยา ดูเป็นศัตรูกันกว่าจะมีความต่อเนื่องกัน ความต่อเนื่องของอยุธยาควรมาจากรัฐเล็กรัฐน้อย เช่น สุพรรณบุรี ละโว้ เสียมากกว่า) กับรัฐประเทศราชยังคงเป็นแบบจารีต แน่นอนว่ารัฐเล็กย่อมต้องยอมรับอำนาจรัฐใหญ่ แต่เมื่อรัฐใหญ่อำนาจอ่อนลง แผ่อำนาจไปไม่ถึงรัฐเล็ก รัฐที่อำนาจด้อยกว่านั้นก็พร้อมจะหลุดออกจากระบบความสัมพันธ์กับรัฐใหญ่ (ดูช่วงเสียกรุงครั้งที่ ๒ ซึ่งบ้านเมืองมีก๊กเต็มไปหมด ซึ่งจริงๆก็คืออำนาจของท้องถิ่นต่างๆที่หลุดออกจากระบบความสัมพันธ์) ดังนั้น จึงเป็นเรื่องธรรมดาของรัฐในอดีตที่ปัจจุบันอยู่ในเขตแดนของรัฐไทยที่จะต่อสู้ ฆ่าฟันกัน

บางคนบอกว่า ก็พระนเรศวรไง ผมไม่รู้ว่าท่านเคยไปรบรากับใครที่ไหนบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่คนไทยพยายามลืม หรือถูกพยายามทำให้ลืม คือ พระราชบิดาของท่าน อันได้แก่พระมหาธรรมราชา ก็คือผู้ที่ช่วยพม่าเอาชนะอยุธยา (อโยธยา) ในคราวเสียกรุง ครั้งแรก ฟังดูอาจไม่เข้าท่า ตีวัวกระทบคราด ตีพ่อกระทบลูก เอาอย่างนี้แล้วกัน พระนเรศวรเคยไปทำอะไรให้ปัตตานีหรือไม่? เคยไปทำอะไรให้ภาคอีสานหรือไม่? เท่านี้ก็คงพอนึกภาพออกว่า แต่ละที่ก็มีบรรพบุรุษของตนเอง แต่สิ่งที่ประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมสื่อออกมานั้นผ่านทฤษฎีที่ธงชัย วินิจจะกูล (ไม่รู้คนอื่นเรียกก่อนหรือไม่) เรียกว่า “ทฤษฎีมหาบุรุษ” คือ การยกกษัตริย์ หรือบุคคลของส่วนกลางที่เก่งกล้า มีผลงานโดดเด่นขึ้นมาเป็นวีรบุรุษแห่งชาติ เช่น พระนเรศวร ชาวบ้านบางระจัน เป็นต้น กล่าวคือ ประวัติศาสตร์แนวนี้เน้นศูนย์กลาง วีรบุรุษเหล่านี้จึงเป็นเพียงวีรบุรุษของส่วนกลางเท่านั้น และอาจมีความพยายามกลบวีรบุรุษของพื้นที่อื่นๆด้วย แล้วทีนี้ บรรพบุรุษไทยที่ควรภูมิใจอยู่ที่ไหน? ตอบง่ายๆว่า มันไม่มี ..

ขอทิ้งท้ายบทความด้วยคำกล่าวของ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นกรอบเล็กๆในมติชนสุดสัปดาห์เมื่อหลายปีก่อน ขณะที่ปัญหาชายแดนใต้กำลังรุนแรงยุคทักษิณ

การแก้ไขปัญหาความรุนแรง โดยเฉพาะการลดความเกลียดชังในสังคมไทยจะเป็นไปได้ก็ต่อเมี่อ สังคมไทยตระหนักว่าความแตกต่างในสังคมซึ่งประกอบด้วยผู้คนหลากหลายที่ตระหนักรับรู้ความจริงแตกต่างกันมิใช่ปัญหา แต่เป็นพลังสร้างสรรค์ที่จะนำพาสังคมไปสู่สันติธรรมได้”

หยุดชาตินิยมไร้สาระ ที่พาลแต่จะนำความแตกแยก ร้าวฉานมาสู่สังคมและเพื่อนบ้าน แล้วก้าวข้ามมันสู่สังคมแห่งความหลากหลายที่สร้างสรรค์ ปรองดองทั้งในและระหว่างประเทศ!