วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เมืองราดอยู่ที่ไหน?

เมืองราด คือ เมืองของพ่อขุนผาเมือง ผู้ซึ่งได้ร่วมกับพ่อขุนบางกลางหาวเจ้าเมืองบางยางขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพงออกไปจากสุโขทัย เดิมมีความเชื่อว่าเมืองราดนั้นตั้งอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จนมีการสร้างตำนานไปต่างๆนานา รวมทั้งมีนำชื่อพ่อขุนผาเมืองไปตั้งชื่อสถานที่สำคัญ เช่น สะพานพ่อขุนผาเมือง แต่แนวคิดดังกล่าวมิได้มีหลักฐานมาสนับสนุนยืนยัน เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเกิดข้อเสนอที่อาศัยหลักฐานมาโต้แย้ง

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ได้เสนอแนวคิดการเรียงเมืองในจารึกตามเข็มนาฬิกา ซึ่งเมื่อพิจารณาจากศิลาจารึกหลักที่ ๘ (จารึกเขาสุมนกูฎ) หลักที่ ๙๓ (จารึกวัดอโสการาม) และหลักที่ ๑ (จารึกพ่อขุนรามคำแหง) เป็นอาทิ รวมถึงการใช้หลักฐานอื่นๆนอกเหนือจากศิลาจารึก คือ ใบลานที่เล่าเรื่องสมัยรัชกาลที่ ๒ โดยกล่าวถึงอำเภอท่าปลา (จังหวัดอุตรดิตถ์) ใกล้ห้วยแม่จริมเป็น “เมืองราดเก่าหั้น” และตั้งข้อสังเกตถึงการใช้คำว่า “ผา” ในพระนามของพ่อขุนผาเมือง ซึ่งไปพ้องกับกษัตริย์เมืองน่าน (ผานอง ผากอง ผาสุม) จึงสรุปว่า เมืองราดนั้นควรอยู่บนลุ่มน้ำน่าน และต้องอยู่ทางทิศเหนือกวาดลงมาถึงตะวันออกของเมืองสุโขทัย (ตามแนวคิดเรียงเมืองตามเข็มนาฬิกา) และต้องอยู่เหนือเมืองพิษณุโลก อย่างไรก็ดี แม้ผู้เขียนจะเห็นด้วยในการตั้งข้อสังเกต โดยเฉพาะเรื่องอิทธิพลของเมืองน่านในกรณีคำว่า “ผา” ในพระนาม แต่กลับยังคงตั้งข้อสงสัยในแนวคิดการเรียงเมืองตามเข็มนาฬิกา ซึ่งต้องการการตรวจสอบความถูกต้องต่อไป

ส่วนอาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เสนอว่าเมืองราด คือ เมืองทุ่งยั้ง (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์) โดยอาศัยการสังเกตว่า ชื่อเมืองราดนั้นปรากฏเฉพาะในหลักฐานของสุโขทัย (จารึกหลักต่างๆ) ส่วนชื่อเมืองทุ่งยั้งที่อยู่ในเขตอิทธิพลของสุโขทัยเช่นกันกลับไม่ปรากฏชื่อในหลักฐานของสุโขทัยเลย แต่กลับไปอยู่ในหลักฐานของล้านนาและอยุธยา ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า เมืองราดกับเมืองทุ่งยั้งก็คือเมืองเดียวกัน แต่มีการเรียกชื่อต่างกันระหว่างสุโขทัยเองกับที่อื่น (ล้านนาและอยุธยา) ซึ่งมีกรณีศรีสัชนาลัย (สุโขทัยเรียก) - สวรรคโลก (อยุธยาเรียก) เป็นกรณีตัวอย่างอยู่แล้ว นอกจากนี้ อาจารย์พิเศษยังได้ตั้งสมมุติฐานถึงลักษณะของเมืองราดไว้ ๓ ประการ คือ

ประการแรก เมืองราดควรมีร่องรอยขอมอยู่
เพราะจากความในจารึกหลักที่ ๒ นั้น พ่อขุนผาเมืองได้รับสถาปนาจากขอม และยังได้พระราชธิดาเมืองขอมมาแต่งงานด้วย ซึ่งสมมุติฐานนี้ก็ปรากฏในเมืองทุ่งยั้งด้วย กล่าวคือ มีโบราณสถาน โบราณวัตถุศิลปะเขมร (หรือละโว้) อยู่ด้วย

ประการต่อมา เมืองราดควรมีความศักดิ์สิทธิ์หรือมีศักดิ์ศรีไม่ด้อยไปกว่าสุโขทัย
(ควรจะมากกว่าด้วย) เพราะพ่อขุนผาเมืองไม่คิดปกครองเมืองสุโขทัย แต่กลับไปครองเมืองราดตามเดิม ซึ่งข้อนี้ถูกตอบด้วยเรื่องในพงศาวดารเหนือ (ที่มีลักษณะเป็นตำนาน) โดยมีเรื่องหนึ่งที่กล่าวถึงเมืองทุ่งยั้งว่า “กัมโพชนคร” ซึ่งเป็นชื่อวงศ์ของอินเดียโบราณ อาณาจักรขอม (พระนคร) และละโว้ เป็นสองเมืองที่ได้รับเอาชื่อกัมโพชมาเป็นชื่อวงศ์ของตน และมีการเรียกชื่อทั้งแห่งว่า กัมโพชด้วย ดังนั้น กัมโพช จึงมีนัยอันแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์และมีอารยธรรมอันสูงส่งของเมืองแฝงอยู่ด้วย นอกจากนี้ การที่เมืองทุ่งยั้งถูกเรียกว่า กัมโพช ก็สะท้อนความสัมพันธ์กับขอมตามสมมุติฐานข้อแรกด้วย ส่วนสมมุติฐาน

ประการสุดท้าย เมืองราดควรจะอยู่ไม่ห่างจากสุโขทัยนัก
เพราะมิเช่นนั้น พ่อขุนผาเมืองจะยกพลมาช่วยพ่อขุนบางกลางหาวตีกระหนาบขอมไม่ทัน ซึ่งเมืองทุ่งยั้งก็ไม่ได้ห่างสุโขทัยเท่าใดเลย เป็นอันว่าเมืองทุ่งยั้งเข้ากันได้กับลักษณะที่ควรเป็นของเมืองราดทุกข้อ

เมืองทุ่งยั้งยังมีความสำคัญจากการตั้งอยู่ตรงรอยต่อของภูมิประเทศแบบที่ราบแม่น้ำของภาคกลางกับแบบเขาสูงทางภาคเหนือที่แม่น้ำมีเกาะแก่ง ดังนั้น ทุ่งยั้งจึงเป็นจุดแวะพัก (ยั้ง) เพื่อเปลี่ยนวิธีการเดินทางหรือขนส่ง และควรมีความเจริญทางเศรษฐกิจพอสมควร อย่างน้อยก็น่าจะเกิดตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าขึ้น ซึ่งช่วยส่งเสริมความสำคัญของเมืองแห่งนี้อีกประการหนึ่ง

แต่หากวันหนึ่งมีสมมุติฐานข้ออื่นๆเกี่ยวกับลักษณะที่ควรเป็นของเมืองราดขึ้นมาอีก ที่ตั้งของเมืองราดก็อาจไม่อยู่ที่เมืองทุ่งยั้งก็ได้

สรุปแล้ว เมืองราดก็ควรอยู่แถบลุ่มน้ำน่าน ซึ่งอาจเป็นเมืองทุ่งยั้งหรือเมืองโบราณอื่นๆแถบจังหวัดอุตรดิตถ์หรือไม่ก็ได้ ตามแต่ที่ผู้ศึกษาจะได้อาศัยหลักฐานเพื่อชี้ทางต่อไป แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ควรตะหนักจากเรื่องนี้คือ ปัจจุบันยังคงมีความเชื่อที่เลื่อนลอยแต่ได้รับการยอมรับจากสังคม ดังนั้น การอาศัยหลักฐานมาเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบและโต้แย้งความเชื่อเหล่านั้นจึงมีความสำคัญยิ่ง เพื่อให้สังคมไทยหลุดพ้นจากการเป็นสังคมทุติยภูมิ และตติยภูมิ อย่างที่ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียรกล่าวไว้เสมอ

เอกสารประกอบการเขียน

ประเสริฐ ณ นคร. การอธิบายศิลาจารึกสมัยสุโขทัย. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ๒๕๔๗.
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. “เมืองราดและรอยเชื่อมในประวัติศาสตร์ไทย” ใน ศาสนาและการเมืองในประวัติศาสตร์สุโขทัย-อยุธยา. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๕.

วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ยกเลิก ป.บัณฑิต เพื่อใคร?

หลังคุรุสภาแห่งราชอาณาจักรไทยได้มีมติยกเลิกประกาศนียบัตรบัณฑิตการศึกษา หรือป.บัณฑิต นอกจากการโต้เถียงกัน (โดยที่คนทั่วไปไม่ได้ยิน และยอมรับมันโดยไม่ตั้งคำถาม) โดยเฉพาะความไม่พอใจจากนิสิตนักศึกษาที่อยากเป็นครู (หรืออย่างน้อยก็เสียผลประโยชน์ที่พึงได้อยู่เดิม) กับฝ่ายผู้กำหนดนโยบายแล้ว เรากลับเห็นความเคลื่อนไหวบางอย่างที่ตามมา ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป

เมื่อไม่มี ป.บัณฑิตแล้ว สิ่งที่ต้องทำถ้าหากอยากเป็นครู (สำหรับนักศึกษาที่ไม่ได้จบคณะครู) เหมือนจะมีทางแก้หลักก็คือ เรียนปริญญาโทในคณะครู … เพื่อให้ได้ชื่อว่าจบคณะครู และสามารถมีสิทธิ์เป็นครูได้โดยไม่ผิดกฎหมาย!

นั่นหมายความว่าอะไร? – ความเป็นครูไม่ได้ติดตัวคนมาโดยกำเนิด (ครูมืออาชีพ) แต่ความเป็นครูเกิดจากการรับรองตามกฎหมายว่ามีสิทธิ์ (อาชีพครู)

และแน่นอนว่า สิทธิ์ความเป็นครูตามกฎหมายมิได้คำนึงถึงเรื่องความรู้ความสามารถมากไปกว่า “มึงต้องจบคณะครู”

ศาสตร์หลายแขนงต้องการความรู้เฉพาะด้าน ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ ภาษาไทย (ที่ลึกซึ้ง) ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ แต่เรากลับพบว่าครูผู้สอนวิชาเหล่านี้จบ “คณะครู” ที่ไม่ได้มีความรู้เฉพาะเหล่านี้มาก่อน ขณะที่ผู้มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางกลับถูกตัดสิทธิ์จากมติของคุรุสภาดังกล่าวข้างต้น โดยอ้างเพียงว่าครูล้นตลาดและต้องการ “กั๊ก” ตำแหน่งครูไว้ให้บัณฑิตคณะครู

นี่ได้สะท้อนความคิดของผู้กำหนดนโยบายที่เน้น “ปริมาณ” มากกว่า “คุณภาพ” และที่สำคัญ คือ นี่คือการละเลยคุณภาพของ “ครู” ผู้ซึ่งมีหน้าที่ในทางตรงต่อการให้ความรู้พื้นฐานแก่คนรุ่นถัดไป ซึ่งการศึกษา (และสาธารณสุข) ได้รับความสำคัญอย่างมากตามแนวทางพัฒนาประเทศแบบตะวันตก เพราะถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของประเทศ (การศึกษา-ความรู้ความสามารถ/สาธารณสุข-สุขภาพที่ดี)

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราจะคาดหวังถึงความรู้ของคนรุ่นต่อไปได้มากน้อยเพียงใด?

และสิ่งที่ต้องการชี้ให้เห็นมากไปกว่านั้นคือ เราอาจกำลังเห็นเบื้องหลังของนโยบายยกเลิก ป.บัณฑิต อย่างหนึ่ง คือ มหาวิทยาลัยต่างๆได้เร่ง (ซึ่งย่อมส่งผลต่อคุณภาพ) พัฒนาหลักสูตรปริญญาโท 2 ปี เพื่อรองรับนักศึกษาที่ไม่ได้จบคณะครู ซึ่งแน่นอนว่า ค่าใช้จ่ายคงมหาศาลขึ้นอย่างมาก และผู้ที่ได้ประโยชน์คงหนีไม่พ้นมหาวิทยาลัยและผู้เกี่ยวข้อง (เช่น คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยนั้นๆ) โดยผลเสียไม่ได้ตกอยู่แค่กับนักศึกษาที่ไม่ได้จบคณะครูที่ต้องเสียทั้งเงินและเวลามากขึ้น แต่กลับมีผลแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอนาคตทางปัญญาของเด็กรุ่นถัดไป ดังนั้น ผลประโยชน์ของคนเพียงกลุ่มเล็กมากๆ (ที่ส่งผลเสียอย่างกว้างขวาง) คือเหตุผลของการยกเลิก ป.บัณฑิตใช่หรือไม่!

หมายเหตุ : ผู้เขียนมิได้มีเจตนาดูถูก "คณะครู" แต่อย่างใด เพียงต้องการแสดงความเลวร้ายและอยุติธรรมของระบบซึ่งมีคณะครูเข้ามาเกี่ยวข้องเท่านั้น และมิได้ดูหมิ่นนักศึกษาคณะครูเช่นกัน เพราะเพื่อนคณะครูบางท่านเก่งกาจกว่าผู้เขียนมากนัก