วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

จากข้อความเพียงสั้นๆ Vol.1

จาก Facebook อาจารย์เชษฐา : ถ้านักศึกษาของเราไม่เคยต่อสู้เพื่อจะปกป้องสิทธิพื้นฐาน เช่น สิทธิเหนือร่างกาย และการเลือกเครื่องแต่งกายของพวกเขาเมื่อได้เป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่พวกเขาจะไม่สามารถจินตนาการถึงสิทธิที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น...[คำ ผกา, ‘ขอแสดงความยินดี’, มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 30 ฉบับที่ 1563 (23-29 กรกฎาคม 2553), หน้า 91-92.]

ความเห็นส่วนตัว : เป็นข้อความที่กระแทกใจนักศึกษาอย่างเรายิ่งนัก และแม้จะถูกใจข้อความนี้ แต่ก็ควรระลึกเสมอว่า การไม่มีสำนึกถึงเรื่องสิทธิพื้นฐานอย่างการแต่งกายนั้น นำไปสู่การไร้จินตนาการถึงสิทธิที่ใหญ่กว่านั้นจริงหรือ? นอกจากนี้ ยังต้องดูบริบทต่างๆที่แวดล้อมตัวนักศึกษาด้วยว่า เป็นบริบทที่เอื้อแก่การมีสำนึกเหล่านี้หรือไม่ และคำถามต่อไปที่เป็นเชิงกลับของคำถามแรก ก็คือ ถ้านักศึกษามีสำนึกเรื่องสิทธิในการแต่งกายมาเรียนแล้ว พวกเขา (พวกเรานั่นแหละ) จะมีสำนึกในสิทธิที่ก้าวหน้าขึ้นจริงหรือไม่?

สรุป : ข้อความนี้เหมาะแก่การสร้างกระแสมากกว่า (เพราะสร้างความสะเทือนใจแก่ผู้อ่าน โดยเฉพาะนักศึกษา) เพราะพร่องในเรื่องตรรกะที่ไม่สมเหตุสมผลเท่าที่ควร ทั้งนี้ ข้อสรุปเกิดขึ้นจากเพียงข้อความสั้นๆนี้เท่านั้น มิได้หมายรวมถึงบทความที่ข้อความนี้ปรากฏอยู่ เพราะยังไม่ได้อ่าน (ฮี่ๆ) ซึ่งหากอ่านบทความทั้งหมดแล้ว อาจทำให้เข้าใจความคิดของผู้เขียนในเรื่องสิทธิมากขึ้น และคงจะดีถ้ามันสามารถกระตุ้นให้เกิดสำนึกเรื่องสิทธิขึ้นมาได้จริงๆ

หวังเหลือเกินว่า สักวันความคิดเรื่องสิทธิจะเกิดขึ้นกับประชาชนชาวไทยอย่างถ้วนหน้าสักที
T^T

วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

Planaonao vs Chetta Vol.1

Planaonao Plus : มี 2 เรื่องที่สงสัยจากการเรียนวันนี้ครับ (21 กรกฎาคม 2553)

1. ปัจจัยอะไรที่ทำให้ความขัดแย้งทางชนชั้นเฟดตัวไป และความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ก้าวมาเป็นประเด็นหลักแทนที่
Puanghut Chetta 22 กรกฎาคมเวลา 4:37 น.
ตอบแบบจะรีบไปห้องน้ำว่า
1.การสิ้นสุดของสงครามเย็น - การล่มสลายของคอมมิวนิสม์ในลักษณะของการแพร่ระบาด (contagion) – การใช้สำนึกทางชนชั้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการปลุกระดมการปฏิวัติชนชั้นแทบจะไม่มีความหมายอีกต่อไป
Planaonao Plus 22 กรกฎาคมเวลา 11:52 น.
1. อ๋อ เข้าใจแล้ว เพราะคอมมิวนิสต์เน้นเรื่องชนชั้น การหมดบทบาทในกระแสหลักของคอมมิวนิสต์ก็เท่ากับเรื่องชนชั้นลดบทบาทลงไปด้วย
Puanghut Chetta 22 กรกฎาคมเวลา 4:52 น.
ข้อความต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของคำบรรยายเท่าที่จำได้
อย่างไรก็ดี หลังจากการล่มสลายของค่ายคอมมิวนิสต์โซเวียตและหลังจากที่ประเทศจีนได้หันไปดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอันนำไปสู่การขยายตัวของความไม่เท่าเทียมกัน ดูเหมือนว่าความขัดแย้งทางชนชั้นก็ได้เริ่มลดบทบาทลงในฐานะเป็นต้นตอของการจับขั้วทางการเมือง (political polarisation) ในโลกกำลังพัฒนาและเปิดโอกาสให้ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นได้เข้ามามีบทบาทแทน
คงไม่มีการแตกแยกทางการเมือง (political division) รูปแบบใดที่ทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างยืดเยื้อเรื้อรังและรุนแรงในชาติกำลังพัฒนาทั้งหลายได้เท่ากับประเด็นเรื่องชาติพันธุ์ (ethnicity)
ประชาชนในโลกที่สามแทบทั้งหมดได้ถูกดึงเข้าสู่การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันบนพื้นฐานของภาษา วัฒนธรรม ศาสนา สีผิว และดูเหมือนว่าหลายต่อหลายครั้งทีเดียวที่ความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันได้ทวีความรุนแรงจนขยายขอบเขตออกไปจนเกินกว่าที่จะเป็นแค่เพียงเรื่องของชนชั้นทางสังคมเศรษฐกิจเท่านั้น
Puanghut Chetta 22 กรกฎาคมเวลา 4:52 น.
แน่นอนว่าความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ไมได้จำกัดขอบเขตอยู่แค่ในโลกที่สามเท่านั้น ทว่าความขัดแย้งดังกล่าวได้ผุดโผล่เมื่อไม่นานมานี้ในดินแดนหลายๆแห่งที่มีความแตกต่างกันอย่างเช่นเซอร์เบีย ไอร์แลนด์เหนือ อดีตสหภาพโซวียต และแคนาคา อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์นี้กลับสร้างปัญหาอันขมขื่นโดยเฉพาะให้กับประเทศต่างๆที่มีการพัฒนาระดับต่ำ (LDCs) อันเป็นผลมาจากการแข่งขันอย่างเข้มข้นรุนแรงเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่ขาดแคลน ดังนั้น แม้ว่าการเมืองในนาครของอเมริกา (American urban politics) ในบางครั้งสำแดงตัวออกมาลักษณะของการแข่งขันระหว่างชาวแองโกล-แซกซอน ชาวไอริช ชาวอิตาเลียน ชาวยิว ชาวอเมริกันที่พูดภาษาสเปน (Hispanics) และชาวอเมริกันแอฟริกัน (African Americans) แต่ปัญหาที่เกิดจากความขัดแย้งดังกล่าวก็ไม่เคยรุนแรงเหมือนกับที่ได้เกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเชีย ประเทศเลบานอน และประเทศอินเดีย ในประเทศต่างๆเหล่านี้ หลายต่อหลายครั้งทีเดียวที่กลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลายที่ขัดแย้งต่อสู้กันมีความรู้สึกว่าความอยู่รอดของพวกเขานั้นแขวนเอาไว้กับการกระจายงานในภาคสาธารณะ โอกาสในการศึกษา และโครงการพัฒนาของรัฐ
Planaonao Plus 22 กรกฎาคมเวลา 11:49 น.
แต่ทุนนิยมก็เป็นตัวการใหญ่ให้เกิดความขัดแย้งทางชนชั้น โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจไม่ใช่หรอครับอาจารย์ มันน่าจะยิ่งทวีความรุนแรงด้วยซ้ำไป ขณะที่ระบบการเมืองแบบคอมมิวนิสต์น่าจะควบคุมความขัดแย้งทางชนชั้นได้ดีกว่าอ่าครับ ผมก็เลยสงสัยอยู่นประเด็นนี้
Puanghut Chetta 22 กรกฎาคมเวลา 20:06 น.
ผมไม่ได้บอกว่าความขัดแย้งทางชนชั้นหมดไปในโลกปัจจุบัน แต่มีบทบาทในการเป็นสาเหตุของความขัดแย้งทางการเมืองน้อยกว่าความขัดแย้งทางชาติพันธุ์
ในโลกทุนนิยมปัจจุบันหรือที่เราเรียกว่าโลกาภิวัตน์ ทุนนิยมสามารถผลิตซ้ำตัวมันเองได้ในรูปแบบของการทำทุกอย่างให้กลายเป็นสินค้าและการทำให้พวกเราไม่รู้สึกว่าเราถูกเอาเปรียบในสังคมบริโภคนิยม เรามีความเท่าทียใกนในการเข้าไปในห้องสรรสินค้าใช่หรือไม่ เรามีความเท่าเทียมกันในการ 'แดก' McDonald ใช่หรือไม่ หรือสินค้าบางอย่างเราซื้อของแท้ไม่ได้ แต่เราก็สามารถซื้อ imitation good ได้มิไช่หรือ
คุณคงเห็นขบวนการก่อการร้ายสากลของพวก Islamic Fundamentalism ใช่หรือไม่ จริงๆแล้วเขาทำสงครามกับทุนนิยม แต่อ้างความขัดแย้งทางชาติพันธุ์
ผมขอเน้นว่าความขัดแย้งทางชนชั้นยังไม่หายไป แต่มันมีบทบาทเป็นรองเท่านั้นสำหรับโลกกำลังพัฒนา

2. การที่ประเทศกำลังพัฒนาปฏิวัติเป็นคอมมิวนิสต์โดยไม่ผ่านขั้นทุนนิยมก่อนส่งผลอะไรต่อทฤษฎีของมาร์กซ์บ้างครับ
Puanghut Chetta 22 กรกฎาคมเวลา 4:37 น.
2. ยิ่งดีใหญ่ เพราะการปฏิวิติจะได้เกิดเร้ซขึ้นและเกิดขึ้นทั้วโลก ถ้า Marx ยังมีชีวิตอยู่ เขาคงชอบใจมาก เพราะมีสาวกที่เอาการเอางานอย่าง Lenin, Mao, Ho Chi Minh, Castro, etc. ซึ่งล้วนเป็นทั้งนักทฤษฎีและนักปฏิวัติในโลกที่สาม
Planaonao Plus 22 กรกฎาคมเวลา 11:52 น.
2. แต่ทฤษฎีของมาร์กซ์ก็ผิดไป อย่างงี้ทฤษฎี 5 ขั้นสู่คอมมิวนิสต์มิเท่ากับถูกท้าทายหรอครับ แม้เป้าหมายจะยังคงเดิมก็ตาม
Puanghut Chetta 22 กรกฎาคมเวลา 20:14 น.
ไม่ได้ถูกท้าทาย เพราะ Marx ต้องการทำสงครามชนชั้นเพื่อเปลี่ยนสังคมไปสู่สังคมนิยมโดยมองจากประสบการณ์ในอังกฤษที่เป็นทุนนิยมอันมีเงื่อนไขของความขัดแย้งทางชนชั้นที่สุกงอมแล้ว แต่ทำไมการปฏิวัติอย่างที่ Marx อยากเห็น จึงไม่เกิด
1. ทุนนิยมปรับตัวในรูปของรัฐสวัสดิการ และล่าสุดผมตอบคุณไปแล้วคือการสลายทุกคนให้กลายเป็นผู้บริโภคอย่างเสมอภาคกัน
2. ในสังคมที่ยังไม่เป็นทุนนิยมก็สามารถข้ามขั้นตอนไปสู่สังคมนิยมได้ของ Marx ได้ เช่น รัสเซีย จีน คิวบา เวียดนาม ซึ่งผมตอบคุณไปแล้ว
3. ถ้าคุณจริงจังกับการศึกษาความคิดของ Marx จะเห็นวา Marx เคยเขียนถึงสังคมเอเชียที่พัฒนาไปเป็นทุนนิยมล่าช้าเพราะมีวิถีการผลิตที่เรียกว่า Asiatic mode of production
4. สังคมที่ยังไม่เป็นทุนนิยม Marx เชื่อว่า พรรคคอมมิวนิสต์ต้องมีบทบาทหลักในการปฏิวัติ [ประเด็นนี้ต้องพูดกันยาว โดยเฉพาะเรื่อง class-in-itself และ class-for-itself]

ก็น่าจะพอเข้าใจบริบทที่ทำให้ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ก้าวขึ้นมาเป็นสาเหตุหลักของความขัดแย้งในโลกที่ 3 แทนที่ความขัดแย้งทางชนชั้น รวมถึงเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับลัทธิมาร์กซ์นะครับ

วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

พลอตเรื่องที่ซ้ำกัน (The Same Plot)

บทความนี้จะพูดถึงความซ้ำกันของพลอตเรื่องในช่วงปลายรัชสมัยของกษัตริย์ 2 พระองค์ พระองค์หนึ่งคือกษัตริย์ที่คนไทยรู้จักดี ถือว่าอยู่ในความสนใจของคนไทยเรื่อยมา คือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กับอีกพระองค์หนึ่งซึ่งคนไทยรู้จักพระองค์เพียงน้อยนิด ซึ่งช่วงเวลาอันสั้นของพระองค์มีผลอย่างมาก คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ นั่นเอง ทั้ง ๒ พระองค์สวรรคตอย่างเป็นปริศนา กษัตริย์พระองค์แรกถูกทำรัฐประหาร กับกษัตริย์อีกพระองค์นั้นถูกปลงพระชนม์ (พระองค์อยู่ในช่วงเวลาที่สยามเป็นประชาธิปไตยแล้ว ดังนั้น การสวรรคตของพระองค์จึงไม่ใช่การรัฐประหาร กล่าวคือ พระองค์ไม่ใช่ผู้มีอำนาจฝ่ายบริหารนั่นเอง) แต่การสวรรคตของทั้งสองไม่กระจ่างชัดจนวันนี้ ด้วยเหตุนี้ ข่าวลือที่มีพลอตเรื่องเดียวกันจึงเกิดขึ้น

พลอตเรื่องที่ซ้ำกัน
พลอตเรื่องที่ว่าก็คือ กษัตริย์ไทยทั้ง ๒ มิได้สวรรคตในเวลาที่สิ้นรัชกาล อันเนื่องมาจากทรงสละราชสมบัติให้กับผู้อื่น แล้วเสด็จไปประทับที่อื่นอย่างสงบในร่มพระศาสนา พระเจ้าตากสินทรงสละราชสมบัติให้แก่เจ้าพระยาจักรี ส่วนรัชกาลที่ ๘ สละราชสมบัติให้แก่สมเด็จพระอนุชาอันได้แก่ในหลวงองค์ปัจจุบัน พระองค์แรกทรงใช้ชีวิตที่เหลือ ณ ถ้ำแห่งหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนอีกพระองค์เสด็จไปทางเหนือสู่จังหวัดเชียงใหม่ ปฏิบัติตนเยี่ยงภิกษุในป่าอันห่างไกลผู้คน จะเห็นได้ว่าพลอตเรื่องของทั้ง ๒ พระองค์นั้นตรงกันอย่างน่าประหลาดใจ แม้ในตัวเนื้อหาจะมีความพิเศษพิสดารต่างกันไปบ้าง เหตุการณ์ของทั้ง ๒ พระองค์เกิดในเวลาต่างกันร้อยกว่าปี แต่เราไม่ทราบเลยว่าผู้คิดพลอตเรื่องนี้อยู่ในช่วงเวลาใด และเรื่องใดเกิดก่อนกัน หรือเรื่องใดมีอิทธิพลต่อเรื่องใด แม้พระเจ้าตากสินจะสวรรคตไปก่อนหน้า แต่พลอตเรื่องนี้ก็อาจไม่ได้เกิดก่อนพลอตเรื่องของในหลวงอานันท์ก็เป็นได้ ข้อนี้คงจะเข้าใจได้ดีหากทราบถึงจุดประสงค์ของการสร้างพลอตเรื่องเช่นนี้เสียก่อน

แน่นอนว่าเราคงไม่สามารถรู้จุดประสงค์ของผู้สร้างพลอตเรื่องอย่างแน่นอน แท้จริงได้ แต่หากเราพิจารณาถึงประโยชน์ที่เกิดแก่บุคคลต่างๆ เราก็อาจจะพอรู้ถึงจุดประสงค์และผู้เกี่ยวข้องกับการสร้างพลอตเรื่องนี้ได้ แล้วพลอตเรื่องเช่นนี้นั้นส่งผลดีและเสียต่อใคร?

จุดประสงค์ของการสร้างพลอตเรื่อง ใครสร้าง และเรื่องไหนมาก่อน?
เมื่อพิจารณาถึงผลดีนั้น ที่พอจะนึกได้อย่างง่ายที่สุดก็คงหนีไม่พ้นตกอยู่ที่ตัวผู้สืบทอดราชบัลลังก์นั่นเอง ที่จะทรงมีความชอบธรรมอย่างสูงในการเสด็จเถลิงสวรรยราชสมบัติ หากเป็นคำอธิบายแบบเก่าที่เป็นที่ยอมรับในหมู่นักวิชาการทั้งหลายนั้น สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ก็จะทรงมีมลทินอย่างเลี่ยงไม่ได้จากการที่ทรงยึดอำนาจจากสมเด็จพระเจ้าตากสิน ขณะที่ในหลวงองค์ปัจจุบันก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะเป็นผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการปลงพระชนม์พระเชษฐาของพระองค์เอง แต่ในทางตรงกันข้าม หากเป็นคำอธิบายตามพลอตเรื่องของข่าวลือที่มีผู้เชื่อถืออยู่พอสมควรนั้น กษัตริย์ผู้มาทีหลังทั้ง ๒ จะกลายเป็นผู้แบกรับภาระอันหนักอึ้งแทนกษัตริย์ทั้ง ๒ ที่ทรงสละราชสมบัติตัดช่องน้อยแต่พอตัวไปเสียก่อน ทั้งความชอบธรรมก็จะมีในระดับที่สูง เพราะการขึ้นครองราชย์นั้นเกิดขึ้นด้วยความยินยอมพร้อมใจของทั้งฝ่ายที่จากไป และฝ่ายที่กำลังจะขึ้นสู่อำนาจ

แต่ก็ใช่ว่าฝ่ายที่ไปจะไม่มีผลประโยชน์จากพลอตเรื่องเช่นนี้ พระเจ้าตากสินทรงถูกข้ออ้างในการทำรัฐประหารของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯเพื่อสร้างความชอบธรรมในการทำรัฐประหารเล่นงานอยู่ไม่ใช่น้อย ทั้งเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินที่ล้มเหลว และเรื่องวิกลจริต ดังนั้น การสละราชสมบัติของพระองค์ก็อาจมองได้ว่าทรงเสียสละอำนาจที่ทรงมีอยู่เต็มมือทิ้งไปเพื่อให้ผู้มีความสามารถขึ้นมาทำหน้าที่แทน โดยที่ไม่ใช่แม้แต่ลูกหลานของพระองค์ด้วยซ้ำ ซึ่งย่อมส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีของพระองค์อย่างมาก ส่วนในหลวงอานันท์ก็มีข่าวลือในเชิงเสียหายอยู่บ้าง เช่น ทรงทะเลาะกับพระราชมารดา ทรงรักอยู่กับสาวชาวต่างชาติ (สวิส) และจะทรงเล่นการเมือง พลอตเรื่องนี้ดูจะไม่ได้สร้างผลดีแก่ในหลวงอานันท์เท่าไรนัก เพราะแม้จะมีข่าวลือพวกนี้ แต่ก็ไม่ได้มีผลกระทบที่เสียหายร้ายแรงดังเช่นกรณีของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ดังนั้น พลอตเรื่องสละราชสมบัติจึงไม่ได้ให้ภาพความเสียสละเท่ากรณีของพระเจ้าตากสินเลย ทั้งอาจเป็นผลเสียในแง่สละราชสมบัติหนีไปเพราะทรงไม่พอใจคนอื่นรอบข้างจนดูเป็นคนเอาแต่ใจ ซึ่งก็ดูขัดกับพลอตเรื่องที่ว่าทรงหนีไปบวช เพราะเรื่องที่ทรงมีปัญหานั้นล้วนเป็นเรื่องทางโลกทั้งสิ้น คงไม่มีใครคิดว่าจะทรงต้องการหนีทางโลกไปตั้งแต่พระชนม์ยังน้อย
จากที่วิเคราะห์มานั้น

จะเห็นได้ว่าพลอตเรื่องนั้นดูจะสร้างผลดีเสียมากกว่า โดยเฉพาะในกรณีสมเด็จพระเจ้าตากสินที่ทั้งสองฝ่ายกำผลประโยชน์ไปด้วยกัน แต่ถ้าดูให้ดีแล้ว ผู้ที่น่าจะได้ผลประโยชน์ก้อนใหญ่กว่าน่าจะเป็นผู้มาทีหลัง คือทั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ และในหลวงองค์ปัจจุบัน เพราะแน่นอนว่าความชอบธรรมในการขึ้นครองราชย์คงเทียบไม่ได้กับภาพลักษณ์เล็กๆน้อยๆที่อาจไม่มีคนสนใจด้วยซ้ำไป ดังนั้น จุดประสงค์ของการสร้างพลอตเรื่องนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับความชอบธรรมในการขึ้นครองราชของกษัตริย์ ๒ พระองค์ในราชวงศ์จักรี คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ และในหลวงภูมิพล รัชกาลปัจจุบัน ซึ่งถ้าเป็นจุดประสงค์เช่นนี้จริงแล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างพลอตเรื่องคงหนีไม่พ้นฝ่ายของผู้มาทีหลังหรือครองราชบัลลังก์ต่อนั่นเอง แต่นั่นก็เป็นเพียงการวิเคราะห์คร่าวๆเท่านั้นเพื่อให้มุมมองในแง่ที่ว่าพลอตเรื่องนี้มีการเมืองแฝงอยู่ด้วย

แต่พลอตเรื่องของใครเกิดก่อนกันอันเกี่ยวเนื่องกับมิติทางเวลานั้น ต้องอาศัยการศึกษาอย่างลึกซึ้ง แต่ถ้าจะให้วิเคราะห์แล้ว ก็เป็นไปได้ทั้ง ๒ กรณี คือ ถ้ากรณีในหลวงอานันท์เกิดก่อน ก็ต้องเป็นช่วง ๒๔๘๙ (ปีที่รัชกาลที่ ๘ สวรรคต) เป็นต้นไป ซึ่งฝ่ายผู้ฝักใฝ่ นับถือศรัทธาในตัวของพระเจ้าตากสินเห็นดีเห็นงามจึงนำไปใช้บ้าง ทั้งมีหลักฐานอะไรบริเวณนครศรีธรรมราชก็จับมาโยงเข้าเสียจนดูประหนึ่งเป็นกระแสประวัติศาสตร์อีกกระแสหนึ่ง ส่วนอีกแบบหนึ่ง คือ เป็นพลอตของสมเด็จพระเจ้าตากสินก่อนแล้วกรณีของในหลวงอานันท์ได้อิทธิพลไป กรณีเช่นนี้ก็คือ พลอตของสมเด็จพระเจ้าตากสินนั้นเกิดมาก่อน ๒๔๘๙ กล่าวคือ พลอตเรื่องเช่นนี้นั้นดำรงอยู่ในสังคมไทยมานานแล้ว ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น และเมื่อในหลวงอานันท์สวรรคตอย่างกระทันหันและอธิบายได้ยากแล้ว ข่าวลือเช่นนี้จึงกลับมาโดยสร้างประโยชน์ให้แก่การขึ้นครองราชย์ของในหลวงองค์ปัจจุบัน

แต่เมื่อเราคำนึงถึงความจำเป็นในการสร้างพลอตเรื่องเช่นนี้แล้ว การสร้างพลอตเรื่องพระเจ้าตากก่อน คือ พลอตเรื่องเช่นนี้มีมานานแล้ว (ก่อน ๒๔๘๙) ก็ดูเป็นไปได้น้อยกว่า แน่นอนว่า สถาบันกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีนั้นค่อนข้างมีเสถียรภาพอย่างสูง และค่อนข้างปลอดภัยจากการแย่งชิงราชสมบัติ ไม่เหมือนช่วงกรุงศรีอยุธยาที่การรัฐประหารเกิดขึ้นบ่อยครั้ง (แม้แต่กรณีสมเด็จช่วง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการก็แสดงความจงรักภักดี ไม่ได้คิดเป็นกษัตริย์เอง มิเช่นนั้นเราก็อาจได้มีกษัตริย์เชื้อสายเปอร์เซียดูบ้าง) อีกเหตุผล คือ เมื่อพิจารณาถึงการรู้หนังสือของประชาชนแล้ว ก่อนการศึกษาอย่างตะวันตกจะเข้ามาช่วงรัชกาลที่ ๕ นั้น ปัญญาชนไทยที่เป็นสามัญชนอันจะเป็นกำลังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นก็น้อยหรือไม่มีเลย ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนอะไรให้พลอตเรื่องเพื่อสร้างความชอบธรรมเช่นนี้เกิดขึ้น ซึ่งปัจจัยบริบททั้งหมดนี้ตรงข้ามกับในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ซึ่งสถาบันกษัตริย์เข้าสู่ช่วงตกต่ำภายใต้การนำของคณะราษฎร โดยเฉพาะจอมพล ป. ที่ลดอำนาจสถาบันกษัตริย์ลงอย่างมาก ทั้งปัญญาชนไทยก็เริ่มมากขึ้น ดังนั้น พลอตเรื่องเช่นนี้ก็อาจจำเป็นต้องเกิดขึ้นมา โดยเฉพาะในกรณีที่ละเอียดอ่อนอย่างการสวรรคตของรัชกาลที่ ๘ ที่อาจทำให้พระอนุชาของพระองค์ครองราชย์โดยไร้ความชอบธรรม และเมื่อพลอตเรื่องเช่นนี้ ที่ดูแล้วน่าสบายใจต่อคนทั่วไปมากกว่าเกิดขึ้น ผู้ศรัทธาในตัวพระเจ้าตากสินจึงอาจนำมาเป็นแบบอย่างบ้าง โดยนำไปเชื่อมกับนครศรีธรรมราช มีอะไรที่น่าจะเกี่ยวก็จับโยงกันจนกลายเป็น กระแสประวัติศาสตร์ประชาชน คือ คิดเอาเอง ไม่ได้ตรวจสอบ หรือใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์เลย แต่แม้จะดูเป็นเรื่องเลื่อนลอย แต่ก็มีผู้เชื่อในความคิดเช่นนี้อยู่ไม่น้อย ซึ่งก็เรื่องทางจิตวิทยาที่คนคิดพลอตเรื่องอาจจะคาดไว้ก่อนแล้วหรือไม่ก็ได้ ที่สร้างเรื่องให้คนทั่วไปรู้สึกดีและเลือกที่จะเชื่อกับแนวคิดนี้มากกว่า หรืออีกแง่หนึ่งอาจเป็นฝ่ายราชวงศ์จักรีเองที่ต้องการสร้างความชอบธรรมให้แก่พระปฐมบรมกษัตริย์ของตนก็เป็นได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็คงเกิดในช่วงเวลาใกล้เคียงกับพลอตเรื่องของในหลวงอานันท์ คือ ผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพลอตของพระเจ้าตากสินอาจถูกสร้างเพื่อเป็นตัวอ้างอิงว่าเหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ซึ่งย่อมนำความน่าเขื่อถือที่เพิ่มขึ้นมาให้แก่เรื่องของในหลวงอานันท์ที่เกิดหลังกรณีพระเจ้าตากสิน

แม้ว่าจะไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วเรื่องของใครเกิดก่อนกัน แต่แน่นอนว่าเราได้รู้ถึงการใช้การแก้ต่างโดยใช้ข่าวลือที่มีพลอตเรื่องอย่างดี ซึ่งความคิดนั้นอาจเกิดขึ้นนานมาแล้ว (กรณีพระเจ้าตากมาก่อน) หรือเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงไม่นานมานี้ (กรณีในหลวงอานันท์มาก่อน) ก็ได้ ซึ่งความคิดเช่นนี้ย่อมไม่ได้เกิดขึ้นมาโดยตัวมันเอง แต่ย่อมมีบริบทที่ผลักดันมันอยู่ ทั้งการเกิดขึ้นของปัญญาชน ความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ หรือแม้แต่ความตกต่ำของสถาบันกษัตริย์ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 25

สรุป
โดยสรุปแล้ว บทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าพลอตเรื่องนี้จะเกิดในเวลาใด หรือเกิดจากใคร (อาจไม่ใช่ฝ่ายที่มาทีหลังก็ได้) และไม่ว่าเรื่องใดจะเกิดก่อนกัน แต่พลอตเรื่องดังกล่าวนั้นมีนัยยะแฝงของเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยที่บางครั้งเราไม่ได้ตั้งคำถามต่อมัน จนหลายคนหลงเชื่อไปกับพลอตเรื่องที่ดูดี คือ ดูแล้วสมานฉันท์ ดูแล้วไม่เสียเลือดเสียเนื้อต่อกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องทางจิตวิทยาอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่ที่สุดแล้ว มันก็ได้สร้างประโยชน์เรื่องความชอบธรรมแก่การครองราชย์ของผู้มาทีหลังทั้ง ๒ พระองค์ไปแล้ว นอกจากนี้ บทความนี้ยังต้องการสะท้อนว่าการเกิดขึ้นของพลอตเรื่องดังกล่าวไม่ได้เกิดมาอย่างอิสระ แต่มีปัจจัยต่างๆที่ผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างที่ได้วิเคราะห์ไปแล้ว ซึ่งบางทีอาจเป็นแค่การลอกเลียนพลอตจากหนังสือนิยายก็ได้ ดังนั้น พลอตเรื่องนี้ก็สามารถเป็นหน้าประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งได้เช่นกัน โดยที่ตัวมันเองก็คือความคิดของคนที่สร้างมันขึ้นมาภายใต้บริบทจำนวนหนึ่ง จนในที่สุด เมื่อมันเข้ากันได้กับคนจำนวนหนึ่ง มันจึงกลายเป็นกระแสประวัติศาสตร์ประชาชนที่ขาดการตรวจสอบ แต่ก็เป็นประโยชน์แก่ความชอบธรรมของคนบางกลุ่มบางพวกไปพร้อมๆกัน